พร้อมรับมือเคสฉุกเฉิน (ฉบับครูมือใหม่) EP.1

หมวดหมู่: พื้นที่เพื่อนครู

Tags:  เคสฉุกเฉิน รับมือความเครียด ดูแลใจนักเรียน พื้นที่ปลอดภัย

อ่านแล้ว: 848 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

“ครูครับ เกิดเรื่องแล้ว! 😲😱”

คำสั้นๆ ที่ทำเอาคนเป็นครูแนะแนวใจวูบ หูตาตื่นไปพร้อมกัน โดยเฉพาะครูแนะแนวมือใหม่หรือครูน้องใหม่ที่เพิ่งบรรจุ ที่น่าจะเป็นกังวลมากๆ เมื่อต้องรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิด เพราะทุกอย่างดูเร่งรีบและสำคัญไปหมด ไม่รู้ควรทำอะไรก่อน-หลังดี

วันนี้แนะแนวฮับเลยขอแบ่งปันแนวทางให้คุณครูเซฟเก็บไว้ศึกษา เพื่อเตรียมตั้งหลักรับมือได้อย่างมั่นใจมากขึ้นค่ะ คุณครูท่านใดที่มีบทเรียนหรือประสบการณ์อยากแลกเปลี่ยน สามารถคอมเมนต์เป็นกรณีศึกษาหรือคำแนะนำให้คุณครูท่านอื่นได้เลยนะคะ 🙂🙂

ชื่อภาพ

แบบไหนนะที่เรียกว่า “เคสฉุกเฉิน”

จริงๆ แล้วเคสฉุกเฉินยังไม่มีคำนิยามที่เป็นคำนิยามร่วมที่เฉพาะเจาะจงตายตัว แต่ถ้าจะลองอธิบายในเชิงหลักการ เราอาจมองได้ว่า เคสฉุกเฉิน คือ กรณีที่เกิดสถานการณ์ที่ส่งผลต่อสภาพร่างกายและจิตใจของนักเรียนในระดับรุนแรง หรือนักเรียนถูกกระทำ ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวแต่มีผู้พบเห็น จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีที่รับรู้เรื่อง ไม่สามารถรอได้เพราะเสี่ยงต่อสวัสดิภาพของนักเรียน ซึ่งเราอาจประเมินกรณีที่เข้าข่ายเคสฉุกเฉินได้จากอย่างน้อย 2 มิติ คือ

  1. ระดับความรุนแรงที่เกิดกับนักเรียน

  2. ความเสี่ยงและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับนักเรียน หากไม่เกิดการดูแลช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

ประเภทของเคสที่เป็นภัยต่อนักเรียน

อ้างอิงตามคู่มือการดำเนินงานความปลอดภัยสถานศึกษา มี 4 กลุ่ม ได้แก่

  1. ภัยที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงของมนุษย์ (Violence)

    🟠 การล่วงละเมิดทางเพศ

    🟠 การทะเลาะวิวาท

    🟠 การกลั่นแกล้งรังแก

    🟠 การชุมนุมประท้วงและการจลาจล

    🟠 การก่อวินาศกรรม

    🟠 การระเบิด

    🟠 สารเคมีและวัตถุอันตราย

    🟠 การล่อลวง ลักพาตัว

  2. ภัยที่เกิดจากอุบัติเหตุ (Accident)

    🟣 ภัยธรรมชาติ

    🟣 ภัยจากอาคารเรียน สิ่งก่อสร้าง

    🟣 ภัยจากยานพาหนะ

    🟣 ภัยจากการจัดกิจกรรม

    🟣 ภัยจากเครื่องมือ อุปกรณ์

  3. ภัยที่เกิดจากการถูกละเมิดสิทธิ์ (Right)

    🟠 การถูกปล่อยปละละเลย ทอดทิ้ง

    🟠 การคุกคามทางเพศ

    🟠 การไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสังคม

  4. ภัยที่เกิดจากผลกระทบทางสุขภาวะทางกายและจิตใจ (Unhealthiness)

    🟣 ภาวะจิตเวช

    🟣 ติดเกม

    🟣 ยาเสพติด

    🟣 โรคระบาดในมนุษย์

    🟣 ภัยไซเบอร์

    🟣 การพนัน

    🟣 มลภาวะเป็นพิษ

    🟣 โรคระบาดในสัตว์

    🟣 ภาวะทุพโภชนาการ

จากการทำสำรวจความคิดเห็นของคุณครูแนะแนวส่วนหนึ่งในโครงการ “ครูแนะแนวรุ่นใหม่สร้างเด็กไทยให้ออกแบบชีวิตตัวเองได้” รุ่นที่ 1 - 4 จำนวน 52 คน พบว่าเป็นเคสที่มีความท้าทายในการจัดการและอยากได้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางการรับมือ ได้แก่

  1. พฤติกรรมติดเกม

  2. การกลั่นแกล้งและการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน

  3. การบกพร่องทางการเรียนรู้

  4. การล่วงละเมิดทางเพศ

  5. ภาวะจิตเวช (ซึมเศร้า มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย)

ชื่อภาพ

เคสฉุกเฉิน กับ ครูแนะแนว

ด้วยความที่นักเรียนใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในโรงเรียน ทำให้โรงเรียนกลายมาเป็นผู้เล่นสำคัญที่ถูกคาดหวังว่า จะมีความใกล้ชิดเพียงพอที่จะมองเห็นปัญหา และเข้ามามีส่วนสำคัญในการให้คำปรึกษาและหาแนวทางสนับสนุนที่เหมาะสมกับนักเรียนนักเรียนได้

“เรียกครูแนะแนวมาพบด่วนค่ะ”

จากการสัมภาษณ์และสอบถามจากคุณครูหลายคนจากหลายโรงเรียนทั่วทุกภูมิภาค พบว่า แม้คุณครูวิชาอื่นๆ จะมีศักยภาพในการดูแลนักเรียนได้เป็นอย่างดี แต่ชื่อครูแนะแนวก็มักติดโผการถูกเรียกตัวเมื่อเกิดเคสฉุกเฉินอยู่เสมอ

สาเหตุหนึ่งเพราะเพราะครูแนะแนวมีแนวโน้มสามารถดูแลจัดการเคสอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงนักเรียนเป็นศูนย์กลาง สร้างพื้นที่ปลอดภัยที่ทำให้นักเรียนนักเรียนสบายใจที่จะเล่าปัญหาที่เจอ เปิดใจทำความเข้าใจสถานการณ์โดยไม่ด่วนตัดสินใจก่อน มีกระบวนการในการประสานและพูดคุยเพื่อหาทางออกที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย มีจุดแข็งในเชิงหลักวิชาชีพ มีทักษะในการประเมินและดูแลสภาพจิตใจนักเรียน และการรู้จักเครือข่ายทำงานภายนอก

อย่างไรก็ตาม บทบาทและความคาดหวังต่องานดูแลนักเรียนนั้นมีความท้าทายสูงมาก เพราะครูเองก็ไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยว่าจะเกิดเหตุอะไรบ้าง โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เรียกว่า “เคสฉุกเฉิน” จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ครูแนะแนวควรมีตัวช่วยในการทบทวนความเข้าใจและแนวทางที่เหมาะสมในการเข้าไปช่วยเหลือเคสฉุกเฉิน

ชื่อภาพ

เกิดเคสฉุกเฉิน ต้องทำงานร่วมกับใครบ้าง

1.ภายในโรงเรียน:

🟠 บุคคลที่มีโอกาสเป็นผู้พบเจอเคสฉุกเฉินภายในโรงเรียนได้ ได้แก่

  • ครูที่ปรึกษา ครูประจำวิชา และครูแนะแนว ที่ใกล้ชิดกับนักเรียนในความรับผิดชอบโดยตรง ทำให้มีโอกาสในการรับรู้ความผิดปกติจากการสังเกตหรือจากการที่นักเรียนหรือเพื่อนเข้ามาขอคำปรึกษาได้

  • ฝ่ายกิจการนักเรียน ผู้มีหน้าที่คอยตรวจตราดูแลความเรียบร้อยและความปลอดภัยต่อสวัสดิภาพของนักเรียนในภาพรวม

  • ครูพยาบาล ที่มักมีบทบาทสำคัญในการรับรู้และส่งต่อเคสที่มีอาการเจ็บป่วยทางร่างกาย และ/หรือ อาจมีสาเหตุมาจากด้านจิตใจหรือปัญหาด้านอื่นๆ ด้วย

🟠 ต่างโรงเรียน ต่างวิธีการรับมือ

แต่ละโรงเรียนจะมีโครงสร้างและวิธีการจัดการแตกต่างกันตามความเหมาะสมของทรัพยากรครูและต้นทุนเครือข่ายการทำงานที่มี บางโรงเรียนมีการแบ่งบทบาทหน้าที่ชัดเจน ขณะที่บางโรงเรียนก็มีการส่งต่อเคสและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยฝ่ายกิจการนักเรียนมักดูแลส่วนที่เป็นเคสเชิงพฤติกรรมและมักเกี่ยวข้องกับการละเมิดกฎระเบียบ กฎหมาย (เช่น การใช้ยาเสพติด การทำร้ายร่างกาย) ขณะที่ฝ่ายแนะแนวมักดูแลเคสที่ส่งผลกระทบทางด้านจิตใจ หรือนักเรียนควรได้รับคำปรึกษาและหาทางช่วยเหลือในหลายมิติ

ในระหว่างการรับมือเคส ครูระดับปฏิบัติงานจะมีการรายงานต่อหัวหน้าระดับ รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนักเรียน และผู้อำนวยการโรงเรียน เพื่อให้รับทราบ ขอคำปรึกษา รวมถึงขอการสนับสนุนทั้งด้านทรัพยากรและอำนาจการตัดสินใจ

2.ภายนอกโรงเรียน:

🟠 บุคคลภายนอกโรงเรียนที่คุณครูมีโอกาสติดต่อประสาน ได้แก่

  • พ่อแม่ ผู้ปกครองนักเรียน

  • ผู้ดูแลบ้านพักนักเรียนและครอบครัว

  • นักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ประจำโรงพยาบาล

  • นักจิตวิทยาโรงเรียนประจำเขตพื้นที่การศึกษา

  • ตำรวจ

🟠 รับมือเคสฉุกเฉินด้วยสหวิชาชีพ

เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดและเป็นอันตรายกับนักเรียน ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ หรือประเมินด้วยตนเองเพียงลำพังว่าสามารถดูแลจัดการได้ เนื่องจากอาจเกิดความรุนแรง และมีประเด็นที่ละเอียดอ่อนมากกว่าการประเมินด้วยสายตา คุณครูจำเป็นต้องทำงานร่วมกับบุคลากรจากหน่วยงานภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อหาแนวทางการจัดการเคสที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ขึ้นกับสถานการณ์ปัญหาของแต่ละเคส

หมายเหตุ: อาจเริ่มจากศึกษานโยบายของโรงเรียนหรือหน่วยงานที่คุณครูสังกัด ว่าเมื่อเกิดเคสฉุกเฉินขึ้น คุณครูและฝ่ายต่างๆ ในโรงเรียนจะมีแนวทางดูแลจัดการอย่างไร

ชื่อภาพ

ความท้าทายที่ครูแนะแนวอาจพบ

แม้มีการอบรมคุณครูในหัวข้อการรับมือเคสฉุกเฉินให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ไม่มีอะไรการันตีได้ว่า คุณครูจะสามารถรับมือและจัดการได้อย่างราบรื่น เพราะยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่เป็น ความท้าทายสำหรับครูแนะแนว เช่น

🟣 การขาดความรู้ ความเข้าใจ ทั้งต่อการรับมือเคสและขอบข่ายความรับผิดชอบ

เราพบว่า มีคุณครูหลายคนที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ ขาดการเตรียมความพร้อมในเชิงทักษะที่จำเป็นในการรับมือเคสฉุกเฉิน อันเนื่องมาจาก - ไม่มีวิธีการรับมือแต่ละเคสเป็นแบบแผนตายตัว เพราะเคสฉุกเฉินมีหลากหลายรูปแบบ หลายระดับความรุนแรง การเตรียมความพร้อมในปัจจุบันจึงไม่เพียงพอต่อการทำให้ครูสามารถรับมือเมื่อเกิดเคสฉุกเฉินขึ้นจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพและมั่นใจ

  • ไม่ได้รับการอบรมโดยตรง ทำให้ครูแนะแนวส่วนใหญ่ขาดความมั่นใจในการวิเคราะห์ผลจากแบบคัดกรองเฉพาะด้าน

  • ไม่มีการพูดคุย หรือระบุแนวทางที่ชัดเจน ทำให้ครูแนะแนวเกิดความกังวลต่อขอบเขตที่เหมาะสม ที่ครูสามารถดำเนินการได้ภายใต้กฎหมายและระเบียบของโรงเรียน

🟣 ภาระงานอื่นเยอะ

ด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบ ทั้งงานสอนและงานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมาย ทำให้ครูแนะแนวมีตารางงานที่แน่นมาก ส่งผลให้

  • ไม่สามารถดูแลนักเรียนได้อย่างทั่วถึง

  • ไม่สามารถโฟกัส ให้เวลากับการให้คำปรึกษาและการทำบันทึกการให้คำปรึกษา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของงานแนะแนวและเป็นองค์ประกอบสำคัญในการรับมือและส่งต่อเคสฉุกเฉินได้

🟣 ลำดับขั้นตอนกระบวนการการส่งต่อเคสฉุกเฉิน มีความซับซ้อน

แต่ละโรงเรียนต่างมีบริบท โครงสร้างการจัดการ และรวมถึงลักษณะงานที่จำเป็นต้องร่วมกับหลายฝ่าย แตกต่างกัน จนอาจเกิดความสับสน เข้าใจไม่ตรงกันว่ากรณีใก้คือเคสเร่งด่วนหรือรุนแรง และจำเป็นต้องส่งต่อ ทำให้การทำงานร่วมกันเป็นไปได้ลำบาก

🟣 ระบบงานปัจจุบันยังไม่เอื้อให้ครูรับมือเคสฉุกเฉินได้ดีเท่าที่ควร

มีคุณครูแนะแนวบางส่วนที่ไม่สามารถดูแลรับมือเคสฉุกเฉินได้ทันท่วงที เนื่องจากติดพันกับระบบที่ยังไม่พร้อมสนับสนุน เช่น

  • การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างฝ่ายงานต่างๆ ในโรงเรียน ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายงานแนะแนว ยังไม่ราบรื่น หรือยังไม่อัปเดตข้อมูลเท่ากัน

  • การทำงานร่วมกับผู้ปกครอง ที่พบปัญหาผู้ปกครองกลุ่มที่ไม่มีเวลา ขาดความเชื่อใจ และไม่ให้ความร่วมมือ

  • การประเมินด้วยตนเองของบางโรงเรียนว่าสามารถจัดการดูแลเคสฉุกเฉินได้ ทำให้ไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการส่งต่อให้เขตพื้นที่การศึกษาหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง จนครูแนะแนวไม่รู้ว่าควรติดต่อใคร

แนะแนวฮับเชื่อว่า ยังมีความท้าทายอีกมากที่คุณครูแนะแนวต้องเจอ บางครั้งเป็นโอกาสให้คุณครูได้เริ่มหารือและสื่อสารกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องในโรงเรียน ในขณะที่หลายครั้งก็เป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้ไม่สามารถดูแลนักเรียนได้อย่างที่ตั้งใจ

ใน Ep. ต่อไป เราจะชวนมาลงลึกถึงรายละเอียดการรับมือเคสฉุกเฉิน

รอติดตามได้เร็วๆ นี้ค่ะ


พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว

✅ มีเกียรติบัตร

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา