4 ขั้นตอนพร้อมรับเทอมใหม่ ด้วยหลัก GEMS

หมวดหมู่: พื้นที่เพื่อนครู

Tags:  ไอเดียการสอน

อ่านแล้ว: 342 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

ผ่านพ้นเทศกาลเปิดเทอมสุดคึกคักไปแล้วแบบปาดเหงื่อเลยค่ะ 😅😅

เชื่อว่าตอนนี้หลายๆ อย่างเริ่มลงตัวแล้ว ทั้งจำนวนนักเรียนในเทอมนี้ ประชุมผู้ปกครอง ติดตามผลศิษย์เก่า ฯลฯ

วันนี้ แนะแนวฮับ เลยอยากขอมาแจกหลัก GEMS ที่จะช่วยให้ปลายเทอมต่อจากนี้ของคุณครูเป็นประกายดั่งอัญมณีล้ำค่า

💎 ครูมีเป้าหมายชัด เป็นไปได้จริง

💎 ครูจับจุดเด็กๆ ได้เร็ว และสนุกกับชั้นเรียนมากขึ้น

💎 ครูจัดการสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่มี

💎 ครูเห็นแนวทางการพัฒนาตัวเองต่อ

มองย้อนกลับไปเทอมที่แล้วก็ได้แต่ถอนหายใจหลายๆ ทีค่ะ

เพราะมีเรื่องชวนปวดหัว เรื่องชวนท้อใจ และเรื่องชวนปวดใจเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นจากนักเรียน จากผู้บังคับบัญชา จากเพื่อนครูด้วยกัน จากผู้ปกครอง หรือแม้แต่จากหน่วยงานภายนอก (หลายครั้งก็จากตัวเอง อย่างเช่นแอดมินเองเนี่ยแหละค่ะ ฮืออออ)

คิดว่าที่ผ่านมาได้นอกจากจะโชคช่วยแล้ว น่าจะเพราะทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่ดูจะเป็นทักษะคู่ใจของคุณครูแนะแนวหลายคน แนะแนวฮับ จึงอยากหยิบเทคนิค GEMS ที่ประกอบด้วยทักษะที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ ช่วยให้คุณครูตั้งหลักและสร้างสรรค์เทอมใหม่ หรือปีการศึกษาใหม่ให้มีคุณค่า ให้คุณครูและนักเรียนเอ็นจอยกันมากขึ้น มาฝากกัน

ถ้าพร้อมแล้วเราไปดูกันค่ะ

ชื่อภาพ

Goal ตั้งเป้า

หาหมุดหมายที่ชัดเจนและเหมาะสมก่อนเริ่ม บางครั้งความยาก ก็เกิดจากการตั้งความหวังไว้สูงเกินไป แต่ถ้าคาดหวังหรือตั้งเป้าเล็กเกินไป ทั้งนักเรียนและตัวคุณครูเองก็จะไม่ได้พัฒนาอะไรเลยเช่นกัน

เป้าหมายที่ดี จึงควรเป็นเป้าหมายที่จับต้องได้ เป็นไปได้จริง รวมถึงวัดผลได้ด้วย คุณครูอาจใช้เครื่องมือ SMART Goal เพื่อช่วยคิดเป้าหมายก็ได้

S - Specific เป้าหมายนั้นต้องมีความชัดเจน มีขอบเขตที่แน่ชัด (รู้ว่า ใคร-ทำอะไร-ที่ไหน-เมื่อไร-อย่างไร-เพราะอะไร)

M - Measurable สามารถวัดได้ อ้างอิงหลักฐานได้ (ตัวชี้วัดความก้าวหน้าหรือความสำเร็จคืออะไร)

A - Achievable มีความเป็นไปได้ สมเหตุสมผล บนพื้นฐานเงื่อนไขที่มี (เรามีทุนหรือประสบการณ์เดิมยังไงบ้าง เป้าหมายนี้ท้าทายสำหรับเราในระดับที่เหมาะสมไหม)

R - Relevant สอดคล้องกับเป้าหมายหรือภาพฝันในระยะยาว (เป้าหมายนี้เชื่อมโยงกับสิ่งที่คุณครูเชื่อถือ/ให้คุณค่า หรือดีต่อตนเองหรือสังคมอย่างไร)

T - Timely มีระยะเวลาชัดเจน (เราตั้งใจจะทำเป้าหมายนี้นานเท่าไร คิดว่ามันจะสำเร็จเมื่อไร)

💡 Tips เล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยให้คุณครูตั้งเป้าหมายได้อย่างมั่นใจมากขึ้น เช่น

  1. เข้าใจเขา เข้าใจเรา ยิ่งรู้จักนักเรียนในสภาพความเป็นจริง (ที่ไม่มีอคติ) มากเท่าไร คุณครูก็จะยิ่งสามารถประเมินความเป็นไปได้ของเป้าหมายได้อย่างแม่นยำมากขึ้นเท่านั้นค่ะ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ลืมทำความรู้จักและทบทวนตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประเมินกำลังและศักยภาพความพร้อมของคุณครูสำหรับเทอมใหม่นี้ด้วยนะคะ

  2. โยนหินถามทาง อยากลองแต่ก็ยังลังเล ถ้าตั้งเป้าแบบนี้นักเรียนเราจะทำได้จริงไหมนะ หรือสูงไป หรือน้อยไปนะ การ ‘โยนหินถามทาง’ จึงเหมาะมากสำหรับคุณครูที่ยังไม่ค่อยมั่นใจว่าเป้าหมายที่เราตั้งไว้ มันเหมาะสมมากพอสำหรับนักเรียนของเราไหม ลองหาจังหวะเสนอไอเดียกับนักเรียนในห้อง อาจจะเป็นช่วงเปิดเทอมใหม่ๆ คาบโฮมรูม คาบชมรมแนะแนว ฯลฯ ก็ได้ เพื่อร่วมเสนอเป้าหมายและชวนทุกคนในห้องให้ช่วยประเมิน แชร์ไอเดีย และออกแบบข้อตกลงของห้องร่วมกัน สามารถทบทวนการทำข้อตกลงร่วมได้ที่ https://guidancehubth.com/knowledge/10

  3. วัดใจแบบเผื่อใจ หลายครั้งเรื่องที่คิดว่าแน่ใจ มั่นใจแล้ว ก็ยังมีเซอร์ไพรส์ได้เหมือนกัน ซึ่งอาจมีสาเหตุจากปัจจัยระดับปัจเจก ของนักเรียนแต่ละคนเอง หรือปัจจัยภายนอกมากมาย ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ แต่ในเมื่อใจสั่งมา แถมประสบการณ์เดิมก็บอกว่าเป็นไปได้ งั้นก็ได้เวลาลองกันซักตั้ง! แต่เพื่อความสบายใจ ก็อย่าลืมเผื่อใจหรือเตรียมแผนสำรองไว้ซักนิด เผื่อเป้าหมายความตั้งใจแรกไม่เป็นอย่างที่คาดคิดค่ะ

ชื่อภาพ

Explore ค้นพบ

อ้าแขนเปิดรับและให้พื้นที่กับทุกความเป็นไปได้ แนะแนวฮับขอออกตัวก่อนเลยว่า มันเป็นเรื่องปกติมากๆ ที่คุณครูบางท่านอาจยังไม่พร้อมลุยอย่างเต็มที่ ด้วยเพราะมีประสบการณ์เดิม มีความกังวลในอดีต ปัจจุบัน หรือแม้แต่อนาคตที่ยังมาไม่ถึง ไหนจะภาระงานอื่นมากมายที่ดึงโฟกัสคุณครูไปอีก

แต่กระนั้นเราก็ยังอยากเป็นกำลังใจให้คุณครูอนุญาตให้ตัวเองตั้งหลักใหม่ พาตัวเองกลับไปที่จุดสตาร์ท เริ่มทำความรู้จักนักเรียน สังเกตและเก็บข้อมูลผู้เรียนใหม่ สิ่งไหนที่รู้อยู่แล้ว ให้ตรวจสอบเพื่อยืนยันกับตัวเอง เป็นการอัปเดตข้อมูลล่าสุดอีกครั้ง

💡 Tips เล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยให้คุณครูเริ่มนับหนึ่งได้ง่ายขึ้น เช่น

  1. ฝึกซ้อมและเตรียมพร้อม การเปลี่ยนแปลงอาจมาพร้อมความรู้สึกไม่มั่นใจ ไม่แน่ใจ กังวลใจ หรือแม้แต่บางครั้งก็อยากถอดใจตั้งแต่ยังไม่เริ่ม แต่สิ่งที่จะช่วยให้คุณครูมีแรงฮึบ พร้อมเปิดโอกาสให้ตัวเองและนักเรียนของเรา คือการฝึกซ้อม และเตรียมพร้อมรับมือไม่ว่าผลจะตรงหรือต่างจากที่คุณครูคาดหวังไว้ หรือหากไม่แน่ใจหรือยังจินตนาการไม่ออกจริงๆ ก็สามารถปรึกษากับเพื่อนครูที่ดูแลนักเรียนที่มีบริบทใกล้เคียงกับลูกศิษย์ของคุณครูก็ได้ เพื่อให้เพื่อนๆ ช่วยประเมินและให้คำแนะนำที่สามารถใช้งานได้จริง ให้คุณครูมั่นใจมากขึ้น พร้อมสนุกกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ค่ะ

  2. การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมากับนักเรียน แนะแนวฮับเชื่อว่าการจะเริ่มตั้งหลักนับหนึ่ง ทำสิ่งใหม่ หรือทำสิ่งเดิมด้วยมุมมองใหม่ ต้องใช้แรงและกำลังใจมากพอสมควร แต่หากห้องเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนแล้ว ทั้งนักเรียนและคุณครูเองก็จะสามารถสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมาได้ค่ะ ลองหาโอกาสสื่อสารและพูดคุยกับเด็กๆ อย่างตรงไปตรงมา เพื่อบอกพวกเขาว่าคุณครูกำลังจะเริ่มต้นทำความรู้จักและเรียนรู้จากพวกเขา ด้วยเจตนาและความปรารถนาที่ดี และอนุญาตให้ตัวเองเปิดใจระบายความกังวลกับนักเรียนของเราดูนะคะ เชื่อว่านักเรียนเองก็พร้อมจะรับฟังและสนับสนุนคุณครูเช่นกันค่ะ 🙂 สามารถทบทวนเรื่องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยได้ที่ https://guidancehubth.com/knowledge/9

ชื่อภาพ

Management จัดการ

เปิดสวิตช์นักจัดการผู้มีสติเท่าทันตัวเอง ต้องยอมรับว่างานที่คุณครูมีทุกวันนี้ ก็แทบจะต้องแยกร่างทำงานกันแล้ว เพราะมันเยอะจริงๆ! ดังนั้น การสวมบทบาทนักจัดการผู้มีสติเท่าทันตัวเอง จึงเป็นอีกเรื่องที่สำคัญมากๆ เพราะการเท่าทันตัวเองจะเป็นตัวช่วยให่คุณครูได้โฟกัสทั้งการจัดการตามแผนที่วางไว้ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยที่ยังไม่ลืมหัวใจของลูกศิษย์และความตั้งใจแรกเริ่มของคุณครูเอง

💡 Tips เล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยให้คุณครูจัดการสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น เช่น

  1. ใช้ตัวช่วยในการบริหารจัดการเวลา มีเครื่องมือที่ช่วยให้คุณครูสามารถโฟกัสกับงานตรงหน้าได้มากขึ้น สามารถติดตามได้ที่ https://guidancehubth.com/knowledge/97

  2. สร้างทีม มีคุณครูแนะแนวบางคนที่รู้สึกโดดเดี่ยว เพราะเป็นครูแนะแนวหนึ่งเดียวในโรงเรียน จะทำอะไรมากก็กังวลจะดูแลไม่ไหว จริงๆ แล้วเรื่องนี้ สามารถบรรเทาความรู้สึกได้ด้วยการเริ่มสร้างทีมเล็กๆ ที่พร้อมสนับสนุนกันและกัน จะเป็นเพื่อนครูวัยเดียวกัน เพื่อนครูในหมวดหรือต่างหมวดก็ได้ คนอีกกลุ่มที่สำคัญไม่แพ้กันคือ นักเรียนที่คุณครูดูแล ก็สามารถเป็นทีมเดียวกับคุณครูได้เช่นกันค่ะ ลองชวนเด็กๆ มาพูดคุย หารือ และแบ่งหน้าที่ให้แต่ละคนช่วยรับผิดชอบ เชื่อว่าคาบแนะแนวจะมีบรรยากาศที่แตกต่างไปจากเดิมแน่นอน หากทุกคนรับรู้และรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของร่วมกันค่ะ แต่ถ้ายังไม่แน่ใจ ลองศึกษาแนวทางการเมคเฟรนด์เพิ่มได้ที่ https://guidancehubth.com/knowledge/101

ชื่อภาพ

Self-reflect ทบทวนตัวเอง และเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้

ทบทวนเพื่อไปต่อ ขั้นตอนสำคัญที่บางทีใครหลายคนก็ลืมทำ นั่นคือการปิดลูปการทำงาน ด้วยการทบทวนผลที่เกิดขึ้น ตกผลึกการเรียนรู้ และเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้แต่แรก ว่าอะไรเป็นปัจจัยให้เกิดผลเช่นนั้น และมีไอเดียหรือแนวทางอะไรอีกบ้าง เพื่อให้การลงมือทำงานครั้งต่อไป สามารถขยับใกล้ภาพฝันที่มีให้มากขึ้น

💡 Tips เล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยคุณครูในการทบทวน เช่น

  1. การเขียนทบทวนตัวเอง

    • เทคนิค Free Writing ในที่นี้เป็นการเขียนเพื่อระบาย มีกฎแค่ข้อเดียวคือ “เขียนไปเรื่อยๆ” แบบไม่ต้องกลัวผิดถูก ไม่ต้องกังวลว่าจะเขียนรู้เรื่องไหม หรือจะมีใครมาตรวจให้คะแนนไหม ถ้าระหว่างที่คุณครูเขียนเรื่องอะไรก็ตามแล้วมีความคิดหรือคำพูดอะไรแทรกขึ้นมา ก็ให้เขียนคำเหล่านั้นปนลงไปในกระดาษได้เลย จะเขียนลงสมุดไดอารี่เก็บไว้หรือเขียนใส่กระดาษทดแล้วขยำทิ้งก็ได้นะคะ

    • เทคนิค Journal Writing (สามารถศึกษาเพิ่มได้ที่ https://a-chieve.org/content/heal-your-heart/heal-your-heart-content-40)

  2. การแลกเปลี่ยน สรุปผลงานและตกผลึกการเรียนรู้กับเพื่อนร่วมงาน อาจใช้หลัก AAR (After Action Review) สรุปสิ่งที่ทำได้ดี สิ่งที่ยังทำได้ไม่ดี หลังจบงาน ก็ได้ค่ะ


พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว

✅ มีเกียรติบัตร

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา