เข้าใจและรับมือพฤติกรรมวัยรุ่น ทำยังไงดีนะ?
หมวดหมู่: พื้นที่เพื่อนครู
Tags: รับมือพฤติกรรมวัยรุ่น
อ่านแล้ว: 2081 ครั้ง
“นักเรียนเดี๋ยวนี้นึกแต่จะสนุก สนใจแต่เรื่องตื่นเต้น ทำอะไรไม่คิด”
“เด็กๆ ชอบเสียงดัง อยากเป็นที่สนใจ โดดเรียน มาสาย พอเตือนหน่อยก็พูดแต่ ‘กฎมีไว้ให้แหกครับ’ ”
ข้อความเหล่านี้น่าจะผุดขึ้นในใจของผู้ใหญ่ โดยเฉพาะคนเป็นครู พ่อแม่ หรือผู้ปกครองนะครับ เชื่อว่าหลายคนคงอยากถามเด็กๆ เหลือเกินว่า “จะทำไปทำไม ทำไปเพื่ออะไรรรร” (พร้อมกรีดเสียงร้องดังๆ) แต่ก็ทำไม่ได้ ได้แต่จำใจ ยอมทน แก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไป หลายคนต้องต่อสู้กับความเหนื่อยหน่ายท้อใจ จนไม่สามารถเอ็นจอยกับการทำงานได้
แต่ #รู้หรือไม่ ว่า ความจริงแล้วเบื้องหลังของพฤติกรรมวัยรุ่น มีอะไรซ่อนอยู่ วันนี้ แนะแนวฮับ จึงอยากชวนคุณครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง และบุคลากรด้านการศึกษา มาร่วมหาคำตอบ ลองทำความเข้าใจคนอีกช่วงวัยหนึ่ง และศึกษาแนวทางรับมือไปพร้อมกัน ไม่แน่ว่า มือที่คุณครูกุมขมับอยู่ จะย้ายไปกุมหัวใจนักเรียนวัยรุ่นแทนก็เป็นได้นะครับ 🙂
3 เรื่องเกี่ยวกับวัยรุ่น ที่เราอยากชวนคุย
1.วัยรุ่น คือใคร วัยรุ่น คือ วัยที่อยู่ระหว่างกึ่งกลางของการเป็นเด็กและการเป็นผู้ใหญ่ โดยส่วนใหญ่ค่าเฉลี่ยของอายุจะอยู่ในช่วงราว 12 - 20 ปี ที่หลายๆ อย่างมีการเปลี่ยนแปลงไปในแบบที่พวกเขาเองก็ไม่ทันได้ตั้งตัว ได้แก่
-
ด้านกายภาพ ที่ร่างกายแข็งแรงขึ้น น้ำเสียงเปลี่ยนไป
-
ด้านชีวภาพ ที่มีความต้องการอยากได้รับการตอบสนองทางอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก ที่ท้าทายมากขึ้นกว่าช่วงวัยเด็ก
ขณะเดียวกัน สมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวเนื่องกับอารมณ์ความรู้สึกก็มีการเปลี่ยนแปลงโดยมีอิทธิพลเหนือกว่าสมองส่วนเหตุผล ทำให้วัยรุ่นมีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ แบบอัตโนมัติ ไวต่ออารมณ์ความรู้สึก แสดงออกมาอย่างเด่นชัด และไม่ทันได้คิดถึงผลลัพธ์ที่ตามมา ซึ่งในบางครั้งก็เป็นพฤติกรรมที่อาจจะส่งผลให้พวกเขาถูกมองในแง่ลบได้
2.ความต้องการของวัยรุ่นมีอะไรบ้าง และมันส่งผลอย่างไร
เพื่อให้เรารู้จักวัยรุ่นเพิ่มขึ้นสิ่งที่จำเป็นต้องรู้ก่อนก็คือ วัยรุ่นเป็นวัยที่อยากรู้อยากลอง อยากสร้างตัวตน อยากรับรู้ว่าตัวเองเป็นใคร และมีคุณค่ายังไงกับโลกใบนี้ ซึ่งแรงขับภายในเหล่านี้จะถูกส่งออกมา เกิดเป็นความต้องการที่ซ่อนอยู่ภายใต้พฤติกรรมที่เขาแสดงออก โดยเราอาจจำแนกออกเป็น 4 ข้อ กว้างๆ ได้แก่
-
ต้องการเป็นที่ยอมรับจากสังคมรอบตัว การได้รู้สึกว่าตัวเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมรอบตัว มีคนคอยสนับสนุน จะส่งผลให้วัยรุ่นเชื่อมโยงได้ถึงการมีตัวตนของตัวเองท่ามกลางสังคมที่แวดล้อมตัวเขา เห็นคุณค่าในตัวเอง (Self-esteem) และพร้อมเปิดรับ ไม่ละเลยอารมณ์ความรู้สึกที่ตัวเองมี
-
ต้องการความสนุก ตื่นเต้น การได้เปิดประสบการณ์ใหม่ทั้งกับตัวเองหรือกับกลุ่มเพื่อน ช่วยให้วัยรุ่นได้ทดลองแก้ไขปัญหา การทำอะไรที่ท้าทายและได้เอาชนะอุปสรรคอะไรบางอย่าง จะส่งผลให้เขามั่นใจในตัวเอง กล้าท้าทายขีดความสามารถที่มี และได้เชื่อมโยงตัวเองกับคนอื่น (เช่น เกาะกลุ่มกับเพื่อนที่มีประสบการณ์คล้ายกัน) เกิดเป็นความสัมพันธ์เชิงสังคมที่มากขึ้น
-
ต้องการมีอำนาจในการได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง การได้ตัดสินใจอะไรๆ เอง และเรียนรู้ถึงผลของการตัดสินใจนั้น เช่น การเลือกสไตล์การแต่งตัว ทรงผม ร้านอาหารมื้อเย็น ฯลฯ เป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้เขาได้รู้จักตัวเองมากขึ้น รู้ว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบแบบไหน จะส่งผลต่อความมั่นใจในการพัฒนาตัวตนของเขาขึ้นมา และช่วยพัฒนาเรื่องของความสามารถในการคิด วิเคราะห์
-
ต้องการความรู้สึกอิสระ รู้ว่าสามารถควบคุมชีวิตตัวเองได้ ในที่นี้ หมายถึง อิสระที่จะได้คิด ได้เลือก และลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจ มีช่วงเวลาที่ได้จัดการชีวิตของตัวเองด้วยตัวเองบ้าง หากได้รับการตอบสนองที่เหมาะสม จะทำให้วัยรุ่นได้เรียนรู้ที่จะดูแลตัวเองให้พร้อมก้าวสู่การเป็นผู้ใหญ่ ได้ฝึกจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ กล้าเลือกและค้นหาความหมายในสิ่งที่ตัวเองสนใจด้วยเหตุผล บนพื้นฐานของการรับรู้ขอบเขตความสามารถของตัวเอง
อย่างไรก็ดี ในบางครั้งความต้องการเหล่านี้ก็มีอุปสรรคมาขัดขวางทำให้ไม่ถูกตอบสนอง หรือถูกตอบสนองไปในทางที่ผิดจากสิ่งเร้าที่เข้ามาดึงดูด จึงเป็นที่มาของพฤติกรรมเชิงลบ หรือ พฤติกรรมปรับตัวเพื่อต่อต้านกับอุปสรรคในวัยรุ่น นั่นเอง
3.พฤติกรรมเชิงลบ และพฤติกรรมปรับตัวเพื่อต่อต้านกับอุปสรรคมีที่มาอย่างไร
เมื่อความต้องการที่มี จำเป็นต้องได้รับการตอบสนอง แต่เมื่อเจอกับอุปสรรคที่เข้ามาขัดขวาง ผลที่ตามมา คือ การพยายามหาทางตอบสนองด้วยวิธีต่างๆ ตามแรงกระตุ้นของสิ่งเร้า เกิดเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ และคาดเดาไม่ได้ ออกมาให้เห็นในหลายรูปแบบทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว เช่น การทำเสียงดังเพื่อเรียกร้องความสนใจ พยายามเก็บกดอารมณ์แต่ไประบายกับสิ่งของหรือสิ่งมีชีวิต หลีกหนี ปลีกตัวจากสังคมเมื่อรู้สึกไม่ถูกยอมรับ
นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมเชิงลบที่เกิดจากสภาพแวดล้อมและสิ่งเร้ารอบตัว เช่น การสร้างความวุ่นวายด้วยการขับขี่พาหนะเสียงดัง การใช้สารเสพติด ยกพวกตีกัน ทั้งหมดนี้ เพื่อให้ความต้องการตัวเองได้ถูกตอบสนอง ซึ่งอาจมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปในรูปแบบที่รุนแรงขึ้น ถ้าหากความต้องการที่มียังคงถูกเมินเฉย
3 แนวทางตั้งหลัก เมื่อครูต้องรับมือกับพฤติกรรมต่อต้าน
1.เตรียมพร้อมตั้งหลักตัวเอง เราอาจเผลอด่วนตัดสิน หรือสรุปตัวตนของนักเรียน จากพฤติกรรมด้านลบของเขาทั้งที่เรายังไม่ทันรับรู้และเข้าใจความต้องการที่แท้จริง แต่การเริ่มต้นด้วยการตัดสินนั้นก็ไม่ต่างกับการที่เราได้เชื่อไปแล้วว่าเขาเป็นคนแบบนั้นจริง โดยที่ยังไม่ได้รับรู้ และเข้าใจถึงความต้องการ แนะแนวฮับจึงอยากชวนให้คุณครูมมเตรียมความพร้อมก่อนซักนิด ซึ่งทักษะสำคัญที่แนะนำ ได้แก่
-
การไม่ด่วนตัดสิน เพราะการตัดสินจะเป็นเหมือนกำแพงที่ปิดกั้นการรับรู้และความเข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริงของอีกฝ่าย ในขณะที่ ผู้ถูกตัดสิน จะรู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม และอาจพัฒนาจนเกิดเป็นพฤติกรรมต่อต้านต่อไป
-
การสังเกตแบบขั้นต่อขั้น เป็นทักษะที่ไม่ใช่แค่การมองเห็นเฉยๆ แต่ต้องรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวนักเรียน จำแนกพฤติกรรมที่เกิดขึ้นว่าเป็นเชิงบวก หรือเชิงลบ (ในส่วนนี้คุณครูสามารถศึกษา และใช้ทฤษฎี Iceberg Model หรือภูเขาน้ำแข็ง ของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ เสริมได้) สิ่งที่เขาแสดงออกมา มีอารมณ์ความรู้สึกอะไรเกิดขึ้นบ้าง ความต้องการไหนที่ไม่ได้รับการตอบสนองบ้าง เป็นต้น
-
การฟังอย่างลึกซึ้ง ใช้ประกอบกับการไม่ด่วนตัดสิน ให้คุณครูได้เห็นถึงความรู้สึก รับรู้น้ำเสียง อารมณ์ที่ถ่ายทอดออกมาทางสีหน้าท่าทางของผู้พูด และมีสมาธิอยู่กับคู่สนทนาของเรา จะช่วยให้ผู้ฟังสัมผัสเจตนาของคุณครูได้มากกว่าคำพูด
-
การใช้อวัจนภาษาหรือภาษากาย จะช่วยให้เราสามารถสื่อสารอารมณ์และความรู้สึกให้กับคู่สนทนารับรู้ได้ว่า เรารู้สึกกับเรื่องราวของเขาอย่างไร โดยไม่ต้องผ่านคำพูดก็ได้ การใช้ภาษากายวางตัวอยู่ในท่าทีที่เปิดรับ เช่น หันหน้า และตัวเข้าหาคู่สนทนา สบตา พยักหน้าตามเล็กน้อย ส่งรอยยิ้ม ฯลฯ จะส่งผลต่อการสร้างความไว้ใจให้เขากล้าที่จะเล่าให้เราฟังด้วย
2.สื่อสารด้วย “I message”
I message เป็นเครื่องมือสื่อสารที่ช่วยในเรื่องการปรับพฤติกรรม เป็นเหมือนสะพานเชื่อมกับวัยรุ่น สร้างความไว้ใจว่าเราสามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขาได้ ให้เขารับรู้ว่าเราอยู่ฝั่งเดียวกับเขา เพราะว่าวัยรุ่นเป็นช่วงที่มีความอ่อนไหวในเรื่องของอารมณ์ เครื่องมือนี้จะช่วยให้ได้สื่อสารสิ่งที่อยู่ในใจออกมาไม่ติดอยู่กับอารมณ์หรือความรู้สึกที่พุ่งพล่าน แต่เป็นการชวนไปทำความเข้าใจและรับรู้ความต้องการกันและกัน
ขั้นตอนการสื่อสารด้วย I message เพื่อเริ่มต้นปรับพฤติกรรมเชิงลบ
-
สังเกตเห็นและรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น เริ่มต้นด้วยการบอกความรู้สึกของเรา แสดงออกถึงความเป็นห่วงว่าอยากช่วย ขณะเดียวกันก็ชวนเช็คและถามถึงความรู้สึกของเขา เช่น “ครูรู้สึกเสียใจที่นักเรียนไม่มาเข้าเรียนเลย และกังวลว่าเธออาจจะเรียนตามเพื่อนๆ ไม่ทัน”
-
ตั้งใจรับฟังเปิดพื้นที่ให้เขาได้เล่าและแสดงความคิดเห็นที่แท้จริงของเขา พยายามทำความเข้าใจเรื่องที่เกิดขึ้นโดยแยกการกระทำออกจากตัวตนของเขาเพื่อลดการตัดสินของเรา
-
สื่อสารความคาดหวังหรือความต้องการของผู้พูด บนพื้นฐานเจตนาที่เราอยากเข้าใจและอยากสนับสนุนนักเรียน เช่น “ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้น ครูอยากเข้าใจ” หรือ “ช่วยขยายความเพิ่มอีกหน่อยให้ครูได้เข้าใจถึงอารมณ์ความรู้สึกของนักเรียนได้ไหม”
3.วางแผนเพื่อปรับพฤติกรรม
หลังจากที่คุณครูได้เข้าใจแนวทางการรับฟัง และการสื่อสารเพื่อสร้างความไว้ใจ พร้อมเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับนักเรียนแล้ว ขั้นต่อไป คือ การเริ่มต้นปรับพฤติกรรม ซึ่งจำเป็นต้องใช้วางแผนและออกแบบ “กระบวนการ”
แนะนำ 3 ขั้นตอน สำหรับการปรับพฤติกรรมวัยรุ่น
-
ตั้งเป้าหมาย ชวนนักเรียนพูดคุย สะท้อนความรู้สึกร่วมกัน เพื่อสร้าง Self-awareness (สามารถใช้ I message ในการพูดคุยได้เลย โดยอาจจะยกตัวอย่างเหตุการณ์แล้วชวนนักเรียนพูดคุยถึงอารมณ์ความรู้สึก ความคิด รวมไปถึงตัวคุณครูเองก็ร่วมพูดคุยไปกับนักเรียนได้เช่นกัน)
-
มองเห็น และกล่าวชื่นชมสิ่งที่เราชอบในตัวเขา โดยควรให้ชมทันทีเมื่อเห็นเขาแสดงพฤติกรรมนั้นออกมา และอย่าลืมชี้แจงข้อดีของพฤติกรรมที่เขาได้รับการชื่นชม รวมถึงชมที่การกระทำ ไม่ชมแบบลอยๆ ศึกษาหลักการให้คำชมเพิ่มได้ที่ https://guidancehubth.com/knowledge/33
-
ให้รางวัล เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการเสริมแรงบวกให้นักเรียน เมื่อเขาแสดงออกหรือมีพฤติกรรมที่เหมาะสม การให้รางวัลสามารถทำได้หลายรูปแบบ ทั้งแบบที่ให้เป็นสิ่งของมีต้นทุน เช่น ให้ของที่นักเรียนอยากได้ หรือจะเป็นวิธีที่สามารถทำได้ง่าย ไม่มีต้นทุน และมีโอกาสได้ผลตามที่ต้องการสูง เป็น Social reward หรือรางวัลทางสังคม เช่น การขอบคุณ การกอดแสดงความซาบซึ้งใจ การเอ่ยชื่อเรียก (จดจำชื่อนักเรียนเขา) การกล่าวชื่นชมนักเรียนต่อหน้าเพื่อนๆ (เป็นที่ถูกยอมรับ) และคำพูดที่พร้อมสนับสนุนเขา ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกให้นักเรียนมีแรงกระตุ้นอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักเรียน เป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยเวลา อาจไม่เห็นผลในทันที หากคุณครูลองทำแล้วยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง ก็อย่าเพิ่งท้อนะครับ เราอยากชวนให้ลองกลับมาเช็ก 3 แนวทางเพื่อตั้งหลักใหม่อีกครั้ง คุณครูสามารถลองปรึกษาเพื่อนครูท่านอื่น นักจิตวิทยาโรงเรียน หรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่ทำงานพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน เพื่อเก็บเกี่ยวข้อมูลและฝึกทักษะเพิ่มเติมก็ได้ ขอเพียงพยายามลงมือทำและเรียนรู้ไปพร้อมนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ รับรองเห็นผลแน่นอน!
สุดท้ายทีมงานขอส่งหัวใจดวงโตๆ เป็นกำลังใจให้คุณครูทุกท่าน และหวังว่าแนวทางที่เรามานำเสนอนี้จะช่วยเหลือคุณครูในการรับมือกับนักเรียนได้ไม่มากก็น้อยนะครับ
ผู้เขียน: ธนกฤต วณิชย์นำเจริญ
อ้างอิง
-
สรุปข้อมูลส่วนหนึ่งจากกิจกรรม “การให้รางวัลเพื่อปรับพฤติกรรม” โดยวิทยากรรับเชิญ คุณสุพัตรา ภานุทัต นักสังคมสงเคราะห์รับอนุญาต(อิสระ) ณ สถานคุ้มครองเด็กระยองฯ จ.ระยอง โดยธุรกิจเพื่อสังคม a-chieve
พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน
หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)
ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง
✅ เรียนฟรี
✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว
✅ มีเกียรติบัตร
คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses