ดูแลใจนักเรียน ในวันที่มีข่าวความรุนแรงรอบตัว

หมวดหมู่: พื้นที่เพื่อนครู

Tags:  ดูแลใจนักเรียน

อ่านแล้ว: 583 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

มีข่าวความรุนแรงรอบตัว และเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ คุณครูจะดูแลใจนักเรียนยังไงดีนะ?

การได้รับข้อมูลข่าวสารเหตุการณ์ความรุนแรงจากสื่อต่างๆ ล้วนมีโอกาสส่งผลกระทบถึงเราไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ซึ่งแต่ละคนต่างมีรูปแบบการตอบรับกับสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป แนะแนวฮับจึงขอนำเสนอแนวทางการดูแลและประคองใจนักเรียน ในวันที่สังคมเรามีข่าวและเหตุการณ์ความรุนแรงมากมายรอบตัว ให้ทุกคนก้าวผ่านช่วงเวลายากๆ นี้ไปด้วยกันค่ะ

ชื่อภาพ

อาการหรือพฤติกรรมที่อาจพบหลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง

  • รู้สึกเครียด อึดอัด กังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น กลัวว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์นั้นหรือมีการทำร้ายกันอีก

  • มีอาการปวดหัว ปวดท้อง แน่นหน้าอก เจ็บปวดที่ตัว

  • พฤติกรรมที่อาจเปลี่ยนแปลงจากเดิม เช่น

    • ตื่นตัวกับสิ่งรอบตัวมากขึ้น ระแวง ตกใจง่าย

    • แสดงความรู้สึกหรืออารมณ์ผ่านการใช้เสียงดัง เสียงกรีดร้อง

    • สมาธิและการจดจ่อลดลง

    • หงุดหงิดและฉุนเฉียวไวขึ้น

    • เศร้า ซึม เก็บตัว ไม่สนใจในกิจกรรมที่เคยชอบ หรือไม่สุงสิงกับเพื่อนเหมือนแต่ก่อน

    • มีมุมมองต่อภาพอนาคตที่รุนแรง

    • สัดส่วนการนอนหลับและความอยากอาหารเพิ่มขึ้นหรือลดลง

    • เริ่มมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ดื่มสุรา เสพยา หรือทำสิ่งที่อาจเป็นอันตรายต่อตนเองหรือคนอื่น

    • จดจ่อสนใจ เอาแต่พูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำๆ

ชื่อภาพ

ตั้งหลักครูก่อนดูแลใจนักเรียน

เพราะคุณครูเป็น 1 ในคนสำคัญที่มีศักยภาพและสามารถดูแลเด็กๆ ได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณครูจะต้องตั้งหลักดูแลตัวเองให้พร้อมก่อนไปดูแลนักเรียน

สิ่งที่คุณครูสามารถทำได้เพื่อตัวเอง

  • เตรียมร่างกาย ดูแลตัวเอง พยายามดื่มน้ำให้เพียงพอ กินอาหารตรงเวลาและมีประโยชน์ นอนหลับให้เพียงพอและออกกำลังกาย

  • พักใจ ให้เวลาตัวเองบ้าง ใช้เวลาพักผ่อนและทำสิ่งที่คุณครูชอบทำ

  • ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อาจจะเป็นการพูดคุย ดูแล ให้ความช่วยเหลือเพื่อนครูด้วยกัน การใช้เวลาร่วมกับญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง หรือสมาชิกในชุมชนเพื่อพูดคุยหรือสนับสนุนซึ่งกันและกัน

  • หลีกเลี่ยงการตัดสินใจใหญ่ๆ ในชีวิตโดยไม่จำเป็น ในช่วงเวลานี้ ที่มีความเป็นไปได้ว่าคุณครูเองจะยังมีมวลความรู้สึกมากมายหรือมีเรื่องรบกวนให้จิตใจฟุ้งซ่าน ไม่พร้อมตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ

ชื่อภาพ

ดูแลใจนักเรียน

1. จัดเวลาพูดคุยกับนักเรียน

  • เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้นักเรียนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน และย้ำให้ทุกคนมั่นใจว่าตนมีสิทธิ์ถามคำถาม แสดงความกังวล หรือระบายความรู้สึกของตัวเองได้ในพื้นที่ปลอดภัยที่มีทุกคนอยู่ร่วมกัน

  • นอกจากการเปิดรับคำถามหรือหัวข้อประเด็นใหม่ๆ แล้ว คุณครูอาจต้องตั้งรับ เตรียมรับมือกับอารมณ์และความคิดที่อาจรุนแรงของนักเรียน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากข่าวและความคิดเห็นในสื่อต่างๆ จากชุมชนรอบตัว หรือจากตัวนักเรียนเองที่ยังไม่รู้ว่าจะสื่อสารและนำเสนอไอเดียอย่างสร้างสรรค์อย่างไร

แนวทางที่จะช่วยได้คือ

1) การใช้คำถามชวนคิดและทบทวนให้เห็นและเท่าทันความรู้สึก การกระทำที่ใช้ความรุนแรง รวมถึงทำความเข้าใจถึงผลที่จะเกิดตามมา ย้ำว่าความรู้สึกที่ท่วมท้น ความรู้สึกนึกคิดเชิงลบหรือมีความรุนแรง เป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้กับเราทุกคน มันไม่ใช่เรื่องผิด แต่สิ่งสำคัญคือ จะแสดงออกอย่างไรได้บ้าง หรือจะดำเนินชีวิตต่ออย่างไรในฐานะพลเมืองของโลก เพื่อช่วยกันป้องกันและดูแลไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความสูญเสียขึ้นอีก

2) คุณครูอาจต้องเตรียมปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากนักเรียนเครียดกังวลจนหายใจติดขัด รู้สึกเหมือนจะล้ม ให้นักเรียนหายใจลึกๆ ช้าๆ พาเขาออกมาอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ดื่มน้ำเย็น และหาผ้าเย็นมาเช็ดเนื้อเช็ดตัว แล้วให้ดมยาดม (การปฐมพยาบาลดังกล่าวนี้ สามารถนำไปใช้ดูแลผู้ที่มีอาการเศร้าโศกเสียใจจนคุมสติและร่างกายไม่อยู่ได้ด้วย)

  • เตรียมข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์สำหรับสนับสนุนเด็กๆ หากมีบางเรื่องที่คุณครูไม่สามารถตอบได้ ก็ไม่เป็นไรนะคะ มันไม่ใช่เรื่องผิดแปลกเลย คุณครูสามารถรับเรื่องมาแล้วไปสืบค้นหรือปรึกษาผู้รู้ก่อน แล้วค่อยนำกลับมาอธิบายกับนักเรียนก็ได้ค่ะ

  • ไม่บังคับ เค้น ฝืน หรือสร้างความกดดันให้นักเรียนต้องพูดคุยในทันที ขอให้ไม่ลืมว่า นักเรียนบางคนอาจต้องการเวลาในการประมวล ทำความเข้าใจความคิดความรู้สึกของตัวเอง คุณครูอาจทิ้งช่วงเวลาซักนิด ทวนความเข้าใจให้ตรงกันว่า หากตอนนี้นักเรียนยังไม่พร้อมพูดคุยก็ไม่เป็นไร แต่เมื่อไรที่เขาพร้อม จะมีคุณครูที่สแตนบายรอรับฟังเสมอ

  • ช่วงเวลาที่สามารถพูดคุยได้ อาจเป็นในคาบเรียน ช่วงพัก หรือหากนักเรียนบางคนต้องการการคุยแบบส่วนตัว คุณครูอาจชวนนั่งคุยในพื้นที่ปิดและสงบอย่างห้องแนะแนวก็ได้ค่ะ

2. ให้ความรู้และส่งเสริมเรื่องการดูแลตนเอง

  • ด้านร่างกาย เช่น การดื่มน้ำ กินอาหาร พักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกาย เพื่อปรับสมดุลร่างกายในช่วงที่มีข่าวเหตุการณ์ความรุนแรง

  • ด้านจิตใจ เช่น แนะนำให้หยุดพักจากการพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงหรือลดการมีส่วนร่วมในกิจกรรมหรือการใช้โซเชียลมีเดียที่จะทำให้คิดถึงเหตุการณ์นั้นบ้าง แนะนำกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลายจากความตึงเครียด กังวล เศร้า หรือมีแนวทางสำหรับดูแลตัวเองหรือคุยกับตัวเองเบื้องต้น หากนักเรียนเจอสถานการณ์ที่ทำให้คิดถึงเหตุการณ์ความรุนแรงนั้น เช่น “ตอนมีคนตบถุงขนมดังบรึ้ม มันทำให้ฉันตกใจกลัวและหวนคิดถึงภาพข่าวที่เพิ่งดูมา แต่ความจริงแล้ว นั่นเป็นเสียงถุงขนม และฉันในตอนนี้ปลอดภัยดี”, “เรามาหายใจเข้าออกลึกๆ 3 ที เพื่อตั้งสติกัน”

3. ทบทวนและอัพเดทข้อตกลงร่วม

  • นำข้อตกลงร่วมของห้องมาทบทวนร่วมกัน ให้นักเรียนรู้สึกปลอดภัยที่จะเป็นตัวเองแม้ในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความรู้สึกและข้อมูลมากมาย

  • บางโรงเรียนอาจมีนโยบายหรือมาตรการดูแลความปลอดภัยที่รัดกุมมากขึ้น นอกจากการแจ้งให้ทุกคนรับทราบแล้ว คุณครูสามารถหยิบหัวข้อความรู้ เช่น การรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน การดูแลปกป้องสิทธิของตัวเอง ฯลฯ มาพูดคุยเพื่อหาแนวทางรับมือที่นักเรียนสามารถทำได้ แล้วอัพเดตข้อตกลงร่วมให้ทุกคนในห้องรับทราบและยิมยอมร่วมกัน

ชื่อภาพ

4. อดทนด้วยความเข้าใจ

  • ระลึกเสมอว่าเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดความสับสนวุ่นวาย นักเรียนอาจมีความคิดฟุ้งซ่าน อารมณ์แปรปรวน ไม่ค่อยโฟกัสจดจ่อกับการเรียน ต้องการความสนใจมากเป็นพิเศษ หรือมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในทางที่สร้างความกังวลให้คุณครูและผู้ปกครอง

  • พยายามให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมตามปกติ ใช้ความต่อเนื่องนี้ช่วยให้พวกเขามีหลักยึดที่มั่นคง และวางใจว่าพวกเขาปลอดภัยและสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

  • ประเมินความพร้อมของนักเรียน และสื่อสารกับพวกเขาอย่างตรงไปตรงมาได้ในพื้นที่ปลอดภัยนี้ ว่าครูมีความกังวลหรือเป็นห่วงเรื่องใดบ้าง และคาดหวังให้พวกเขาประพฤติปฏิบัติตัวอย่างไร เป็นต้น

5. สร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการดูแลนักเรียน

  • ทำงานเป็นทีมกับเพื่อนครูคนอื่นๆ และฝ่ายบริหาร ในการสนับสนุนและดูแลนักเรียน

  • สื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ปกครองของนักเรียน ถึงแนวทางการดูแลของโรงเรียน ขอความร่วมมือให้ผู้ปกครองรัลรู้ข่าวสาร และพูดคุยถึงเหตุการณ์ความรุนแรงด้วยความระมัดระวัง

  • ทำงานร่วมกับนักจิตวิทยาประจำเขตพื้นที่การศึกษา ถึงวิธีการสังเกตและดูแลใจเด็กๆ รวมทั้งสืบค้นข้อมูลการดูแลใจที่คนทั่วไปสามารถทำได้ จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น กรมสุขภาพจิต

6. สนับสนุนให้นักเรียนขอความช่วยเหลือ

  • สังเกตอารมณ์ความรู้สึกและพฤติกรรมของนักเรียนเป็นระยะ เพื่อให้มั่นใจว่าคุณครูจะสามารถออกแบบการดูแลสนับสนุนได้ทันท่วงที

  • อาจใช้แบบวัดหรือแบบทดสอบที่เชื่อถือได้ ให้นักเรียนลองทำเพื่อประเมินเบื้องต้น

  • หากผลออกมาอยู่ในเกณฑ์ที่ควรพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ คุณครูควรรายงานผู้บังคับบัญชา และติดต่อเพื่อชี้แจงให้ผู้ปกครองทราบ รวมถึงพูดคุยกับนักเรียนว่าภาวะที่กำลังเจอตอนนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลเพิ่มจากคุณหมอหรือพี่นักจิตวิทยา ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ให้กำลังใจนักเรียนและยืนยันให้เขาเชื่อมั่นได้ว่าห้องเรียนและโรงเรียนจะยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขาและเพื่อนๆ เสมอ


พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว

✅ มีเกียรติบัตร

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา