ฮาวทูเมคเฟรนด์ สร้างทีมงานเพื่อนครู ฉบับครูแนะแนว

หมวดหมู่: พื้นที่เพื่อนครู

Tags:  วิธีสร้างทีมครูแนะแนว

อ่านแล้ว: 823 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

โรงเรียนไหนมีครูแนะแนวมากกว่า 1 คน ยกมือขึ้นนนน 🙋‍♀?

หากโรงเรียนไหนมีครูแนะแนวมากกว่า 1 คนขึ้นไป ถือว่าเป็นเรื่องที่โชคดีมากๆ เรื่องหนึ่งเลยนะคะ เพราะหลายโรงเรียนมักจะขาดครูแนะแนว หรือมีครูแนะแนวเพียงคนเดียวเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้เอง ครูแนะแนวอย่างพวกเราเลยต้องเผชิญกับความรู้สึกโดดเดี่ยว จะให้โฟกัสแต่ภาระหน้าที่หลักก็ไม่ได้ เพราะยังมีงานอื่นๆ ที่ต้องร่วมดูแลอีกเยอะเลย แถมไม่รู้จะเริ่มผูกมิตรกับคุณครูคนอื่นๆ ยังไงดี วันนี้แนะแนวฮับเลยมีวิธีการที่จะช่วยให้ครูแนะแนวสามารถหาเพื่อนร่วมทางในโรงเรียนมาฝากกันค่ะ

วิธีการเมคเฟรนด์ (Make friend) กับเพื่อนครูในโรงเรียน สำหรับครูแนะแนว 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ ครูแนะแนวที่เพิ่งเข้ามาทำงานใหม่ ต้องการรู้จักกับเพื่อนใหม่และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีร่วมกัน ส่วนกลุ่มสอง คือ ครูแนะแนวรุ่นเก๋า ที่ต้องการสร้างทีมทำงานให้เข้มแข็งขึ้น

ถ้าพร้อมแล้ว เราไปดูวิธีการกันเลยค่ะ!

ชื่อภาพ

👤 ครูแนะแนวหน้าใหม่

หากคุณครูเป็นครูแนะแนวกลุ่มนี้ และอยากเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่ในโรงเรียน ลองทำตามวิธีการนี้ดูนะคะ

1. แนะนำตัวเอง

ปกติแล้วช่วงเปิดเทอม จะมีช่วงเวลาให้คุณครูใหม่แนะนำตัวเองบนเวทีให้แก่ผู้บริหาร เพื่อนครู และนักเรียนได้รู้จัก แต่นอกเหนือจากการแนะนำตัวบนเวทีแล้ว การใช้โอกาสเล็กๆ น้อยๆ เพื่อแนะนำตัว หรือชวนคุยเรื่องอื่นๆ ในช่วงเวลาของการเดินขึ้นตึก ทานข้าว หรือก่อนที่จะเริ่มประชุม ก็จะช่วยสร้าง ความประทับใจแรก (First impression) ได้ ตัวอย่างหัวข้อในการชวนเพื่อนครูคุย เช่น

• คุณครูชื่ออะไร คุณครูสอนวิชาอะไร? • ทำงานที่นี่นานหรือยัง? ก่อนหน้านี้เคยเป็นครูมาก่อนหรือเปล่าคะ? เคยบรรจุที่ไหนมาก่อน? • เด็กๆ ที่นี่เป็นอย่างไรบ้างคะ? • ชอบทานกาแฟไหม ร้านกาแฟอร่อยๆ ใกล้โรงเรียนมีที่ไหนบ้าง?

พร้อมกับทิ้งทายประโยคสนทนาว่า “เรา/หนูเป็นครูใหม่ หากมีอะไรแนะนำ สามารถบอกได้เลยนะคะ” เพื่อเป็นการแสดงความเป็นน้องใหม่ที่เปิดใจรับการเรียนรู้

2. จดจำชื่อเพื่อนครู และพยายามเรียกชื่อเขาในประโยคสนทนา

การจดจำชื่อเพื่อนครูได้ในระยะเวลาอันสั้น จะช่วยสร้างความประทับใจให้แก่เพื่อนครูคนนั้น เหมือนกับที่เวลาครูจดจำชื่อนักเรียนได้ และเรียกชื่อเขา แทนที่จะเรียกว่า “เด็กคนนั้น” หรือ “ครูคนนั้น”

3. ไม่เก็บตัวอยู่แต่ห้องแนะแนว

ในช่วงแรกของการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่ อยากขอให้คุณครูเดินสำรวจโรงเรียนหรือห้องเรียนต่างๆ เพื่อเป็นการทำความรู้จักกับครูวิชาอื่นๆ และเป็นการทำให้ตัวเองคุ้นชินกับสภาพแวดล้อมใหม่ให้ได้มากที่สุด เพราะการเก็บตัวอยู่แต่ในห้อง เปรียบเสมือนการปิดโอกาสตัวเองในการรู้จักเพื่อนครูและนักเรียนค่ะ

ชื่อภาพ

4. เสนอความช่วยเหลือ

อย่างที่เรารู้กันว่า ทุกโรงเรียนมักจะมีงานเสริมและงานแทรกเข้ามาตลอด หากคุณครูพอจะจัดสรรเวลางานของตัวเองได้ และเสนอความช่วยเหลือให้แก่เพื่อนครูคนอื่นๆ บ้าง ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เริ่มทำงานและได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ และที่สำคัญเป็นการแสดงให้เพื่อนครูได้เห็นถึงความมีน้ำใจ ซึ่งเป็นการเปิดประตูไปสู่การทำงานร่วมกันเป็นทีมต่อไปได้

5.สังเกตลักษณะนิสัยของเพื่อนครูและเลือกวิธีเข้าหาอย่างเหมาะสม

ในช่วงแรกของการทำความรู้จักกัน เราอาจจะยังไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงของทุกคน แต่อาจจะสังเกตนิสัยเบื้องต้นได้ว่าเพื่อนครูคนนั้นๆ เป็นคนลักษณะแบบ Introvert หรือ Extrovert

• คน Introvert คือ ไม่ค่อยพูด มองเผินๆ เหมือนคนขี้อาย แต่ความเป็นจริง เป็นคนรักสันโดษ ไม่ชอบเป็นศูนย์กลางของความสนใจ

วิธีการเข้าหาคนลักษณะนิสัยแบบ introvert เช่น

  • ค่อยๆ ทำความรู้จัก ไม่ซักถามในเรื่องส่วนตัวมากเกินไปในช่วงแรกที่รู้จัก หรือเมื่อเขาเริ่มมีความรู้สึกอึดอัด
  • ใช้วิธีการพยายามเข้าหาทีละนิดแต่สม่ำเสมอ
  • ชวนคุยในเรื่องที่เขาสนใจ เช่น งานอดิเรกที่ชอบ หนังสือที่ชอบ เป็นต้น
  • ใช้เวลาในการสร้างความเชื่อใจและสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่กันก่อน

• คน Extrovert คือ ชอบเข้าสังคม มีพลังเยอะ มนุษยสัมพันธ์ดี คุยเก่ง ชอบอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย วิธีการเข้าหาคนลักษณะนิสัยแบบ Extrovert เช่น

  • ทักทาย พูดคุย หรือขอร่วมทำกิจกรรมที่เขาสนใจ
  • ถามความคิดเห็นของเขาบ่อยๆ ให้เขาได้พูด ได้แสดงความคิดเห็น
  • ชวนไปปาร์ตี้ หรือหากิจกรรมสนุกๆ ทำร่วมกันหลังเลิกงาน

ชื่อภาพ

👤ครูแนะแนวรุ่นเก๋า

หากคุณครูเป็นครูแนะแนวกลุ่มนี้ และต้องการสร้างทีมทำงานให้เข้มแข็งขึ้น ลองทำตามวิธีการนี้ดูนะคะ

1. หาเป้าหมายร่วมกัน

ที่จริงแล้ว ครูแนะแนวมีโอกาสสร้างทีมทำงานร่วมกับครูวิชาอื่นได้ เนื่องจากทุกโรงเรียนจะต้องมีระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งมีเป้าหมายให้โรงเรียน คุณครู และชุมชน ทำงานร่วมกันเพื่อช่วยเหลือนักเรียนทุกคนให้ได้รับการดูแล ส่งเสริมศักยภาพ และรอดพ้นจากความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจขึ้นทั้งในและนอกโรงเรียน ดังนั้น งานดูแลช่วยเหลือนักเรียนจึงไม่ใช่งานของครูแนะแนวเพียงคนเดียว แต่เป็นงานของครูทั้งโรงเรียน ซึ่งอาจจะใช้ ‘ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน’ มาเป็นเป้าหมายร่วมกันในการเริ่มต้นสร้างทีมที่เข้มแข็งได้

2. รวมทีมที่มีความหลากหลาย

ลองเริ่มจากรวมกลุ่มคุณครูที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องเดียวกัน เช่น ครูประจำชั้น ครูปกครอง ตัวแทนครูหัวหน้าหมวด หรือหากเป็นไปได้ ขออาสาตัวแทนผู้ปกครองจากคณะกรรมการโรงเรียนมาร่วมเป็นทีมด้วย ก็จะยิ่งทำให้เกิดความหลากหลายของทีมมากขึ้น

3. แชร์เป้าหมายร่วมกัน นอกจากการชี้แจงเป้าหมายของงานแล้ว ให้ลองถามความคิดเห็นของสมาชิกทุกคนถึง ‘ภาพความสำเร็จของระบบดูแลช่วยเหลือที่ต้องการ’ และให้ทุกคนได้มีสิทธิในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จนเกิดภาพที่เห็นตรงกัน เห็นร่วมกัน นอกจากนี้ เราอาจยกตัวอย่างการตั้งเป้าหมายที่ดี ตามหลักการ SMART GOAL เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้ร่วมกันได้

*หมายเหตุ SMART goal คือ Framework หรือกรอบอ้างอิงที่ใช้เพื่อตั้งเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

  • S - Specific หมายถึง เป็นสิ่งที่ชี้เฉพาะ และมีขอบเขตที่แน่ชัด
  • M - Measurable หมายถึง สามารถวัดได้ มีหลักฐาน หรือการอ้างอิงได้
  • A - Achievable หมายถึง เป็นไปได้ สมเหตุสมผล ภายใต้ระยะเวลาและทรัพยากร
  • R - Relevant หมายถึง สอดคล้องกับเป้าหมายหรือผลลัพธ์ที่ต้องการในระยะยาว
  • T - Time-based หมายถึง มีระยะเวลาที่จำกัด

ชื่อภาพ

4. กำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ

สิ่งที่ทำให้ทุกคนกลัวในการทำงานร่วมกัน คือ การทำงานซ้ำซ้อนที่ทำให้ทุกคนเสียเวลาและเสียประสิทธิภาพในการทำงาน ดังนั้น ผู้นำทีมต้องชวนทุกคนแตกย่อยภาระงานออกมาว่า ‘ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน’ มีกระบวนการและขั้นตอนอย่างไรบ้าง เพื่อกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละคนได้อย่างชัดเจน โดยการเริ่มมองบทบาทหน้าที่เดิมของแต่ละคนที่ทำอยู่ก่อน และ ‘ความคาดหวัง’ สำหรับบทบาทในงานนี้

5. กำหนดวันที่จะมีการ PLC หรือประชุมอัปเดตงานกัน

กระบวนการ PLC เป็นกระบวนการที่สำคัญในการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันของคุณครู ที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง วง PLC จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ในทีมทำงาน ไม่ทำให้คนในทีมรู้สึกโดดเดี่ยว เราสามารถใช้วง PLC เพื่ออัปเดตความคืบหน้า แจ้งปัญหาที่ติดขัดหรือสิ่งที่อยากขอความช่วยเหลือจากทีม โดยที่คุณครูอาจจะตกลงกันว่า ขอนัด PLC เรื่องระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน สัปดาห์ละ 1 ครั้งในทุกเย็นวันศุกร์ เป็นต้น

6. สร้างช่องทางและสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ

หลังจากที่ตั้งทีมและกำหนดวันนัดหมายประชุมร่วมกันแล้ว คุณครูอาจจะต้องสร้างช่องทางการสื่อสารเฉพาะกลุ่มในเรื่องที่กำลังทำอยู่ เช่น การสื่อสารผ่านแอปพลิเคชั่น Line ที่เป็นช่องทางกึ่งทางการ สามารถคุยกันได้ทั้งเรื่องงานและถามสารทุกสุขดิบของทีม

ชื่อภาพ

7. เปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิในการตัดสินใจ

เมื่อได้แบ่งบทบาทหน้าที่กันเรียบร้อยแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทีมจะต้องมีให้กัน คือ ความเชื่อใจให้ตัดสินใจในภาระงานที่ตนรับผิดชอบได้ เพื่อที่จะรักษาพลังการมีส่วนร่วมของสมาชิกในทีมไว้

8. นำเรื่องราวความสำเร็จมาแชร์กัน

ในการทำงานใดงานหนึ่ง ทีมอาจจะต้องพบเจอทั้งความสำเร็จ และความผิดหวังจากการทำงาน เราสามารถนำความผิดหวังเข้ามาพูดคุยกันในวง PLC เพื่อที่จะแก้ปัญหาในครั้งต่อไป แต่ก็อย่าลืมที่จะนำความสำเร็จมาร่วมแชร์กันด้วย เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมทำงานต่อไปได้ เช่น ในเทอมนี้จำนวนเด็กขาดเรียนลดลงจาก 10% เหลือ 5% เพราะความร่วมมือของคุณครูทุกฝ่าย เป็นต้น

9. เสริมกำลังใจ ชื่นชมซึ่งกันและกัน

เพราะทุกงานมีโอกาสเกิดปัญหาและเรื่องชวนท้อใจ การเสริมพลังโดยการชื่มชมคนในทีม จึงเหมือนเป็นยาวิเศษที่จะช่วยทำให้ทุกคนมีกำลังใจในการทำงานต่อไป ซึ่งเราสามารถชื่นชมกันได้หลายวิธี ดังนี้ - ชมในพฤติกรรมที่เจาะจง เช่น วันนี้ครู A เก็บผลงานของนักเรียนรายบุคคลได้เป็นระเบียบเรียบร้อยมากเลย - ชมให้เพื่อนในทีมได้ยิน เช่น ในวันที่มีการ PLC ขอให้มีช่วงเวลาในการชื่นชมและเสริมแรงซึ่งกันและกัน อาจจะให้เวลา 5 - 10 นาทีที่สมาชิกได้พูดถึงสิ่งที่ดีของเพื่อนในทีม - ชมในความพยายามมากกว่าผลลัพธ์ เช่น ชื่นชมในความตั้งใจทำงานของทุกคน - ชมกันอย่างจริงใจ ไม่ต้องเลือกคำพูดสวยหรู แต่ใช้ความจริงใจและพูดอย่างตรงไปตรงมา

🤝 การสร้างทีมหรือวัฒนธรรมการทำงานร่วมกัน เป็นสิ่งที่ต้องใช้ระยะเวลาและอาศัยการทำอย่างต่อเนื่อง

สำหรับคุณครูแนะแนวที่เป็นครูใหม่ ในช่วงแรกอาจจะเริ่มต้นจากการสร้างความคุ้นเคยกับเพื่อนครู และนักเรียนให้ได้มากที่สุดก่อน ส่วนครูแนะแนวที่เริ่มอยากสร้างทีมทำงานเดิมให้แข็งแรง เพื่อสร้างผลเชิงบวกที่มากขึ้น ก็จะต้องโฟกัสที่เป้าหมายภาระงานและรักษาพลังงานของทีมผ่านการสื่อสารกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเหนียวแน่นและความไว้วางใจกันในการทำงานร่วมกันต่อไป

มันอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่แนะแนวฮับเชื่อว่าคุณครูทำได้ค่ะ ขอบีบมือให้กำลังใจคุณครูทุกคนเลยนะคะ 🙂

อ้างอิง

ชื่อภาพ


พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว

✅ มีเกียรติบัตร

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา