6 วิธีชวนนักเรียนหายใจ ตั้งหลัก รับมือความเครียด
หมวดหมู่: เครื่องมือข้อมูลด้านการสอน
Tags: ไอเดียการสอน รับมือความเครียด
อ่านแล้ว: 1578 ครั้ง
“ต้องสอบแล้วเครียดมากเลยครับครู 😫”
“นี่ผมกังวลจนคิดอะไรไม่ออกเลย 😔”
“หนูทั้งตื่นเต้นและตกใจจนทำอะไรไม่ถูกเลยค่ะ 😢”
ไม่ใช่แค่ฤดูกาลสอบที่นักเรียนจะเครียดกันนะคะ ต้องยอมรับว่ายุคสมัยนี้มีเรื่องท้าทายเยอะมาก ทำเอาเด็กๆ หลายคนออกอาการ “หัวจะปวด” กันเลยทีเดียว (คนเป็นครูเองก็มีเรื่องเครียดเช่นกันค่ะ ฮือออ)
เมื่อเจอกับเหตุการณ์หรือสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดความปั่นป่วนทางความรู้สึก จะส่งผลต่อความคิดและสภาพร่างกายด้วย ซึ่งแต่ละคนอาจมีอาการต่างกัน เช่น ปวดหัว มึนงง แน่นหน้าอก รู้สึกไม่สบายตัว กล้ามเนื้อเกร็ง มวนท้อง ใจสั่น โฟกัสไม่ได้ พูดวกไปวนมา ไม่อยากอาหาร ฯลฯ
แนวทางพื้นฐานในการกลับมาสู่จุดสมดุลให้ตัวเรามีความพร้อมในการสื่อสารบอกความต้องการ และจัดการความเครียด (รวมถึงอารมณ์ความรู้สึกอื่นๆ) คือ การเริ่มจากการเท่าทันตัวเอง และ 1 ในวิธีที่ทำได้ง่ายก็คือ การหายใจ นั่นเองค่ะ
ว่าแต่ว่า คุณครูจะชวนนักเรียนมาฝึกหายใจยังไงดี ให้เด็กๆ รู้สึกว่านี่ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อหรือโดนบังคับให้นั่งสมาธิ วันนี้แนะแนวฮับมีไอเดียมาแบ่งปันกันค่ะ
หมายเหตุ หากเป็นความเครียดรุนแรงหรือความเครียดสะสมจนเป็นภาวะเรื้อรัง ที่ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิต จำเป็นจะต้องได้รับการดูแลที่เหมาะสมจากผู้เชี่ยวชาญนะคะ*
3 ข้อ ก่อนชวนนักเรียนหายใจ
1) โอบรับมวลความรู้สึกที่นักเรียนมีก่อน
หลายครั้งที่ สิ่งที่เด็กๆ ต้องการ อาจเป็น คนรับฟังที่พร้อมเข้าใจ และเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขาได้ระบายความอัดอัน ความรู้สึกสับสนตึงเครียด หรือแม้แต่ความสั่นไหวเปราะบาง (เช่น การร้องไห้)
สิ่งที่คุณครูสามารถทำได้ คือ
- เปิดใจรับฟัง 100% ลองยั้งตัวเอง ไม่รีบสอนหรือบอกวิธีแก้ปัญหาให้ในทันที เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้แชร์เรื่องราวออกมาก่อน ***นักเรียนบางคนอาจต้องใช้เวลาในการเรียบเรียงความคิดเป็นคำพูด ซึ่งก็ไม่เป็นไรนะคะ คุณครูบอกกับพวกเขาได้ว่า “ครูสามารถรอจนนักเรียนพร้อมนะ ค่อยๆ ใช้เวลาคิดแล้วค่อยเล่าให้ครูฟังได้เลย”
- ทวนกลับและสื่อสารแสดงความเข้าอกเข้าใจ และให้นักเรียนรับรู้ว่า เสียงของเขาถูกรับฟังและมีคนที่เข้าใจภาวะหรือสถานการณ์ที่เขากำลังเผชิญอยู่ เช่น “ ที่นักเรียนพูดมา ครูสัมผัสได้ว่า ตอนนี้หนูมีความรู้สึกหนักๆ เยอะมาก มันไม่แปลกเลยที่จะเครียดมากขนาดนี้ และครูเชื่อว่ามันอาจจะต้องใช้เวลาและหาวิธีที่เหมาะสมสำหรับสิ่งที่หนูเจอ”
2) ลองเสนอตัวช่วยวิธีการหายใจแบบไม่บังคับ
วิธีการหรือเครื่องมืออะไรก็ตามที่ถึงแม้จะมีหลายคนพูดตรงกันว่า “ดีมากๆ” ก็ไม่ได้แปลว่าจะเหมาะสมกับนักเรียนคนนั้นๆ ในช่วงเวลานั้นๆ เสมอไปค่ะ วิธีการหายใจที่เราจะพูดถึงกันในบทความนี้ ก็เช่นกัน แนะแนวฮับอยากชวนให้คุณครู ลองเสนอตัวช่วยเรื่องการหายใจและถามความสมัครใจของนักเรียนก่อนว่าเขาสนใจและพร้อมจะลองทำไหม เช่น “ ครูพอมีวิธีหายใจแบบที่ไม่ใช่การนั่งสมาธิ แต่จะช่วยตั้งหลักตั้งสติได้ นักเรียนอยากลองหายใจไปด้วยกันไหมคะ”
3) แนะนำให้รู้จักและชวนใช้บ่อยๆ
นอกจากการดูแลนักเรียนรายบุคคลแล้ว การฝึกหายใจตั้งหลักเรียกสตินี้ เป็นกิจกรรมที่สามารถใช้เป็นรหัสลับระหว่างคุณครูกับเด็กๆ ได้ด้วยนะคะ คุณครูอาจเสนอเป็นหนึ่งในข้อตกลงร่วมของห้องเรียน ว่า “ครูจะขอชวนทุกคนหายใจแบบงู เพื่อช่วยให้ทุกคนพร้อมก่อนเริ่มเรียน หรือระหว่างคาบเรียน” เป็นต้น
หากนักเรียนได้ระบายความรู้สึกนึกคิดในพื้นที่ปลอดภัย และพร้อมใช้เทคนิคการหายใจแล้ว เรามาลองดูกันค่ะว่าแต่ละวิธีมีการหายใจแบบไหนบ้าง
1.หายใจแบบงู
😗💨 วิธีการ: หายใจเข้าลึกๆ แล้วออกเสียง “sssssss” หรือ “ซือซซซซ” (แบบเวลางูส่งเสียง) ตอนหายใจออก
2.หายใจแบบกระต่าย
😗💨 วิธีการ: หายใจเข้าเป็นจังหวะสั้นๆ (ทำจมูกฟุดฟิดคล้ายกระต่าย) 4 ครั้งติดกัน แล้วค่อยๆ หายใจออกยาวๆ
3.หายใจแบบผึ้ง
😗💨 วิธีการ: เอานิ้วอุดหูทั้ง 2 ข้าง หายใจเข้าลึกๆ แล้วออกเสียง “อืมมมมมมมม” ยาวๆ เสียงที่ได้ยินจะคล้ายเสียงผึ้งบิน
4.หายใจตามรูปทรง
😗💨 วิธีการ: คุณครูวาดภาพรูปทรงต่างๆ ขึ้นกระดาน แล้วหายนักเรียนหายใจเข้าลึกๆ จนกว่าครูจะลากนิ้วตามรูปทรงนั้นๆ เสร็จ เช่น ถ้าเป็นรูปสามเหลี่ยม ครูจะลากนิ้ววาดตามขอบสามเหลี่ยมจนครบ ถือเป็น 1 ลมหายใจเข้าของนักเรียน
5.หายใจพร้อมเสียงทะเล
😗💨 วิธีการ: เอามืออังหูทั้ง 2 ข้าง แล้วหายใจเข้าออกลึกๆ เสียงที่ได้ยินจะคล้ายเสียงลมเวลาเราไปทะเล
6. หายใจพร้อมโกโก้ร้อน
😗💨 วิธีการ: ให้นักเรียนหลับตา แล้วจินตนาการว่ากำลังถือแก้วโกโก้ร้อนๆ เรายังดื่มเลยไม่ได้เพราะยังร้อนอยู่ ให้ค่อยๆ หายใจเข้าแล้วเป่าลมไล่ความร้อนของโกโก้ช้าๆ
คุณครูอาจช่วยโดยการพูดตลอดกิจกรรมนี้ เช่น
“ให้นักเรียนจินตนาการว่าเรากำลังถือแก้วโกโก้ร้อนอยู่นะคะ … แก้วมันร้อนแต่เรายังถือได้ … แต่ยังร้อนเกินไปถ้าจะรีบดื่มตอนนี้ … หายใจเข้า ได้กลิ่นโกโก้ … หายใจออก ค่อยๆ เป่าลมเบาๆ ให้โกโก้เย็นลงหน่อย … โกโก้ยังร้อนอยู่ เรามาหายใจเข้า แล้วเป่าลมออกเบาๆ ให้โกโก้ในแก้ว อีก 2 - 3 ครั้งกันนะคะ …”
พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน
หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)
ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง
✅ เรียนฟรี
✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว
✅ มีเกียรติบัตร
คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses