How-to ลดช่องว่างระหว่างวัย เข้าใจและรับมือนักเรียน Gen Z

หมวดหมู่: พื้นที่เพื่อนครู

Tags:  ไอเดียการสอน

อ่านแล้ว: 670 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

จริงไหมที่นักเรียน Gen Z เข้าใจยาก ?

ด้วยช่วงวัยที่เกิดมาในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เกิดเทรนด์ใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ การเข้าถึงข้อมูลในอินเตอร์เน็ตง่ายชนิดที่เด็กอนุบาลก็ทำได้ (แถมทำได้คล่องกว่าผู้ใหญ่บางคนด้วย 😅😅)

การหาวิธีรับมือกับความคิดและพฤติกรรมของนักเรียน จึงเป็นหนึ่งในความท้าทายอันดับต้นๆ ของคุณครูทุกวิชา ทุกโรงเรียน ในทุกยุคทุกสมัย วันนี้แนะแนวฮับจึงขอแบ่งปันแนวทางเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้คุณครูนำไปปรับใช้และรับมือกับนักเรียนของตนเองได้ดียิ่งขึ้น จะมีอะไรบ้าง ตามไปดูกันค่ะ!

ชื่อภาพ

Gen Z ทุกวันนี้ สภาพเป็นยังไง?

1.Gen Z มีความคิด พฤติกรรมท้าทายอย่าง “ไม่ตั้งใจ” เพราะบริบทของยุคสมัย แม้ทุกภาคส่วนจะพยายามสร้างระบบดูแลเด็กและเยาวชนอย่างรอบด้าน แต่ก็ต้องยอมรับอย่างเลี่ยงไม่ได้ว่า สังคมทุกวันนี้เต็มไปด้วยโฆษณาที่กระตุ้นความอยากได้ อยากมีของใหม่ อยากทันกระแส อยากเป็นที่จดจำ, เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก ที่เพียงเข้าอินเตอร์เน็ตก็หาเจอได้ง่ายๆ, รูปแบบการหาเงินด้วยวิธีการที่ไม่มีขอบเขตทางศีลธรรม ฯลฯ ชนิดที่ว่า หากตัวเรากลับมาเกิดใหม่เป็นนักเรียน Gen Z ยุคนี้ เราเองก็อาจจะมีความคิดและพฤติกรรมที่ล้ำเส้น ไม่ต่างหรือไปไกลกว่าเด็กๆ ด้วยซ้ำ

2.Gen Z เป็นช่วงวัยแห่งการแบกรับความคาดหวัง ท่ามกลางความท้าทายต่างๆ ของยุคสมัย สังคมกลับคาดหวังและผลักภาระให้นักเรียน Gen Z ต้องมีความเข้มแข็งทางใจ และสามารถรับมือกับแรงยั่วยุหรือมุมดำมืดของสังคมด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย หากถามจากคุณครูที่รับผิดชอบดูแลนักเรียน จะพบว่า นักเรียนเกินกว่า 80 เปอร์เซนต์ในความดูแล ไม่ได้เติบโตมาในครอบครัวที่มีความพร้อมและสมบูรณ์เพียงพอที่จะมอบความแข็งแรงทางใจให้พวกเขาได้ กรณีนี้เกิดขึ้นได้กับนักเรียนทุกคน จากทุกพื้นที่

หากเราเข้าใจสถานการณ์ของนักเรียน Gen Z เราจะเห็นว่า ความคิดและพฤติกรรมที่แสดงออกมาของพวกเขาไม่ได้เพื่อ “ท้าทาย” คนเป็นครูอย่างเราอีกต่อไป เพราะเป็นการแสดงออกถึง “สัญญาณขอความช่วยเหลือ” ที่นักเรียนต้องการให้คุณครูเข้าไปยืนเคียงข้าง เพื่อช่วยพวกเขา (ที่มีชีวิตบนความไม่พร้อม) ให้อยู่รอดให้ได้ในสังคมที่เต็มไปด้วยพายุแห่งการเปลี่ยนแปลง

ชื่อภาพ

ฮาวทูยืนเคียงข้างกับ Gen Z ให้พร้อมรับมือกับโจทย์ยากในสังคม

คำถามที่น่าสนใจคือ แล้วคุณครู (ที่ก็ถูกสังคมคาดหวังไม่น้อยไปกว่ากัน) จะสามารถดูแลและสนับสนุนนักเรียน Gen Z อย่างเข้าใจได้อย่างไร ลองศึกษาแนวทางแนะนำ ดังนี้ค่ะ

1.ทำงานกับตัวเอง

  • เปิดใจกว้าง เข้าใจธรรมชาติเด็ก: ชวนคุณครูเปิดใจให้กว้าง เพื่อทำความเข้าใจและยอมรับด้วยใจจริงว่า ความคิดและพฤติกรรมท้าทายของนักเรียนของเราเป็นเรื่องธรรมชาติ ถ้าย้อนอดีตกลับไปก็จะเห็นว่า ตัวเราตอนอายุเท่านักเรียนของเราในตอนนี้ก็มีความคิดบางอย่างที่ผู้ใหญ่มองว่าแปลก และมีพฤติกรรมท้าทายเมื่อเจอสถานการณ์ไม่เข้าใจ ไม่พอใจ คล้ายกัน เพียงแต่แตกต่างกันออกไปตามยุคสมัย

  • เชื่อในด้านสว่างในตัวเด็ก: การมีความเชื่อในด้านสว่างในตัวเด็ก หมายถึง เชื่อว่าเด็กทุกคน ล้วนมีแสงสว่างในตัวเอง ใฝ่ดี อยากเป็นคนที่ดีทั้งต่อตัวเองและคนรอบข้าง และมีความหวังในตัวเองมากพอจะสามารถเลือกทำสิ่งที่ดีได้ เพื่อให้ตัวคุณครูมีพลังในการยืนหยัดแม้ต้องเผชิญกับคำถามจากคนอื่น มีความสม่ำเสมอในการแสดงออกกับนักเรียนอย่างมีเมตตา อ่อนโยน งดงาม แต่เต็มไปด้วยความจริงและไม่ตามใจ รวมถึงมั่นคงในการหันด้านสว่างของคุณครูเองเข้าหาพวกเขา แม้จะโดนสถานการณ์ยั่วยุหรือบีบบังคับอย่างไรก็ตาม

2.เรียนรู้และทำงานร่วมกับ Gen Z

  • สร้างสภาพแวดล้อมให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย ให้ทุกคนสามารถเป็นตัวเองได้เต็มที่ บนพื้นฐานการเคารพและให้เกียรติกัน รับฟังกัน (สามารถเรียนรู้วิธีการและการจัดการเรียนการสอนเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยได้จาก หลักสูตร “การสร้างพื้นที่ปลอดภัยและวางรากฐานทักษะการคิดวิเคราะห์ (Safe Classroom and Critical Thinking Skills)” สำหรับคุณครู https://guidancehubth.com/course/1 )

  • เสริมสร้างความเข้มแข็งทาง “อำนาจภายใน” ให้นักเรียน ทั้งความรู้สึกมั่นใจ มั่นคงในตัวเอง การเชื่อในคุณค่าของตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาสิ่งภายนอก เช่น สิ่งของราคาแพง หรือเฝ้ารอการยอมรับจากคนอื่นทางโซเชียลมีเดีย เป็นต้น

  • พัฒนาชุดความคิดให้นักเรียน Gen Z ของเรา ผ่านกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การใช้คำถามปลายเปิด การสอนผ่านสถานการณ์สมมติ การชวนแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การเขียนบันทึกประจำวัน การสอนวิธีการถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาตัวเอง การให้คำปรึกษา เป็นต้น เพื่อพัฒนาคลังคำ คลังความคิดที่จะเป็นต้นทุนสำคัญในการใช้รับมือกับเรื่องต่างๆ ที่จะเข้ามาหาพวกเขาในอนาคต

🌟 หลักการสำคัญ 3 ข้อ ของพื้นที่ปลอดภัย มีดังนี้

  • แต่ละคนมีสิทธิ์ในการควบคุม ดูแลเนื้อตัว ร่างกายของตัวเอง โดยไม่มีผู้ใดมีอำนาจเหนือเนื้อตัว ร่างกายของผู้อื่นได้ (ตัวอย่างสิทธิประเภทนี้ เช่น การกำหนดการแต่งตัว ทรงผม การแสดงออกทางร่างกาย เป็นต้น) ซึ่งทุกคนต่างมีสิทธิ์นี้ และมีหน้าที่ต้องช่วยกันดูแลสิทธิ์ของผู้อื่นด้วย

  • เคารพในความแตกต่างหลากหลายที่มีอยู่ในตัวของทุกคน ทั้งประสบการณ์ชีวิต มุมมองความคิด ความเชื่อ อารมณ์ความรู้สึก ชาติกำเนิด อัตลักษณ์ทางเพศ และพฤติกรรมหรือการแสดงออกที่เกิดขึ้นจากความแตกต่างทั้งหลายเหล่านี้ ด้วยการเปิดพื้นที่ให้มีการแสดงออก การแสดงความคิดเห็น และการมีตัวตนในพื้นที่อย่างเท่าเทียมกัน

  • ไม่ใช้ทัศนคติที่ตัดสิน เปรียบเทียบ (ทั้งกับตัวเองและผู้อื่น) เพื่อไม่ให้เกิดการตีตรา ซ้ำเติมจุดอ่อนหรือด้านมืดของแต่ละคน จนนำไปสู่การตัดสินตัวเอง เกิดเป็นความคิดลดทอนคุณค่าในตัวเอง

ชื่อภาพ

หากวันนี้ครูยังทำไม่ไหวหรือยังไม่แน่ใจ จะทำยังไงดี?

แนะแนวฮับเห็นว่า การทำความเข้าใจนักเรียน Gen Z หรือเจนไหนๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เราจึงเข้าใจคุณครูมากๆ เลยค่ะ หากวันนี้ยังทำได้ไม่มากพอ ยังทำต่อไม่ไหว ขอให้คุณครูลองใช้วิธีเหล่านี้ดูนะคะ 🙂

1.ตรวจสอบตัวเองสม่ำเสมอ ผ่านการทบทวนตนเอง การสอบถามจากนักเรียนโดยตรง หรือสอบถามจากเพื่อนครูที่คุณครูรู้สึกวางใจก็ได้ เพื่อดูว่าสิ่งที่คุณครูทำเมื่อเกิดสถานการณ์ใดๆ เป็นการกระทำที่ตรงกับความเชื่อ เจตนา เป้าหมายในการเป็นครู ของคุณครู มากน้อยเพียงใด และมีแนวทางใดอีกบ้าง ที่จะช่วยให้คุณครูทำได้ดีขึ้นในครั้งต่อๆ ไป

2.ศึกษาและพัฒนาตัวเองเพิ่ม เช่น มองหาหลักสูตรหรือบทเรียนที่สร้างความเข้าใจและนำเสนอแนวทางที่ใช้ต่อได้จริง

หลักสูตรแนะนำ:

  • หลักสูตร “การสร้างพื้นที่ปลอดภัยและวางรากฐานทักษะการคิดวิเคราะห์ (Safe Classroom and Critical Thinking Skills)” https://guidancehubth.com/course/1

บทความแนะนำ:

3.พาตัวเองไปเจอชุมชนเพื่อนครู เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน กรณีศึกษาจากเพื่อนครูท่านอื่นๆ ทั้งที่ทำงานในโรงเรียนที่มีบริบทต่างและเหมือนกัน จะช่วยให้คุณครูเห็นไอเดียและแนวทางในการทำงานต่อ ไปพร้อมกับเกิดความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น รักในคุณค่าการเป็นครูมากขึ้น สำหรับคุณครูที่อยากเข้าร่วมชุมชนเพื่อนครูแนะแนวฮับ สามารถเข้าร่วมได้ที่ https://line.me/ti/g2/XW_0-eflKKu8zEwAeuvZWwd0FuNjVFztL0opcA?utm_source=invitation&utm_medium=link_copy&utm_campaign=default

ความมุ่งมั่นตั้งใจอันดีที่อยากเข้าใจนักเรียน อยากเข้าถึงหัวใจของผู้เรียนอย่างแท้จริง มักมีอุปสรรคให้ต้องฝ่าฟันและมีปัญหามาวัดใจเยอะมากๆ การเปลี่ยนแปลงนี้จำเป็นต้องใช้แรงและเวลา แต่จะคุ้มค่าในระยะยาวแน่นอน แนะแนวฮับขอเป็นกำลังใจให้คุณครูทุกคนเลยนะคะ 🙂🙂


พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว

✅ มีเกียรติบัตร

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา