รวมกิจกรรมชวนนักเรียน "เช็กอินและเช็กเอ๊าท์"

หมวดหมู่: เครื่องมือข้อมูลด้านการสอน

Tags:  ไอเดียการสอน กิจกรรม

อ่านแล้ว: 32513 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

“ไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้นักเรียนสนใจเรื่องอะไร”

“ไม่ค่อยรู้จักเด็กๆ เท่าไร ไม่รู้เขาคิดอะไรอยู่”

“มีช่วงเวลาโฮมรูม แต่ไม่รู้จะคุยอะไรดี”

“ตั้งใจทำแผนการสอนซะดิบดี แต่ทำไมบรรยากาศในห้องไม่โอเคเลย”

นี่คือเสียงบางส่วนจากคุณครูที่แอดมินเคยได้ยินได้ฟังมา และเชื่อว่ายังมีเพื่อนครูอีกหลายท่านเลยที่เคยเจอปัญหาชวนกุมขมับนี้ ><

สาเหตุที่ทำให้เกิดพื้นที่แห่งความไม่รู้นี้ อาจมีได้หลายอย่างเลยค่ะ ทั้งเวลาและโอกาสที่ยังไม่เอื้อให้คุณครูและนักเรียนได้ทำความรู้จักกันมากพอ ไหนจะภาระงานและเดตไลน์ต่างๆ ยังไม่รวมถึงสภาพแวดล้อมของเด็กแต่ละคน ที่ช่างแตกต่างหลากหลาย จนคุณครูหลายท่านก็เริ่มไปไม่ถูก ไม่รู้จะออกแบบการสอนยังไงดี

เราเลยอยากชวนคุณครูรู้จัก ‘เช็กอินและเช็กเอ๊าท์ (Check-in, Check-out)’ กิจกรรมเล็กๆ ที่จะช่วยให้คุณครูและนักเรียนได้รู้จักและเข้าใจกันมากขึ้น พร้อมกับมีตัวอย่างไอเดียที่แอดมินหยิบยกมา ซึ่งต้องบอกก่อนว่านี่เป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็กน้อยเท่านั้น เพราะยังมีกิจกรรมอีกมากมายหลากหลายรูปแบบเลยค่ะ ที่สามารถใช้เพื่อเชิญชวนนักเรียนของเราให้กลับมาทบทวนความรู้สึกนึกคิดของตนเอง และแบ่งปันให้เพื่อนๆ และคุณครูฟัง

คุณครูสามารถออกแบบเอง สืบค้นเพิ่ม หรือลองเลือกวิธีที่เหมาะสมกับเด็กๆ ของคุณครูได้ โดยไม่ลืมที่จะประเมินความพร้อมตัวคุณครูเอง เทียบกับเวลาและทรัพยากรที่มี หรืออาจลองปรึกษาถามไถ่เพื่อนครูที่มีประสบการณ์ด้วยก็ได้

สิ่งสำคัญคือ การเปิดใจเรียนรู้ ลงมือทำ และร่วมอยู่ในช่วงเวลาพิเศษนี้ไปพร้อมๆ กับนักเรียนของเรา ขอกระซิบบอกว่า นักเรียนสามารถรับรู้ได้จริงๆ ว่าคุณครูจริงใจและเต็มที่กับพวกเขาค่ะ

ชื่อภาพ

เช็กอินและเช็กเอ๊าท์ คืออะไร?

คำว่า “เช็กอิน” (Check-in) ในที่นี้ไม่ใช่การเข้าเช็กอินที่พักในโรงแรม แต่หมายถึงการทบทวนสภาพ ระดับความพร้อมก่อนเริ่มกิจกรรมหรือชั้นเรียน ว่าผู้เข้าร่วมหรือผู้เรียน ณ เวลานั้น มีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร มีความกังวลใจ หรือเรื่องราวอะไรในใจบ้าง มีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนก่อนเริ่มตัวกิจกรรม

ประโยชน์ของการเช็กอินก่อนเริ่มคาบ คือ นักเรียนมีโอกาสได้ทบทวนและเท่าทันสภาวะอารมณ์ตัวเอง ได้รู้จักและเข้าใจเพื่อนๆ มากขึ้น และครูเองก็จะได้ข้อมูลสำหรับปรับแผนการสอนให้เหมาะกับผู้เรียนมากขึ้นด้วย นอกจากตั้งคำถามชวนคิดแล้ว อย่าลืมเปิดพื้นที่และเชื้อเชิญให้เด็กๆ อธิบายเพิ่มด้วยนะคะ ตัวอย่างคำถามแบบง่ายสำหรับชวนนักเรียนเช็กอินความรู้สึกก่อนเริ่มเรียน เช่น

  • ก่อนเริ่มเรียนวันนี้ รู้สึกอย่างไรบ้าง
  • พลังชีวิตของแต่ละคนตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง 0 คือ ไม่มีพลังแล้ว 10 คือ พลังเต็มหลอด
  • ขอเช็กความพร้อมก่อนเริ่มคาบ หากผายมือสุดแขนแปลว่าพร้อมเรียนมากๆ หากเอามือใกล้ๆ กัน แปลว่าไม่ค่อยพร้อม

คำว่า “เช็กเอ๊าท์” (Check-out) ในที่นี้ก็ไม่ใช่การลงชื่อออกจากที่พักเช่นเดียวกัน แต่หมายถึงการชวนทบทวนความรู้สึกนึกคิดหลังจบคาบเรียน ว่าผู้เข้าร่วมหรือเรียนนั้น เกิดความรู้สึกอะไรบ้าง ได้สังเกตหรือค้นพบอะไรในตัวเองหรือเพื่อนในห้องบ้าง ได้เรียนรู้อะไรบ้าง หลังเรียนจบคาบหรือจบกิจกรรมนั้นๆ

ประโยชน์ของการเช็กเอ๊าท์หลังจบคาบ คือ นักเรียนมีโอกาสได้ทบทวนตัวเองถึงความรู้สึก สิ่งที่ได้เรียนรู้ หรือแม้แต่คำถามข้อสงสัยที่ยังติดค้าง ส่วนตัวคุณครูเองก็จะได้ข้อมูลที่สามารถนำไปวัดผลการเรียนรู้ในคาบนั้นๆ ใช้เป็นโอกาสคลี่คลายความสงสัยของนักเรียน รวมถึงได้แนวทางการออกแบบการสนับสนุนนักเรียน หรือออกแบบการเรียนรู้ในคาบต่อไปด้วยค่ะ

ตัวอย่างคำถามแบบง่ายสำหรับชวนนักเรียนเช็กเอ๊าท์ความรู้สึกหรือสิ่งที่ได้เรียนรู้หลังเรียนจบ ได้แก่

  • เรียนคาบนี้จบแล้ว รู้สึกอย่างไรบ้าง
  • คิดว่าสิ่งที่ได้ค้นพบ หรือรู้จักตัวเองมากขึ้น จากการเรียนคาบนี้คืออะไรบ้าง
  • สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเข้าเรียนวันนี้คือเรื่องอะไรบ้าง

4 เรื่องสำคัญ ก่อนชวนเด็กๆ เช็กอินและเช็กเอ๊าท์

4 เรื่องสำคัญ ก่อนชวนเด็กๆ เช็กอินและเช็กเอ๊าท์

1. การเช็กอินและเช็กเอ๊าท์จะสำเร็จได้ต้องอาศัยพื้นที่ปลอดภัย

พื้นที่ปลอดภัยที่ทุกคน ทั้งนักเรียนและคุณครู เปิดใจรับฟังกัน ไม่รีบด่วนตัดสินว่าสิ่งที่เพื่อนพูดนั้นผิดหรือถูก ควรหรือไม่ควร เป็นพื้นที่สำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียม และเมื่อผู้พูดจริงใจกับตัวเอง ใช้ความกล้าในการสื่อสารออกมา ผู้รับก็พร้อมโอบรับเรื่องราวอย่างเข้าใจและเก็บเป็นความลับ ไม่นำไปพูดต่อที่อื่น การให้พื้นที่ที่เท่ากัน อาจอาศัยตัวช่วย เช่น คุณครูช่วยจับเวลาและสั่นระฆังเตือนเมื่อครบกำหนด หรือทำสัญลักษณ์มือตามที่ทุกคนในห้องตกลงและรับทราบร่วมกันก็ได้ค่ะ

อยากรู้จักและเข้าใจ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ให้มากขึ้น ตามไปที่ https://bit.ly/3SmuMm7

หากไม่สะดวกพกระฆังสติหรืออุปกรณ์แจ้งเตือนเวลา สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันตัวช่วยได้ที่ https://bit.ly/3BLGh0m

2. เราอาจต้องการเวลาไม่เท่ากัน

บางคน ในบางครั้ง บางเรื่องราว อาจต้องการเวลาในการทบทวนความคิดความรู้สึกของตัวเองมากกว่าคนอื่น หากยังพอมีเวลา คุณครูสามารถสื่อสาร เชื้อเชิญให้ทุกคนในห้องให้เวลาเพื่อนได้คิดกับตัวเองจนสามารถสื่อสารออกมาได้ กรณีที่มีเวลาจำกัด เราอยากเสนอให้คุณครูมองหาเครื่องมือช่วย อย่างการเขียนลงกระดาษ การแปะสติกเกอร์ การใช้สัญลักษณ์แทนความหมาย ฯลฯ รวมถึงเปิดพื้นที่ให้กับคนที่ยังนึกไม่ออกในครั้งนี้ ได้กลับไปใช้เวลาลองทวนตัวเองมากขึ้นสำหรับครั้งต่อไป

3. ค่อยๆ เรียนรู้ไปพร้อมนักเรียน

แม้คุณครูที่คุ้นชินกับการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ก็ยังเจอเรื่องท้าทายและวัดใจกันอยู่บ่อยๆ เพราะประสบการณ์และสภาวะที่หลากหลายของนักเรียนแต่ละคน ในแต่ละช่วงเวลา อาจทำให้เกิดสิ่งที่ไม่คาดคิด เช่น นักเรียนที่ไม่ชินกับการเปิดเผยความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง นักเรียนที่ยังกลัวเพื่อนแซว นักเรียนที่เพิ่งเจอข่าวร้ายหรือมีภาวะยากๆ หรือนักเรียนคนใดก็ได้ที่ยังไม่พร้อมทำกิจกรรมใดๆ อาจเกิดความรู้สึกอึดอัด เขินอาย เงียบ หันหน้าหนี ร้องไห้ หรือมีอารมณ์ฉุนเฉียว เราจึงอยากเสนอให้คุณครู…

  • เตรียมความพร้อมให้ตัวเองตั้งหลักให้มั่นคงก่อนทำกิจกรรม
  • อยู่กับปัจจุบันขณะร่วมกับเด็กๆ
  • รับฟังด้วยหัวใจที่แท้จริง
  • แม้เราจะไม่สามารถคลี่คลายปัญหาความกังวลของเด็กๆ ได้ในทันที ก็ขอให้ยังคงรับฟังโดยไม่ตัดสินผิด-ถูก
  • ไม่ลืมกล่าวขอบคุณที่ทุกคนยังอยู่ในพื้นที่ตรงนี้ด้วยกัน ค่อยๆ รับรู้สภาวะของเพื่อนไปด้วยกันและพยายามช่วยกันรักษาพื้นที่นี้ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกๆ คน

4. ‘ทุกคน’ หมายถึง รวมคุณครูด้วยนะคะ

การเช็กอินและเช็กเอ๊าท์เป็นพื้นที่ที่ทุกคนในห้องมีเท่าเทียมกัน เป็นโอกาสให้ได้รู้จักและเข้าใจกัน คำว่า ‘ทุกคนในห้อง’ จึงหมายถึง มีคุณครูรวมอยู่ด้วยนะคะ เวลาทำกิจกรรมเช็กอิน เช็กเอ๊าท์ อย่าลืมแชร์ความรู้สึกนึกคิดของคุณครู และร่วมเล่นกิจกรรมไปพร้อมกับเด็กๆ ด้วยความจริงใจ เป็นตัวเอง และร่วมเก็บเรื่องราวเป็นความลับด้วยเช่นกัน ในข้อนี้ เรามีเคล็ดลับเล็กๆ มาฝากด้วยค่ะ

  • เปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้พูดก่อน เพื่อให้เขาไม่เผลอพูดตามคุณครู เนื่องจากบทบาทความเป็นครูจะมีอิทธิพลต่อเด็กๆ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
  • อนุญาตให้ตัวคุณครูเองได้สื่อสารความเหนื่อยล้า ความเครียด ความรู้สึกง่วงนอน หรือแม้แต่ความรู้สึกผิด เสียใจ ที่เป็นผลจากเหตุการณ์บางอย่างบ้าง นักเรียนจะเรียนรู้ว่าความรู้สึกหรือสภาวะเหล่านี้ สามารถเกิดขึ้นได้ และไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร ในครั้งต่อๆ ไป เขาจะมีแนวโน้มเริ่มกล้าสื่อสารความจริงเหล่านี้ให้เพื่อนและคุณครูรับรู้มากขึ้นค่ะ
  • หากนักเรียนบางคนบอกว่าตนเองรู้สึก เฉยๆ อาจชวนให้เขาอธิบาย หรือยกตัวอย่างเพิ่ม เช่น เฉยๆ คือ ค่อนไปทางชอบหรือไม่ชอบ หรือ เฉยๆ เพราะไม่ใช่สิ่งที่สนใจหรืออินเท่าไรแต่สามารถอยู่ร่วมด้วยได้ เป็นต้น

เปรียบเทียบความรู้สึกกับอย่างอื่น

แนวทางการ เช็กอินและเช็กเอ๊าท์

#เปรียบเทียบความรู้สึกกับอย่างอื่น

ระดับพลังสำหรับการเตรียมการ 2/5 ดาว

กิจกรรมที่สามารถชวนนักเรียนมาเล่นด้วยกันได้ง่าย แต่ก็สร้างสรรค์ได้สุดๆ เพราะคุณครูสามารถหยิบเอาอะไรก็ได้มาเป็นตัวให้ทุกคนเปรียบเทียบเพื่อแทนตัวเองและความรู้สึกที่มี ให้ชัดขึ้น

ความน่าสนใจคือ หากคุณครูสามารถเตรียมตัวเปรียบเทียบที่ใกล้เคียงกับ Lifestyle หรือเป็นสิ่งที่เด็กๆ รู้จัก การเช็กอิน เช็กเอ๊าท์ ก็จะทำได้ไวขึ้น ไม่ต้องใช้เวลาอธิบายโจทย์หรือแนะนำตัวเปรียบเทียบมาก

*ควรสื่อสารอยู่เสมอว่า การเปรียบเทียบนี้เป็นเพียงเครื่องมือรูปแบบหนึ่งเท่านั้น ขอความร่วมมือนักเรียน ไม่นำเรื่องราวที่ได้ฟังมาล้อเลียนหรือแซวกัน เพราะนั่นถือว่าผิดจากวัตถุประสงค์ที่เราอยากรู้จัก เข้าใจกันและกัน ผ่านกิจกรรมนี้ค่ะ

ตัวอย่างกิจกรรม

  • เห็นเราเป็นสีอะไร เตรียมรูปสีที่หลากหลายเฉดไว้ ใส่เลขกำกับให้เรียกได้สะดวก กิจกรรมนี้นอกจากจะให้เพื่อนเลือกสีให้เพื่อนแล้ว อย่าลืมชวนอธิบายเหตุผลที่เลือกสีนั้นด้วยนะคะ https://bit.ly/3GIUYlh
  • ภาพที่มีเสียง เลือกรูป Meme ฮิตๆ ในโลกโซเชียล มาเรียงไว้แล้วใส่เลขกำกับให้เลือกได้สะดวก ลองดูว่า ความรู้สึกหรืออารมณ์ของแต่ละคนในห้องตอนนี้ ตรงกับรูปไหนที่สุดนะ https://bit.ly/3BrIv1p
  • เทียบอารมณ์กับหน้าพิซซ่า ว่าตอนนี้ เราเปรียบเป็นพิซซ่าหน้าอะไร https://bit.ly/3bsGlDT

การเปรียบเทียบนี้ สามารถพลิกแพลงโจทย์ได้หลากหลายมากๆ และอาจไม่จำเป็นต้องเตรียมอุปกรณ์ใดๆ เลยก็ได้ เช่น เทียบความรู้สึกช่วงที่ผ่านมาของเรากับท้องฟ้าว่าเป็นสีอะไร, คำพูดติดปากที่เราใช้บ่อยๆ ช่วงนี้คือคำว่าอะไร, หลังเจอข้อสอบสุดโหด เราแต่ละคนจะเลือกพุ่งตัวไปทำอะไรต่อ เพราะเหตุผลใด เป็นต้น ขอแค่ให้มั่นใจว่า เด็กๆ เข้าใจตัวเปรียบเทียบและความหมายที่ชัดเจน มีเวลาเพียงพอให้ทวนความรู้สึกนึกคิดตัวเอง มีเวลาเลือก ได้พื้นที่ในการถ่ายทอดให้เพื่อนๆ และครูรับทราบ

ถ่ายทอดความรู้สึก ผ่านงานศิลปะ

แนวทางการ เช็กอินและเช็กเอ๊าท์

#ถ่ายทอดความรู้สึก ผ่านงานศิลปะ

ระดับพลังสำหรับการเตรียมการ 3/5 ดาว

กิจกรรมที่นักเรียนอาจมีชุดประสบการณ์จากชั้นเรียนอื่น เช่น วิชาศิลปะ วิชาภาษาไทย ทำให้เด็กๆ มีกรอบหรือกฎระเบียบบางอย่างติดตัวมาโดยไม่รู้ตัว คุณครูจึงต้องให้เวลาในการบอกและคอยย้ำกับนักเรียนเรื่อยๆ ว่า ศิลปะในชั้นเรียนแห่งความปลอดภัยนี้ เราไม่ใช้มาตรวัดความสวยงามหรือความถูกต้องตามกฎใดๆ แต่เราจะใช้ศิลปะหลากหลายแขนงเป็นสื่อ เป็นเครื่องมือหนึ่ง ให้เราได้ทบทวนและใคร่ครวญกับตัวเอง ทั้งนี้ เพื่อให้เด็กบางคนที่มีภาพจำว่าตัวเองไม่เก่งศิลปะ วาดรูปไม่ได้ จะได้เบาใจขึ้น และเต็มที่กับกิจกรรมมากขึ้นค่ะ

*นอกจากจะต้องเตรียมอุปกรณ์ศิลปะให้เพียงพอกับนักเรียนแล้ว อย่าลืมเผื่อเวลาไว้เช็ดทำความสะอาดเก็บกวาดพื้นที่ด้วยนะคะ ^^

ตัวอย่างกิจกรรม

  • มาชวนนักเรียนทํากิจกรรมศิลปะบําบัดคลายเครียดกันเถอะ https://bit.ly/3CsNfVE
  • ปลดปล่อยความคิด ผ่านการสร้างบทกวีคําตัดแปะ กิจกรรมนี้อาจต้องเตรียมตุนหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารเอาไว้ล่วงหน้า หากประเมินได้ว่านักเรียนมีทักษะการอ่านภาษาอังกฤษด้วย ก็จัดนิตยสาร โบร์ชัวร์แผ่นพับต่างประเทศมาด้วยได้เล้ยยย https://bit.ly/3mpp9Wf
  • ชวนนักเรียนแต่งไฮกุ บอกความเป็นตัวเอง ไฮกุเป็นรูปแบบกลอนประเภทหนึ่งของญี่ปุ่น เอกลักษณ์คือ ไม่ต้องมีกฏสัมผัสอะไรมากมาย ขอแค่ลงพยางค์ 5 7 5 ก็จะได้กลอนออกมาค่ะ https://bit.ly/3BqaCOt

นอกจากศิลปะจะช่วยสะท้อนตัวตน หรือมุมมองความรู้สึก ความคิดของตัวบุคคลได้แล้ว เรายังสามารถออกแบบให้เป็นกิจกรรมที่สร้างการมีส่วนร่วมของคนทั้งห้องได้ด้วย เช่น เตรียมกระดาษให้แต่ละคน ระบายสีที่แทนความเป็นตัวเอง เสร็จแล้วพลิกอีกด้าน ให้เพื่อนคนอื่นๆ หยิบสีมาแต้มให้บ้าง ว่ามองเพื่อนเจ้าของกระดาษเป็นสีอะไร

มีสื่อกลางตั้งต้นร่วมกัน

แนวทางการ เช็กอินและเช็กเอ๊าท์

#มีสื่อกลางตั้งต้นร่วมกัน

ระดับพลังสำหรับการเตรียมการ 4/5 ดาว

กิจกรรมที่เพิ่มระดับความเข้มข้นมากขึ้น นอกจากจะได้เช็กอิน เช็กเอ๊าท์ ความรู้สึกนึกคิดของเด็กๆ แล้ว คุณครูยังสามารถออกแบบกระบวนการเพื่อต่อยอดการเรียนรู้ โดยการใช้คำถามชวนกันฝึกคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล เชื่อมโยง คาดการณ์ความเป็นไปได้ ลองวางแผนสำรอง ฯลฯ เพียงแต่คุณครูอาจต้องใช้แรงในการจัดเตรียมตัวสื่อกลางมากหน่อย เช่น หากจะสร้างเรื่องราวเป็นเมืองจำลอง ก็ควรคิดเผื่อตัวละครที่มีคาแรกเตอร์หลากหลาย

*ควรเตรียมวิธีจัดเก็บข้อมูลที่เด็กๆ จะบอกเล่าออกมา ไว้เป็นฐานในการออกแบบการเรียนการสอนที่เหมาะกับผู้เรียนต่อด้วยนะคะ

ตัวอย่างกิจกรรม

  • ดูแลแมวเหมียวหน่อย อย่าปล่อยให้เหมียวเดียวดาย เรื่องราวของหมู่บ้านแมว ที่ชวนนักเรียนทุกคนเลือกแมวที่ใช่ กับทางเลือกที่เป็นตัวเองที่สุด https://bit.ly/2XVX7Zb
  • I have a voice : เสียงของเด็กทุกคนมีคุณค่า ด้วยการตั้งกล่องรับฟัง Safe zone ที่ทุกคนในห้อง สามารถเขียนข้อความที่อยากสื่อสาร อยากถาม อยากระบาย อะไรก็ได้ ที่อยากให้ครูได้รับรู้ คุณครูอาจสุ่มหยิบข้อความจากกล่องมา เพื่อชวนทุกคนในห้อง ร่วมรับฟังข้อความ คิดหาทางสนับสนุนเจ้าของข้อความ (ที่ไม่ต้องระบุชื่อ) ด้วยกัน ก็เป็นอีกวิธีที่เด็กๆ ได้ยินเสียงของเพื่อนเช่นกันค่ะ https://bit.ly/2ZuCOSY

อย่าลืมว่า คุณครูไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวนะคะ คุณครูยังมีนักเรียนเป็นเพื่อนร่วมทีมเสมอ ลองชวนเด็กๆ มาแบ่งปันเรื่องราวในเกม แนะนำคาแรกเตอร์ ตัวละครในเกม วิธีการเล่น แล้วให้สมมติบทบาทของเด็กแต่ละคน เพื่อชวนกันปฏิบัติภารกิจบางอย่างร่วมกัน แล้วถอดบทเรียนกันในตอนท้ายก็ได้ค่ะ

เปิดพื้นที่ 100% ชวนถ่ายทอดความรู้สึก ผ่านงานเขียน หรือบอกเล่า

แนวทางการ เช็กอินและเช็กเอ๊าท์

#เปิดพื้นที่ 100% ชวนถ่ายทอดความรู้สึก ผ่านงานเขียน หรือบอกเล่า

ระดับพลังสำหรับการเตรียมการ 5/5 ดาว

กิจกรรมรูปแบบนี้ค่อนข้างท้าทายสำหรับนักเรียนที่ยังไม่คุ้นกับกระบวนการทบทวนตัวเองแล้วต้องนำออกมาสื่อสารหรือแลกเปลี่ยนกับคนอื่น ดังนั้น เราจึงอยากเสนอให้คุณครูแอบทำการบ้าน โดยการสังเกต พูดคุย ทวนระดับความพร้อมของเด็กๆ นอกรอบก่อน สังเกตดูว่าตัวครูและบรรยากาศในห้องเรียนของเราเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกๆ คนได้มากน้อยเพียงใดแล้ว ก่อนเริ่มกิจกรรม อาจลองเกริ่นเล็กน้อยว่าการเช็กอินหรือเช็กเอ๊าท์ความรู้สึกวันนี้เราจะเพิ่มระดับความท้าทายขึ้นนะ ครูเองก็ยังนึกไม่ออกว่าจะออกมาเป็นยังไง แต่เราลองทำไปด้วยกันดูไหม ถ้าใครไม่ไหว เราค่อยสื่อสารบอกกล่าวกัน หรือถ้ามีนักเรียนคนไหนสนใจอยากเสนอโจทย์เช็กอิน เช็กเอ๊าท์ ก็น่าหยิบมาชวนคุย รับฟังเสียงความต้องการของเด็กๆ กันนะคะ

ตัวอย่างกิจกรรม

  • วิถีสมุดบันทึก ไดอารี่สุดพิเศษที่เป็นมากกว่าบันทึกประจำวัน แต่เป็นอีกหนึ่งช่องทาง ที่เด็กๆ จะได้พื้นที่ในการระบายเรื่องราวของตนเองให้คุณครูรับรู้ได้ แอดมินอยากเชียร์ให้คุณครูเขียนตอบเด็กๆ ด้วยทุกครั้งนะคะ https://bit.ly/3jPf6YR
  • 5 minutes talk พื้นที่แห่งความเท่าเทียม ที่ทุกคนจะมีเวลาพูดความในใจของตัวเอง ใช้เวลาของตัวเองได้เต็มที่คนละ 5 นาที จะพูดเรื่องอะไรก็ได้ กี่เรื่องก็ได้ หรือถ้านึกไม่ออก ก็สามารถปล่อยให้ความเงียบทำงานก่อนได้ https://bit.ly/2ZJZcIm

อาจต้องใช้กำลังใจและพลังความต่อเนื่องของคุณครูเพื่อสร้างธรรมเนียมปฏิบัติเล็กๆ ที่เป็นกันเอง ให้อิสระ และความรู้สึกปลอดภัยกับเด็กๆ ถ้ามีเพื่อนครูที่เข้าใจหลักการพื้นที่ปลอดภัยมาช่วยเขียนตอบไดอารี่ หรือร่วมรับฟังช่วงเวลาการบอกความในใจ ก็จะเป็นทีมสนับสนุนเสริมแรงให้คุณครูได้อีกทางค่ะ


คอร์สเรียนฟรี สุดพิเศษ เอาไปใช้ได้จริง! สำหรับครูแนะแนว

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ มีเกียรติบัตร ***จะได้รับเมื่อทำ Quiz และแบบประเมินหลังเรียนจบเรียบร้อย

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา