5 กิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์ในห้องเรียน

หมวดหมู่: เครื่องมือข้อมูลด้านการสอน

Tags:  ไอเดียการสอน

อ่านแล้ว: 23247 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

ในทุกๆ สัปดาห์แรก หรือสัปดาห์ที่สองของการเปิดภาคเรียนใหม่ เรียกได้ว่าเป็นสัปดาห์ของการทำความรู้จักกันเลยก็ว่าได้ 🥰

นอกจากนี้ ยังมีช่วงเวลาที่คุณครูอาจจะต้อง “เก็บตก” นักเรียนที่เพิ่งย้ายมาใหม่กลางเทอม

หรือย้ายห้องมาด้วยเหตุผลต่างๆ ซึ่งเด็กๆ ที่เพิ่งย้ายมาใหม่ก็ต้องปรับตัวร่วมกับเพื่อนร่วมห้องด้วยเช่นกัน

คุณครูแนะแนวจึงต้องแปลงร่างเป็นนักกิจกรรมสัมพันธ์ พร้อมกับสร้างสภาพแวดล้อมของห้องเรียนให้เปิดกว้าง เพื่อต้อนรับนักเรียนใหม่ที่มาเจอกัน

แต่ก่อนที่เข้าสู่การทำกิจกรรมต่างๆ แนะแนวฮับมี Tips เล็กๆ ในการดูแลนักเรียนเพิ่งเข้ามาใหม่และจะต้องปรับตัวกับเพื่อนร่วมห้องมาฝาก ดังนี้ค่ะ

  1. กล่าวต้อนรับนักเรียนทุกคน กล่าวต้อนรับความแตกต่างหลากหลายที่นักเรียนแต่ละคน (ทั้งนักเรียนเก่าและนักเรียนที่เพิ่งเข้ามาใหม่) ไม่ว่าจะมาจากที่ไหน เคยเรียนอะไรมา มีความถนัดหรือยังไม่ถนัดเรื่องอะไร หรือผ่านประสบการณ์อะไรมาบ้าง เพื่อสร้างความรู้สึกอบอุ่น ถูกมองเห็น ถูกรับรู้ ให้แก่นักเรียนทุกคน

  2. ชี้แจงเพื่อนร่วมห้องให้เตรียมต้อนรับเพื่อนใหม่ที่จะเข้ามาในวันนี้ เช่น คุณครูชี้แจงว่า “วันนี้จะมีนักเรียนเข้ามาใหม่ เขาอาจจะต้องการความช่วยเหลือมากเป็นพิเศษในช่วงแรก ขอให้นักเรียนทุกคนช่วยดูแลเพื่อนใหม่ด้วย” หรือ คุณครูอาจตั้งคำถามว่า “นักเรียนคิดว่า เราจะช่วยเหลือเพื่อนใหม่ให้รู้สึกโอเคกับห้องเรียนของได้ยังไงบ้าง” หรือ “มีข้อมูลอะไรบ้าง ที่พวกเราควรช่วยกันบอกเพื่อนใหม่ให้รู้?” เป็นต้น

  3. ขออาสาสมัคร “เพื่อนบัดดี้” ให้กับเพื่อนใหม่ เพื่อนบัดดี้ในที่นี้ อาจไม่จำเป็นต้องเป็นนักเรียนที่เรียนได้คะแนนดีอย่างเดียว แต่ขอให้เป็นคนที่พร้อมอาสาเคียงข้าง คอยถามไถ่ ให้ข้อมูลเบื้องต้น ตอบคำถามและให้ความช่วยเหลือเพื่อนใหม่เบื้องต้นได้

  4. ย้ำทวนกติกาของการอยู่ร่วมกันในห้องเรียน ทบทวนกติการ่วมของห้องที่เคยทำไว้ให้รับทราบร่วมกันอีกครั้ง และหากเพื่อนใหม่ที่เข้ามามีอะไรอยากปรับเพิ่มเติมก็สามารถมาขอคุยกับเพื่อนๆ ในห้อง หรือคุณครูได้เช่นกัน

เมื่อวางแนวทางการดูแลนักเรียนใหม่เรียบร้อยแล้ว คุณครูก็เริ่มทำกิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์กับนักเรียนได้เลยค่า!

ซึ่งกิจกรรมที่แนะแนวฮับนำมาแจกให้คุณครูในวันนี้ จะเน้นให้นักเรียนได้สำรวจตัวเองและได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนร่วมห้อง โดยคุณครูสามารถทำกิจกรรมได้ในห้องเรียน โดยที่ไม่ต้องหาสถานที่ใหม่ แต่บางกิจกรรมอาจจะต้องเตรียมอุปกรณ์มาล่วงหน้าตามวิธีการเล่นที่ระบุ ต่อไปนี้ค่ะ

ชื่อภาพ

✅ กิจกรรมที่ 1: เกมเรียกชื่อเพื่อน

เป้าหมายของกิจกรรม: ให้นักเรียนฝึกจำชื่อเพื่อนร่วมห้องได้ครบทุกคน

📍 อุปกรณ์ที่ครูต้องเตรียม: ไม่มี

🖌️ วิธีการเล่น

1) คุณครูให้นักเรียนยืนเป็นวงกลมเรียงกัน

2) ครูอุ่นเครื่องความจำของนักเรียนโดยการให้นักเรียนเรียกชื่อเล่นเพื่อนรอบวงในรอบที่ 1

3) ครูชี้แจงกิจกรรมว่า “เราจะต้องจำจดชื่อเพื่อนให้ได้ โดยที่เราจะต้องเรียกชื่อเพื่อนก่อนหน้า และค่อยแนะนำชื่อตัวเอง วนต่อไปเรื่อยๆ จนครบวง”

4) ครูเริ่มต้น โดยการแนะนำชื่อตัวเองก่อน เช่น “ครูเอ” นักเรียนคนต่อไปชื่อ “น้องนิด” นักเรียนที่ชื่อน้องนิด จะต้องเรียกชื่อซ้ำตั้งแต่ “ครูเอ, น้องนิด” และคนต่อไปจะต้องแนะนำตัวเอง เช่น “น้องนนท์” น้องนนท์จะต้องเรียกชื่อซ้ำตั้งแต่ “ครูเอ, น้องนิด, น้องนนท์”

5) เรียกชื่อทุกคนวนไปเรื่อยๆ จนครบวง

6) ครูสามารถเพิ่มระดับความยากในแต่ละรอบ โดยการเพิ่ม ‘เมนูอาหารที่ชอบ’ ต่อจากการแนะนำชื่อตัวเอง เช่น “ครูเอ หมูกระทะ” คนถัดไปก็จะต้องเรียกชื่อและเมนูอาหารก่อน แล้วแนะนำตัวเอง เช่น “ครูเอ หมูกระทะ, น้องนิด หมูฝอย” เป็นต้น

ชื่อภาพ

✅ กิจกรรมที่ 2: Facebook Board ออกแบบหน้าโปรไฟล์ของตนเอง

เป้าหมายของกิจกรรม: ให้นักเรียนได้สำรวจตัวเองและได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนร่วมห้อง

📍 อุปกรณ์ที่ครูต้องเตรียม

  1. กระดาษ A3 / A4
  2. อุปกรณ์กรรไกร กาว กระดาษสี เพื่อให้นักเรียนตกแต่งหน้าโปรไฟล์ของตัวเองเพิ่มเติม
  3. เตรียมตัวอย่าง โปรไฟล์ Facebook ของคุณครูเพื่อใช้เป็นตัวอย่างและแลกเปลี่ยนกับนักเรียน
  4. เตรียมรูปภาพดารา กีฬา อาหาร เครื่องดนตรี ตามหนังสือนิตยสารทั่วไป เตรียมเผื่อไว้สำหรับนักเรียนที่อยากนำมาแปะหน้าโปรไฟล์ของตัวเอง

🖌️ วิธีการเล่น

1) ครูแจกกระดาษ A4 หรือ A3 ให้นักเรียนออกแบบหน้าโปรไฟล์ของตนเอง

2) ครูให้หัวข้อนักเรียนสำหรับการเขียน ได้แก่

  • ชื่อ Facebook ของตัวเอง (นักเรียนจะใช้ชื่ออะไรก็ได้ที่นักเรียนรู้สึกชอบและเป็นตัวเอง)
  • สถานะ (What is on your mind?) คือ ความรู้สึกของนักเรียนช่วงนี้เป็นยังไง ให้นักเรียนเขียนความรู้สึกของตัวเอง หรือสิ่งที่คิดลงไป
  • ข้อมูลพื้นฐาน (Background) คือ วันเกิดของนักเรียน/ ส่วนสูง/ น้ำหนัก/ แพ้อาหารหรือไม่/ เบอร์โทรศัพท์ของตัวเอง/ เบอร์โทรศัพท์ผู้ปกครองที่ติดต่อได้ เป็นต้น
  • สิ่งที่ชอบ (Likes wall) ส่วนนี้ให้นักเรียนนำภาพหนังที่ชอบ ศิลปินที่ชอบ หนังสือที่ชอบ กีฬาที่ชอบ มาแปะไว้ หรือจะใช้วิธีการเขียนก็ได้
  • ภาพ/ เหตุการณ์ที่ประทับใจ (Photo) ส่วนนี้ให้นักเรียนเขียนเล่าประสบการณ์ที่นักเรียนประทับใจ ไม่ว่าจะเป็นการไปเที่ยวช่วงปิดเทอมที่ผ่านมาผ่าน หรือประสบการณ์ในวันเกิด เป็นต้น

3) ครูให้เวลานักเรียนตกแต่งหน้าโปรไฟล์ของตนเอง ประมาณ 10 - 15 นาที

4) ครูให้นักเรียนแลกเปลี่ยนกับเพื่อน อาจจะเริ่มจากเพื่อนที่นั่งข้างๆ และขยับจับเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น เช่น กลุ่ม 4 คนขึ้นไป

⭐ Tips: หากคุณครูรู้สึกว่าหัวข้อในโปรไฟล์น้อยไป คุณครูสามารถเพิ่มหัวข้อต่างๆ ให้นักเรียนอธิบายเพิ่มเติมได้ เช่น ภาพครอบครัว หรือ อาชีพในฝัน เป็นต้น

ชื่อภาพ

✅ กิจกรรม 3: เกม Bingo

เป้าหมายของกิจกรรม : ให้นักเรียนได้สำรวจตัวเอง เช่น ความชอบ หรือสิ่งที่เป็นตัวเองและแลกเปลี่ยนกับเพื่อน

** อุปกรณ์ที่ครูต้องเตรียม**: กระดาษบิงโกตามจำนวนนักเรียน

🖌️ วิธีการเล่น

กิจกรรมนี้สามารถเล่นได้หลากหลายรูปแบบมาก แต่ในช่วงเริ่มต้น คุณครูอาจจะต้องมีโจทย์ง่ายๆ ไว้ในใจ โดยมีวิธีการเล่นต่อไปนี้

1) ครูแจกกระดาษ 9 ช่อง (Bingo) ให้นักเรียนทุกคน

2) ในแต่ละช่องทั้ง 9 ช่อง อาจจะมีโจทย์ง่ายๆ ต่อไปนี้ เช่น มีสัตว์เลี้ยง, เป็นลูกคนกลาง, ชอบเรียนศิลปะ, ชอบกินก๋วยเตี๋ยว, ถนัดมือซ้าย, ชอบไปเที่ยวธรรมชาติ, ชอบดู Youtube เป็นต้น

3) ให้คุณครูอ่านโจทย์ แล้วถ้านักเรียนมีสิ่งที่ตรงกับโจทย์ ก็ให้นักเรียนกากบาททับลงไปในกระดาษบิงโก

4) ครูอาจจะเพิ่มสีสันให้กับเกม เช่น หลังจากที่มีคนบิงโกแล้ว ให้นักเรียนจับกลุ่ม แล้วให้ถามเพื่อนเพิ่มเติมถึงโจทย์ในแต่ละข้อ เช่น มีสัตว์เลี้ยงอะไร หรือ ชอบเรียนวิชาอื่นๆ อีกไหม เป็นต้น

ชื่อภาพ

✅ กิจกรรม 4: นี่ หรือ นั่น (This or That)

เป้าหมายของกิจกรรม: ให้นักเรียนสำรวจความชอบของตัวเองและรับรู้ความชอบของเพื่อนร่วมห้อง

📍 อุปกรณ์ที่ครูต้องเตรียม: สก็อตเทปสำหรับแบ่งห้องออกเป็น 2 ฝั่ง

🖌️ วิธีการเล่น

1) ครูคิดโจทย์ในลักษณะของการเปรียบเทียบของ 2 สิ่ง เพื่อให้นักเรียนได้เลือก

2) ครูตีเส้นบนพื้นห้องออกเป็นสองฝั่ง

3) ครูขึ้นโจทย์บนกระดาน หรือจะอ่านโจทย์ให้นักเรียนฟัง แล้วให้นักเรียนเลือกก็ได้เลือกว่าจะอยู่ฝั่งไหน

ตัวอย่างโจทย์

  • ดูหนังหรือฟังเพลง
  • เรียนออนไลน์หรือเรียนที่โรงเรียน
  • มาโรงเรียนเองหรือพ่อแม่มาส่ง
  • ศิลปะหรือวิทยาศาสตร์
  • เป๊ปซี่หรือโค้ก
  • เรียนในห้องหรือเรียนนอกห้อง
  • Youtubeหรือfacebook
  • ทะเลหรือภูเขา
  • การ์ตูนหรือเกมออนไลน์

4) ให้นักเรียนเลือกฝั่งว่าชอบฝั่งไหนมากกว่ากัน โดยให้เดินข้ามสก็อตเทปไปอีกฝั่ง

*แต่ถ้าคุณครูไม่ได้ใช้สก็อตเทป เรามีวิธีการอื่นๆ มาเสนอ ดังนี้

  • ให้นักเรียนยกมือตามหัวข้อที่นักเรียนเลือก
  • ให้นักเรียนเดินไปรวมกันที่มุมห้องใดมุมห้องหนึ่งตามหัวข้อที่เลือก
  • ให้นักเรียนชูสัญญาลักษณ์อะไรก็ได้ เช่น กระดาษสีเขียว หากเลือกหัวข้อนี้ เป็นต้น

5) ครูอาจจะเพิ่มสีสันระหว่างทำกิจกรรม โดยการสุ่มสอบถามนักเรียนในแต่ละข้อว่า “เพราะอะไร” ถึงเลือกข้อนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนให้เพื่อนฟัง

⭐ Tips: การออกแบบโจทย์ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ครูรู้จักนักเรียนด้านการเป็นอยู่ที่บ้านมากขึ้นได้ หากโจทย์นั้นเน้นไปที่กิจวัตรประจำของนักเรียน เช่น ทำกับข้าวเองหรือผู้ปกครองทำให้ มาโรงเรียนเองหรือพ่อแม่มาส่ง เป็นต้น

ชื่อภาพ

✅ กิจกรรม 5: หาเพื่อน 4 คนที่……..

เป้าหมายกิจกรรม: ให้นักเรียนลองเข้าไปทำความรู้จักกับเพื่อน โดยทำตามโจทย์ที่เขียนบนการ์ด

📍 อุปกรณ์ที่ครูต้องเตรียม: การ์ดคำสั่งที่จะแจกให้นักเรียนคนละประมาณ 4 - 5 อัน หรือคุณครูสามารถออกแบบมาเป็นตาราง 9 ช่อง แบบเกมบิงโกก็ได้ค่ะ

🖌️ วิธีการเล่น

1) ครูเตรียมการ์ดซึ่งมีภารกิจที่นักเรียนต้องทำ เช่น

  • หาเพื่อน 4 คนที่เป็นทาสแมว
  • หาเพื่อน 4 คนที่ไปเที่ยวทะเลช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา
  • หาเพื่อน 4 คนที่ชอบไอศกรีมมากกว่าเค้ก
  • หาเพื่อน 4 คนที่ผูกโบว์สีขาวมาโรงเรียน

2) หลังจากนั้นให้นักเรียนหาเพื่อนร่วมห้องตามโจทย์ที่ได้ และเขียนชื่อเพื่อนลงไปบนการ์ด

**หมายเหตุ **

  • ถ้าหาไม่ถึง 4 คนก็ไม่เป็นไรนะคะ แต่คุณครูสามารถสื่อสารส่งกำลังใจเชียร์ให้นักเรียนหาเพื่อนให้ได้มากที่สุด
  • คุณครูสามารถกำหนดตัวเลขหาเพื่อนตามจำนวนได้เองเลยค่ะ แต่ที่แนะแนวฮับยกตัวอย่างให้เป็น 4 คน เพราะเป็นจำนวนคนที่กำลังเหมาะสมกับเวลาที่จะต้องให้แลกเปลี่ยนกันนั่นเอง

⭐ Tips: หากในระหว่างการทำกิจกรรมเกิดเหตุการณ์การล้อคำตอบของเพื่อนหรือมีการแกล้งกัน คุณครูสามารถทำตามคำแนะนำได้ดังนี้ค่ะ

  1. ขอให้นักเรียนทุกคนหยุดทำกิจกรรมทั้งหมดก่อน

  2. ครูพาทวนย้อนกติกาการอยู่ร่วมกัน

*ในกรณีที่ถ้าเป็นคุณครูที่ต้องเข้าสอนแทน หรือยังไม่เคยทำกติการ่วมกันกับนักเรียนมาก่อน ขอให้คุณครูปรับกิจกรรมโดยให้นักเรียนคนอื่นได้ทำงานที่คั่งค้างอยู่ก่อน แล้วชวน ‘คู่กรณี’ มาคุยส่วนตัวในพื้นที่ที่เด็กๆ ก็รู้สึกปลอดภัย สงบ ไม่มีสิ่งรบกวน

  1. ครูให้เวลานักเรียนพักใจ เพราะอาจจะมีนักเรียนที่ยังไม่พร้อมพูดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น ทางที่ดีครูอาจใช้เวลาในคาบต่อไปเพื่อถอดบทเรียนถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาร่วมกัน

หวังว่าทั้ง 5 กิจกรรมที่แนะแนวฮับนำมาแบ่งปันนี้ จะเป็นประโยชน์ให้แก่คุณครูทุกท่านที่กำลังมองหาแนวทางการต้อนรับนักเรียนใหม่ หรือสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นในห้องเรียนนะคะ คุณครูสามารถนำไปปรับใช้ได้ในทุกวิชา ไม่ใช่เฉพาะแค่เพียงวิชาแนะแนวเท่านั้น สำคัญคือ การทำกิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์จะเกิดผลตามที่ตั้งใจได้ ห้องเรียนจะต้องมีการออกแบบข้อตกลงร่วม และสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เกิดขึ้นก่อนนะคะ 😀😀

📌 อ่านบทความเพิ่มเติม

  • “รู้จัก ข้อตกลงร่วม” https://guidancehubth.com/knowledge/10
  • “ชวนรู้จัก พื้นที่ปลอดภัย” https://guidancehubth.com/knowledge/9

อ้างอิง


พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว

✅ มีเกียรติบัตร

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา