6 ไอเดียดูแลใจนักเรียน ไม่ให้จมไปกับสถานการณ์น้ำท่วม

หมวดหมู่: เครื่องมือข้อมูลด้านการสอน

Tags: 

อ่านแล้ว: 105 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

ช่วงที่ผ่านมา สถานการณ์น้ำท่วมในประเทศมีความรุนแรงในหลายพื้นที่ รวมไปถึงโรงเรียนต่างๆ ด้วยเช่นกัน

ก่อนอื่นเลย แนะแนวฮับขอส่งกำลังใจให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้อำนวยการ คุณครู นักเรียนและผู้ปกครองด้วยนะคะ 💕

ถึงแม้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมในบางพื้นที่เริ่มดีขึ้นบ้างแล้ว แต่เหตุการณ์นี้ก็ยังคงส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของทั้งคุณครูและนักเรียนทุกคนอยู่ คำถามสำคัญคือ เราจะดูแลใจกันอย่างไรดีในวันที่เราจะต้องกลับมาเรียนและใช้ชีวิตกันต่อท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเช่นนี้

วันนี้แนะแนวฮับนำ 6 ไอเดียที่เป็นทั้งไอเดียการดูแลใจและการตั้งหลักเริ่มต้นการเรียนรู้อีกครั้งมาแจกค่ะ ไปดูพร้อมกันเลย 🙂

ชื่อภาพ

1. กิจกรรม Circle time

เป็นกิจกรรมเริ่มต้นของวัน เพื่อให้คุณครูและนักเรียนสร้างร่วมแชร์ความรู้สึกเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หรือเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ก็ได้ เพื่อเป็นการให้นักเรียนที่อาจจะไม่ได้รับผลกระทบได้เข้าใจและเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของเพื่อนคนอื่น

วิธีการ

  1. ขอให้คุณครูและนักเรียนนั่งล้อมกันเป็นวงกลม
  2. ให้นักเรียนทุกคนได้แชร์ความรู้สึก โดยทุกคนมีเวลาคนละ 1 นาที
  3. คุณครูย้ำเรื่องกติกาและพื้นที่ปลอดภัยในการรับฟังความรู้สึกของเพื่อน

*หมายเหตุ: ก่อนที่จะเริ่มกิจกรรมนี้ คุณครูสามารถสร้างกติการ่วมกับนักเรียน หรือย้ำกับนักเรียนถึงความสำคัญของการรับฟังเพื่อน โดยไม่ตัดสินและไม่พูดแทรกก่อน ซึ่งคุณครูสามารถอ่านวิธีการสร้างกติการ่วมได้ที่

2. กิจกรรม NEWS

เป็นกิจกรรมที่จะช่วยให้นักเรียนทันข่าว ทันเหตุการณ์ ทันความรู้สึกของตนเอง และหาแนวทางต่างๆ ได้ทันหากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น

วิธีการ

  1. คุณครูขอให้นักเรียนหาข้อมูลและอัปเดตรายละเอียดต่างๆ ผ่านหัวข้อต่อไปนี้ N (News) - ข่าว หรือ เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนของตนเอง ณ ปัจจุบัน E (Experiences) - สถานการณ์ที่บ้านของตนเอง ณ ปัจจุบัน W (Worries) - ความกังวล ณ ตอนนี้ S (Solutions) - วิธีการ/แนวทางที่นักเรียนจะทำได้ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน หรือวิธีการดูแลความเครียดของตนเองและคนในครอบครัว
  2. คุณครูขอให้นักเรียนแชร์ความรู้สึกร่วมกันกับเพื่อนๆ

3. กิจกรรมแผนภูมิแสดงอารมณ์

เป็นกิจกรรมที่ชวนนักเรียนสำรวจอารมณ์และความรู้สึกของตนเองในแต่ละวัน

วิธีการ

  1. คุณครูเตรียมแผนกระดาษชาร์ตใหญ่ๆ หรือกระดาษขาวเทาแผ่นใหญ่ แปะไว้บนผนังห้องเรียน
  2. คุณครูให้นักเรียนระบายสีความรู้สึกของตนเองเมื่อเดินเข้าห้องเรียน และลงชื่อตนเองไว้ และก่อนกลับบ้านก็ให้นักเรียนระบายสีอีกครั้งเพื่อรีเช็กอารมณ์ของตนเอง

4. กิจกรรมระดมสมอง

ในสถานการณ์แบบนี้ การลองเปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมออกความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ และเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมารับฟัง หรือส่งข้อมูลต่างๆ ออกไปให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบก็เป็นอีกวิธีการที่ช่วยให้นักเรียนเรียนรู้และรับมือได้ดี

วิธีการ

  1. คุณครูจัดกิจกรรมระดมสมอง โดยการแบ่งกลุ่มและให้บทบาทนักเรียนตามภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาคประชาชน ภาครัฐ ภาคเอกชน
  2. คุณครูให้โจทย์นักเรียนว่า “แต่ละภาคส่วนควรจะต้องทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์….เกิดขึ้น”
  3. คุณครูให้นักเรียนค้นหาข้อมูล
  4. คุณครูให้นักเรียนแสดงบทบาทสมมติ
  5. คุณครูอัดคลิปวิดีโอเพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานต่างๆ หรือเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมารับฟัง

5. กิจกรรมเรียนชดเชย

เป็นกิจกรรมที่ฝึกฝนให้นักเรียนลองวางแผนการเรียนรู้ของตนเองเพื่อชดเชยวันหยุดจากสถานการณ์น้ำท่วม แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกแบบการเรียนที่แน่นและเครียดจนเกินไป และควรเลื่อนการสอบต่างๆ ออกไปก่อน

วิธีการ

  1. คุณครูชวนนักเรียนพูดคุยว่า “นักเรียนจะมีวิธีการหาความรู้มาเพิ่มเติมในช่วงที่หยุดไปได้อย่างไรบ้าง”
  2. คุณครูลองให้ตัวอย่างหรือช่องทางต่างๆ ที่ให้ความรู้และสร้างความสนุกให้แก่นักเรียนได้ด้วย เช่น การเรียนรู้จากการฟัง Podcast / การดูหนัง หรือการฟังเพลง เป็นต้น
  3. คุณครูให้เวลานักเรียนไปเรียนรู้จากสื่อที่ชอบ และกลับมาเล่าให้ครูฟังว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง

6. กิจกรรมช่วยเหลือนักเรียนที่ของใช้เสียหาย

เป็นกิจกรรมที่ชวนนักเรียนทุกคนแลกเปลี่ยนความจำเป็นและความต้องการ เพื่อคุณครูจะได้รับทราบและช่วยกันหาวิธีการแบ่งปันสิ่งของกันได้ ในกรณีที่มีนักเรียนบางคนมีสิ่งของที่สามารถนำมาแบ่งปันเพื่อนได้

วิธีการ

  1. คุณครูทำแผนผังตารางแบ่งออกเป็น 2 ช่อง 1. สิ่งต้องการเร่งด่วน 2. สิ่งที่สามารถแบ่งปันเพื่อนได้
  2. คุณครูให้นักเรียนเขียนลง Post it และออกมาแปะบนกระดานแผนผัง
  3. คุณครูประสานงานหรือขอคำปรึกษาจากผู้อำนวยการ หรือหน่วยงานอื่นๆ เพื่อช่วยกันนำสิ่งที่นักเรียนต้องการเร่งด่วนมาให้นักเรียน
  4. คุณครูให้นักเรียนที่มีความสามารถในการนำสิ่งของที่สามารถแบ่งปันให้เพื่อนได้มาแลกเปลี่ยนกัน

ทั้ง 6 กิจกรรมนี้ เป็นเพียงกิจกรรมเบื้องต้นที่ช่วยฟื้นฟูพลังใจและพลังกายของนักเรียนจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้น การดูแลนักเรียนไม่ได้เป็นเรื่องของโรงเรียนเพียงอย่างเดียว หากคุณครูสามารถที่จะประสานงานกับหน่วยงานภาคนอกเพื่อระดมความช่วยเหลือมาได้ ก็จะทำให้นักเรียนทุกคนได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างเต็มที่

ที่สำคัญ คุณครูก็อย่าลืมที่จะดูแลสภาพจิตใจและร่างกายของตนเองด้วยนะคะ แนะแนวฮับเป็นกำลังใจให้ค่ะ 🥰

อ้างอิง


พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว

✅ มีเกียรติบัตร

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา