หลักการ ชื่นชมให้ชื่นใจ ชมแบบไหนให้นักเรียนเติบโต

หมวดหมู่: เครื่องมือข้อมูลด้านการสอน

Tags: 

อ่านแล้ว: 16938 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

อยากเสริมแรงให้นักเรียนด้วยคำชม

แต่จะชมยังไงดีนะให้นักเรียนชื่นใจพร้อมกับเติบโตไปด้วย? 😊🌱

“คำชม” เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์มากๆ โดยเฉพาะกับครูแนะแนว ที่มักมีโอกาสได้ใกล้ชิดและสังเกตนักเรียนค่ะ คุณครูบางท่านอาจมองว่าไม่อยากชมมากเพราะกลัวเด็กๆ จะเหลิง บางคนมองว่าทำดีก็ชมไปเถอะ อย่ามัวคิดเยอะ วันนี้แอดมินเลยอยากชวนมาพูดคุย ว่าด้วยเรื่องการชม ในฐานะครูแนะแนว ที่ปรึกษา หรือคุณครูที่มีโอกาสได้ดูแลนักเรียนค่ะ

หากคุณครูท่านไหนมีไอเดีย แนวทาง หรือประสบการณ์การใช้คำชมที่อยากบอกเล่าแบ่งปันให้เพื่อนครูท่านอื่นๆ เรียนรู้และลองหยิบไปใช้ อย่าลืมคอมเมนท์แบ่งปันกันนะคะ 🙂🤍

ชื่อภาพ

หลากเหตุผลให้เลือกชมนักเรียน

จากการสอบถามและแลกเปลี่ยนกับเพื่อนครูหลายๆ ท่าน พบว่าการเอ่ยปากชมเด็กๆ นั้น มีเหตุผลแบ่งได้ ดังนี้ค่ะ

  1. แสดงการรับรู้และยอมรับ: ครูเห็น ครูรับรู้ และครูยอมรับว่าสิ่งนี้น่าชื่นชม

  2. เสริมพลังบวก ให้กำลังใจ: ครูเชื่อในตัวนักเรียน อยากเพิ่มความมั่นใจให้ อยากเป็นอีกเสียงที่การันตี

  3. คาดหวังให้นักเรียนทำพฤติกรรมเชิงบวกต่อ และนักเรียนคนอื่นๆ เรียนรู้และทำบ้าง: ครูอยากเชียร์ อยากสนับสนุนให้ทำต่อ

เชื่อว่ามีการชมด้วยเหตุผลอื่นๆ อีกหลายข้อเลยค่ะ รวมถึงอาจมีบ้างบางครั้งที่เราเผลอชมด้วยความเคยชิน ไม่ทันคิดอะไร หรือไม่ทันนึกว่าชมเพราะเหตุผลอะไร ซึ่งไม่เป็นไรเลยนะคะ ขอแค่จากนี้ไปคุณครูเท่าทันเจตนาของตัวเองให้มากขึ้น ลองแอบสังเกตหรือเช็กสภาพนักเรียนว่าเป็นอย่างไรบ้างเวลาโดนชม หรือลองดูว่าคำชมแบบไหนที่ส่งผลเชิงบวกกับพวกเขาก็ได้ค่ะ

พวกเราอยากเชียร์ให้คุณครูช้าลงอีกนิดนึง ตั้งหลักตัวเอง นึกทวนถึงประโยชน์ของการชม ทำความเข้าใจลักษณะเด็กๆ ที่มีความแตกต่างหลากหลาย เพื่อจะได้เลือกใช้คำชมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นนะคะ ^^

ชื่อภาพ

คำชมอาจให้คุณและให้โทษ

คำชมสามารถเสริมพลังได้และสามารถบั่นทอนพลังได้เช่นกัน หากชื่นชมนักเรียนผิดวิธี อาจส่งผลเสียต่อการเรียนรู้และเติบโตของพวกเขาโดยที่ไม่รู้ตัว

รู้หรือไม่

  1. การชื่นชมว่าฉลาดบ่อยๆ อาจทำให้เด็กๆ กลัวความผิดพลาดและไม่มั่นใจในตัวเอง เพราะเขาจะจดจำเงื่อนไขว่า หากทำสิ่งใดได้ดี จึงจะได้รับคำชื่นชม และอาจเกิดเป็นชุดความคิดที่บิดเบี้ยวจนไม่กล้าเริ่มต้นเรียนรู้หรือลองผิดลองถูกกับสิ่งใหม่ที่ไม่คุ้นเคย กลัวทำพลาด กลัวไม่ได้รับการชื่นชมยอมรับเหมือนที่ผ่านมา

  2. การชื่นชมแบบเกินจริง อาจทำให้เด็กๆ เข้าใจผิด เผลอทึกทักเอาเองจนลืมตัวและไม่เปิดรับ เพราะเขาถูกปลูกฝังว่าเขานั้นดีที่สุด เก่งเสมอ ไม่มีใครเทียบได้ ฯลฯ จึงไม่แปลกที่จะเกิดเป็นความมั่นใจแบบเกินจริงว่าตัวเองสามารถเป็นและทำได้ทุกอย่าง ซึ่งด้านหนึ่งอาจกลายเป็นแรงกดดันว่าต้องทำให้ดี ให้เก่งยิ่งขึ้น หรืออีกด้านคือ ไม่ปรับตัวหรือเปิดใจรับการเป็นผู้แพ้ การเป็นรอง

  3. การชื่นชมเฉพาะผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างเดียว อาจทำให้เด็กๆ มุ่งโฟกัสเฉพาะการประสบความสำเร็จ จนหลงลืมคุณค่าความสำคัญของความพยายามและเส้นทางระหว่างทาง เพราะเขาจะเรียนรู้ว่าคุณครูให้ความสนใจเฉพาะผลปลายทาง ดังนั้น เขาจะพร้อมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยไม่คำนึงว่าจะต้องใช้วิธีการที่ถูกหรือผิด ยิ่งทำได้เร็วเท่าไรยิ่งดี

  4. การชื่นชมแต่คนเดิมๆ บ่อยๆ อาจสร้างความกดดันหรือลดความมุ่งมั่นของทั้งนักเรียนคนที่ถูกชมและเด็กคนอื่นๆ เพราะเขาอาจเกิดความรู้สึกกดดันจนครั้งต่อๆ ไปเขาจะคร่ำเคร่งพยายามรักษามาตรฐานการได้รับคำชมให้ได้ ในขณะที่นักเรียนคนอื่นอาจรู้สึกว่าครูมองเฉพาะคนที่มีความโดดเด่น เลือกปฏิบัติ ไม่ให้ความเท่าเทียม คนที่ไม่มีอะไรเป็นพิเศษในสายตาของครูอาจเริ่มถอดใจ ไม่อยากพัฒนาตัวเองแล้ว หรืออาจรู้สึกอิจฉาหรือรำคาญก็ได้ที่ครูชม “ลูกรัก” อีกแล้ว

  5. การชื่นชมแบบเปรียบเทียบกับนักเรียนคนอื่น อาจทำให้เด็กๆ มองเพื่อนและคนรอบตัวเป็นคู่แข่ง เป็นศัตรูมากกว่าเป็นมิตร เพราะเขาจะทุ่มเทความพยายามเพื่่อให้ตัวเองอยู่เหนือกว่า ต้องการเอาชนะมากกว่าพัฒนาตัวเองเพื่อการเติบโต อย่างไรก็ดี มีงานวิจัยกล่าวว่า หนึ่งในการให้คำชมที่ดีที่สุด คือ การชมที่เปรียบเทียบตัวบุคคลกับเจ้าตัวเองในอดีต (Temporal Comparison) เป็นการแข่งขันกับตัวเองอย่างแท้จริง ที่นอกจากจะทำให้เด็กๆ กลับมาทบทวนเส้นทางการเรียนรู้และการเติบโตของตัวเองแล้ว ยังเกิดเป็นความภาคภูมิใจและแรงบันดาลใจในการพัฒนาตัวเองต่อด้วย

การชมจะเป็นสิ่งที่ดีมากๆ หากผู้พูดมีเจตนาที่ดี มีความตั้งใจดี เพียงแต่ต้องใช้อย่างระมัดระวังด้วย หากเพื่อนครูท่านใดมีข้อสังเกตเพิ่มเติม สามารถแลกเปลี่ยนแบ่งปันได้เลยนะคะ

ชื่อภาพ

ชมให้ชื่นใจ ชมให้เติบโต

นอกจากการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เกิดขึ้นในห้องเรียนแล้ว หากอยากใช้คำชมเป็นอีกกลไกในการสนับสนุนนักเรียน จะทำอย่างไรได้บ้าง ลองดู 4 แนวทางต่อไปนี้ค่ะ

1.เข้าใจลักษณะและประสบการณ์ของนักเรียน ต้องยอมรับว่านักเรียนแต่ละคนมีบุคลิกลักษณะนิสัยแตกต่างกัน พื้นฐานครอบครัวและสภาพแวดล้อมทางบ้านก็ต่างกัน คำชมแบบเดียวกันจึงอาจมีผลกับนักเรียนแต่ละคนไม่เหมือนกัน (เด็กๆ บางคนอาจจะคุ้นชินกับคำดุ คำติ มากกว่า จนไม่คุ้นชิน หรือไม่ทันรับรู้ถึงคุณค่าของการได้รับคำชมก็ได้)

ระลึกเสมอว่า นักเรียนของพวกเรากำลังอยู่ในช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่เริ่มชัดเจนในความคิดของตัวเอง ต้องการการยอมรับ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจมีบางเรื่องที่รู้สึกลังเล ไม่มั่นใจ ไม่แน่ใจในตัวเอง ไม่อยากถูกตัดสินแปะป้าย กลัวโดนเพื่อนหรือสังคมเพ่งเล็ง ดังนั้น การทำความเข้าใจความแตกต่างหลากหลาย ทั้งภูมิหลังครอบครัว สังเกตพฤติกรรมเวลาเขาอยู่กับเพื่อนๆ สิ่งที่เขาสนใจหรือไอดอลในดวงใจของเขา แล้วเลือกคำชมให้เหมาะตามช่วงวัยของพวกเขานะคะ

2.ชมให้เป็นตัวอย่าง คุณครูสามารถสร้างวัฒนธรรมการชื่นชมให้เกิดขึ้นในห้องเรียน ซึ่งจะเป็นทักษะชีวิตติดตัวให้กับนักเรียนได้ โดยการเริ่มให้คำชมที่ทำให้นักเรียนรับรู้ว่า คุณครูมองพวกเขาอยู่ ให้ความเท่าเทียมกับทุกคน และคุณครูทำอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้นักเรียนเองจะได้ขยายมุมการมองโลกให้เห็นโอกาสและสิ่งดีๆ มากมายรอบตัวที่น่าชื่นชมด้วยค่ะ

นักจิตวิทยาเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการหลายท่าน มีคำแนะนำสำหรับแนวทางการให้คำชมว่า

  • ควรชมที่ “พฤติกรรม” หรือ “วิธีการ” ที่นักเรียนเลือก มากกว่าการชมที่ตัวตน เช่น สวย ผิวขาว หน้าใส ฯลฯ เพราะจะส่งผลต่อความคิดของเด็กๆ ว่า สิ่งนี้คือสิ่งที่ได้รับการยอมรับ หากผิดจากนี้คือเป็นจุดด้อย เช่น “นักเรียนรู้ตัวไหม ว่าตัวเองมีทักษะการเป็นคนช่างสังเกตนะ สามารถสแกนไปเห็นคนที่ต้องการความช่วยเหลือได้ไว”

  • ควรชมแบบเฉพาะเจาะจง ให้นักเรียนรับรู้ได้ชัดเจนว่า สิ่งไหน เรื่องไหน ตอนไหน ที่เขาทำได้ดี พร้อมอธิบายเพิ่มให้เข้าใจสถานการณ์และเหตุผลที่เขาควรได้รับคำชม เช่น “ตอนครูถือของหนักๆ แล้วนักเรียนชวนเพื่อนมาช่วย ครูขอบคุณและชื่นชมมากๆ ที่นักเรียนมีน้ำใจและตัดสินใจรีบมาช่วยกันแม้กำลังนั่งเล่นกินขนมอยู่ ไม่งั้นครูอาจไปไม่ทันประชุมแล้ว”

  • ควรชมให้ถูกจังหวะ สังเกตนักเรียนและบรรยากาศรอบตัวว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย และนักเรียนมีความพร้อมรับฟังหรือไม่ และแม้ได้รับคำชมไปแล้ว นักเรียนบางคนก็อาจต้องกลับไปใช้เวลาในการทบทวนตัวเอง และค่อยๆ เรียนรู้สิ่งที่เขาทำได้ดีและน่าพัฒนาต่อ

  • อย่าลืมเชียร์ให้ทำต่อ ด้วยการย้ำให้เขาเห็นคุณค่าและเสริมแรงบวกด้วยการให้กำลังใจ

3.เปิดโอกาสให้นักเรียนเป็นผู้รับและผู้ให้คำชม อาจออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้นักเรียนได้ทดลองรับและมอบคำชื่นชมให้เพื่อนคนอื่นๆ รวมทั้งตัวเอง จะเป็นการชมปากเปล่า เขียนลงกระดาษ หรือแสดงสัญลักษณ์แทนความชื่นชมรูปแบบใดก็ได้ หากยังไม่รู้จะเริ่มใช้โอาสไหนดี ลองอาศัยช่วงปฏิทินการเรียนของนักเรียนก็ได้ค่ะ เช่น ช่วงสิ้นปี ช่วงใกล้จบภาคเรียน ที่นักเรียนเองก็มีโอกาสได้รู้จักและเรียนรู้การอยู่ร่วมกับเพื่อนๆ แล้ว

*** หากใครอยากได้ไอเดียแผนการสอนในประเด็นนี้ รอติดตามนะคะ ^^

4.สนุกกับการเรียนรู้ไปพร้อมนักเรียน ระหว่างที่ันักเรียนมอบคำชมให้กันและกัน หรือชื่นชมให้ตัวเอง เป็นอีกโอกาสที่ดีมากๆ ที่คุณครูจะได้รู้จักและเข้าใจพวกเขามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่นักเรียนทำได้ดี (ทั้งที่ครูเห็นและไม่ทันเห็น) ความสนใจ เรื่องที่ให้ความสำคัญ ความคิดความอ่าน รวมถึงมุมมองที่นักเรียนมีต่อกัน

ชื่อภาพ

คุณครูก็เป็นอีกหนึ่งคนสำคัญ ที่สมควรได้รับคำชมนะคะ

คนวัยเรียนและวัยทำงานหลายคนไม่กล้าน้อมรับคำชมค่ะ บางคนรู้สึกถ่อมตัว ประหม่าเขินอาย บางคนอาจประเมินศักยภาพตัวเองต่ำเกินจริง มองว่าตัวเองนั้นยังทำได้ไม่ดีพอ ยังไม่คู่ควรกับคำชม บางคนมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับคำชม (เพราะอาจเคยเจอคำชมที่เคลือบยาพิษมาด้วย) จึงไม่เชื่อในคำชื่นชม หรือคิดว่าการถูกชมจะส่งผลให้คนรอบข้างมองเขาแบบแปลกแยก มีนัยยะไม่เชิงไม่ดี และอีกหลายๆ คนก็ไม่คุ้นชินกับการได้รับคำชม ถูกชมแล้วทำตัวไม่ถูก ไม่รู้ควรทำอะไรต่อ

พวกเราทีมงานแนะแนวHUB จึงอยากขอใช้โอกาสนี้ ส่งคำชื่นชมถึงคุณครูทุกคนที่กำลังอ่านอยู่นี้นะคะ ขอให้คุณครูรับรู้ว่า บนเส้นทางของการเปลี่ยนแปลงให้ห้องเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยของทุกคน การออกแบบกระบวนการเรียนรู้หลากหลายแบบให้เหมาะสมกับนักเรียน การดูแลสนับสนุนเด็กๆ ในฐานะครู รวมถึงการจัดการภาระงานบานตะไทที่ถาโถมเข้ามาไม่หยุดยั้ง ล้วนผ่านมาและจะสำเร็จได้ เพราะความอดทนและมุ่งมั่นตั้งใจของคุณครูนะคะ

มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยทั้งที่ผ่านมาและหลังจากนี้ พวกเราอยากให้คุณครูเชื่อมั่นในตัวเองว่าคุณครูจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ และหากเสียงชื่นชมเล็กๆ ของเราอาจยังดังไม่พอ ก็ขอให้คุณครูได้มีโอกาสมอบคำชมให้ตัวเองชื่นใจและมีพลังไปต่อบ่อยๆ นะคะ 🙂 พวกเราจะเป็นกำลังใจให้คุณครูทุกคนเสมอค่ะ

อ้างอิง


คอร์สเรียนฟรี สุดพิเศษ เอาไปใช้ได้จริง! สำหรับครูแนะแนว

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ มีเกียรติบัตร ***จะได้รับเมื่อทำ Quiz และแบบประเมินหลังเรียนจบเรียบร้อย

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา