การฟังอย่างตั้งใจ (Active listening) อาวุธลับฉบับครูแนะแนว

หมวดหมู่: เครื่องมือข้อมูลด้านการสอน

Tags:  ไอเดียการสอน

อ่านแล้ว: 2661 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

เพราะการฟังคือทักษะสำคัญของครูแนะแนว

หน้าที่ความรับผิดชอบของครูแนะแนว ทั้งการสอน การให้คำปรึกษา รวมถึงการพัฒนาทักษะชีวิตให้นักเรียน ทำให้ครูแนะแนวมีโอกาสได้ใช้ทักษะการฟังอย่างเข้มข้นตลอดเทอมและตลอดปีการศึกษาเลย ก็ว่าได้ค่ะ

วันนี้แนะแนวฮับเลยขอมาแบ่งปันข้อมูลและไอเดียสำหรับพัฒนาทักษะการฟัง รวมถึงกิจกรรมเล็กๆ สำหรับคุณครูที่สนใจนำไปชวนนักเรียนเรียนรู้ร่วมกันนะคะ

ชื่อภาพ

การฟังที่เราจะพูดถึงกันในที่นี้ คือ การฟังอย่างตั้งใจ หรือการฟังด้วยหัวใจ (Active listening)

การฟังอย่างตั้งใจ หมายถึง การให้ความสนใจอย่างเต็มที่กับผู้ที่กำลังพูดอยู่ เป็นการรับฟังอย่างเปิดใจ ฟังเพื่อรับรู้และเข้าใจ ความคิด และความรู้สึก ของผู้พูด ณ เวลานั้น โดยไม่มีอคติ การด่วนสรุปหรือด่วนผิด-ถูก

สำหรับคุณครูแนะแนว ครูที่ปรึกษา หรือคุณครูที่รับหน้าที่ดูแลและสนับสนุนนักเรียน ควรอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจและสามารถใช้ทักษะการฟังทั้งในคาบเรียน ใช้เมื่อให้คำปรึกษาแบบ 1:1 รวมถึงใช้ในการติดต่อ สื่อสาร และประสานงานได้อย่างเหมาะสม เพราะนอกจากจะทำให้คุณครูเข้าใจสารที่นักเรียนกำลังจะสื่อแล้ว ช่วงเวลาการรับฟังอย่างตั้งใจนี้ จะส่งผลด้านบวกอื่นๆ ตามมา เช่น

🌟 ครูทำงานง่ายขึ้น ใช้เวลาน้อยลง เมื่อนักเรียนกล้าสื่อสารบอกความต้องการ หรือแบ่งปันความคิด เรื่องราวที่เจอมาอย่างตรงไปตรงมา จะทำให้คุณครูเข้าใจสถานการณ์ และรู้แนวทางในการสนับสนุนหรือช่วยเหลือนักเรียนต่อไป โดยเฉพาะในช่วงเวลาสำคัญๆ เช่น เมื่อเกิดเคสฉุกเฉิน เมื่อให้คำปรึกษาแบบ 1:1 หรือเมื่อมีเวลาจำกัดในการพูดคุยกับนักเรียน เป็นต้น

🌟 นักเรียนเกิดความรู้สึกมีคุณค่าและมั่นใจในตัวเอง การฟังอย่างตั้งใจจะช่วยให้นักเรียนรู้สึกมีตัวตน ได้รับการมองเห็น ถูกรับฟัง ซึ่งจะส่งผลให้นักเรียนค่อยๆ เปิดใจให้กับคุณครูหรือเพื่อนมากขึ้น รู้สึกเชื่อใจ วางใจ รวมถึงรู้สึกปลอดภัยที่จะเล่าเรื่องราวส่วนตัวของตัวเองมากขึ้น อัตราการพูดโกหกเพราะกลัวผิด หรือการเงียบ ไม่สื่อสาร จะลดลง

🌟 ห้องเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน การสร้างวัฒนธรรมการฟังด้วยหัวใจ จะช่วยให้ทุกคนในห้องเรียนมีความเข้าใจ เคารพและใส่ใจกันและกัน ซึ่งจะช่วยลดการเกิดปัญหาต่างๆ หลายอย่าง เช่น การบูลลี่ (Bully) หรือการแบ่งพรรคแบ่งพวก ซึ่งในที่นี้ ไม่ใช่เพียงความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนด้วยกัน แต่รวมถึงคุณครูด้วย ที่พวกเขาก็จะพร้อมรับฟังสิ่งที่ครูพูดเช่นกัน (ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ พื้นที่ปลอดภัย เพิ่มได้ที่ https://guidancehubth.com/knowledge/9

การฟังเป็นมากกว่าการได้ยิน

มีงานวิจัยและทฤษฎีมากมายที่ระบุว่า การฟังมีส่วนสำคัญต่อความสัมพันธ์ ทั้งในระดับครอบครัว เพื่อนฝูง โลกการทำงาน และการใช้ชีวิตในสังคม การฟังทำให้เราได้รับสารหรือข้อมูลจากผู้พูด นำไปสู่กระบวนการคิดไตร่ตรองและตัดสินใจว่า เราจะมีปฏิกิริยาตอบกลับข้อมูลที่ได้มาอย่างไร และจะนำข้อมูลที่ได้รับไปใช้งานต่ออย่างไร

ตัวอย่างนิยามความหมายของการฟังจากอาจารย์ นักวิชาการ และนักภาษาศาสตร์ เช่น

  • “การฟังคือกิจกรรมที่มนุษย์มุ่งความสนใจและพยายามที่จะเข้าใจความหมายของสิ่งที่ตนได้ยิน” - แมรี่ อันเดอร์วูด (1989)

  • “การฟังเป็นขั้นตอนตามธรรมชาติขั้นแรกที่จะนำไปสู่การพูด โดยแบ่งได้ 2 ประเภท คือ 1) การฟังทางเดียว (One-way listening) หรือถ่ายโยงข้อมูลข่าวสาร 2) การฟังสองทาง (Two-way listening) ซึ่งเป็นการฟังที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์และรักษาสัมพันธภาพในสังคม (Interactional listening)” - พอล เนชั่น และ โจนาธาน มาร์ค นิวตัน (2009)

  • “การฟังเป็นกระบวนการที่ประกอบด้วยการได้ยินข้อความจากผู้พูดและเข้าไปมีส่วนร่วมในเชิงจิตวิทยา (ความสามารถในการเข้าใจและตอบสนอง) ระหว่างที่ผู้พูดกำลังพูดอยู่” - บาบิตา ไทยากิ (2013)

  • “การฟัง 4 ระดับตามทฤษฎีตัวยู (Theory U) คือ Downloading (ฟังแบบเอาตนเองเป็นที่ตั้ง เลือกฟังเฉพาะสิ่งที่เชื่อ), Factual listening (ฟังแบบเปิดรับ ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะตรงหรือต่างจากที่เคยรู้มาก่อน) , Empathetic listening (ฟังแบบเปิดใจ เข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้พูด), Generative listening (ฟังแบบไม่ยึดถือตัวตน อดีต หรืออนาคต อนุญาตให้ตัวเองพบความไม่รู้ ไม่พอใจได้ แต่เท่าทันและสามารถปล่อยวางได้)“ - อ็อตโต ชาเมอร์

ชื่อภาพ

การฟังอย่างตั้งใจ (Active listening)

เป็นหนึ่งในทักษะสำคัญโดยเฉพาะสำหรับคุณครูที่อยากเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับนักเรียน และอยากเข้าถึงหัวใจของผู้เรียนอย่างแท้จริง การฟังในที่นี้ยังหมายรวมถึงทักษะต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ควบคู่ไปด้วย เช่น

  • ทักษะการมีสติจดจ่อกับผู้พูด (Focus)การจดจ่อในที่นี้หมายถึงสมาธิที่อยู่กับปัจจุบันขณะด้วยท่าทีเป็นมิตร ท่ามกลางความวุ่นวายหรือการรบกวนจากสภาพแวดล้อม เช่น เสียงออดดัง เสียงรถขับผ่าน งานมากมายที่รออยู่ ฯลฯ ไม่ใช่การจ้องหน้าถลึงตาใส่จนนักเรียนกลัวหรืออึดอัดจนไม่กล้าพูด

  • ทักษะการอดทนอดกลั้น (Self-censored) เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้พูด โดยไม่พูดแทรก แย่งถาม หรือรีบให้คำสอน

  • ทักษะการเข้าอกเข้าใจ (Empathy) ที่ไม่ด่วนตัดสิน หรือคิดเอาเอง ว่าผู้พูด หรือสิ่งที่ผู้พูดได้กล่าวมานั้น ดีหรือไม่ดี ถูกหรือผิด

  • ทักษะการสังเกต (Observe) ทั้งระหว่างการพูดคุย และช่วงเวลาอื่นๆ ว่านักเรียนคนนั้นๆ มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากปกติหรือไม่ และระหว่างการพูด มีสีหน้า แววตา ท่าที หรืออาการอะไรบ้าง

  • ทักษะการสะท้อนกลับ (Reflecting) ที่สามารถจับประเด็นสิ่งที่ได้ยิน รวมถึงสามารถสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของผู้พูดได้

  • ทักษะการตั้งคำถามอันทรงพลัง (Powerful questioning) ที่ไม่ใช่คำถามชี้นำ แต่เป็นคำถามเพื่อกระตุ้นให้ผู้พูดได้คิด และพบทางออกที่เหมาะสมด้วยตนเอง

  • ทักษะการสื่อสารเชิงบวก (Positive communication) คือการรู้จักเลือกใช้คำพูดเพื่อเสริมกำลังใจหรือสนับสนุนด้านบวก ทั้งนี้การสื่อสารเชิงบวกไม่ใช่การสปอยล์ พูดเอาใจ หรือชื่นชมเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กัน ที่สามารถพูดความรู้สึกและความต้องการได้อย่างตรงไปตรงมา บนพื้นฐานเจตนาที่ดี

  • การสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจ (Trust) ด้วยการรักษาความลับและคอยเน้นย้ำให้นักเรียนในห้องช่วยกันรักษาความลับที่เพื่อนกล้าตัดสินใจแบ่งปันให้ฟัง โดยไม่นำไปพูดต่อหรือแกล้งแซว หรือแม้แต่ระหว่างกิจกรรม หากต้องการเล่าเรื่องราวของเพื่อน ก็ควรให้ข้ออนุญาตและได้รับอนุญาตจากเจ้าของเรื่องนั้นๆ ก่อน

ชื่อภาพ

นักเรียนไม่ฟังกันเลยทำยังไงดี?

1.เข้าใจธรรมชาติตามวัย

ที่นักเรียนอาจให้ความสำคัญกับการเล่นและการอยู่กับเพื่อน ที่จะมีโอกาสกระทบกระทั่ง ล้อเลียน แซวเล่นกันตามวัย ซึ่งคุณครูสามารถช่วยสร้างบรรยากาศแวดล้อมให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยควบคู่ไปกับการสร้างตัวอย่างพฤติกรรมที่เหมาะสมให้ได้ โดยการเน้นย้ำข้อตกลงร่วมเป็นระยะ และกล่าวขอบคุณเมื่อทุกคนช่วยกันตั้งใจฟังเมื่อมีเพื่อนกำลังนำเสนอหน้าชั้นเรียน

2.เปิดพื้นที่ให้กับความแตกต่างหลากหลาย

นักเรียนบางคนอาจไม่ถนัดฟังอะไรนานๆ คุณครูอาจจำเป็นต้องมีตัวช่วยอื่นเสริมเช่นใช้ภาพช่วย ใช้การเขียนขึ้นกระดานและจัดหมวดข้อมูลด้วย Bullet point หรือตามจริงแล้ว นักเรียนอาจมีเหตุผลที่มา ที่ทำให้พวกเขาไม่พร้อมจะฟังกัน เช่น มีปัญหาความไม่เชื่อใจกันมาก่อน หรืออาจยังไม่เห็นคุณค่าความสำคัญของการฟัง เป็นต้น

3.ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ในคาบเรียน

โดยให้มีแนวทางหรือเครื่องมือตัวช่วยการฟังให้กับนักเรียน เช่น การใช้สัญลักษณ์ชูกำปั้น แทนการช่วยกันเตือนและขอความร่วมมือเรื่องการฟัง

4.จัดเวลาพูดคุยกับนักเรียนรายบุคคลหรือกลุ่มเล็ก

เน้นการสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดี ที่ไม่ให้นักเรียนคนไหนรู้สึกว่าโดนคุณครูเพ่งเล็งหรือเรียกไปทำโทษ แต่อาจเป็นการใช้เวลาเพื่อทำความเข้าใจเหตุผลที่นักเรียนยังไม่พร้อมฟังเพื่อน และร่วมกันหาแนวทางสำหรับพัฒนาทักษะการฟังต่อไป

ชื่อภาพ

ตัวอย่างไอเดียกิจกรรมชวนนักเรียนฝึกทักษะการฟัง

  • เช็กอินความพร้อมก่อนเริ่มเรียน หรือทบทวนหลังเรียนจบ อาจใช้โจทย์ที่ทุกคนมีประสบการณ์ร่วมหรือรู้จักดี เช่น “ขอ 1 คำ แทนความรู้สึกก่อนสอบไฟนอล” (ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ เช็กอิน-เช็กเอ๊าท์ เพิ่มได้ที่ https://guidancehubth.com/knowledge/8)

  • เล่นเกม ที่กำหนดเงื่อนไขให้น่าสนใจเพื่อให้นักเรียนได้ฝึกฝนทักษะการตั้งใจฟังโดยไม่รู้ตัว เช่น

    • “นักจำที่แทร่!” โดยคุณครูชวนให้นักเรียนยืนเป็นวงกลม แล้วให้โจทก์เป็นชื่อหมวดหมู่อะไรก็ได้ เงื่อนไขคือ “ก่อนจะตอบ จะต้องพูดซ้ำคำคำตอบของเพื่อนคนก่อนหน้า เช่น โจทย์คือ “สัตว์ทะเล” เมื่อนักเรียนคนแรกพูดชื่อสัตว์ทะเล (สมมติว่าตอบ “แมงกะพรุน”) นักเรียนคนที่สองจะต้องพูดว่า “แมงกะพรุน” และตามด้วยคำตอบของตัวเอง (เช่น “แมงกะพรุน - ปลาดาว”) คนที่สามจะต้องพูดคำตอบเดิมของเพื่อนคนก่อนหน้าให้ครบก่อน (“แมงกะพรุน - ปลาดาว - ปลาวาฬ”)
    • “น..น..นี่มันคือเสียง!?” โดยคุณครูเตรียมเสียงที่หลากหลายมาให้นักเรียนช่วยกันทายว่าเป็นเสียงอะไร ประกอบด้วยโจทย์เสียงที่มีระดับความง่ายไล่ไปยาก เช่น เสียงที่ฟังในเวลาสั้นๆ ก็ตอบได้เลย (เสียงนกหวีด, เสียงหัวเราะของเด็ก, เสียงสุนัขเห่า) ไปจนถึงเสียงที่ต้องใช้เวลาและต้องตั้งใจฟังมากๆ (ให้ตั้งใจฟังและนับจำนวนคำว่า “ฉัน” จากเพลง ฝนตกไหม ของศิลปินวง Three Man Down)
  • ทำข้อตกลงร่วม ชวนนักเรียนช่วยกันคิดและลงความเห็น เรื่องการฟังและการให้เกียรติคนที่กำลังพูด เช่น การใช้สัญลักษณ์ชูกำปั้น แทนการช่วยกันเตือนและขอความร่วมมือเรื่องการฟัง (ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ ข้อตกลงร่วม เพิ่มได้ที่https://guidancehubth.com/knowledge/10)

  • สอดแทรกการฝึกทักษะการฟังในกระบวนการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ อาจใช้การจับคู่ จับกลุ่ม หรือกิจกรรมที่ทุกคนจะได้รับฟังพร้อมกันทั้งห้อง เช่น “1-min-Introduction” ให้แต่ละคนบอกเล่าความเป็นตัวเองที่อยากให้เพื่อนรู้จัก ภายในเวลา 1 นาทีเท่าๆ กัน, เป็นต้น

ชื่อภาพ

สิ่งสำคัญเกี่ยวกับการฟังอย่างตั้งใจ

1.การฟังเป็นทักษะที่แม้ได้ใช้ตลอดเวลา แต่ก็ต้องฝึกฝนสม่ำเสมอ

คุณครูอาจฝึกโดยการเข้าร่วมเวิร์กช็อปด้านการฟัง หรือทดลองประเมินการฟังของตัวเองทุกครั้งหลังให้คำปรึกษานักเรียนเสร็จก็ได้

2.ผู้ฟังพร้อม ผู้พูดอาจยังไม่พร้อมก็ได้

ระลึกเสมอว่านักเรียนบางคนอาจเคยเจอประสบการณ์ที่ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจ ยังไม่ไว้วางใจ หรืออาจต้องการเวลาในการคิดกับตัวเองก่อนตอบ แนะแนวฮับขอเสนอให้คุณครูคอยสังเกตและเท่าทันความคาดหวังที่เกิดขึ้น เพื่อระมัดระวังไม่กดดันให้นักเรียน (ที่ยังไม่พร้อม) พยายามฝืนพูดออกมา สิ่งที่สามารถทำเพื่อสนับสนุนนักเรียน เช่น การเน้นย้ำเรื่องพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียน, การกล่าวขอบคุณนักเรียนที่กล้าเปิดเผยเรื่องราวให้ฟังอย่างจริงใจ, การกล่าวให้กำลังใจนักเรียนที่กำลังพยายามพูด, การสื่อสารอย่างเข้าใจและจริงจังว่า “เราทุกคนมีสิทธิ์พูดและยังไม่พูด ตามความพร้อมของตัวเอง และครูพร้อมกับเพื่อนๆ ในห้องจะคอยเป็นกำลังใจ และพร้อมรับฟังเสมอ”

3.ไม่ไหว อย่าเพิ่งฝืนฟัง

อาจมีบางวันที่เต็มไปด้วยเรื่องราวชวนท้อใจ วันที่มีกองงานมากมาย วันที่มีแต่ความเครียดและความกังวล แนะแนวฮับขอเป็นอีกหนึ่งเสียงที่ยืนยันว่า “#ครูก็คน” ที่สามารถเหนื่อยได้ รู้สึกว่าไม่ไหวได้ แม้มีความต้องการเร่งด่วนตรงหน้า ก็ขอให้คุณครูเท่าทันความรู้สึกและร่างกายของตนเอง และสื่อสารกับนักเรียนหรือเพื่อนครูท่านอื่นๆ อย่างตรงไปตรงมาได้ว่า “ตอนนี้ยังไม่พร้อมฟัง แต่ขอเวลาหายใจซักครู่” เพื่อตั้งหลักและเรียกสติตัวเองก่อน ถึงค่อยเริ่มการฟังนะคะ

4.มองหาชุมชนที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้คุณครู

แม้เป็นนักจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญด้านการฟัง ก็ยังต้องมีระบบช่วยเหลือและสนับสนุน เพราะเราไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าในแต่ละวันหรือตลอดการทำงานที่ผ่านมา สภาพร่างกายและจิตใจของคุณครูต้องผ่านความท้าทายอะไรมาบ้าง แนะแนวฮับจึงอยากขอแนะนำให้คุณครูพาตัวเองไปใช้เวลาร่วมกับชุมชนเพื่อนครูที่สามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่คุณครูสามารถวางใจ รู้สึกปลอดภัยมากพอจะระบายความเหนื่อยล้า ความอัดอั้น แลกเปลี่ยนบทเรียนสำคัญ รวมถึงสนับสนุนกันและกันสำหรับเติบโตและก้าวเดินต่อด้วยกันนะคะ สำหรับคุณครูที่มองหาพื้นที่ปลอดภัย ที่สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างเป็นมิตร แนะแนวฮับเปิดช่องทางสื่อสารแล้วทั้งในเพจเฟสบุ๊กแนะแนวฮับ Line Openchat "ชุมชนเพื่อนครู แนะแนวฮับ" Line Openchat

ทักษะการฟังอาจดูเป็นเรื่องง่ายและท้าทายในเวลาเดียวกัน แต่แนะแนวฮับก็เชื่ออย่างสุดใจว่า คุณครูที่อ่านมาจนถึงตรงนี้ จะได้รับแรงบันดาลใจและกำลังใจจากทีมงานทุกคน ในการพัฒนาทักษะการฟังให้ตัวเอง ไปพร้อมกับการสร้างเสริมทักษะนี้ให้กับนักเรียนของพวกเรานะคะ🙂🙂

อ้างอิง

http://www.eltforward.com/doc/eltforward_listening_2.pdf

https://youtu.be/eLfXpRkVZaI?si=7jFHAhdqA9YvLBQX

https://the-criterion.com/V4/n1/Babita.pdf

https://archive.lib.cmu.ac.th/full/T/2561/citl90461papen_ch2.pdf


พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว

✅ มีเกียรติบัตร

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา