ชวนรู้จัก "พื้นที่ปลอดภัย"

หมวดหมู่: เครื่องมือข้อมูลด้านการสอน

Tags:  พื้นที่ปลอดภัย

อ่านแล้ว: 3574 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

ชวนรู้จัก '#พื้นที่ปลอดภัย' สิ่งสำคัญที่ทำให้ห้องเรียนเป็นพื้นที่สำหรับทุกคน

นอกจากปัจจัย 4 แล้ว อาจเรียกได้ว่าพื้นที่ปลอดภัยเป็นความต้องการพื้นฐานสำคัญอีกอย่างหนึ่งของทั้งนักเรียนและคุณครูเลยค่ะ เพราะถือเป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้เราทุกคนมีสิทธิ์ในการได้เป็นตัวของตัวเอง ในขณะเดียวกันเราก็ได้รับการยอมรับในแบบที่เราเป็นจริงๆ

เมื่อห้องเรียนมีความปลอดภัยทางใจมากพอ จะทำให้เด็กๆ กล้าเป็นตัวของตัวเอง กล้าสื่อสาร แสดงความคิดเห็น พร้อมเผชิญหน้าเมื่อพบความเห็นต่าง เชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเองและเปิดรับการเรียนรู้ใหม่ๆ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่จะต่อยอดทักษะชีวิตด้านอื่นๆ ต่อไป ส่วนตัวคุณครูเองก็จะมีความสุขกับบรรยากาศการเรียนการสอน มีพลัง และเห็นแนวทางในการออกแบบการเรียนการสอนที่เหมาะกับนักเรียนในห้องเพิ่มมากขึ้นด้วย

คุณค่าความสำคัญของพื้นที่ปลอดภัยมีอะไรบ้าง คุณครูควรทำอย่างไรหากอยากเริ่มสร้างพื้นที่ปลอดภัย ติดตามเนื้อหาและเรียนรู้ไปด้วยกันได้เลยนะคะ

คำว่าพื้นที่ปลอดภัย

คำว่า “พื้นที่ปลอดภัย” ในที่นี้ มีได้ทั้งในระดับบุคคล คือ เพื่อนกับเพื่อน ครูกับนักเรียน พ่อแม่กับลูก ฯลฯ และระดับชุมชนอย่างห้องเรียน โรงเรียน แผนก ที่ทำงาน หน่วยบ่มเพาะต่างๆ เป็นต้น ความเป็นพื้นที่ปลอดภัยนี้ถือเป็นหลักสากลที่ไม่จำกัดเพศ ช่วงวัย ชาติพันธุ์ ความเชื่อ ฐานะบทบาท หรือมาตรฐานทางสังคม ทุกคนมีสิทธิ์อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยได้ และทุกคนล้วนเป็นส่วนสำคัญในการสร้างและรักษาพื้นที่ปลอดภัยนี้ร่วมกัน

พื้นที่ปลอดภัย คือพื้นที่ที่คนอยู่แล้วสามารถเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่

พื้นที่ปลอดภัย คือพื้นที่ที่คนอยู่แล้วสามารถเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ สามารถแสดงความรู้สึก ความคิดเห็น แนวคิดต่างๆ ได้โดยไม่ต้องกลัวถูกตัดสินผิด-ถูก ดี-ไม่ดี เป็นพื้นที่ความสบายใจ ในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ท้าทาย ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ว่า เมื่อเราอยู่รวมกัน เมื่อเรามีสิทธิ เสรีภาพ ในการเป็นตัวเอง และแสดงความเห็นได้อย่างตรงไปตรงมา ย่อมเกิดเป็นสังคมแห่งความแตกต่างหลากหลาย แต่เราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเหมือนกันเสมอไป เราสามารถเห็นต่างกันได้ พื้นที่ที่มีความปลอดภัยมากพอ จะท้าทายและผลักดันให้เรากล้าเผชิญหน้าเพื่อแลกเปลี่ยน ถกเถียง สามารถเกิดการปะทะได้ สั่นสะเทือนได้ แต่ยังคงปลอดภัย หมายถึง เมื่อเกิดความขัดแย้ง เราจะพร้อมก้าวออกมาทำความเข้าใจแบบไม่มีอคติใดๆ เมื่อได้เรียนรู้ ได้บทเรียน ได้ตกตะกอนทบทวนตัวเอง ก็จะเกิดกระบวนการที่นำไปสู่การเติบโตภายในต่อไป

ห้องเรียนสามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับนักเรียนได้

หากห้องเรียนสามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับนักเรียนได้ จะช่วยเสริมสร้าง Self-Esteem (การเห็นคุณค่าในตัวเอง) มีทักษะ Self-awareness (การเท่าทันตัวเอง) และ Critical Thinking (การคิดอย่างมีวิจารณญาณ) เป็นต้น

เด็กๆ จะกล้าเป็นตัวของตัวเอง กล้าสื่อสารแสดงความคิดเห็น พร้อมเผชิญหน้าเมื่อพบความเห็นต่าง เชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเองและเปิดรับการเรียนรู้ใหม่ๆ คุณสมบัติเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่จะต่อยอดต่อไปจนพวกเขาสามารถรู้จักตัวเองมากขึ้น และสามารถออกแบบทางเลือก เส้นทางในอนาคตที่เหมาะสมกับตัวเองและบริบทแวดล้อมได้

อยากสร้างพื้นที่ปลอดภัย คุณครูจะเริ่มยังไงดี

อยากสร้างพื้นที่ปลอดภัย คุณครูจะเริ่มยังไงดี

มีวิธีการหรือ How-to ให้สืบค้นเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ มากพอสมควร แต่ก่อนจะกระโดดไปลงมือทำ มีสิ่งสำคัญ 3 ข้อที่ควรต้องมีก่อนหากอยากสร้างพื้นที่ปลอดภัย คือ

1. ตั้งเป้าหมายให้ชัด ด้วยความเชื่อมั่นในมนุษย์และการเห็นคุณค่าของการมีพื้นที่ปลอดภัย

ฐานคิดสำคัญแรกเริ่มที่ควรมีคือ การกลับมาทวนตัวเองก่อนว่า ตัวเรานั้นเชื่อในศักยภาพการเรียนรู้และเติบโตด้วยตัวเองของมนุษย์มากน้อยแค่ไหน มนุษย์ในที่นี้หมายถึงทั้งเราและคนอื่นๆ รอบตัวเรา ที่อาจเป็นเพื่อนสนิท คนรัก นักเรียน ไปจนถึงคนที่เราอาจไม่ชอบหน้า หรือมีความเห็นบางอย่างที่ขัดแย้งกัน ลองตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนด้วยการถามตัวเองก่อนว่า เพราะเหตุใดเราจึงอยากสร้างพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียน เพื่อให้ตัวคุครูเองมีพลังความมุ่งมั่นในการไปต่อบนเส้นทางการสร้างการเปลี่ยนแปลงนี้ เช่น “ฉันอยากสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้นักเรียนในห้องได้เรียนอย่างมีความสุข รู้จักตัวเอง และมีเป้าหมายในอนาคต” เป็นต้น

2. เปิดใจแลกเปลี่ยนและเรียนรู้เสมอ

การเรียนรู้นี้รวมทั้งในเรื่องพื้นที่ปลอดภัยและผู้คน ความรู้ความเข้าใจต่างๆ เกิดได้จากหลักสูตร บทเรียน การบอกเล่า และจากประสบการณ์ตรงที่เราเคยสัมผัสเอง (การมีประสบการณ์ตรง จะทำให้เราเข้าใจแก่นของมนุษย์มากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าประสบการณ์ตรงของเรา 1 คน จะเหมือนหรือต่างกับประสบการณ์ตรงของคนอื่นเสมอไป ต้องไม่ลืมเปิดรับและพร้อมเรียนรู้อยู่เสมอด้วย) ระลึกอยู่เสมอว่าคุณครูจะมีโอกาสได้พบกับความแตกต่างหลากหลายทั้งความรู้สึกนึกคิด แนวความเชื่อ ภูมิหลัง ที่แสดงออกผ่านพฤติกรรม การตัดสินใจที่หลากหลายเช่นกัน

ตัวอย่างหนึ่งที่สามารถเริ่มทำได้เลย อาจเป็นการตั้งคำถามชวนคนใกล้ตัวอย่างเพื่อน ลูก นักเรียน หรือคนที่เรารักว่า “ฉันอยากเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เธอ เธอมีอะไรที่ชอบ หรืออยากให้ฉันปรับหรือทำเพิ่มไหม เพื่อให้เราเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเธอได้”

3. ฝึกฝนทักษะและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

การสร้างพื้นที่ปลอดภัยไม่ใช่เป็นเพียงปลายทาง แต่คือความพยายามในการลงมือทำอย่างจริงจังตลอดเส้นทาง ที่ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถของคุณครูทุกคน เพียงแต่ระหว่างการฝึกฝนและค่อยๆ พัฒนาตัวเองทีละนิดนี้ อาจเจอความท้าทายบ้าง ทั้งจากประสบการณ์เดิม ชุดความคิดความเชื่อ มายาคติ ไปจนถึงความกังวลไม่แน่ใจ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องปกติ ที่จะได้เจอเมื่อเรากำลังทำสิ่งใหม่ที่ไม่คุ้นเคย

เครดิตรูปประกอบจาก https://flaticon.com/authors/good-ware

ทักษะที่สำคัญและมีส่วนช่วยสร้างให้เกิด รวมถึงรักษาความเป็นพื้นที่ปลอดภัย

ทักษะที่สำคัญและมีส่วนช่วยสร้างให้เกิด รวมถึงรักษาความเป็นพื้นที่ปลอดภัย

  • การฟังอย่างตั้งใจและเปิดรับ
  • การถามเพื่อความเข้าใจและการเติบโต
  • การให้เวลา ไม่กดดัน
  • การใช้อำนาจอย่างเหมาะสม
  • การตรวจสอบ เท่าทันตัวเองทั้งความรู้สึก ความคิด
  • การทำข้อตกลงร่วมกัน

การสร้างพื้นที่ปลอดภัยอาจเป็นเรื่องใหม่ เป็นเรื่องยาก หรือยังไม่คุ้นชินสำหรับคุณครูหลายๆ คน

การสร้างพื้นที่ปลอดภัยอาจเป็นเรื่องใหม่ เป็นเรื่องยาก หรือยังไม่คุ้นชินสำหรับคุณครูหลายๆ คน

โปรดระลึกอยู่เสมอว่า มนุษย์เราแม้มีความตั้งใจและเจตนาที่ดี ก็สามารถทำพลาดได้ การสร้างพื้นที่ปลอดภัยจำเป็นต้องใช้เวลา ความมุ่งมั่นตั้งใจ รวมถีงการฝึกฝนพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ต้องไม่ลืมชื่นชม โอบกอดตัวเอง เก็บบทเรียนมาเรียนรู้และพัฒนาต่อ

ระหว่างที่คุณครูกำลังพยายามสร้างและรักษาพื้นที่ปลอดภัยนี้ ขอให้เชื่อมั่นในเป้าหมายที่ตั้งไว้ มองหาพื้นที่ปลอดภัยที่จะเป็นแรงหนุนให้ได้มีกำลังใจลงมือทำสิ่งเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่นี้ต่อ อาจจะเป็นเพื่อน ชุมชนรอบตัวที่บ้าน โรงเรียน หรือที่ทำงานก็ได้

ที่ตรงนี้จะมีพวกเราที่เชื่อมั่นเสมอว่า คุณครูคือคนสำคัญ ที่จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในห้องเรียนได้

ขอเป็นกำลังใจให้คุณครูทุกคนเลยค่ะ :)


คอร์สเรียนฟรี สุดพิเศษ เอาไปใช้ได้จริง! สำหรับครูแนะแนว

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ มีเกียรติบัตร ***จะได้รับเมื่อทำ Quiz และแบบประเมินหลังเรียนจบเรียบร้อย

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา