How-to รับมือปัญหาสังคมที่ซับซ้อน ฉบับครูแนะแนวรุ่นใหม่

หมวดหมู่: พื้นที่เพื่อนครู

Tags:  ไอเดียการสอน ความรุนแรง

อ่านแล้ว: 789 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

“ท้องก่อนวัยอันควร” “ลักพาตัว” “ทำร้ายร่างกาย” และข่าวชวนสลดใจอีกมาก ทั้งที่เห็นจากสื่อต่างๆ หรือแม้แต่เห็นจากเคสคนในชุมชน คนใกล้ตัว ฯลฯ

แนะแนวฮับเชื่อว่า คุณครูบางท่านน่าจะเคยได้เจอเคสความรุนแรงเช่นนี้ เกิดขึ้นกับนักเรียนของเราค่ะ

วันนี้เราจึงขออนุญาตแบ่งปันมุมมอง บทเรียนจากวงพูดคุยและแนวทาง เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับคุณครูที่อยากเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้นักเรียน อยากดูแล สนับสนุนนักเรียนด้วยหัวใจความเป็นครู ท่ามกลางความคาดหวังและแรงกดดันจากสังคมรอบตัว

ชื่อภาพ

ปัญหาความรุนแรงต่างๆ มีที่มาที่ซับซ้อนและสะสมมาเป็นเวลานาน

มีการตั้งคำถามที่น่าสนใจ โดยอิงจากสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยว่า เหตุการณ์ความรุนแรงในกลุ่มเด็กและเยาวชน การกระทำผิด (ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ) การสมรู้ร่วมคิด ฯลฯ มีที่มาจากสาเหตุใด? คนส่วนใหญ่มักปล่อยให้ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลจัดการ เพื่อไปสู่บทสรุปสุดท้ายว่า ทุกภาคส่วนควรมีส่วนร่วมในการดูแลและป้องกัน ทั้งที่ความจริงแล้ว เราสามารถยกตัวอย่างปัจจัยที่เป็นสาเหตุให้ผลักเด็กออก (ในฐานะผู้กระทำผิดหรือผู้ถูกกระทำ) ได้ เช่น

  • สถาบันครอบครัว

ต้องยอมรับสักนิดว่า แต่ละครอบครัว แต่ละบ้าน มีแนวทางการดูแลและสนับสนุนกันไม่เหมือนกัน ความเว้าแหว่งในบ้าน เช่น ด้านเศรษฐกิจปากท้อง การมีความรู้และทักษะในการดูแลและเลี้ยงดูบุตรหลาน การตั้งความคาดหวังบนฐานความหวังดีที่ยังไม่เข้าใจมากพอ ฯลฯ ล้วนมีส่วนส่งผลกระทบ และนำไปสู่ตัวอย่างการใช้ความรุนแรงกับเด็ก ไม่เห็นความสำคัญหรือไม่สามารถมีกิจกรรมร่วมกันเลยระหว่างคนในครอบครัว เป็นบ้านที่เงียบ ไม่สื่อสารกัน เป็นบ้านที่ผู้ใหญ่ใช้ชีวิตส่วนหนึ่งแล้วก็ปล่อยให้เด็กๆ ใช้ชีวิตส่วนหนึ่ง เป็นต้น

  • โรงเรียน สถานศึกษา

ที่อาจไม่สามารถเป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้ที่เป็น “พื้นที่ปลอดภัย” ให้กับเด็กๆ ได้ ในขณะที่สังคมมองว่าโรงเรียนต้องเป็นบ้านหลังที่ 2 ของบุตรหลาน ฝากความหวังพร้อมความกดดันไว้ที่คุณครู (ที่ก็ถูกกดทับด้วยความคาดหวังในหน้าที่อีกที)

  • สภาพชุมชน

อิงตามสภาพทางเศรษฐกิจและการบริหารจัดการพื้นที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่เราสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่เสี่ยง ดูไม่ปลอดภัยกับชีวิตและทรัพย์สิน อย่างไรก็ดี กลับมีบางอย่างที่สามารถเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจ ดึงดูดเด็กและเยาวชนที่ถูกผลักออกจากสถาบันครอบครัวและโรงเรียน ให้พาตัวเองเข้าไป ถลำลึกลงไปในวิถีชีวิตที่เสี่ยงอันตราย

  • โครงสร้างทางสังคม

โจทย์ใหญ่ระดับบิ๊กบอส ที่ส่งผลต่อชุดความคิดบางอย่างที่ดูจะบิดเบี้ยว เช่น เด็กลักขโมยของมา ต้องถูกจับลงโทษหรือเข้าคุกให้ได้ เรื่องจึงจะจบ ทั้งที่สาเหตุที่แท้จริง (เช่น ศักยภาพความพร้อมในการเลี้ยงดูบุตรหลาน, แนวทางการดูแลนักเรียนในโรงเรียน ฯลฯ อาจเป็นตัวผลักดันให้เด็กคนนั้นเลือกวิธีการนี้) ยังคงอยู่ ยังไม่ถูกเห็นหรือจัดการดูแล ซึ่งอีกไม่นานก็จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ หรือรุนแรง ส่งผลกระทบในวงกว้างขึ้น

ชื่อภาพ

คุณครูจะดูแลนักเรียนอย่างไรดี?

1.สร้างพื้นที่ปลอดภัย

🌕 ไม่ด่วนตัดสิน แต่ให้เชื่ออย่างแข็งแรง ว่านักเรียนทุกคนไม่ได้เป็นหรือมีพฤติกรรมเช่นนี้ด้วยตัวเองตั้งแต่กำเนิด แต่เขาเป็นผลลัพธ์และผลผลิตของผลิตของสังคมรอบตัว ที่ไม่ดูแลเอาใจใส่อย่างที่ควรจะเป็น

🌕 เข้าใจสถานการณ์และที่มาที่ไป ถือเป็นข้อที่วัดใจคุณครูมากๆ โดยเฉพาะเรื่องมุมมองการใช้ชีวิต ความเชื่อ ค่านิยมเดิมที่คุณครูอาจคุ้นชิน คุณครูอาจเห็นท่าทีที่ดูก้าวร้าว ได้ยินคำพูดที่ไม่น่ารัก ไม่เป็นมิตร แต่ขอให้รับรู้ว่า นั่นเป็นเพียงอาการบนยอดของภูเขาน้ำแข็ง ที่ลึกๆ แล้ว นักเรียนคนนั้นๆ อาจกำลังขอความช่วยเหลือคุณครูอย่างสุดแรงที่มี

🌕 ไม่ซ้ำเติม แต่ให้ส่งพลังหนุนเสริม (Empower) ระลึกเสมอว่านักเรียนที่อยู่ตรงหน้าคุณครูกำลังเผชิญภาวะเปราะบาง มีมวลความรู้สึกและความคิดมากมาย ทั้งที่สามารถสื่อสารได้และไม่รู้จะสื่อสารอย่างไร คุณครูอาจเริ่มจากการฝึกทักษะการรับฟังหรือการให้คำปรึกษาที่เหมาะกับนักเรียนในช่วงวัยนั้นๆ ก็ได้ค่ะ

2.โอบรับเส้นทางการเติบโตของนักเรียน

🌕 เข้าใจธรรมชาติของนักเรียน เชื่อว่าคุณครูน่าจะเห็นตรงกันว่า แม้จะเป็นครูมาหลายปี ก็ยังไม่เคยมีสูตรลับใดที่สามารถใช้แก้ปัญหาได้ทุกครั้ง การเติบโตของนักเรียนไม่ได้มีแต่เรื่องดีเป็นกราฟที่ค่อยๆ ขยับขึ้นเสมอไป บางวันเขาก็ดี บางวันกราฟอาจจะตกลงมา และมีบางวันที่กราฟดิ่งจนน่าตกใจ สิ่งที่คุณครูสามารถทำได้ คือ การทำใจอย่างเข้าใจ และยอมรับธรรมชาตินี้ว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นธรรมดา

🌕 เท่าทันความคิดของตัวเอง ไม่ลืมว่าเดิมบทบาทของครูก็มีอำนาจเหนือกว่านักเรียนอยู่แล้ว ทุกคำพูด สีหน้า ท่าทีของครู สามารถส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิด และมุมมองต่อโลกของนักเรียนได้

กรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจ และแนะแนวฮับขออนุญาตนำมาแบ่งปัน คือ

💬 คุณครูแนะแนวท่านหนึ่งเคยแบ่งปันกับชุมชนครูของแนะแนวฮับว่า ได้จัดกิจกรรมในคาบโดยถามว่า “ในอนาคตจะประกอบอาชีพอะไรหลังจากนี้ จบม.6” แล้วมีนักเรียนคนหนึ่งตอบว่า “ผมชอบท่องเที่ยวครับครู ผมอยากเป็น YouTuber และระหว่างนี้ผมก็จะขายใบกระท่อมไปด้วย”

แม้ปัจจุบันกระท่อมจะเป็นสินค้าที่สามารถซื้อขายได้ถูกกฎหมายแล้ว แต่ความเชื่อเดิมของครู บวกกับผลกระทบจากการบริโภคเกินขนาดหรือผิดวิธี ก็ยังคงดังก้องอยู่ สิ่งที่คุณครูทำ คือ พยายามฮึบตัวเอง ค่ะ

คุณครูไม่รีบห้ามหรือรีบบอกให้นักเรียนหยุดความคิดนี้ แต่เลือกจะถามต่อถึงข้อมูลในโลกความเป็นจริง เพื่อทวนและตั้งหลักความคิดอย่างเป็นกลาง เช่น ธุรกิจกระท่อมที่เขาขายกัน ราคามันเป็นยังไงบ้าง ความต้องการตลาดเป็นยังไง แล้วในอนาคตถ้าเกิดจะทำจริงๆ เรามีอะไรที่จะดึงดูดลูกค้า หรือสร้างจุดเด่นของเราที่จะทำให้มันไปต่อได้ แล้วท่ามกลางการแข่งขันมากมายในปัจจุบันและอนาคต เราจะสู้ตลาดยังไงได้บ้าง ฯลฯ

กระทั่งคาบสุดท้าย นักเรียนก็ยังยืนยันว่าจะเลือกเส้นทางนี้ แต่เมื่อตอนครูแนะแนวติดตามผลการเรียนต่อ ก็พบว่า นักเรียนคนนั้นไปสอบเป็นทุนนักกีฬาของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง

ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำคัญของคุณครูเลยว่า จริงๆ แล้วนักเรียนเองมีความคิดของเขา และมีเส้นทางการเติบโตในแบบของเขา หากได้รับการรับฟังและรู้สึกว่าได้รับการยอมรับจริงๆ เขาจะสามารถนำสิ่งที่ได้จากครู จากคาบแนะแนว ไปคิดต่อเองว่ามันผิด มันถูก ตรงไหนดี ไม่ดี เหมาะหรือไม่เหมาะกับเขาอย่างไร

3.ทำไปสื่อสารไป

🌕 สื่อสารกับนักเรียน

การดูแลนักเรียนรายบุคคล จำเป็นต้องใช้สรรพกำลัง เรี่ยวแรงทั้งกายใจของคุณครู และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจริงๆ ค่ะ สิ่งหนึ่งที่สามารถพลิกให้การทำงานดูแลและช่วยเหลือนักเรียนที่ “ทำได้ทีละคน” สามารถกระเพื่อมผลกระทบเชิงบวกสู่วงกว้างได้ คือการหยิบประเด็นมาสื่อสาร มาเป็นหัวข้อชวนนักเรียนแลกเปลี่ยน เพื่อออกแบบแนวทางการดูแลหรือทางออกร่วมกัน ***โดยอยู่ภายในการเคารพสิทธิส่วนตัว/ PDPA เพื่อสร้างการรับรู้ การตระหนักเห็นความสำคัญของปัญหาและที่มา รวมถึงการดูแลต้นตอที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง คุณครูอาจเริ่มได้จากการชี้แจงเป้าหมายของการสร้างพื้นที่ปลอดภัย และชวนนักเรียนทำข้อตกลงร่วมกันได้ค่ะ

🌕 สื่อสารกับระบบหรือหน่วยงานที่สังกัด

อาจเกิดกรณีที่ เมื่อมีเหตุการณ์ความรุนแรง แล้วนักเรียนผู้กระทำโดนเพ่งเล็ง คุณครูที่ยืนเคียงข้างนักเรียนด้วยความเข้าใจ ก็กลับถูกเพ่งเล็งไปด้วย เนื่องจากเพื่อนครูคนอื่น หรือผู้บังคับบัญชายังไม่เข้าใจ ยังไม่เห็นภาพเดียวกัน ข้อเสนอแนะสำหรับคุณครูในกรณีนี้คือ การมีวาทศิลป์ในการพูดประชุม พร้อมชี้แจงว่าสิ่งที่ทำ ไม่ได้เพื่อสร้างความขัดแย้งหรือแบ่งฝ่าย แต่เน้นการมองที่เนื้องาน มองที่เหตุและผลโดยมุ่งเป้าหมายการทำเพื่อประโยชน์ของนักเรียน หากนักเรียนกระทำผิดจริง ก็สมควรได้รับโทษตามระเบียบ แต่สาเหตุที่ทำให้นักเรียนทำผิดนั้นเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน จำเป็นต้องกลับไปที่ต้นตอของปัญหาและจัดการดูแล รวมถึงมีกระบวนการทำงานเพื่อฟื้นฟูนักเรียนคนนั้นๆ ด้วยเช่นกัน

4.หาจุดพักให้ตัวเองด้วย

ความท้าทายรอบด้าน อาจมีวันที่คุณครูใจล้าจนอยากถอนตัว แต่ถือเป็นเรื่องปกติมากๆ เพราะสิ่งที่คุณครูกำลังพยายามทำ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยค่ะ เพราะต้องต่อสู้กับหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน ต้องได้กลับไปทบทวนความคิดตัวเอง หักล้างความเชื่อเดิมที่มี เผชิญหน้ากับความสั่นไหวมากมาย สิ่งสำคัญที่แนะแนวฮับไม่อยากให้ลืม คือ คุณครูต้องหาจุดพักเพื่อเติมพลังให้ตัวเองด้วยนะคะ อาจเป็นเวิร์กช็อป ชุมชนเพื่อนครู ที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย ให้คุณครูรู้สึกวางใจ ใจชื้น มีพื้นที่ได้ระบายและแลกเปลี่ยนแนวทางการดูแลทั้งนักเรียนและคุณครูเองต่อไป หรือแม้แต่การนั่งลง สบตา และพูดคุยกับนักเรียนอย่างตรงไปตรงมา เกี่ยวกับความรู้สึกของคุณครูบ้าง ก็เป็นช่วงเวลาที่มีค่า และดีต่อใจคุณครูได้เช่นกันค่ะ

บทความแนะนำ

📍 ชวนรู้จัก "พื้นที่ปลอดภัย" https://guidancehubth.com/knowledge/9

📍 รู้จัก "ข้อตกลงร่วม" https://guidancehubth.com/knowledge/10

📍 การฟังอย่างตั้งใจ (Active listening) อาวุธลับฉบับครูแนะแนว https://guidancehubth.com/knowledge/147

อ้างอิงข้อมูลจากกิจกรรม “ห้องพักครูออนไลน์ ตอน เราได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องราวชีวิตของแม่น้องต่อ?” วันที่ 19 มี.ค. 66


พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว

✅ มีเกียรติบัตร

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา