5 กิจกรรมสร้างสรรค์ต้อนรับวันแห่งความรัก

หมวดหมู่: เครื่องมือข้อมูลด้านการสอน

Tags:  ไอเดียการสอน

อ่านแล้ว: 3923 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

เข้ากุมภาพันธ์ทีไร มวลแห่งความรักก็มักอบอวลไปทั่วโรงเรียน 💗💓💗

ทั้งช็อกโกแลต ลูกอม สติ๊กเกอร์รูปหัวใจ หรือช่อดอกไม้ที่นักเรียนต่างหอบหิ้วมาแจกให้กับเพื่อนๆ คนคุย แฟน และคุณครู

โอกาสอำนวยขนาดนี้ แนะแนวฮับเลยอยากชวนคุณครูพานักเรียนมาทำความรู้จักกับ “ความรัก” ในมุมมองของตนเองและรับฟังมุมมองของเพื่อน ผ่าน 5 กิจกรรมสร้างสรรค์ต้อนรับความแห่งความรักกันค่ะ 🥰

ชื่อภาพ

1. กิจกรรม "รักคือ..."

เป็นกิจกรรมที่เรียบง่าย ที่ช่วยให้ทั้งคุณครูและนักเรียนได้สำรวจนิยามความรักของตัวเราเองผ่านรูปแบบที่หลากหลาย

✍️ วิธีการ

1) ให้นักเรียนอธิบายว่า “ความรักคืออะไร ?” โดยนักเรียนสามารถเลือกวิธีการนำเสนอที่หลากหลายต่อไปนี้

  • การวาดรูปหน้าตา “ความรัก”

  • การปั้นดินน้ำมันที่สื่อถึง “ความรัก”

  • การเลือกสีที่ตรงกับคำว่า “ความรัก”

  • การเปรียบเทียบความรักกับฤดูกาลต่างๆ

  • การเลือกการ์ดอารมณ์ความรู้สึกที่รวมเป็น “ความรัก”

  • การเลือกเพลง หรือหนังที่เป็นตัวแทนของความรัก

  • การเลือกตัวละครที่ทำให้นักเรียนรู้สึกถึงความรัก

2) เปิดเพลงสร้างบรรยากาศผ่อนคลาย และให้เวลาได้นั่งคิดใคร่ครวญกับตนเอง ประมาณ 10 - 15 นาที

3) ให้นักเรียนจับกลุ่ม 3 - 5 คน เพื่อแบ่งปันมุมมองความรักในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยสลับการเล่าเรื่องของตนเองคนละ 3 นาที

4) ขอตัวแทนนักเรียนแต่ละกลุ่มมาแลกเปลี่ยนนิยาม “ความรัก” ของตนเองให้เพื่อนฟัง

ชื่อภาพ

2. กิจกรรมตีความเรื่องรัก

เป็นกิจกรรมที่ให้นักเรียนได้ฝึกตีความและเขียนต่อยอดความรู้สึกของตนเองที่เกี่ยวข้องกับความรัก

✍️ วิธีการ

1) คุณครูนำบทความสั้นๆ หรือบทกลอนเกี่ยวกับความรักหลากหลายรูปแบบ ตัดเป็นกระดาษชิ้นเล็กๆ ใส่กล่องเพื่อให้นักเรียนสุ่มหยิบ เช่น

  • ตัวอย่างวลีจากนักกวีชื่อดัง รูมี (Rumi) “เมื่อเจ้าพบรัก เจ้าพบตนเอง (When you find love, you will find yourself)”

  • ตัวอย่างกลอนจากหนังสือปรัชญาชีวิต โดยคาลิล ยิบราน “ความรักไม่ให้สิ่งอื่นใดนอกจากตนเอง และไม่รับเอาสิ่งใด นอกจากตนเอง ความรักไม่ครอบครอง และก็ไม่ยอมถูกครอบครอง เพราะความรักนั้นพอเพียงแล้วสำหรับตอบความรัก”

  • ตัวอย่างคำคมจากละครดังในยุคปัจจุบัน จากเรื่องมาตาลดา “ความโศกเศร้า คือ ราคาที่ต้องจ่ายให้กับความรัก แต่การเจอความรักที่ดี มันก็คุ้มค่ากว่าทุกอย่าง”

  • ตัวอย่างเพลงดังในยุคปัจจุบัน “หรือเป็นเพราะเลือดกรุ๊ปบีหรือเปล่า ต้องเปลี่ยนเบอร์โทรสักทีหรือเปล่า ขอแค่ให้ฉันมีคนมารักหน่อยได้ไหม ไม่โสดอีกแล้วได้เปล่า”

2) ให้นักเรียนสุ่มหยิบโจทย์ขึ้นมา แล้วเขียนแสดงความคิดเห็นของตัวเองเพื่อตอบคำถามต่อไปนี้

  • นักเรียนรู้สึกอย่างไรที่อ่านบทความนี้?

  • นักเรียนคิดว่าผู้แต่งต้องการจะสื่อสารอะไรเกี่ยวกับความรัก?

  • นักเรียนเคยมีประสบการณ์ความรักในแบบเดียวกันกับข้อความที่สุ่มหยิบมาหรือไม่ อย่างไร?

  • หากนักเรียนเป็นนักแต่งเพลง นักเรียนบทละคร หรือนักกวี นักเรียนอยากเห็นภาพตอนจบของความรักนี้อย่างไร?

3) ให้นักเรียนจับคู่แลกเปลี่ยนกับเพื่อน หรืออาจชวนแบ่งปันกับเพื่อนในห้องก็ได้

ชื่อภาพ

3. กิจกรรม 10 Random Act of Kindness Challenges

กิจกรรมที่ชวนให้นักเรียนตั้งเป้าหมาย “10 วันก่อนวันวาเลนไทน์ นักเรียนจะแสดงออกถึงความรักกับคนที่บ้าน และคนที่โรงเรียนได้อย่างไรบ้าง ?” ซึ่งกิจกรรมนี้จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่า “ความรัก” สามารถแสดงออกได้หลากหลายรูปแบบ

✍️ วิธีการ

1) ให้นักเรียนช่วยกันระดมความคิดว่า “หากเรารู้สึกดีกับใครสักคน เราจะแสดงออกกับเขาได้อย่างไรบ้าง”

*หมายเหตุ ถ้านักเรียนยังคิดไม่ออก คุณครูอาจจะลองยกตัวอย่างให้ฟัง เช่น การยิ้มให้แบบจริงใจ การให้เพื่อนยืมของ การไปกินข้าวเป็นเพื่อน การกอด การให้กำลังใจ เป็นต้น

2) ให้นักเรียนเลือก 10 พฤติกรรมที่ตั้งใจจะทำก่อนที่จะถึงวันแห่งความรัก

3) คุณครูคอยติดตามการทำภารกิจของนักเรียนรายบุคคล ผ่านการใช้คำถาม เช่น

  • นักเรียนรู้สึกอย่างไรเมื่อได้ทำภารกิจในแต่ละครั้ง
  • คนที่นักเรียนไปทำภารกิจด้วย เขามีอาการ/พฤติกรรมกลับมาอย่างไร
  • หากนักเรียนยังทำภารกิจไม่สำเร็จ เพราะอะไรถึงไม่สำเร็จ

*หมายเหตุ : คุณครูอาจจะสอดแทรกเรื่อง Consent หรือการยินยอมเข้าไปด้วย เพราะนักเรียนบางคนอาจระบุพฤติกรรมที่เป็นการคุกคามผู้อื่นโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ หรือไม่มีความรู้มาก่อน เช่น การโอบกอด การหอมแก้ม เป็นต้น เพื่อเป็นการให้นักเรียนได้เข้าใจว่าบางพฤติกรรมที่เราที่เราแสดงออก อาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่สบายใจหากเราทำโดยพลการ สามารถ

บทความแนะนำ: “เงียบ” ไม่ได้แปลว่า “ได้” ทำความเข้าใจ “Consent” กติกาปลอดภัยที่จำเป็นสำหรับคนทุกเพศ https://a-chieve.org/content/heal-your-heart/heal-your-heart-content-20

ชื่อภาพ

4. กิจกรรม “ฉันรักตัวเองเพราะ …”

กิจกรรมที่ชวนให้นักเรียนได้ฝึกคิดใคร่ครวญถึงคุณค่าในตัวเอง ผ่านการเขียน 3 หัวข้อดังนี้

  • "ฉันรักตัวเองเพราะฉันสามารถ … (ทักษะ หรือจุดแข็งที่ทำได้ดี)”

  • “ฉันรักตัวเองเพราะฉันเป็น … (ลักษณะนิสัย หรือข้อดี)”

  • “ฉันรักตัวเองเพราะฉันมี … (บุคคลสำคัญ สภาพแวดล้อม เพื่อน ครอบครัว สิ่งของหรือช่วงเวลาที่มีคุณค่าทางจิตใจ)”

✍️ วิธีการ

1) ให้โจทย์ทั้ง 3 หัวข้อบนกระดาน

2) คุณครูแจกกระดาษให้นักเรียนเขียนทั้ง 3 หัวข้อ โดยในรอบแรกให้นักเรียนเขียนคำตอบจากมุมมองของตัวเอง โดยการใช้ปากกาสีน้ำเงิน

3) คุณครูให้นักเรียนเขียนสิ่งที่ “นักเรียนเคยได้ยินคนอื่นบอกมา” เพิ่มจากที่ตอบในรอบแรก โดยใช้ปากกาที่มีสีแตกต่างกัน เพื่อให้นักเรียนเห็นต้นทุนความรักของตนเองในมุมมองที่หลากหลายและรอบด้านมากขึ้น

ชื่อภาพ

5. กิจกรรม "แลกเปลี่ยนความรัก"

กิจกรรมที่แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่ม เพื่อค้นหามุมมองความรักของตนเองและนำมาแลกเปลี่ยนร่วมกันกับเพื่อนๆ

✍️ วิธีการ

1) คุณครูนำเสนอโจทย์ของการแลกเปลี่ยน ว่านักเรียนคิดเห็นกับโจทย์เหล่านี้อย่างไร เช่น

  • ความรักมีผลต่อการเรียน

  • ความรักทำให้คนเป็นทั้งคนดีและคนชั่ว

  • ความรักคือการครอบครอง

  • การแสดงออกความรักในที่สาธารณะ เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

  • ความรักระยะไกลมักทำให้คนนอกใจกัน

2) ให้นักเรียนแบ่งออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 5 - 6 คน

3) ให้แต่ละกลุ่มเลือกหัวข้อที่ตนเองสนใจอยากแลกเปลี่ยน กลุ่มละ 1 หัวข้อ (คุณครูลองพยายามเชียร์ให้แต่ละกลุ่มไม่เลือกหัวข้อซ้ำกันด้วยนะคะ อาจให้เหตุผลว่า ห้องเรียนของเราจะได้เปิดมุมมองในประเด็นที่หลากหลาย)

4) ให้นักเรียนแต่ละคนในกลุ่ม อยู่เงียบๆ กับตัวเองเพื่อคิดทบทวนภายในเวลา 5 - 7 นาที โดยใช้คำถามต่อไปนี้

  • นักเรียนคิดอย่างไรกับโจทย์ที่กลุ่มเราเลือก เช่น จริง / ไม่จริง / เห็นด้วย / เฉยๆ / ไม่เห็นด้วย

  • ให้นักเรียนลองจินตนาการถึงข้อดี ข้อเสีย และมุมมองจากผู้อื่น จากข้อความดังกล่าวให้ได้มากที่สุด เช่น ความรักมีผลต่อการเรียนในด้านดีอย่างไรบ้าง ? คิดว่าผู้ใหญ่คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ ? เป็นต้น

5) ให้นักเรียนแลกเปลี่ยนกันภายในกลุ่มของตัวเอง

6) ขอตัวแทนกลุ่ม เพื่อแลกเปลี่ยนในกลุ่มใหญ่ (ทั้งห้อง)

*หมายเหตุ เป้าหมายของกิจกรรมนี้ไม่ได้มุ่งเน้นที่การหาข้อสรุปร่วมกัน แต่เป็นการแลกเปลี่ยนเพื่อให้นักเรียนได้เห็นมุมมองที่หลากหลายจากเพื่อนๆ โดยมีคุณครูช่วยตั้งคำถามชวนคิดและชวนทุกคนเปิดพื้นที่เพื่อรับฟังความเห็น

ทุกไอเดียในหัวข้อความรักที่แนะแนวฮับนำมาฝากนี้ ล้วนต้องใช้ทักษะการฟัง และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน โดยนักเรียนจะได้ฝึกฝนเรื่องพื้นที่ปลอดภัย ที่ทุกคนพร้อมรับฟังความคิดเห็นทั้งที่เหมือนและแตกต่างของเพื่อนคนอื่นๆ

ดังนั้น สิ่งที่คุณครูจะต้องเตรียมพร้อมให้แก่นักเรียนเสมอก่อนเริ่มกิจกรรม คือ การสร้างและทบทวนข้อตกลงร่วมกันเพื่อไม่ให้เกิดการล้อเลียน หรือการนำความลับของเพื่อนไปบอกให้คนอื่นรู้

สามารถศึกษาเรื่องการทำข้อตกลงร่วมกันได้ที่ https://guidancehubth.com/knowledge/10

สิ่งสำคัญคือ ขอให้คุณครูใช้โอกาสในวันแห่งความรักนี้ ทำความเข้าใจมุมมองความรักในช่วงวัยรุ่นให้มากขึ้น ซึ่งอาจจะมีนิยามที่แตกต่างกับความรักในรุ่นของเรา หรือต่างจากประสบการณ์ของเรา เพื่อให้คุณครูสามารถเข้าใจและออกแบบแนวทางการสนับสนุนได้เหมาะสม ทั้งในวันที่นักเรียนหัวใจเต้นตึกตักด้วยความตื่นเต้น หรือแม้แต่ในวันที่พวกเขาพบเจอกับความผิดหวังมาค่ะ 🙂🙂


พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว

✅ มีเกียรติบัตร

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา