รู้จัก "ข้อตกลงร่วม"

หมวดหมู่: เครื่องมือข้อมูลด้านการสอน

Tags:  ข้อตกลงร่วม

อ่านแล้ว: 14204 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

“ทำตามกฎด้วยนะนักเรียนนนนนนนนนนน”

เคยมั้ยคะคุณครู ที่มีการตั้งกฎกติกา เรียบเรียงและแปะไว้สวยงามหน้าห้องเรียน แต่ทำไมน้าาาา กฎกติกาเหล่านั้นดูเหมือนจะยังไม่เห็นผล ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง ยังไม่ได้ทำให้ทุกคนในห้องเรียนยอมรับและพร้อมปฏิบัติตามข้อตกลงหรือเงื่อนไขนั้นร่วมกันได้

สาเหตุสำคัญที่ทำให้นักเรียนหลายคนยังไม่สามารถทำตามกฎระเบียบบางอย่างได้ อาจเป็นได้หลายอย่างเลยค่ะ เช่น เด็กๆ ยังไม่เห็นคุณค่าความสำคัญ ยังไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งหรือยังไม่รู้สึกว่าตนเป็นส่วนร่วมที่สำคัญในการออกแบบหรือตั้งกฎเหล่านั้น หรืออาจจะรู้สึกว่ากฎกติกาต่างๆ ที่ผู้ใหญ่วางไว้ให้ ทำไมต้องบังคับและช่างไม่เข้าใจนักเรียนเอาเสียเลย!

เพื่อให้เกิดกติกาที่ทั้งคุณครูและนักเรียนรู้สึกโอเค ยอมรับ และทำตามอย่างแท้จริง วันนี้เราเลยอยากชวนคุณครูมาทำความรู้จัก #ข้อตกลงร่วม และวิธีการสร้างข้อตกลงร่วมกัน เผื่อคุณครูจะลองนำไปปรับใช้ในบริบทในห้องเรียนหรือโรงเรียนของคุณครูเองได้นะคะ ไปกันเลยค่า

ข้อตกลงร่วม คือ กติกาหรือกฎสำหรับการอยู่ร่วมกัน

ข้อตกลงร่วม คือ กติกาหรือกฎสำหรับการอยู่ร่วมกัน ที่นักเรียนทุกคนในห้องและคุณครูร่วมกันออกแบบ เป็นข้อตกลงร่วมที่มาจากการเปิดรับและรับฟังเสียงทุกเสียงในห้องเรียน โดยยึดหลักประชาธิปไตย ตกลงตามหลักเสียงข้างมาก แต่ไม่ละเลยเสียงข้างน้อย

เมื่อสิ่งที่เราทุกคนเห็นตรงกัน ตกลงร่วมกันแล้ว จะถือว่าข้อตกลงร่วมนี้เป็นเรื่องสำคัญและศักดิ์สิทธิ์สำหรับทุกคนรวมถึงคุณครูด้วย สิ่งสำคัญคือ ทุกคนพร้อมที่จะปฏิบัติตามกติกาที่สร้างขึ้นร่วมกันนี้ไปด้วยกัน อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านไป มีสถานการณ์หรือเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น และมีคนเห็นว่าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนข้อตกลงร่วม ก็สามารถนำขึ้นมาร่วมกันวิเคราะห์และออกแบบเพื่อใช้ต่อได้

ข้อตกลงร่วม เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการสร้างห้องเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

ข้อตกลงร่วม เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการสร้างห้องเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน หากทุกคนสามารถปฏิบัติตามกฎกติกาที่ออกแบบร่วมกันอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ จะช่วยลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในห้องเรียนได้ การสร้างข้อตกลงร่วมยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตนเอง กล่าวคือ

  1. นักเรียนได้ตั้งเป้าหมายที่ตนและทุกคนในห้องพร้อมจะปฏิบัติไปในแนวทางนี้ร่วมกัน
  2. เกิดแรงผลักดันให้นักเรียนปรับพฤติกรรมด้านต่างๆ ด้วยตัวเอง เพื่อไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ร่วมกัน โดยมีคุณครูและเพื่อนๆ ในห้องเรียนเป็นผู้คอยสนับสนุน กระตุ้น ช่วยเตือนระหว่างทาง
  3. นักเรียนรับรู้ว่าตนได้รับการยอมรับจากครู และเพื่อน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างให้นักเรียนเกิดการยอมรับและเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) ต่อไป

หากสามารถชวนนักเรียนทำข้อตกลงร่วมได้ตั้งแต่คาบแรกๆ ของการเปิดเทอมก็จะยิ่งดีเลยค่ะ เพราะสมาชิกทุกคนจะได้ช่วยกันกำหนดทิศทางบรรยากาศในห้องเรียน พร้อมปฏิบัติร่วมกันได้ตั้งแต่ต้นและต่อเนื่องจนจบเทอม ในระยะแรกที่นักเรียนอาจยังไม่คุ้นชิน คุณครูควรใช้วิธีการกระตุ้นเชิงบวก เช่น การพูดขอบคุณและให้กำลังใจนักเรียนที่ทำได้ ชี้ให้เห็นประโยชน์ที่นักเรียนได้รับเมื่อทำตามสิ่งที่ตกลงกัน เชิญชวนให้ช่วยกันสนับสนุน กระตุ้นเตือนเพื่อนๆ รวมถึงครูเอง ที่นักเรียนก็สามารถเตือนได้หากสิ่งที่ทำไม่เป็นไปตามข้อตกลงของห้อง

ความต่อเนื่องที่อยู่บนพื้นฐานความเข้าใจตรงกันนี้ จะกลายเป็นวัฒนธรรมของห้องเรียนในที่สุด ทั้งนี้ ข้อตกลงร่วมที่ทำร่วมกันในคาบแรก ไม่ใช่กฎตายตัวที่แก้ไขอะไรอีกไม่ได้ แต่สามารถนำกลับมาทบทวนและปรับใหม่ได้เสมอ โดยเฉพาะเมื่อเกิดพฤติกรรมบางอย่างที่ส่งผลต่อการอยู่ร่วมกัน คุณครูหรือนักเรียนเองก็สามารถชวนทุกๆ คน กลับมาหารือและออกแบบกติกาใหม่ร่วมกันอีกได้เสมอ

การสร้างข้อตกลงร่วมในห้องเรียนอาจมีได้หลายรูปแบบ

การสร้างข้อตกลงร่วมในห้องเรียนอาจมีได้หลายรูปแบบ โดย 4 ขั้นตอนที่เรานำมาฝากวันนี้ จะเน้นการตั้งคำถามเพื่อให้นักเรียนทุกคนในห้องเรียนรวมถึงคุณครูได้แสดงตัวตน ความต้องการ ฝึกคิดวิเคราะห์ และแสดงความคิดเห็นร่วมกัน

ขั้นตอนที่1 ตั้งเป้าเพื่อตั้งหลักร่วมกัน

ชวนนักเรียนทุกคนในห้องเรียนรวมถึงตัวคุณครูเอง ร่วมกันแสดงความคิดเห็นของตนเอง โดยเน้นย้ำเรื่อง "การฟังอย่างตั้งใจ ไม่พูดแทรก ไม่ด่วนตัดสินคำตอบของกันและกัน" ใน 2 คำถาม ต่อไปนี้

  1. เป้าหมายในการเรียนวิชานี้ ของพวกเราคืออะไร?
  2. อยากให้คาบเรียนวิชานี้ ของพวกเราเป็นอย่างไรบ้าง? (ทั้งในแง่ของบรรยากาศในห้อง ตัวคุณครู และเพื่อนๆ) โดยการบันทึกคำตอบสามารถทำหลายวิธี เช่น คุณครูฟังความเห็นนักเรียนแล้วเขียนขึ้นกระดาน หรือคุณครูเขียนโจทย์ลงกระดาษแผ่นใหญ่ แล้วให้นักเรียนเติมคำตอบบนกระดาษ หรือเขียน Post-it แปะ

ขั้นตอนที่2 สรุปประเด็น

จัดกลุ่มคำตอบของนักเรียน และอ่านสรุปประเด็นให้ทุกคนฟังร่วมกัน

ขั้นตอนนี้ อาจชวนนักเรียนอาสาสมัครมาช่วยคุณครูจัดกลุ่มคำตอบที่หมวดหมู่เดียวกันหรือใกล้เคียงกันก็ได้ค่ะ สำคัญคือคุณครูจะต้องตั้งใจอ่านออกเสียงทุกคำตอบ หากมีคำตอบใดที่ลายมือหรือข้อความยังไม่ชัดเจน ก็สามารถถาม เพื่อให้เจ้าของข้อความนั้นอธิบายขยายความเพิ่มได้ วิธีการนี้จะทำให้นักเรียนรับรู้ว่าเสียงของตนนั้นส่งถึงครูและเพื่อนจริงๆ

ขั้นตอนที่3 ออกแบบข้อตกลงร่วมกันเถอะ

ขั้นตอนที่3 ออกแบบข้อตกลงร่วมกันเถอะ!

เมื่อนักเรียนทุกคนได้ทราบความคิดเห็นของกันและกันเรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการออกแบบข้อตกลงร่วมกัน โดยการชวนนักเรียนแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นกันต่อในคำถามที่ว่า…

“จากเป้าหมายที่เราช่วยกันเสนอมาเมื่อครู่ พวกเราทุกคนรวมถึงคุณครูจะช่วยกันอย่างไรได้บ้าง?”

คำถามนี้ สามารถชวนนักเรียนช่วยกันเสนอได้ถึง 3 ด้าน คือ #บทบาทตัวเอง #บทบาทของเพื่อนๆในห้อง และ #บทบาทของคุณครู ค่ะ เราสามารถเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นให้เพื่อนๆ ในห้องได้ฟังและแลกเปลี่ยนร่วมกันอย่างเต็มที่ โดยคุณครูยังสามารถช่วยถามคำถามเพื่อต่อยอดเพิ่มเติมได้ เช่น

  • นักเรียนคิดเห็นยังไงกับที่เรื่องเพื่อนเสนอมา เราควรใช้เป็นข้อตกลงร่วมกันหรือไม่ เพราะอะไร
  • ถ้าปฏิบัติตามข้อนี้ได้ จะส่งผลต่อพวกเราอย่างไรบ้าง
  • อยากปรับลด หรือเพิ่มเติมอะไรอีกบ้าง

ขั้นตอนนี้ อาจมีความท้าทายตรงที่นักเรียนที่พูดเก่ง กล้าแสดงออก จะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ในขณะที่นักเรียนที่ยังไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง ไม่ถนัดพูดต่อหน้าเพื่อนทั้งห้อง อาจยังเขิน กังวล และเลือกนั่งฟังเงียบๆ คุณครูสามารถเชิญชวนขอความคิดเห็นได้ตลอดเลยค่ะตราบเท่าที่นักเรียนคนนั้นพร้อมและรู้สึกปลอดภัยมากพอ ว่าเพื่อนๆ ก็พร้อมฟังเขาเช่นกัน

กระบวนการในขั้นนี้จะค่อยๆ ชวนกันหารือจนได้เป็นข้อสรุปของข้อตกลงร่วมของห้องเรียนของพวกเราค่ะ

ขั้นตอนที่4 ทวนข้อตกลงร่วม

ทบทวนข้อสรุปของข้อตกลงร่วมที่ได้อีกครั้ง โดยให้นักเรียนแต่ละคนยกมือแสดงความคิดเห็นว่าตนเองยอมรับ และพร้อมปฏิบัติตามข้อตกลงที่ออกแบบร่วมกันในแต่ละข้อหรือไม่ ในกรณีที่มีนักเรียนบางคนไม่ยอมรับข้อตกลงร่วมบางข้อ คุณครูสามารถสอบถามและชวนอธิบายเหตุผลเพิ่มเติมได้นะคะ เพราะเขาอาจมีมุมมองที่ไม่เห็นด้วยหรือรู้สึกว่าข้อเสนอครั้งนี้อาจยากสำหรับเขา อาจชวนให้เขาอธิบายเพิ่ม แล้วชวนเพื่อนๆ ในห้อง ช่วยกันเสนอทางออก ให้ทุกคนรู้สึกโอเค พร้อมยอมรับในข้อตกลงร่วมอย่างแท้จริง

อีกประเด็นที่คุณครูอาจช่วยทวนถามเพิ่มได้คือ หากเกิดกรณีที่ใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ทำตามข้อตกลงร่วมนี้ จะส่งผลอะไรบ้าง แล้วเราทุกคนจะช่วยกันรับมือและแก้ไขอย่างไร คำตอบที่ได้ จะไม่ได้มาจากความคิดเห็นของคุณครู ที่คุณครูมองว่าดีหรือเห็นด้วยเท่านั้น แต่จำเป็นต้องให้ทุกคนในห้องลงมติร่วมกันด้วยค่ะ

การสร้างข้อตกลงร่วมเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยสร้างความสุขให้กับทุกคนในห้องเรียน

การสร้างข้อตกลงร่วมเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยสร้างความสุขให้กับทุกคนในห้องเรียน เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันได้ไม่แพ้แผนการสอนหรือกิจกรรมเกมสนุกๆ เลยค่ะ อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า การจะทำให้นักเรียนทุกคนที่มีความแตกต่างหลากหลายมากๆ ยอมรับในกติกาข้อตกลง และนำไปใช้อย่างจริงจังและต่อเนื่องนั้น อาจจะเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับคุณครู แต่เราก็ยังเชื่อว่าพลังเล็กๆ ของคุณครูที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในห้องเรียน จะเป็นแรงหนุนให้เกิดการทำข้อตกลงร่วมกัน และเกิดพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียนในแบบของตัวเองได้ ตามความพร้อมและความถนัดของคุณครูค่ะ

ขอเป็นกำลังใจให้คุณครูกล้าทดลอง ลงมือทำ และเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ วิธีการที่ใช้ไม่มีถูกผิดตายตัว ขอเพียงคุณครูเปิดใจ ลองปรับเปลี่ยนแนวทางให้เหมาะสมกับบริบทและความพร้อมของทั้งคุณครูและนักเรียนดูนะคะ แล้วคุณครูจะพบว่า นักเรียนกับคุณครูเป็นทีมเดียวกัน ที่สามารถพูดคุย หารือ และตกลงกันได้ทุกเรื่องเลยค่ะ :)

3 ข้อเสนอแนะเล็กๆ น้อยๆ สำหรับการสร้างข้อตกลงร่วมกัน

3 ข้อเสนอแนะเล็กๆ น้อยๆ สำหรับการสร้างข้อตกลงร่วมกัน

  1. ข้อตกลงร่วมในห้องเรียนที่ใช้ได้จริงและเกิดผล จะต้องมาจากการยอมรับและปฏิบัติร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ มีการกลับไปทบทวนข้อตกลงร่วมกันทุกครั้งที่มีโอกาส ไม่ว่าพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในห้องเรียนจะเป็นพฤติกรรมเชิงบวกหรือเชิงลบก็ตาม คุณครูสามารถยกประเด็นมาสอบถามนักเรียนเพิ่มเติมได้ว่า เมื่อนักเรียนปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามกติการ่วม จากการกระทำดังกล่าว นักเรียนได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์อะไรบ้าง
  2. ไม่ควรปล่อยผ่านพฤติกรรมเชิงลบเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้น เพราะอาจส่งผลให้นักเรียนเรียนรู้และเข้าใจว่าคุณครูไม่ได้จริงจังหรือเข้มงวดกับกติกาที่สร้างขึ้นร่วมกัน พอสะสมความเข้าใจนี้ไปเรื่อยๆ ข้อตกลงร่วมของพวกเราเลยใช้ไม่ได้ผล
    • ตัวอย่างเช่น การล้อ การแซว แกล้งกัน หรือการเรียกเพื่อนจากบุคลิกภาพภายนอก ถ้าคุณครูได้ยินหรือมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในห้องเรียน ก็สามารถหยิบยกขึ้นมาถามเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจกันและกันมากยิ่งขึ้นได้ เช่น ถามความรู้สึกของคนที่ถูกล้อหรือถูกแซว ให้เขาได้มีโอกาสบอกความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองให้เพื่อนฟัง เพราะบางครั้งการไม่แสดงออก ก็ไม่ได้แปลว่าไม่รู้สึกอะไร รวมถึงอาจจะถามคนที่แซวว่าทำไปเพราะอะไร มีเจตนาอย่างไร แล้วเมื่อได้ยินคำตอบของเพื่อนที่เราแซวแล้ว เรารู้สึกอย่างไร จะทำอะไรต่อ แล้วจะอยู่ร่วมกันอย่างไรต่อเพื่อให้ห้องเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน เป็นต้น
  3. กรณีที่นักเรียนไม่ค่อยกล้าพูดแสดงความคิดเห็นระหว่างทำข้อตกลงร่วม หรือไม่กล้ามาบอกคุณครูว่าอยากจะปรับข้อตกลงร่วมกันใหม่ อาจแก้ไขได้โดยการเพิ่มช่องทางสื่อสาร เช่น มีกล่องรับฟังความคิดเห็นให้นักเรียนเขียนใส่กระดาษมาหยอด หรือเพิ่มช่วงเวลาคุยอะไรก็ได้ ให้นักเรียนที่สนใจลงชื่อ เพื่อขอเข้าพบครูเป็นการส่วนตัว อย่างไรก็ดี เราอยากชวนคุณครูให้ย้อนกลับไปตั้งหลักที่เรื่อง #พื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียน ซึ่งคุณครูคือคนสำคัญในการเป็นแบบอย่างของพื้นที่ปลอดภัยที่พร้อมเปิดรับและรับฟังเสียงทุกเสียงในห้องเรียนอย่างแท้จริง สิ่งนี้จำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาและความทุ่มเทที่ต่อเนื่อง การเน้นย้ำธรรมเนียมเล็กๆ ของห้องเรียนเรา ว่าเราจะเป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่รับฟังทุกความเห็น โดยไม่ด่วนตัดสินผิดถูก คอยถามไถ่เชิญชวนให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นทุกครั้งที่มีโอกาส รอคำตอบเมื่อนักเรียนพร้อม ไม่ใช่ด้วยการบีบบังคับ และไม่ลืมกล่าวขอบคุณทุกความพยายามในการมีส่วนร่วมเสมอ

เครดิตรูปประกอบจาก https://flaticon.com/authors/good-ware


คอร์สเรียนฟรี สุดพิเศษ เอาไปใช้ได้จริง! สำหรับครูแนะแนว

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ มีเกียรติบัตร ***จะได้รับเมื่อทำ Quiz และแบบประเมินหลังเรียนจบเรียบร้อย

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา