แจก 3 ข้อสำหรับครูก่อนเช็กอินความพร้อมนักเรียน และ 10 ไอเดียคำถามรับเปิดเทอม

หมวดหมู่: เครื่องมือข้อมูลด้านการสอน

Tags:  ไอเดียการสอน

อ่านแล้ว: 2045 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

แจก 3 ข้อสำหรับครูก่อนเช็กอินความพร้อมนักเรียน + ไอเดียคำถามรับเปิดเทอม 1/66

ฤดูกาลเปิดเทอมมาแล้วววววว ถึงแม้คุณครูจะเตรียมทั้งแผนเชิงรุกและแผนตั้งรับมาเต็มกระเป๋าแล้ว หลายครั้งเมื่อเจอสถานการณ์จริงในห้องเรียน ก็เล่นเอาเหวอไปเหมือนกันนะคะ เพราะช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าเด็กๆ แต่ละคนไปเจอ ไปทำอะไรมาบ้าง หรือผ่านประสบการณ์แบบไหนมาบ้าง

วันนี้แนะแนวฮับเลยขอนำ แนวทางและไอเดียคำถามสำหรับเช็กอินสภาพความพร้อมของนักเรียนในช่วงเปิดเทอมนี้ มาฝากค่ะ คุณครูแนะแนว ครูที่ปรึกษา ครูผู้ดูแลระบบดูแลนักเรียน และคุณครูวิชาใดก็ได้ที่สนใจ สามารถศึกษาแนวทางนี้และลองนำไปปรับใช้ได้เลยนะคะ

ใครที่ลองแล้วได้ผลอย่างไร อย่าลืมกลับมาอวดแอดมินที่เพจ แนะแนวฮับ ด้วยน้าาา ^^

ชื่อภาพ

1.ทบทวนหลักการเช็กอินก่อน

เช็กอิน ในที่นี้ไม่ใช่การลงทะเบียนเข้าพักโรงแรม แต่เป็นกระบวนการทบทวนตัวเองและสื่อสารให้คนอื่นรับทราบสภาวะความรู้สึกนึกคิดหรือสภาพสถานการณ์ของกันและกัน ก่อนเริ่มกิจกรรมหรือคาบเรียน ประโยชน์ของการเช็กอินก่อนเริ่มคาบ คือ นักเรียนมีโอกาสได้ทบทวนและเท่าทันสภาวะอารมณ์ตัวเอง ได้รู้จักและเข้าใจเพื่อนๆ มากขึ้น และคุณครูเองก็จะได้ข้อมูลสำหรับปรับแผนการสอนให้เหมาะกับผู้เรียนมากขึ้นด้วย

คลิกเพื่อศึกษาเพิ่มได้ที่ https://guidancehubth.com/knowledge/8

ชื่อภาพ

2.ชวนนักเรียนทบทวนตัวเองในพื้นที่ปลอดภัย

การตั้งโจทย์การเช็กอิน หรือตั้งคำถามเช็กสภาพความพร้อมของนักเรียน มีสิ่งสำคัญที่ไม่ควรลืมนอกจากการสร้างห้องเรียนให้เป็นที่ปลอดภัย คือ

1) การกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน จะช่วยให้นักเรียนทบทวนประสบการณ์และเห็นตัวเองในช่วงเวลานั้นๆ ได้ชัดขึ้น เช่น ปิดเทอมที่ผ่านมา, เปิดเทอม 1/66 นี้, วันนี้, ตอนนี้ ฯลฯ

2) การชวนเปรียบเทียบความรู้สึกของเราหรือชีวิตของเรา กับอะไรบางอย่างที่นักเรียนรู้จัก จะช่วยฝึกให้นักเรียนเรียบเรียงความคิดความอ่าน ฝึกการเชื่อมโยงและเปรียบเทียบ เช่น สภาพอากาศ, สี, สัตว์, ยานพาหนะ ฯลฯ

คุณครูอาจเริ่มจากทบทวนบริบทของโรงเรียน ห้องเรียน นักเรียน หรือหยิบจับสิ่งที่อยู่ในกระแส สิ่งที่เด็กๆ กำลังสนใจ มาใช้เป็นโจทย์ จะทำให้โจทย์เช็กอินมีความน่าสนใจมากขึ้น และเชื่อมโยงกับตัวเด็กๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น ตัวละครในเกมที่แทนความรู้สึก ซีรีส์เรื่องที่แทนสภาพจิตใจ

หมายเหตุ

  • ต้องให้แน่ใจว่านักเรียนทุกคนรู้จักและเข้าใจโจทย์ตรงกันด้วยนะคะ

  • หากเป็นซีรีส์หรือเรื่องใดๆ ที่นักเรียนทั้งห้องกำลังอิน แต่คุณครูกลับไม่รู้จัก ก็ไม่เป็นไรนะคะ เพราะคุณครูอาจขอใช้เวลาให้นักเรียนช่วยทบทวนหรือหารูปมาแชร์กันซักนิด ว่าตัวละครในหนังเรื่องที่ทุกคนชื่นชอบนี้ มีคาแรกเตอร์ลักษณะหรือจุดเด่นอะไรบ้าง เมื่อทุกคนในห้อง (รวมคุณครูด้วย) เข้าใจตรงกัน ก็สามารถเป็นโจทย์เช็กอินได้ค่ะ

  • เผื่อพื้นที่ให้กับความสนใจและประสบการณ์ที่หลากหลาย เช่น หากถามว่า ให้เปรียบช่วงปิดเทอมที่ผ่านมาเป็นเกมอะไรก็ได้ แต่นักเรียนบางคนไม่เล่นเกม ก็สามารถตอบเป็นการ์ตูน ซีรีส์ หนังภาพยนตร์ แทนก็ได้นะคะ

3) การยกตัวอย่างและอธิบายเหตุผลประกอบ ในช่วงแรกที่นักเรียนอาจยังไม่คุ้นเคยกับการเช็กอินความรู้สึก คุณครูอาจต้องเตรียมยกตัวอย่างให้ทุกคนในห้องเข้าใจตรงกันก่อน และเมื่อแต่ละคนมีโอกาสบอกเล่าความเป็นตัวเองแล้ว ก็อย่าลืมชวนให้อธิบายเหตุผลว่าทำไมเขาถึงเลือกตอบเช่นกันด้วยนะคะ

ชื่อภาพ

3.ให้คำขอบคุณและสร้างกำลังใจ

ช่วงเปิดเทอม (หรือแม้แต่เปิดเทอมมานานแล้ว) อาจเป็นช่วงเวลาที่นักเรียนบางคนกำลังพยายามต่อสู้กับอะไรหลายๆ อย่าง เพื่อค่อยๆ เปิดใจให้สังคมรอบตัวทีละนิด ขอให้คุณครูอดทน ให้เวลาจนกว่าเด็กๆ จะพร้อม ไม่คาดคั้น จดจ่อรอคำตอบหรือคำอธิบายของคนที่ยังไม่พร้อม นานจนกลายเป็นบรรยากาศความอึดอัด

ขอให้กล่าวขอบคุณที่เขากล้าสื่อสารในระดับที่ยังไหว และย้ำให้เขามั่นใจว่า ครูและเพื่อนคนอื่นๆ ในห้อง พร้อมรับฟังและสแตนบายอยู่ตรงนี้เสมอ ให้เขาค่อยๆ รู้สึกวางใจในเพื่อน วางใจในตัวครู และห้องเรียนว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่จะไม่ตัดสินตัวตนของเขา และจะเก็บรักษาเรื่องราวที่พูดออกไปเป็นความลับ ไม่แพร่งพรายต่อ 🙂

ชื่อภาพ

10 ตัวอย่าง โจทย์ชวนนักเรียนเช็กความพร้อมก่อนเริ่มเรียน

  • ปิดเทอมที่ผ่านมาของเรา ถ้าเปรียบความรู้สึกเป็นท้องฟ้า ท้องฟ้าของเราเป็นแบบไหน เพราะอะไร
  • เปิดเทอมมาได้ 3 วันแล้ว ตอนนี้ความรู้สึกของเรา เปรียบได้กับเพลงอะไร เพราะอะไร
  • ความรู้สึกของเราในวันนี้ เปรียบได้กับสีอะไร เพราะอะไร
  • เรียนแนะแนวคาบแรกจบแล้ว เรารู้สึกเป็นเหมือนยานพาหนะแบบไหน เพราะอะไร
  • สภาพจิตใจของเราตอนนี้ คิดว่าน่าจะอยู่ใกล้ห้องอะไรในโรงเรียนเรามากที่สุด เพราะอะไร
  • สัปดาห์แรกของเทอมนี้ สำหรับเราแล้ว เรารู้สึกเหมือนเมนูอาหารอะไร เพราะอะไร
  • ความรู้สึกสำหรับเทอมใหม่นี้ของเรา เปรียบเป็นอะไรในห้องเรียน เพราะอะไร
  • พลังกายและใจตอนนี้ ถ้าคะแนนเต็ม 10 เรามีพลังกายกี่คะแนน มีพลังใจกี่คะแนน
  • ระดับความพร้อมสำหรับเทอมนี้ของเรา ถ้าวัดจากพื้นจะสูงแค่ไหน ลองทำมือให้ดูหน่อย
  • ขนาดความเครียดของเราสำหรับเทอมนี้ ใหญ่แค่ไหน ลองกางมือกะขนาดให้ดูหน่อย (ยกมือใกล้กันหมายถึง มีความรู้สึกนั้นๆน้อย ผายมือออกกว้างหมายถึง มีความรู้สึกนั้นมากๆ)

ชื่อภาพ

บนเส้นทางการสร้างการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนอาจเต็มไปด้วยอุปสรรคและความรู้สึกโดดเดี่ยว

แนะแนวฮับขอแนะนำ หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ มีเกียรติบัตร ***จะได้รับเมื่อทำ Quiz และแบบประเมินหลังเรียนจบเรียบร้อย

คลิกสมัครเรียนที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา