How-to รับมือกับเคสทำร้ายร่างกาย
หมวดหมู่: พื้นที่เพื่อนครู
Tags: ดูแลใจ
อ่านแล้ว: 606 ครั้ง
เป็นครูแนะแนวต้องเจอกับเรื่องท้าทายรายวัน 😣😣
“เคสนักเรียนทำร้ายร่างกายตัวเอง” เพิ่มความเข้มข้นขึ้นทั้งจำนวนเคสที่เพิ่มขึ้น และรูปแบบของการทำร้ายร่างกายตัวเองที่เปลี่ยนแปลงไป ครูหรือผู้ดูแลนักเรียนจะเตรียมรับมือกับความท้าทายนี้อย่างไร วันนี้แนะแนวฮับขอนำความรู้เกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายตนเองและแนวทางมาฝากกันค่ะ
การทำร้ายร่างกาย (Self-harm)
คือ การกระทำใดๆ ก็ตามที่มีเจตนาจะทำให้ร่างกายตนเองเกิดความเจ็บปวด เช่น การกรีดข้อมือ การรับประทานยาเกินขนาด การกลืนสิ่งของหรือยาพิษ การตีหรือทุบให้ร่างกายมีรอยฟกช้ำ การเผาให้เกิดรอยแผล ฯลฯ รูปแบบของการทำร้ายร่างกายในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปและมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น การแกะเกาผิวหนังจนเป็นแผล การดึงผม หรือการเอามือทุบศีรษะของตนเอง เป็นต้น
สาเหตุที่อาจส่งผลให้นักเรียนทำร้ายร่างกายตนเอง ได้แก่
-
เพื่อจัดการกับมวลอารมณ์ที่ตกค้างอยู่ในใจของตนเอง
-
เพื่อลดความเครียดที่มีอยู่ในใจ
-
เพื่อเบี่ยงเบียนความสนใจจากอารมณ์ที่เจ็บปวด โดยการสร้างความเจ็บปวดทางร่างกายแทน
-
เพื่อแสดงอารมณ์ความเจ็บปวด ความโกรธ หรือความหงุดหงิด
-
เพื่อหลีกหนีจากเหตุการณ์ที่ตนเองรับไม่อยากยอมรับ
-
เพื่อควบคุมตัวเองจากความรู้สึกหรืออารมณ์ที่เกินจะรับไหว
-
เพื่อลงโทษตัวเอง
-
เพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่น
-
เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อน
การทำร้ายร่างกายอาจเป็นหนึ่งในสัญญาณของการพยายามจนถึงแก่ชีวิต
การหมั่นสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนที่มีความเสี่ยงจะทำร้ายร่างกายตนเอง จะช่วยให้คุณครูสามารถเตรียมแผนป้องกันการเกิดเหตุร้ายได้มากขึ้น โดยสามารถเช็กอาการได้ดังตัวอย่างต่อไปนี้
-
นักเรียนมีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ซึ่งมักเป็นอารมณ์เชิงลบ เช่น แสดงความโกรธ หรือโมโหโดยการตะโกน หรือทำลายข้าวของ
-
นักเรียนมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น จากนักเรียนที่ร่าเริง กลายเป็นเก็บตัวเงียบ แยกตัว ไม่พูดคุยกับผู้อื่น หรือเริ่มมีพฤติกรรมที่ก่อกวน
-
นักเรียนพยายามแต่งตัวปกปิดร่องรอยแผลตามร่างกาย บริเวณข้อมือหรือแขน เช่น ใส่เสื้อกันหนาวตลอดเวลาแม้อากาศร้อน
-
นักเรียนมักแสดงออกถึงความสิ้นหวัง เช่น มักพูดว่า “ไม่รู้จะอยู่ทำไม” “ไม่รู้ว่าหนูเกิดมาทำไม” เป็นต้น
-
นักเรียนไม่เห็นคุณค่าในตนเอง เช่น มักพูดว่า “ใครๆ ก็ไม่ชอบผม” “หนูรู้สึกว่าเพื่อนๆ เกลียดหนู” เป็นต้น
-
นักเรียนมักมีปัญหากับครอบครัวบ่อยๆ เช่น ทะเลาะกับพ่อแม่ หรือความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่อบอุ่น
-
นักเรียนแสดงออกถึงสัญญาณบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการพยายามทำร้ายตนเองจนถึงแก่ชีวิต เช่น การวาดภาพถึงความตาย การพูดว่าไม่อยากอยู่แล้ว เป็นต้น
-
นักเรียนเริ่มดื่มแอลกอฮอล์ หรือเริ่มใช้สารเสพติด
-
นักเรียนเคยมีประวัติการทำร้ายร่างกายตนเอง หรือมีประวัติคนในครอบครัวหรือเพื่อนที่เคยทำร้ายตัวเองและใช้ความรุนแรง
อย่างไรก็ตาม อาจมีนักเรียนบางคนที่คุณครูไม่ทันสังเกตหรือคาดคิดมาก่อนว่าเขาจะมีแนวโน้มในการทำร้ายตนเอง แนะแนวฮับจึงขอนำวิธีการรับมือแบบ 2 ระยะมาแบ่งปัน เพื่อให้คุณครูเตรียมกายและเตรียมใจให้พร้อมกับเหตุการณ์ดังกล่าวค่ะ
1. การรับมือระยะฉุกเฉิน เมื่อเกิดเหตุการณ์นักเรียนทำร้ายร่างกายตนเอง ณ ขณะนั้น
1) ไม่ตื่นตระหนก ขอให้คุณครูตั้งสติ และพานักเรียนออกจากสถานที่เกิดเหตุ
2) ยึดความปลอดภัยของนักเรียนเป็นที่ตั้ง รีบพานักเรียนออกจากที่เกิดเหตุ ถ้าเป็นเคสกรีดข้อมือ ขอให้รีบพานักเรียนไปที่ห้องพยาบาลก่อน เพื่อห้ามเลือดและประเมินบาดแผล แต่ถ้าเป็นเคสกินยาเกินขนาด ขอให้รีบติดต่อโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดในทันที
3) รายงานบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้อำนวยการโรงเรียน หัวหน้าระดับชั้น เพื่อช่วยกันดูแลความปลอดภัยและความเรียบร้อยภายในโรงเรียน
4) เก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ อย่าเพิ่งนำเรื่องนี้ไปเล่าให้แก่ผู้ปกครองฟัง เพราะนักเรียนบางคนอาจกลัวการถูกตัดสินจากคนรอบข้างว่า “ทำอะไรไม่คิด” หรือ “ไม่รักตัวเอง” และกลัวว่าความสัมพันธ์ที่มีจะแย่ลงไปกว่าเดิม ดังนั้น ขอให้คุณครูอดใจไว้รอพูดคุยกับนักเรียนและขออนุญาตนักเรียนก่อน หมายเหตุ: ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินเร่งด่วน ที่แพทย์ต้องการการตัดสินใจร่วมกับผู้ปกครองจริงๆ คุณครูก็สามารถแจ้งกับผู้ปกครองได้นะคะ ขอให้คุณครูพิจารณาเป็นรายกรณีไป
5) ทำงานแบบสหวิชาชีพ ติดต่อกับผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยาประจำเขตพื้นที่เพิ่มเติม เพื่อหาแนวทางฟื้นฟูสภาพจิตใจด้วยกัน
6) พูดคุยกับนักเรียนคนอื่นๆ ที่เห็นเหตุการณ์ เพื่อหาแนวทางการดูแลจิตใจร่วมกัน ดังนี้
-
สอบถามว่านักเรียนรู้สึกอย่างไร หรือมีใครต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม ถ้ามี ให้แยกนักเรียนกลุ่มนั้นออกมาเพื่อสังเกตพฤติกรรมและคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ อาจจะมีนักเรียนที่ไม่ได้บอกกับครูตรงๆ ว่าต้องการความช่วยเหลือ เราจึงขอแนะนำให้ให้ครูลองเริ่มสังเกตพฤติกรรมของเพื่อนสนิท หรือผู้ที่อยู่ใกล้นักเรียนที่ทำร้ายร่างกายเป็นอันดับแรก
-
สร้างความเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจด้วยการสื่อสารว่า “เหตุการณ์นี้สามารถเกิดกับทุกคนได้ หากมีความเครียดหรือความกดดันบางอย่างที่ไม่สามารถพูดหรือระบายออกมาให้ใครฟังได้ ดังนั้น ครูขอให้นักเรียนไม่ตัดสินการกระทำของเพื่อน ล้อเพื่อน หรือมองว่าเพื่อนอ่อนแอ เพราะที่จริงแล้วเพื่อนกำลังต้องการความช่วยเหลือ ขอให้ช่วยกันดูแลความรู้สึกของเพื่อน เมื่อเพื่อนกลับมาเรียนได้ตามปกติ”
-
สร้างความสัมพันธ์ในห้องให้มากขึ้น โดยการขออาสาเพื่อนบัดดี้ในการดูแลเพื่อนที่ทำร้ายตนเองในช่วงแรกอย่างใกล้ชิด อย่าให้เขาอยู่คนเดียว
2. การรับมือระยะยาว เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เกิดขึ้นในโรงเรียน
1) ทำแผนที่เครือข่ายความร่วมมือแปะไว้ในห้องแนะแนว เช่น การทำรายชื่อคุณครู นักจิตวิทยาประจำเขตพื้นที่ พี่ๆ มูลนิธิต่างๆ พร้อมทั้งแนบเบอร์โทรศัพท์ไว้ในที่ที่เห็นได้ชัดเจน เพราะหากมีเหตุฉุกเฉินที่คุณครูไม่อยู่ในเหตุการณ์ คุณครูท่านอื่น หรือนักเรียนก็สามารถที่จะติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทันที
2) หารือกับผู้อำนวยการและเพื่อนครูในโรงเรียน ประชุมร่วมกับฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอนโยบายหรือกิจกรรมต่างๆ เพื่อลดปัญหาสุขภาพจิตและจัดการความเครียด เช่น กิจกรรมส่งเสริมการออกกำลังกายเพื่อลดภาวะความเครียด โครงการเพื่อนที่ปรึกษารับฟังปัญหาต่างๆ หรือกิจกรรมดูหนัง ฟังเพลง โดยอาจจะขอความร่วมมือจากนักจิตวิทยาและหาเครือข่ายมาร่วมออกแบบกิจกรรมด้วย
3) ออกแบบการประชุมผู้ปกครอง ให้มีช่วงให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิตของนักเรียนในแต่ละช่วงชั้น เพื่อให้ผู้ปกครองเห็นความสำคัญ เข้าใจปัญหาต่างๆ ที่วัยรุ่นกำลังเผชิญและได้วิธีการแก้ปัญหาเบื้องต้น
4) สอดแทรกกิจกรรมที่ช่วยลดความเครียดอย่างสม่ำเสมอ เช่น การฝึกหายใจ การสังเกตการเคลื่อนไหวของร่างกายตนเอง การนับเลข เป็นต้น ซึ่งคุณครูสามารถชวนนักเรียนทำก่อนเริ่มการเรียนการสอนในแต่ละวันได้
5) สร้างห้องเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย และออกแบบการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความรู้สึก เช่น การให้นักเรียนเขียนถึงความรู้สึกตนเองรายวัน และให้มีการแลกเปลี่ยนกับเพื่อนร่วมห้อง เป็นต้น
6) ฝึกฝนทักษะการเป็นผู้รับฟังที่ดี รับฟังนักเรียนโดยที่ไม่รีบเข้าไปตัดสินว่าถูก-ผิด หรือรีบชี้แนะแนวทางการแก้ไข แต่รับฟังเพื่อที่จะเข้าใจเหตุผลของการกระทำของนักเรียนให้มากยิ่งขึ้น พร้อมให้โอกาสนักเรียนได้เลือกวิธีการแก้ปัญหาของตนเอง
การรับมือกับเคสทำร้ายร่างกาย ไม่ง่ายเลยค่ะ เพราะการพบเจอเหตุการณ์สะเทือนใจใดๆ ล้วนสามารถส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของคุณครูและคนอื่นๆ ได้เช่นกัน ดังนั้น แนะแนวฮับจึงอยากขอให้กำลังใจคุณครูว่า “ถ้าไม่ไหว ไม่เป็นไร พักก่อนได้” นะคะ การประเมินความพร้อมของตนเอง ถือเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญ ที่จะทำให้คุณครูรับมือได้อย่างมีสติ ไม่กดดันหรือคาดหวังกับตนเองมากจนเกินไป
หากยังไม่แน่ใจว่าจะเตรียมแผนรับมืออย่างไรดี ไม่รู้จะปรึกษาหรือเล่าให้ใครฟัง ก็ขอให้นึกถึงแนะแนวฮับ พื้นที่เพื่อนครูที่จะคอยรับฟังอย่างเข้าใจ และพร้อมสนับสนุนคุณครูนะคะ สามารถทักมาบอกเล่ากันได้เสมอค่ะ 🙂
บทความที่เกี่ยวข้องอื่นๆ - พร้อมรับมือเคสฉุกเฉิน (ฉบับครูมือใหม่) EP.1 https://guidancehubth.com/knowledge/139
-
เจอเคสฉุกเฉิน ครูทำไงดี ? https://guidancehubth.com/knowledge/25
-
6 วิธีชวนนักเรียนหายใจ ตั้งหลัก รับมือความเครียด https://guidancehubth.com/knowledge/107
-
ชวนรู้จัก “พื้นที่ปลอดภัย” https://guidancehubth.com/knowledge/9
พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน
หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)
ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง
✅ เรียนฟรี
✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว
✅ มีเกียรติบัตร
คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses