รวม 7 ค่าใช้จ่ายพี่ ม.6 Part2: เมื่อสอบติดแล้ว

หมวดหมู่: เครื่องมือข้อมูลด้านการสอน

Tags:  ม.6

อ่านแล้ว: 3174 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

“ครูครับ สอบติดแล้ว ต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง?”

นี่ถือเป็น 1 ในคำถามติดดาว ที่นักเรียน ม.6 ทุกรุ่น จะต้องเจอเลยค่ะ หลายครั้งที่เด็กๆ บางคนดีใจที่สอบติดจนลืมไปว่า ชีวิตยังต้องเดินหน้าต่อไป ทำให้ต้องเร่งหาทางจัดการเรื่องเงินๆ ทองๆ บางคนถึงกับเครียดเหมือนกันค่ะ 😔😔

เพราะโดยพื้นฐานแล้ว เรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ สำหรับการศึกษาต่อ เป็นสิ่งที่นักเรียนและผู้ปกครองจำเป็นต้องทราบ เพื่อให้เตรียมแผนรับมือและจัดการให้เหมาะสมกับตนเอง ควบคู่ไปกับการวางแผนการศึกษาต่อของตนเอง

ก่อนหน้านี้แนะแนวฮับชวนกันดูค่าใช้จ่ายที่พี่ ม.6 ต้องรับมือก่อนเรียนจบ (สามารถติดตามได้ที่ https://guidancehubth.com/knowledge/83)

วันนี้เราจะมาต่อกันที่ “ค่าใช้จ่ายที่ ม.6 ต้องรับมือเมื่อสอบติดแล้ว” มาแบ่งปันให้คุณครูแนะแนวที่สนใจ นำไปเป็นสื่อการสอนให้นักเรียน และเป็นข้อมูลให้นักเรียนและผู้ปกครองอ่านเพื่อเตรียมพร้อมต่อไป

จะมีค่าอะไรบ้าง สูดหายใจเข้าลึกๆ แล้วไปดูกันเลยค่ะ! 😮‍💨😮‍💨

ค่าใช้จ่ายที่จบ ม.6 แล้วต้องรับมือเมื่อสอบติดแล้ว และกำลังเตรียมเรียนต่อ

ชื่อภาพ

1.ค่าธรรมเนียมทางการศึกษา

โดยทั่วไปค่าธรรมเนียมทางการศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษานั้นๆ จะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งค่าใช้จ่ายแรกๆ ที่นักเรียนต้องพบเจอคือ

1.1 ค่าธรรมเนียมแรกเข้า เป็นการเก็บค่าธรรมเนียมครั้งแรกของสถาบันการศึกษา ตามเงื่อนไข (นักเรียนสามารถศึกษาได้ตามข้อกำหนดของสถาบันการศึกษา)อาจจะเริ่มต้นที่ 1,000 - 30,000 บาท ตามแต่ระเบียบสถาบันการศึกษา ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันออกไป

1.2 ค่าธรรมเนียมทางการศึกษา (ค่าเทอม) จะมีการแบ่งจ่ายที่แตกต่างกัน โดยแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่

  • 1.2.1 แบบรายเทอม หรือเหมาจ่าย - เป็นการจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษาที่อาจจะเท่ากัน หรือ ไม่เท่ากันทุกเทอม (ขึ้นอยู่กับบางสถาบันการศึกษา) ไม่ว่าในแต่ละเทอมหน่วยกิตที่เรียนจะมากหรือน้อยแค่ไหน โดยสามารถศึกษาได้ตามระเบียบค่าธรรมเนียมการศึกษา รายภาค/เทอม หรือค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรได้จากประกาศของสถาบัน
  • 1.2.2แบบจ่ายตามหน่วยกิต - เป็นการจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษาที่คิดตามจำนวนหน่วยกิตที่ลงเรียนในแต่ละเทอม โดยค่าหน่วยกิตของแต่ละคณะ/สาขาก็มีความแตกต่างกัน เช่น ค่าหน่วยกิตตัวละ 600 บาท เรียนทั้งหมด 19 หน่วยกิต เป็นเงิน 11,450 บาท (ซึ่งอาจจะยังไม่รวมค่าบำรุงการศึกษาในส่วนอื่นๆอีก)

ชื่อภาพ

2.ค่าหอพัก

เป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายสำหรับนักเรียนที่ต้องย้ายถิ่นฐาน อยู่ต่างภูมิภาค หรืออยากย่นระยะการเดินทางระหว่างบ้านกับมหาวิทยาลัยให้ใช้ชีวิตได้สะดวกขึ้น

โดยค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะมีรูปแบบและเรทราคาให้เลือกทั้งหอพักในมหาวิทยาลัย (หอใน) และหอพักภายนอก (หอนอก) ซึ่งนอกเหนือจากค่าเช่ารายเดือนหรือรายเทอมแล้ว จะมีค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าส่วนกลาง รวมถึงการเก็บค่ามัดจำแรกเข้า กรณีเป็นนักศึกษาใหม่ด้วย

ชื่อภาพ

3.ค่าเดินทาง

หนึ่งในค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้น จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระยะทางระหว่างบ้านกับมหาวิทยาลัย รวมไปถึงความถี่ในการเดินทาง

ชื่อภาพ

4.ค่าเครื่องแต่งกาย

ค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นค่าใช้ของชีวิตเมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยอย่างเต็มตัว หมายความว่า นิสิตหรือนักศึกษาจะต้องใส่ชุดตามกฎกติกาของแต่ละสถาบัน เช่น ชุดนักศึกษา ชุดกิจกรรม ชุดห้องปฏิบัติการ เป็นต้น

ชื่อภาพ

5.ค่าอุปกรณ์การเรียน

เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับสนับสนุนการเรียนตามคณะ/ สาขาที่เรียน เพื่อให้การเรียนมีประสิทธิภาพมากขึ้น สะดวกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นไอแพด โน๊ตบุ๊ค สมุด ปากกา กระดาษ ฯลฯ

ชื่อภาพ

6.ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาและกิจกรรม

นิสิต นักศึกษาปี 1 เป็นช่วงวัยที่ต้องทั้งปรับตัวทั้งรูปแบบการเรียนและการใช้ชีวิต รวมทั้งมีกิจกรรมต่างๆ ให้ต้องเข้าร่วมอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งมักมาพร้อมค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่ากิจกรรม ค่าเสื้อ ค่าเก็บเงินสาขา ฯลฯ ที่มีตามมาเรื่อยๆ

ชื่อภาพ

7.ค่าอาหาร

เป็นค่าใช้จ่ายพื้นฐานในการใช้ชีวิตที่สำคัญไม่แพ้ข้ออื่น ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่นักเรียนต้องสื่อสาร หารือกับที่บ้าน เตรียมแผนจัดการให้ดี รวมถึงต้องเข้าใจและใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับเงื่อนไขหรือข้อจำกัดที่มีด้วย เช่น ค่าครองชีพในเมืองใหญ่จะมีโอกาสสูงกว่าต่างจังหวัด จากค่าข้าวมื้อละ 50 บาท อาจขยับขึ้นเป็นมื้อละ 85 บาท เป็นต้น

นี่เป็นเพียง 7 เรื่องหลักๆ ที่แนะแนวฮับลองรวบรวมมาแบ่งปันกัน

สำหรับนักเรียนและผู้ปกครองที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว อย่าเพิ่งท้อนะคะ เราเชื่อว่าหากศึกษาอย่างเข้าใจ เราจะสามารถเตรียมตัวให้พร้อมได้ ทั้งการประเมินความพร้อมของตนเอง การสื่อสารกับที่บ้านอย่างตรงไปตรงมา การวางแผนขอทุนการศึกษาหรือทุนสนับสนุนที่เหมาะกับเรา ฯลฯ

ชีวิตมหาวิทยาลัยเป็นอีกหมุดหมายหนึ่งบนเส้นทางการเรียนรู้ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนจัดสรรงบประมาณที่มีอย่างชาญฉลาดและเหมาะสมค่ะ 😊😊


พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว

✅ มีเกียรติบัตร

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา