วิธีสังเกต ‘สัญญาณเตือน’ (Warning Signs) เพื่อป้องกันความรุนแรงในนักเรียน
หมวดหมู่: พื้นที่เพื่อนครู
Tags: ความรุนแรง ดูแลใจนักเรียน เคสฉุกเฉิน
อ่านแล้ว: 972 ครั้ง
ความรุนแรงสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา
ความรุนแรงที่เราจะชวนคุยในครั้งนี้ หมายถึง การทำร้ายตนเองและผู้อื่น การทะเลาะ การชกต่อย การกลั่นแกล้ง ทั้งทางคำพูดและทางร่างกาย และอาจจะลุกลามไปขั้นทำร้ายกันจนถึงแก่ชีวิต เป็นต้น ซึ่งคุณครูหรือผู้ปกครองเองก็อาจคาดการณ์และเตรียมการป้องกันไม่ถูก เพราะเด็กบางคนมีพฤติกรรมที่ซับซ้อน แสดงออกให้พอเดาได้บ้าง ไม่ได้บ้าง
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม คุณครูสามารถรับรู้สัญญาณเตือน (Warning Signs) ล่วงหน้าบางอย่างได้จากพฤติกรรมและการแสดงออกทางอารมณ์ของนักเรียนที่ผิดแปลกจากปกติ
วันนี้แนะแนวฮับจึงนำ 2 เช็กลิสต์วิธีการสังเกต ‘สัญญาณเตือน’ (Warning Signs) มาฝากคุณครูให้ลองนำไปสังเกตนักเรียนกันนะคะ
1. สัญญาณเตือนล่วงหน้า (Early Warning Signs)
หมายถึง การ ‘เฝ้าระวัง’ อาการหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการป้องกันและการได้รับการรักษาที่ทันท่วงที
สัญญาณเตือนล่วงหน้าประกอบไปด้วยพฤติกรรมที่แสดงออกดังต่อไปนี้
-
นักเรียนเริ่มมีอาการไม่อยากเข้าสังคม อยากอยู่แต่บ้านหรือห้องคนเดียว
-
นักเรียนมีประสบการณ์การถูกข่มเหง หรือรังแกมาก่อน
-
นักเรียนถูกเพื่อนปฏิเสธ
-
นักเรียนมีอาการไม่อยากไปโรงเรียน ที่แสดงออกทางคำพูด สีหน้า และท่าทาง
-
นักเรียนเริ่มมีผลการเรียนที่แย่ลงอย่างต่อเนื่อง
-
นักเรียนเริ่มวาดภาพหรือใช้สีที่แสดงออกถึงความรุนแรง เช่น การระบายออกถึงความโกรธที่ไม่สามารถควบคุมได้ (สังเกตได้จากแรงกดของสีหรือปากกา) วาดภาพอาวุธ วาดภาพที่ใช้สีโทนสีแดง สีดำ เป็นต้น
-
นักเรียนละเลยกิจวัตรประจำวัน เช่น เริ่มตื่นสาย เริ่มไม่อยากรับประทานอาหารเช้า เริ่มนอนดึก เป็นต้น
-
นักเรียนเริ่มเข้ากลุ่มเพื่อนที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
-
นักเรียนเริ่มใช้สารเสพติดหรือแอลกอฮอล์
-
นักเรียนเริ่มเข้าถึงอาวุธต่างๆ อย่างไม่เหมาะสม เช่น ปืน หรือมีด
-
นักเรียนไม่ฟังและไม่เปิดรับความคิดเห็นที่แตกต่าง
*หมายเหตุ: วิธีการสังเกต ต้องพิจารณาสัญญาณจากหลายๆ ข้อรวมกัน รวมถึงระยะเวลาและระดับความรุนแรงของพฤติกรรม เช่น เกิดขึ้นบ่อยขึ้นกว่าเดิม หรือเกิดขึ้นในลักษณะที่แย่ลงกว่าเดิมอย่างต่อเนื่อง
2. สัญญาณเตือนที่ใกล้จะเกิดขึ้น’ (Imminent Warning Signs)
หมายถึง นักเรียนมีอาการใกล้ที่จะมีพฤติกรรมหรือแสดงออกไปในทางที่รุนแรงอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยนักเรียนจะต้องได้รับการดูแล หรือรักษาในทันที มักเป็นพฤติกรรมที่เปิดเผย รุนแรง แสดงท่าทีว่าเป็นศัตรู หรือคุกคามโดยมีเป้าหมายชัดเจน
สัญญาณเตือนที่ใกล้จะเกิดขึ้นประกอบไปด้วยพฤติกรรมที่แสดงออกดังต่อไปนี้
-
ทะเลาะวิวาททางร่างกายอย่างรุนแรงกับเพื่อนฝูงหรือสมาชิกในครอบครัว
-
ทำลายทรัพย์สินอย่างรุนแรง
-
แสดงความโกรธอย่างรุนแรงกับเรื่องเล็กน้อยๆ เช่น การชกต่อยเมื่อเล่นกีฬาแพ้ หรือแสดงอาการก้าวร้าวเมื่อถูกครูตักเตือน
-
มีพฤติกรรมทำร้ายตนเองอื่นๆ หรือการขู่ว่าจะฆ่าตัวตาย
-
มีความตั้งใจที่จะคุกคามชีวิตของผู้อื่น เช่น การวางแผนโดยละเอียด (เวลา สถานที่ และวิธีการ) เพื่อทำร้ายหรือฆ่าผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเด็กคนนั้นเคยมีประวัติทำร้ายร่างกายผู้อื่น
-
ครอบครอง และ/หรือ ใช้อาวุธปืนและอาวุธอื่นๆ
*หมายเหตุ: เมื่อเห็นสัญญาณเตือนบ่งบอกว่าอันตรายกำลังจะเกิดขึ้น สิ่งแรกที่ควรนึกถึง คือ การรักษาความปลอดภัยให้แก่ตัวเองและนักเรียนคนอื่น ซึ่งจะต้องดำเนินการทันที เช่น การประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญ หรือนักจิตวิทยาให้มาพูดคุยกับนักเรียน และแจ้งให้ผู้ปกครองทราบทันที
สัญญาณเตือนทั้ง 2 ประเภทนี้ เป็นเพียงการสังเกตและคาดการณ์ล่วงหน้า มีไว้เพื่อช่วยในการระบุและส่งต่อเด็กที่อาจต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น เพราะพฤติกรรมแสดงออกเพียงช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง อาจไม่เพียงพอที่ครูหรือผู้ปกครองจะการันตีได้ว่า เด็กคนนั้นกำลังเข้าสู่ความรุนแรง เสมอไป สิ่งที่ผู้ใหญ่สามารถทำได้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงแก่ตัวเด็กเองและผู้อื่น คือ
-
การเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้แก่เด็กๆ
-
หมั่นสังเกตพฤติกรรม
-
รับฟังโดยที่ไม่รีบด่วนเข้าไปตัดสินว่า ดีหรือไม่ดี ควรทำหรือไม่ทำ แต่รับฟังเพื่อทำความเข้าใจเหตุผลของการกระทำและร่วมหาทางแก้ไขด้วยกัน
หากผู้ใหญ่รอบตัวเด็กๆ สามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขาได้ เขาจะเชื่อใจและวางใจที่จะเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟัง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีที่เราจะรับรู้เรื่องราวต่างๆ ร่วมกัน ก่อนจะเกิดเหตุการณ์อะไรก็ตาม
อย่างไรก็ดี การสร้างพื้นที่ปลอดภัยนั้นต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการร่วมกันสร้างขึ้นมา แต่แนะแนวฮับก็เชื่ออย่างสุดหัวใจค่ะว่า คุณครูและคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังอ่านบทความนี้ จะสามารถทำได้อย่างแน่นอน อย่าเพิ่งเคร่งเครียดกดดันตัวเองจนเกินไปนะคะ ขอส่งกำลังใจให้ค่ะ 😀
❤️บทความในหัวข้อใกล้เคียงที่แนะแนวฮับอยากแนะนำเพิ่ม คือ ‘‘วิธีการดูแลใจนักเรียนในวันที่มีข่าวความรุนแรงรอบตัว’ https://guidancehubth.com/knowledge/113
อ้างอิง
Warning Signs of School Violence https://shorturl.at/ovHJQ
พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน
หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)
ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง
✅ เรียนฟรี
✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว
✅ มีเกียรติบัตร
คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses