อยากหยุดเล่นพนันออนไลน์! ครูแนะแนวจะช่วยยังไงดี?

หมวดหมู่: พื้นที่เพื่อนครู

Tags:  รับมือพฤติกรรมวัยรุ่น ไอเดียการสอน

อ่านแล้ว: 883 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

เป็นเรื่องน่าตกใจไม่น้อย เมื่อปัญหาเด็กและเยาวชนติดพนันออนไลน์พุ่งสูงขึ้นหลังจากช่วงโควิด-19

ผลการสำรวจพบว่ากลุ่มนักเรียนและเยาวชนที่มีอายุ 15 - 25 ปีหลงเข้าสู่การเล่นพนันออนไลน์กว่า 3 ล้านคน ***ข้อมูลจากศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันและสสส.

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เด็กและเยาวชนติดติดพนันออนไลน์ เช่น

  • การเข้าถึงสื่อต่างๆ อย่างไร้ข้อจำกัด

  • ความรู้สึกสนุกสนานเมื่อได้เล่น พอชนะก็ยิ่งกระตุ้นความอยากเล่นไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นอาการเสพติด

  • ความอยากรู้ อยากลอง

  • ความต้องการด้านการเงิน

  • อิทธิพลจากคนรอบข้าง

การรู้สาเหตุที่แท้จริง จะช่วยให้คุณครูค้นหาวิธีการในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างตรงจุด แนะแนวฮับจึงมี 3 ขั้นตอนหลักและเทคนิคต่างๆ มาแนะนำให้คุณครูได้ลองไปปรับใช้กับนักเรียนที่เริ่มมีพฤติกรรมเข้าข่ายติดเล่นพนัน หรือนักเรียนที่อยากเลิกเล่นพนันออนไลน์ค่ะ 😀

ชื่อภาพ

ขั้นตอนที่ 1: การรับฟังปัญหาและทำความเข้าใจสาเหตุ

เป็นกระบวนการแรกที่คุณครูจะต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เกิดขึ้น เพื่อให้นักเรียนรู้สึกสบายใจที่จะเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้คุณครูฟัง ซึ่งขั้นตอนนี้จำเป็นต้องใช้ทักษะดังนี้

  • ทักษะการรับฟังอย่างลึกซึ้ง ไม่พูดแทรก ไม่รีบตัดสินพฤติกรรมของนักเรียนว่าผิดหรือถูก ไม่รีบให้คำสอน มีการออกเสียงรับคำ หรือพยักหน้า มีท่าทีและแววตาเป็นมิตร

  • ทักษะการทวนความ เป็นการย้อนถามหรือพูดทวนความหมายของสิ่งที่นักเรียนพูด เพื่อตรวจสอบความเข้าใจให้ตรงกัน

💡 เทคนิคการรับฟัง

เป็นขั้นตอนแรกของการเปิดพื้นที่และสร้างความไว้วางใจกับนักเรียน ด้วยแสดงท่าทีเป็นมิตร พร้อมที่จะรับฟังนักเรียนอย่างใจจริง โดยมีตัวอย่างวิธีการ เช่น

  • คุณครูชวนนักเรียนนั่งลงในระดับเดียวกัน (อาจเป็นนั่งที่โต๊ะหรือนั่งพื้น ในมุมสงบ)

  • คุณครูปล่อยใจตัวเองให้ว่าง พร้อมที่จะรับฟังปัญหาของนักเรียน

  • สอบถามถึงความรู้สึกของนักเรียนว่า “ตอนนี้รู้สึกอย่างไรบ้าง” เพื่อชวนให้นักเรียนเท่าทันความรู้สึกที่มี และปรับสภาวะอารมณ์ของนักเรียนให้พร้อมพูดคุยต่อ

  • สอบถามนักเรียนถึงสาเหตุของการเล่นพนันออนไลน์ โดยการใช้คำถามว่า

“ช่วงนี้นักเรียนมีปัญหาอะไรหรือเปล่า เล่าให้ครูฟังหน่อยได้ไหม…”

“ตอนที่นักเรียนเข้าไปเล่นพนันออนไลน์ นักเรียนรู้สึกยังไง และเพราะอะไรถึงเล่น…”

“นักเรียนรู้จักพนันออนไลน์ได้ยังไง แล้วทำไมถึงเข้าไปเล่นหรอ…” โดยที่ครูยังไม่รีบพูดแทรกระหว่างที่นักเรียนเล่า

  • ครูพูดทวนความเข้าใจกับนักเรียนด้วยการตั้งคำถามกลับไป เช่น “นักเรียนกำลังบอกครูว่า เหตุผลที่เล่นการพนันเพราะ … ใช่ไหมคะ?”

  • ชวนนักเรียนเขียนถึงสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้นักเรียนเลือกเล่นพนันออนไลน์ โดยให้ระบุออกมาเป็นข้อๆ

📍 บทความแนะนำ:

ชื่อภาพ

ขั้นตอนที่ 2: การวางแผนแก้ไขปัญหาด้วยเทคนิคต่างๆ

เริ่มชวนนักเรียนคิดหาทางแก้ไขด้วยตนเอง โดยคุณครูคอยตั้งคำถามเพื่อให้นักเรียนเห็นแนวทางที่เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น ซึ่งคุณครูจะต้องใช้ทักษะดังนี้

  • ทักษะการตั้งถาม เพื่อชวนให้นักเรียนวางแผนวิธีการแก้ไขพฤติกรรมของตัวเอง

  • ทักษะการจับประเด็น เพื่อช่วยจับประเด็นสิ่งที่นักเรียนพูดและเรียบเรียงวิธีการที่นักเรียนอยากแก้ไขให้เป็นขั้นเป็นตอน

นอกจากจะให้นักเรียนออกแบบแนวทางด้วยตนเองแล้ว คุณครูยังสามารถใช้เทคนิคต่างๆ ในการช่วยเหลือนักเรียนไปพร้อมๆ กันได้ เช่น

💡 เทคนิคการสร้างข้อตกลงร่วม

เป็นขั้นตอนพื้นฐานสำหรับการชวนนักเรียนออกแบบทางแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง เพราะจะทำให้นักเรียนรู้สึกมีความรับผิดชอบต่อวิธีการที่เลือก โดยมีตัวอย่างวิธีการ เช่น

  • ชวนสร้างข้อตกลงร่วมที่เกี่ยวกับการตั้งเป้าหมายร่วมกันและระบุวิธีการทำให้เป้าหมายนั้นสำเร็จตามที่วางแผนไว้ ตัวอย่างเครื่องมือช่วยตั้งเป้าหมายให้มีคุณภาพและแก้ปัญหาได้เฉพาะเจาะจง อาจใช้เทคนิคในการตั้งเป้าหมาย SMART GOAL ที่ระบุเป้าหมายที่เจาะจง (Specific) วัดผลได้ (Measurable) ทำได้จริง (Achievable) เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ต้องการ (Relevant) และอยู่ในกรอบเวลาที่เหมาะสม(Time-bound) เพื่อให้สามารถทำตามเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • ชวนสร้างข้อตกลงร่วมเกี่ยวกับการบรรยากาศของการพูดคุยกัน โดยการถามนักเรียนว่า “นักเรียนอยากให้การพูดคุยกันทุกครั้งเป็นอย่างไร”

“ อยากให้มีบรรยากาศแบบไหน”

“อยากให้คุณครูเตรียมกิจกรรมอะไรบ้าง”

  • ชวนสร้างข้อตกลงร่วมเกี่ยวกับการนัดหมาย หรือการติดตามพฤติกรรมร่วมกัน โดยการถามนักเรียนว่า

“นักเรียนอยากนัดพบเจอกันคุณครูสัปดาห์ละกี่ครั้ง”

“ถ้านักเรียนติดธุระ ไม่สามารถมาตามนัดหมายได้ นักเรียนจะทำอย่างไร”

“ถ้านักเรียนมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น เราอยากมีกิจกรรมหรือรางวัลพิเศษไหม อย่างไรบ้าง”

📍 บทความแนะนำ:

💡 เทคนิคลดสิ่งเร้าภายนอก

เพื่อช่วยให้นักเรียนออกห่างจากปัจจัยเร้าให้ได้มากที่สุด โดยมีตัวอย่างวิธีการ เช่น

  • ลบแอปพลิเคชั่นพนันออนไลน์ออกจากโทรศัพท์มือถือ

  • ตั้งภาพหน้าจอมือถือให้เป็นข้อความเตือนสติให้เลิกเล่นพนันออนไลน์

  • เสนอให้นักเรียนพกเงินสดแทนการใช้จ่ายผ่านระบบธนาคารออนไลน์ (Mobile Banking) โดยนำเงินมาฝากไว้ที่ครูได้ เพื่อสร้างวินัยการใช้เงิน

  • ฝึกฝนทักษะการปฏิเสธ ผ่านกระบวนการสอนแบบบทบาทสมมติ (Role Play) หากมีเพื่อนหรือรุ่นพี่มาชักชวนให้เล่นพนันออนไลน์อีก

📍 บทความแนะนำ:

  • “10 คำพูด ที่นักเรียนอยากได้ยินจากครูแนะแนว” https://guidancehubth.com/knowledge/63 (แนะนำให้นักเรียนนำไปตั้งเป็นวอลเปเปอร์หน้าจอมือถือเพื่อเสริมแรงเชิงบวกได้ค่ะ)

💡 เทคนิคเสริมแรงเชิงบวก

เพื่อช่วยให้นักเรียนรู้สึกเห็นคุณค่าในตัวเอง เห็นความสามารถของตัวเองในด้านที่หลากหลาย และรู้จักชื่นชมตัวเองมากยิ่งขึ้น โดยมีตัวอย่างวิธีการ เช่น

  • ชวนนักเรียนมาช่วยงานคุณครูในช่วงเวลาพักกลางวัน เช่น ช่วยครูทำสื่อรณรงค์การเลิกเล่นพนันออนไลน์

  • แนะนำกิจกรรมภายในและภายนอกโรงเรียนเพื่อให้นักเรียนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่มากยิ่งขึ้น

  • เขียนบันทึกความสำเร็จ หรือสิ่งที่ทำได้ดีในแต่ละวันมาส่งครู

  • ทำสัญญา ‘เลิกเล่นพนันออนไลน์’ บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรร่วมกัน

  • กล่าวชื่นชมและให้กำลังใจนักเรียนในพฤติกรรมที่นักเรียนทำได้ดี

  • แนะนำให้นักเรียนหางานพิเศษทำ เพื่อเป็นช่องทางในการหารายได้ที่สุจริต

📍 บทความแนะนำ:

💡 เทคนิคเพื่อนช่วยเพื่อน

เป็นวิธีการใช้พลังกลุ่มเพื่อนในการปรับพฤติกรรมของนักเรียน โดยมีตัวอย่างวิธีการ เช่น

  • จับคู่บัดดี้กับเพื่อนที่นักเรียนรู้สึกไว้วางใจ เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความรู้สึกของกันและกันสม่ำเสมอ โดยคุณครูจะติดตามสอบถามถึงความก้าวหน้าในพฤติกรรมของเพื่อนบัดดี้อย่างสม่ำเสมอ

  • จัดให้มีการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มสำหรับนักเรียนที่มีพฤติกรรมติดพนันออนไลน์เหมือนกัน เป็นกลุ่มที่คอยรับฟัง แบ่งปันความรู้สึกที่เกิดขึ้น และชื่นชมในความสำเร็จของสมาชิกแต่ละคนทุกสัปดาห์

💡 เทคนิคการควบคุมตัวเอง

เพื่อช่วยให้นักเรียนเท่าทันความรู้สึก ‘อยากเล่นการพนัน’ และสามารถ ‘หยุด’ ความคิดเหล่านั้นได้ โดยมีตัวอย่างวิธีการ เช่น

  • ชวนนักเรียนเขียนระบายความรู้สึกทุกครั้งที่นึกอยากเล่นพนันออนไลน์ แล้วนำมาพูดคุยกับครูถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน

  • ชวนนักเรียนเขียนคำว่า ‘หยุด’ ลงบนกระดาษทุกครั้งที่รู้สึกอยากเล่นพนัน แล้วนำมาพูดคุยกับครูว่าได้เขียนคำว่า ‘หยุด’ จำนวนกี่ครั้งแล้ว และในแต่ละครั้งคิดว่ามีการเปลี่ยนแปลงกับตัวเองหรือไม่อย่างไร

  • ชวนนักเรียนพูดคุยถึง ‘ประโยชน์ของการห้ามใจ’ ว่า “ถ้านักเรียนสามารถหักห้ามใจได้ ผลลัพธ์ที่ดีที่จะเกิดกับนักเรียนในด้านต่างๆ เช่น การเงิน ครอบครัว อย่างไรบ้าง” เพื่อให้นักเรียนฝึกมองผลกระทบต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว

  • ชวนนักเรียนจดบันทึกพัฒนาการอารมณ์ความรู้สึก หรือพฤติกรรมในแต่ละวัน

📍 บทความแนะนำ:

ชื่อภาพ

ขั้นตอนที่ 3: การประเมินและติดตามให้ความช่วยเหลือ

เป็นกระบวนการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ให้คำแนะนำและเทคนิคต่างๆ เรียบร้อยแล้ว โดยทักษะสำคัญที่ต้องมี ได้แก่

  • ทักษะการสะท้อนกลับ เพื่อให้นักเรียนเห็นความก้าวหน้าในพฤติกรรมของตัวเอง

  • ทักษะการชื่นชมเสริมแรง เพื่อเสริมพลังให้แก่นักเรียนที่มีการเปลี่ยนแปลงจนกระทั่งสามารถหลุดพ้นจากวังวนของการพนันได้

  • ทักษะการสื่อสารแบบ I Message เพื่อช่วยให้นักเรียนปรับพฤติกรรมและสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้น ในกรณีที่นักเรียนบางคนอาจจะยังไม่สามารถชนะใจตนเองและกลับไปเล่นอีก การสื่อสารแบบ I Message จะช่วยให้นักเรียนรับรู้ความรู้สึกและความต้องการของกันและกัน

📍 บทความแนะนำ:

  • “เข้าใจและรับมือกับพฤติกรรมวัยรุ่น ทำยังไงดีนะ?” https://guidancehubth.com/knowledge/64

ซึ่งการประเมินและติดตามสามารถทำได้ทั้งรายบุคคลและรายกลุ่ม โดยเริ่มจาก

1) คุณครูจัดช่วงเวลาว่างให้ตรงกับนักเรียน

2) สอบถามนักเรียน โดยไล่ลำดับคำถามตั้งแต่ความรู้สึกในปัจจุบัน จนถึงการตั้งเป้าหมายในอนาคต เช่น

  • “วันนี้รู้สึกอย่างไรบ้าง?”

  • “สิ่งที่คิดว่าตัวเองทำได้ดี ในช่วงที่ผ่านมา คืออะไรบ้าง?”

  • “มองเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวเองบ้าง?”

  • “สิ่งที่นักเรียนตั้งใจจะทำต่อไปคืออะไร?”

3) คุณครูสะท้อนสิ่งที่นักเรียนทำได้ดี (อาจเป็นผลที่นักเรียนรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ผลการสอบถามจากคุณครูท่านอื่น หรือผลการสังเกตจากคุณครูเองก็ได้)

4) คุณครูชวนให้เพื่อนนักเรียนคนอื่นช่วยสะท้อนสิ่งที่เห็น (หากทำกระบวนการกลุ่ม)

5) อาจเชิญผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินและติดตามผลได้ ***การทำงานร่วมกับผู้ปกครองมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือนักเรียน แต่ต้องทำด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง เนื่องจากบริบทสภาพครอบครัวของนักเรียนแต่ละคนมีความท้าทายต่างกัน

3 ขั้นตอนหลักและเทคนิคต่างๆ เป็นวิธีการเบื้องต้นที่จะช่วยสนับสนุนให้นักเรียนของเราออกห่างจากการเล่นพนันออนไลน์ได้ อย่างไรก็ดี การป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า คือ การสร้างระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้เข้มแข็ง การสร้างความร่วมมือให้บุคลากรในโรงเรียนทุกคนช่วยกันเป็นหูเป็นตา และการสร้างช่องทางให้ผู้ปกครองหรือนักจิตบำบัดเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งนี้ หากคุณครูเจอนักเรียนที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงและควรเข้ารับการบำบัด สามารถติดต่อกรมสุขภาพจิต 1323 ได้โดยตรงเลยค่ะ

เพราะการติดพนันเป็นศึกหนักที่คุณครูต้องใช้แรงและระยะเวลาในการแก้ไข แม้จะเป็นปัญหาระดับชาติ แต่คุณครูก็สามารถลงมือจัดการและดูแลนักเรียนได้ โดยเริ่มที่การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคุณครูกับนักเรียน

หากนำเทคนิคไปใช้แล้วมีฟีดแบ็กหรือผลอะไรเกิดขึ้นบ้าง สามารถแวะมาบอกเล่าแบ่งปันกันได้เลยนะคะ แนะแนวฮับขอส่งกำลังใจดวงโตๆ ให้คุณครูทุกคนเลยค่ะ 💕🙂

อ้างอิง

คู่มือแนวทางการป้องกันการเล่นพนันออนไลน์สำหรับครูแนะแนว สามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://shorturl.at/qH279


พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว

✅ มีเกียรติบัตร

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา