แจก 3 กิจกรรมเสริม Self-esteem ให้นักเรียน (พร้อมใบงาน)
หมวดหมู่: เครื่องมือข้อมูลด้านการสอน
Tags: ไอเดียการสอน
อ่านแล้ว: 2564 ครั้ง
“หนูคิดว่าหนูไม่เก่งเท่าเพื่อนๆ”
“ผมทำไม่ได้หรอก”
“หนูยังทำได้ไม่ดีพอ”
ประโยคด้านบนเป็นหนึ่งในสัญญาณที่อาจบ่งบอกว่านักเรียนของคุณครูกำลังหมดความมั่นใจในตนเองค่ะ 🥹🥹
ภาวะ Low Self-Esteem หรือการเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ อาจแสดงออกผ่านการ
-
ลดทอนคุณค่าในตัวเองด้วยคำพูดเชิงลบว่า “ไม่เก่ง / ทำไม่ได้”
-
เปรียบเทียบกับนักเรียนคนอื่น
-
ไม่ยอมรับในคุณค่าและศักยภาพของตัวเอง มองว่าตัวเองยัง “ไม่ดีพอ”
หากนักเรียนอยู่กับการเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำเป็นระยะเวลานานๆ อาจนำไปสู่ภาวะโรคซึมเศร้าได้ จึงเป็นอีกเรื่องสำคัญที่คุณครูควรสร้างเสริมคุณลักษณะการเห็นคุณค่าในตนเองให้กับนักเรียนทุกคน
แต่ก่อนที่จะเริ่มทำกิจกรรมกับนักเรียน ขอให้คุณครูชวนนักเรียนพูดคุย 3 เรื่องสำคัญที่เป็นพื้นฐานของการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียนก่อน ได้แก่
1) ชวนนักเรียนทำข้อตกลงร่วมกัน ระลึกเสมอว่าพื้นที่ปลอดภัยเป็นสิ่งที่ทุกคนในห้องสามารถร่วมกันสร้างได้
2) สื่อสารกับนักเรียนว่า “ในระหว่างทำกิจกรรม หากนักเรียนรู้สึกอยากร้องไห้ นักเรียนสามารถที่จะปล่อยอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้นออกมาได้ หรือถ้านักเรียนต้องการที่ ‘หยุดพัก’ การเล่าเรื่องเพื่อออกไปปรับใจให้พร้อมก่อน ก็สามารถทำได้เช่นกัน เพราะการร้องไห้ไม่ได้บ่งบอกว่าเราเป็นคนอ่อนแอ และเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้” ในส่วนบทบาทของคุณครู ขอให้รับมือด้วยความสงบและมั่นคง อยู่กับนักเรียนในช่วงเวลาที่อาจมีความเปราะบาง ให้เขาได้ระบายความรู้สึกที่มี ให้เวลาจนนักเรียนค่อยๆ คลี่คลายความรู้สึก และกลับมาทำกิจกรรมต่อเมื่อพร้อม
3) ขอให้นักเรียนรักษาความลับและไม่ลืมขออนุญาตเจ้าของเรื่องก่อนเสมอ แม้นักเรียนจะรับทราบข้อตกลงร่วมกันว่า “เรื่องราวที่เกิดขึ้นในคาบเรียนวันนี้จะเป็นความลับของห้องที่จะจบลงที่นี่ ในคาบนี้” แต่ระหว่างกิจกรรมที่อาจมีช่วงให้นำเสนอหรือแบ่งปันความประทับใจ อย่าลืมเน้นย้ำให้นักเรียนขออนุญาตเพื่อนเจ้าของเรื่องก่อนทุกครั้งด้วยนะคะ
เมื่อชวนนักเรียนพูดคุยและสร้างความเข้าใจร่วมกันแล้ว เราไปดู 3 กิจกรรมเสริมพลังความมั่นใจให้แก่นักเรียนกันเลยค่ะ!! 🎉🎉
กิจกรรมที่ 1: Things I like about me (สิ่งที่ชื่นชอบเกี่ยวกับตนเอง)
วิธีการเล่น
1.คุณครูแจก “ใบงาน Things I like about me” ให้ทุกคนๆ ละ 1 แผ่น
2.ชี้แจ้งเป้าหมายของกิจกรรมให้แก่นักเรียนว่า “กิจกรรมนี้ อยากชวนให้นักเรียนกลับมาชื่นชมตนเองจากใจจริง ขอให้นักเรียนลบคำพูดที่ไม่ดีต่อตนเอง ลบคำพูดของคนอื่นที่บั่นทอนความมั่นใจของตนเอง เพราะทุกคนมีความงดงาม ความดีงามที่แตกต่างกัน ไม่มีใครที่เหมือนกันหรือเปรียบเทียบกันได้ ขอให้ลองนึกถึงความงดงามนั้นทั้งภายในและภายนอก นึกถึงสิ่งที่เราทำได้ดี ทำได้แตกต่างจากคนอื่น นึกถึงเหตุการณ์ที่เรารู้สึกชื่นชอบในตัวเอง เราทำอะไรในเหตุการณ์นั้น ลองเขียนสิ่งเหล่านั้นลงบนกระจกบานนี้”
3.ปิดเพลงบรรเลง เช่น เพลงทำสมาธิ เพลง Relaxing Spa เพื่อให้นักเรียนเกิดสมาธิ และให้เวลานักเรียนนั่งทบทวนและเขียนออกมาเป็นข้อๆ ประมาณ 10 - 15 นาที
4.ให้นักเรียนจับกลุ่มๆ ละ 4 คน เพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งที่เขียนให้เพื่อนฟัง
5.คุณครูขอตัวแทนกลุ่มๆ ละ 1 คน เป็นตัวแทนแบ่งปันเรื่องราวให้เพื่อนๆ ทุกคนฟัง
6.คุณครูชื่นชมนักเรียนทุกคนที่ตั้งใจทำกิจกรรมนี้ร่วมกัน
📌 ใบงาน https://t2m.io/2pv6qsO
กิจกรรมที่ 2 : Self-esteem Journal (แบบบันทึกความดีงามของฉัน)
วิธีการเล่น
1.คุณครูแจก “ใบงานแบบบันทึกความดีงามของฉัน” ให้แก่นักเรียนทุกคน คนละ 1 แผ่น ในแผ่นจะประกอบไปด้วยหัวข้อรายละเอียดการบันทึกทั้ง 7 วัน
2.ชี้แจงเป้าหมายของกิจกรรมให้แก่นักเรียนว่า “อยากเชิญชวนให้นักเรียนเขียนสะท้อนเรื่องราวต่างๆ ที่พบเจอในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยให้ลองมองหาแง่คิดดีๆ บทเรียนดีๆ ที่ได้รับ หรือความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้นมาแลกเปลี่ยนกัน”
3.ให้เวลานักเรียนทุกคนเขียนบันทึก ประมาณ 10 - 15 นาที
4.คุณครูให้นักเรียนจับกลุ่มๆ ละ 7 คน โดยให้นักเรียนเลือก 1 วันจาก 7 วันที่ประทับที่สุดมาเล่าให้เพื่อนฟัง
5.คุณครูชื่นชมนักเรียนทุกคนที่ตั้งใจทำกิจกรรมนี้ร่วมกัน
📌 ใบงาน https://t2m.io/x5WdwiT
กิจกรรมที่ 3 : Understanding Self-Confident (แบบฝึกเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเอง)
*หมายเหตุ:
-
กิจกรรมนี้จำเป็นต้องความรู้สึกวางใจที่จะแบ่งปันเรื่องราวที่ลึกซึ้งและอาจมีความเปราะบาง หากคุณครูยังไม่มั่นใจว่าห้องเรียนของตนเองเป็นพื้นที่ปลอดภัยเพียงพอหรือยัง ขอให้คุณครูให้สิทธิ์นักเรียนได้เลือกตัวเลือกที่เหมาะสมกับตัวเองนะคะ
-
คุณครูสามารถศึกษาและทบทวนความเข้าใจเรื่องพื้นที่ปลอดภัยเพิ่มเติมได้ที่ https://guidancehubth.com/knowledge/9
วิธีการเล่น
1.คุณครูแจก “ใบงานแบบฝึกเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเอง” ให้นักเรียนทุกคนๆ ละ 1 แผ่น
2.ชี้แจงเป้าหมายของกิจกรรมให้แก่นักเรียนว่า “กิจกรรมนี้ อยากเชิญชวนให้นักเรียนนึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้นักเรียนรู้สึกขาดความมั่นใจ รู้สึกแย่หรือโทษตัวเอง ขอให้นักเรียนเลือกมา 1 เหตุการณ์ที่เราอยากจะแก้ไข หรือต้องการจะบอกตัวเองในมุมใหม่อีกครั้ง”
3.ให้เวลานักเรียนทุกคนเขียนใบงาน ประมาณ 10 - 15 นาที ซึ่งในระหว่างเขียนคุณครูอาจจะคอยสังเกตหากมีนักเรียนคนใดที่จัดการดูแลอารมณ์ไม่ไหว ก็ขอให้คุณครูเข้าไปหานักเรียนคนนั้นเพื่อดูแลความรู้สึกของนักเรียน ทวนเช็กความพร้อมว่าสามารถทำกิจกรรมต่อไปได้หรือไม่ หรืออยากที่จะหยุดกิจกรรมไว้ก่อนก็ได้เช่นกัน
4.ชวนให้นักเรียนแลกเปลี่ยนกัน โดยคุณครูมีตัวเลือกในการแลกเปลี่ยน ดังนี้
-
ตัวเลือกที่ 1: ใครที่มีเพื่อนสนิทอยากแลกเปลี่ยนกับเพื่อนสนิทก็จับคู่ หรือจับกลุ่มกันไม่เกิน 3 คน
-
ตัวเลือกที่ 2: ใครที่อยากแลกเปลี่ยนกับครู ก็สามารถมาจับคู่ หรือจับกลุ่มกับครู
-
ตัวเลือกที่ 3: ใครที่ยังไม่พร้อมแลกเปลี่ยน ก็สามารถส่งเป็นใบงานมาให้ครูก่อนได้
5.คุณครูขออาสาตัวแทนนักเรียนที่พร้อมแลกเปลี่ยนในวงใหญ่ ประมาณ 1 - 2 คน โดยที่ให้นักเรียนเล่าเรื่องของตนเองและเลือกเล่าเรื่องของเพื่อนที่ประทับใจ 1 คน
📌 ใบงาน https://t2m.io/vXkhkkO
ทั้ง 3 กิจกรรมสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้เสมอ เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกทบทวนตัวเองและเปิดใจยอมรับตัวเองในรอบด้าน ด้วยความเชื่อที่ว่า “ฉันสามารถพัฒนาได้” ซึ่งเป็นการเปิดประตูไปสู่ “ความกล้า” ที่จะลองลงมือทำในสิ่งต่างๆ และค่อยๆ รู้จักตนเองมากขึ้นค่ะ 😀😀
พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน
หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)
ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง
✅ เรียนฟรี
✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว
✅ มีเกียรติบัตร
คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses