ใจดีนะแต่ไม่ใจอ่อน..ใจดีแบบไหนให้คงวินัยในชั้นเรียน
หมวดหมู่: พื้นที่เพื่อนครู
Tags:
อ่านแล้ว: 120 ครั้ง
ไม่อยากเป็นครูที่ดุเกินไป แต่ใจดีเกินไปนักเรียนก็เหมือนจะคุมชั้นเรียนไม่อยู่ จะหาตรงกลางยังไง ให้คงความใจดีและวินัยในชั้นเรียนไว้ด้วยกัน
แนะแนวฮับอยากชวนคุณครูเริ่มต้นด้วยคำถามสำคัญว่า เราจะรู้ได้อย่างไรนะ?? ว่าแบบไหนที่เรียกว่า “ใจดีเกินไป” ลองมาสำรวจตัวเองด้วยกันนะคะ ว่าคุณครูเคยทำสิ่งเหล่านี้หรือเปล่า
1) เลือกวิธีปกป้องนักเรียนที่ไม่สมเหตุสมผล การปกป้องนักเรียนเป็นสิ่งที่ดี แต่ครูควรเลือกวิธีการที่เหมาะสม ในบางสถานการณ์ที่นักเรียนกระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง คุณครูก็ควรจะใช้วิธีอบรมสั่งสอน หรือหาวิธีปรับพฤติกรรมที่เหมาะสมแทนการปกป้องที่ไม่ถูกวิธี เช่น การช่วยปกปิดความผิด หรือออกรับความผิดแทน นักเรียน
2) ยอมรับทุกข้อเสนอเพื่อซื้อใจนักเรียน เช่น เมื่อนักเรียนขอทานอาหารให้ห้องเรียน คุณครูก็อนุญาตให้ทาน โดยที่เราไม่ได้ตั้งกฎกติการ่วมกันไว้ตั้งแต่แรก
3) ให้ทางเลือกที่ไม่มีขอบเขต โดยที่ทางเลือกนั้นไม่นำไปสู่การพัฒนาตัวเองของนักเรียน หรือเกิดขึ้นเพื่อโอบรับความแตกต่างเฉพาะบุคคล เช่น เมื่อนักเรียนไม่ยอมส่งงาน คุณครูก็เสนอทางเลือกให้นักเรียนไม่ต้องส่งงาน แทนการส่งงานช้า หรือ ให้นักเรียนลดคุณภาพของงาน โดยไม่มีการพูดคุยถึงกระบวนการทำงานของนักเรียน
4) ไม่ยอมให้นักเรียนต้องเผชิญหน้ากับปัญหา เช่น คุณครูไม่กล้าที่จะมอบหมายงานที่ยาก หรือท้าทายให้กับนักเรียน เพราะกลัวว่านักเรียนจะทำไม่ได้ ไม่ส่งงานมา หรือกลัวนักเรียนจะไม่ชอบวิชาที่เรียน เป็นต้น
ทั้ง 4 ข้อนี้ล้วนเป็นพฤติกรรมที่บ่งบอกว่าคุณครูอาจใจดีเกินไป หากคุณครูลองสำรวจตัวเองแล้วพบคำตอบว่าบางครั้งเราก็อาจจะเคยทำสิ่งเหล่านี้เหมือนกันนะ ซึ่งแอดมินเข้าใจดีว่า เราต่างตั้งต้นมาจากความปรารถนาดีที่คุณครูมีต่อนักเรียน ก็อยากจะชวนคุณครูมาปรับเปลี่ยนไปด้วยกันเพื่อให้ความ “ ใจดี” ของครูนั้นดีต่อใจครูและนักเรียนค่ะ
วันนี้แนะแนวฮับมีวิธีที่เรียกว่า ‘ทางสายกลาง’ สำหรับการฝึกฝนเป็นคุณครูที่ดีใจดีแต่เต็มไปด้วยความหนักแน่นชัดเจน (Kind but Firm) ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น และคุณครูเองก็สามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างมั่นใจค่ะ ไปดูกันเลย! 🙂
วิธีการที่ 1 : ให้ทางเลือกอย่างมีขอบเขต
การที่เราให้ทางเลือกนักเรียนโดยที่ไม่มีขอบเขตใดๆ หรือไม่มีการพูดคุยเกี่ยวกับทางเลือกนั้นๆ อาจทำให้นักเรียนขาดการกำกับตนเอง หากเกินเหตุการณ์ที่ไม่ได้ดั่งใจ นักเรียนอาจจะไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเอง หรืออดทนรอคอยได้ เพราะคุ้นชินกับการมีอิสระในทุกการกระทำมาตลอด
วิธีการสื่อสาร คือ สื่อสารทางเลือกกับนักเรียน โดยกำหนดเงื่อนไขของทางเลือกให้ชัดเจน และผลลัพธ์ของทางเลือกนั้นๆ เพื่อให้นักเรียนเห็นภาพที่จะเกิดขึ้นร่วมกันกับครู เช่น “ครูเข้าใจว่านักเรียนมีงานที่ต้องส่งหลายวิชา แต่ตอนนี้ใกล้ถึงช่วงที่ครูจะต้องสรุปคะแนนเก็บแล้ว ครูจึงขอเลื่อนเวลาส่งงานให้เป็นอาทิตย์หน้า แต่หากยังไม่ส่งตามกำหนดครูจะต้องขอหักคะแนนนักเรียนที่ส่งล่าช้า ”
วิธีการที่ 2 : สร้างข้อตกลงและกติการ่วมกัน
การสร้างข้อตกลงและกติการ่วม โดยการเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของนักเรียน ทำให้คุณครูและนักเรียนได้รับฟังความต้องการที่แท้จริงของกันและกัน และอาจหาตรงกลางที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายสบายใจได้ นอกจากนี้การสร้างข้อตกลงร่วมจะทำให้นักเรียนรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันกับห้องเรียน และเห็นความสำคัญของการทำตามกติกาที่ตัวเองเป็นผู้กำหนดไว้
วิธีการนี้เปรียบเสมือนคำมั่นสัญญาที่ทั้งครูและนักเรียนต่างมีร่วมกัน และต้องรับผิดชอบที่จะทำตามคำมั่นสัญญานั้น ซึ่งนักเรียนก็จะเห็นความเที่ยงตรงและความจริงจังของคุณครูจากการที่เราได้ใช้กติกาเดียวกัน
ตัวอย่างบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
บทความรู้จัก “ข้อตกลงร่วม” https://guidancehubth.com/knowledge/10
บทความชวนรู้จัก “พื้นที่ปลอดภัย” https://guidancehubth.com/knowledge/9
วิธีการที่ 3 : ไว้วางใจในการแก้ไขปัญหาของนักเรียน
หลายๆ ครั้งที่ครูอยากจะแปลงร่างเป็นโล่ป้องกันความยากลำบากที่จะเกิดขึ้นกับนักเรียน เช่น ไม่สั่งงานยาก ปล่อยผ่านพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ หรือปล่อยให้สอบผ่านทั้งที่คะแนนไม่ถึง แต่ความปรารถนาดีเหล่านี้ก็อาจขัดขวางการเรียนรู้และการเติบโตของพวกเขาได้ ซึ่งวิธีการนี้คุณครูอาจจะต้องทำใจแข็งฮึบเข้าไว้ และบอกกับตัวเองว่า “ฉันเชื่อว่าเขาทำได้ และฉันจะรอให้เขาเจอทางแก้ปัญหาของเขาเอง”
ตัวอย่างเช่นการรอให้นักเรียนคิดแก้โจทย์ปัญหาอะไรสักอย่างด้วยตัวเอง ซึ่งการอดทนรอให้เขาลองคิดเอง วิธีการนี้ช่วยให้เขากลายเป็นคนที่กล้าเผชิญหน้ากับปัญหาและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้คุณครูสามารถเสริมแรงนักเรียนให้สู้กับความท้าทายด้วยประโยคว่า “ครูเชื่อว่านักเรียนจะสามารถแก้ปัญหาได้” เพื่อให้นักเรียนเกิดความกล้าที่จะทำอะไรใหม่ๆ หรือมีความพยายามในการคิดวิธีจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเอง โดยมีคุณครูที่คอยทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์อยู่ข้างๆ คอยตั้งคำถามแทนการบอกคำตอบ และยังไม่เข้าไปช่วยเหลือนักเรียนทันที หากนักเรียนไม่ได้เรียกร้องขอความช่วยเหลือ พร้อมกับชื่นชมให้กำลังใจเมื่อเขาพยายาม ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม
วิธีการที่ 4 : พูดจริงทำจริง
ครูควรกำหนดกฎกติกากับนักเรียนไว้อย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องของการให้รางวัลและบทลงโทษเชิงบวกเมื่อไม่เป็นไปตามกติกา และเมื่อมีสถานการณ์นั้นๆ เกิดขึ้น ให้คุณครูทบทวนกติการ่วมกันอีกครั้งกับนักเรียนเพื่อป้องกันการหลงลืม และแสดงให้นักเรียนเห็นถึงผลของการกระทำต่างๆ อย่างชัดเจน
ตัวอย่าง หากกติกาได้กำหนดว่านักเรียนจะต้องช่วยรักษาความสะอาดของโต๊ะเก้าอี้ ไม่ให้มีรอยน้ำยาลบคำผิด หรือปากกาจนครบปีการศึกษาแล้วคุณครูจะซื้อขนมมาแจก คุณครูจะต้องรักษาสัญญา แต่ในทางกลับกัน หากนักเรียนไม่ปฏิบัติตามกฎกติกา นักเรียนก็จะได้รับบทลงโทษเชิงบวก เช่น การนัดมาทำความสะอาดร่วมกันหลังเลิกเรียน หรือไม่ได้รางวัลตามที่ตั้งกฎร่วมกันเอาไว้
วิธีการที่ 5 : สื่อสารอย่างชัดเจนและจริงจัง
“ตอนเย็นสะดวกไหม ครูขอคุยด้วยหน่อยนะคะ” เมื่อนักเรียนทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม คุณครูจะต้องไม่เพิกเฉยและสื่อสารกับนักเรียนอย่างตรงไปตรงมา หากคุณครูยังไม่มีโอกาสที่จะพูดคุยกับนักเรียนได้ทันทีก็สามารถนัดแนะกับนักเรียนเพื่อหาช่วงเวลาที่สะดวก เพื่อแสดงให้เห็นว่าครูจริงจังกับสิ่งที่เกิดขึ้น ให้ความสำคัญกับพฤติกรรมนั้น และยินดีที่จะพูดคุยกับนักเรียนเพื่อสร้างความเข้าใจไปร่วมกัน
5 วิธีการนี้เป็นวิธีการที่จะช่วยให้เราฝึกฝนการเป็นคุณครูที่ใจดี แต่หนักแน่นอยู่บนหลักการ ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถสร้างวินัยในชั้นเรียนได้
ทั้งนี้ทั้งนั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองก็ต้องใช้ระยะเวลานานเช่นกัน ขอให้คุณครูอย่ากดดันกับตัวเองมากจนเกินไป ค่อยๆ สำรวจตัวเองและฝึกฝนการแสดงออกของเราในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อช่วยสร้างพฤติกรรมเชิงบวกให้แก่นักเรียน เท่านี้ก็ถือว่าเป็นคุณครูที่ใจดีและหนักแน่นสำหรับเด็กๆ แล้วค่ะ แนะแนวฮับเอาใจช่วยนะคะ 🥰
อ้างอิง
https://www.positivediscipline.com/articles/kind-and-firm-parenting https://www.positivediscipline.com/articles/kindness-and-firmness-same-time
พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน
หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)
ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง
✅ เรียนฟรี
✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว
✅ มีเกียรติบัตร
คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses