10 คำถามสำคัญ ชวนนักเรียนทบทวนตัวเอง หากอยากย้ายสายการเรียน
หมวดหมู่: เครื่องมือข้อมูลด้านการสอน
Tags: แนะนำย้ายสายการเรียน
อ่านแล้ว: 6916 ครั้ง
เปิดเทอมกันมาพักใหญ่ นักเรียนของคุณครูเริ่มมีอาการแบบนี้กันบ้างไหมคะ?
รู้สึกสับสน ไม่มั่นใจกับสิ่งที่เรียน เข้ามาปรึกษาว่าจะเอายังไงดี…
“จะอยู่ต่อ หรือจะย้ายสายดีคะครู?”
สถานการณ์แบบนี้ สมัยแอดมินเรียนก็เคยเจอเพื่อนๆ หลายคนย้ายสายการเรียนกลางคันเหมือนกัน โดยเฉพาะตอนเรียนอยู่ชั้น ม.4 ค่ะ 😞😞
เหตุผลของการย้ายสายการเรียนมาจากหลายๆ ปัจจัย เช่น เรียนไม่ไหวเพราะเนื้อหาเริ่มยากขึ้น รู้สึกว่าสายการเรียนนี้มีแต่วิชาที่ตัวเองไม่ได้ชอบเต็มไปหมด ไม่สามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมหรือกับเพื่อนใหม่ได้ เป็นต้น
หากนักเรียนของเรากำลังเผชิญกับสถานการณ์ดังกล่าวอยู่ ขอให้คุณครูรับรู้ว่า นักเรียนของคุณครูกำลังรู้สึกสับสนและไม่มั่นใจ เขากำลังต้องการใครสักคนที่พร้อมรับฟังและช่วยตั้งคำถามดีๆ เพื่อให้เขาพบเจอสิ่งที่ใช่สำหรับตัวเองมากขึ้นค่ะ
วันนี้แนะแนวฮับ เตรียม 10 คำถามสำคัญ ให้คุณครูได้นำไปใช้ชวนนักเรียนทบทวนตัวเองในวันที่กำลังสับสนว่าอยากจะเรียนสายนี้จริงๆ หรือควรทำเรื่องย้ายสายดี
ก่อนที่จะเริ่มคำถามแรก คุณครูอาจจะแสดงความรู้สึกเข้าอกเข้าใจนักเรียนก่อนว่า ความสับสนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ว่านักเรียนเลือกที่จะอยู่ต่อหรือจะย้าย เพราะเราทุกคนมีสิทธิ์ในการเลือกเส้นทางของตัวเองได้
เอาล่ะค่ะ… มาเริ่มที่คำถามแรกกันเลย!
คำถามที่ 1: อะไรที่ทำให้นักเรียนรู้สึกว่า ‘ฉันเรียนได้ หรือไม่ได้’?
คำถามนี้เป็นคำถามเปิด เพื่อให้นักเรียนได้ลองคุยกับตัวเอง ทบทวนตัวเอง และลองเล่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันให้ได้มากที่สุดก่อน
คำถามที่ 2: นักเรียนชื่นชอบ หลงใหล หรือคลั่งไคล้เรื่องอะไรเป็นพิเศษ?
คำถามนี้เป็นคำถามที่ให้นักเรียนได้แชร์ไอเดียออกมาให้ได้มากที่สุดว่าเขาชอบอะไร แล้วลองนำมาเทียบกับวิชาเรียนของเขาว่า สิ่งที่ชอบนั้นปรากฏอยู่ในหน่วยกิตมากน้อยแค่ไหน เช่น นักเรียนอยากเป็น Blogger เดินทางไปทั่วโลก
คุณครูอาจจะชวนคิดต่อว่า ถ้านักเรียนอยากไปเที่ยวรอบโลก จะต้องทำยังไงหรือมีทักษะอะไรบ้าง ซึ่งนักเรียนก็อาจจะตอบว่า ต้องเรียนภาษาภาษาที่ 3, 4, 5 เพิ่มเติม ต้องฝึกฝนการสื่อสาร เช่น การเขียน การทำวิดีโอ เป็นต้น
หลังจากนั้น คุณครูชวนคิดต่อว่า แล้วสายการเรียนไหนบ้างที่จะมี ‘ชั่วโมง’ ให้นักเรียนได้ฝึกทักษะที่ต้องการ อาจจะเป็น สายการเรียนศิลป์-ภาษาที่เจาะจงไปเลย หรือสายศิลป์ทั่วไป เป็นต้น นอกจากนี้คุณครูอาจจะให้นักเรียนลองแชร์สิ่งที่พวกเขาไม่ชอบด้วยก็ได้
คำถามที่ 3: นักเรียนมองภาพอนาคตตัวเองใน 10 - 20 ปีข้างหน้าไว้ยังไง? และภาพนั้นเชื่อมโยงกับสายการเรียนหรือวิชาที่เรียนอยู่ยังไง?
เป็นคำถามเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายอนาคตกับสายการเรียนที่นักเรียนเลือก คำถามนี้จะช่วยให้นักเรียนเริ่มคิดวิเคราะห์กับตัวเองได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
เช่น ถ้านักเรียนที่มีเป้าหมายชัดระดับนึงอาจจะตอบว่า “เห็นภาพตัวเองได้ทำงานที่ต้องติดต่อประสานงานกับต่างประเทศ ได้เดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ มีเงินเดือนสูงๆ สามารถดูแลครอบครัวได้” ถ้าคำตอบเป็นแบบนี้ คุณครูอาจชวนคิดต่อว่า คิดว่าอาชีพไหนบ้างที่จะทำให้นักเรียนได้ในสิ่งที่ต้องการ?
หลังจากนั้น นักเรียนก็อาจจะลิสต์รายชื่ออาชีพขึ้นมา โดยที่ครูชวนนักเรียนคิดต่อไปอีกว่า มีสายการเรียนไหนบ้างที่ช่วยให้นักเรียนได้ประกอบอาชีพที่อยากทำ เป็นต้น
*หมายเหตุ
คำถามข้อนี้อาจจะเหมาะสมกับนักเรียนที่มีเป้าหมายค่อนข้างชัดเจน สามารถอธิบายความชอบ ความถนัด และสิ่งที่อยากเป็นในอนาคตของตัวเองได้ แต่ในกรณีที่มีนักเรียนบางกลุ่มยังไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ หรืออาจตอบว่า “มองไม่เห็นอนาคตอะครู” คุณครูอาจจะเริ่มต้นโดยการให้เขาได้เข้าถึงข้อมูลที่มากขึ้นผ่านการให้ตัวอย่างเพิ่มเติม เช่น รูปภาพไอดอลด้านต่างๆ ข้อมูลอาชีพที่หลากหลาย หรือตั้งคำถามที่ชวนให้นักเรียนได้เริ่มต้นมองเห็นโอกาสรอบตัว เช่น อาชีพรอบตัวของเขามีอะไรบ้าง ไอดอลหรือบุคคลต้นแบบที่ใกล้ตัวที่สุดคือใคร คนในครอบครัวทำอาชีพอะไรกันบ้าง เป็นต้น
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เพื่อให้นักเรียนมีคลังข้อมูลและเริ่มได้ฝึกกระบวนการสังเกต และคิดใคร่ครวญกับตัวเองมากขึ้น
คำถามที่ 4: นักเรียนคิดว่าลักษณะนิสัยส่วนตัวเหมาะกับสายการนี้ไหม เพราะอะไร?
นอกจากจะดูเรื่องความชอบแล้ว คำถามนี้จะช่วยให้นักเรียนค้นลงไปยังนิสัยหรือตัวตนของตัวเองว่าเหมาะสมกับสายการเรียนนี้ไหม เช่น นักเรียนบางคนมีนิสัยชอบการลงมือทำ ไม่ชอบนั่งอยู่นิ่งๆ แต่สายการเรียนที่เรียนอยู่ จำเป็นต้องอ่านหนังสือเยอะมากๆ หรือมีวิชาที่เน้นการฟังยาวๆ หลายหน่วยกิต ถ้าเป็นอย่างนี้ อาจสันนิษฐานได้เบื้องต้นว่าสายการเรียนนี้อาจไม่เหมาะเท่าไร
คำถามที่ 5: สายการเรียนนี้เปิดโอกาสกว้างพอสำหรับนักเรียนที่อยากเปลี่ยนคณะ หรือทำอาชีพได้ในอนาคตหรือไม่?
คำถามนี้จะช่วยนักเรียนให้เริ่มเห็นเส้นทางอนาคตของตัวเองมากขึ้น เช่น ถ้านักเรียนมั่นใจว่าอยากเป็นพยาบาล ซึ่งต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านสูง ก็จำเป็นต้องมุ่งหน้าสู่สายวิทย์-คณิต เพื่อเก็บหน่วยกิต ไม่อย่างงั้นจะไม่สามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้ แต่ถ้านักเรียนยังไม่มั่นใจ คุณครูสามารถแนะนำได้ 2 วิธีการ คือ
- 1.ชวนนักเรียนคิดทบทวนตัวเองจากคำถาม 1-4 ข้อก่อนหน้านี้ (เรื่องความชอบและลักษณะนิสัย)
- 2.ลองให้นักเรียนศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาชีพ เพราะบางอาชีพมีเส้นทางค่อนข้างชัดเจนว่าจะต้องเรียนสายไหน และต่อคณะอะไร เป็นต้น ถึงแม้นักเรียนอาจจะเลือกสายการเรียนไปแล้ว แต่พบว่าอาชีพที่อยากทำต้องเก็บหน่วยเฉพาะเพิ่มเติม สมัยนี้ก็มีคอร์สเรียนออนไลน์มากมายที่สามารถช่วยให้นักเรียนเก็บสะสมประสบการณ์ เกียรติบัตรและทักษะเหล่านั้นได้ หรือคอยติดตามการสอบต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต้องเรียนสายการเรียนนั้นมา ไม่ว่าจะเป็นข้อสอบกลาง เช่น สอบกพ. เพื่อเป็นอีกหนทางหนึ่งของเส้นทางอาชีพนั้น เป็นต้น
คำถามที่ 6: นักเรียนเคยคุยกับรุ่นพี่ที่จบจากสายนี้บ้างไหม?
เป็นคำถามที่ช่วยให้นักเรียนมองหาตัวช่วยที่มีประสบการณ์ตรง แต่ถ้านักเรียนตอบว่า “ไม่เคย” คุณครูอาจจะใช้เป็นโอกาสในการจัดกิจกรรมให้รุ่นพี่และรุ่นน้องได้มาพบปะ แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันดูนะคะ
คำถามที่ 7: คิดว่าเรียนจบสายนี้แล้ว นักเรียนจะเข้าคณะไหน หรือจบแล้วทำอะไรได้บ้าง?
เป็นคำถามที่ช่วยให้นักเรียนคิดต่อยอดวางแผนไปถึงอนาคตอันใกล้
ทั้งนี้ คำว่า ‘จบแล้วทำอะไรได้บ้าง’ นักเรียนไม่จำเป็นต้องบอก ‘ชื่ออาชีพ’ ก็ได้นะคะ แต่ให้แชร์ความตั้งใจหรือสิ่งที่อยากทำก็ได้ แชร์ออกมาให้มากที่สุด เพราะไม่แน่ว่า เราจะสามารถนำความสนใจส่วนตัวมาสร้างเป็นรายได้ได้ และอาจเกิดเป็นอาชีพใหม่ในอนาคตก็เป็นได้ค่ะ
คำถามที่ 8: คิดว่าสายการเรียนนี้ จะให้ความสุขหรือตอบโจทย์ความเชื่ออะไรสำหรับเราในอนาคตบ้าง?
คำถามนี้จะช่วยให้นักเรียนกลับเข้าไปค้นหาที่ความรู้สึกและคุณค่าของตนเองมากยิ่งขึ้น และเชื่อมโยงเข้ากับสิ่งที่เรียนในปัจจุบันว่าตอบโจทย์ความสุขหรือคุณค่าที่พวกเขายึดถือหรือเชื่อมั่นไหม
คำถามที่ 9: คิดว่าสายการเรียนนี้ จะช่วยให้นักเรียนได้ทำงานที่เหมาะกับการใช้ชีวิตตัวเองยังไงบ้าง?
คำถามนี้จะแตกต่างจากคำถามด้านบน ตรงที่เน้นไปที่รูปแบบลักษณะของงานที่อาจจะเหมาะหรือไม่เหมาะกับสิ่งที่เราเป็น เช่น ถ้านักเรียนเป็นคนที่ชอบท่องเที่ยว ไม่อยากทำงานออฟฟิศ เพราะฉะนั้นอาชีพที่สามารถทำได้ก็อาจจะเป็นอาชีพที่ได้เดินทาง เช่น ไกด์, งานสาย Content Creator หรือสาย Creative เป็นต้น
ซึ่งหากคิดย้อนกลับจะพบว่าสายการเรียนไหนบ้างที่ตรงกับอาชีพเหล่านี้ เช่น สายศิลป์-ภาษา หรือสายศิลป์-ทั่วไป ที่ตารางเรียนพอมีเวลาว่างให้นักเรียนได้ลงมือทำ และได้ออกไปเก็บประสบการณ์ภาคสนามบ้าง
คำถามที่ 10: ถ้าจะต้องย้ายสายการเรียนจริงๆ นักเรียนมีแผนสำรองยังไงบ้าง?
เป็นคำถามที่ชวนให้นักเรียนคิดวางแผนถึงทางเลือกอื่นๆ ในกรณีที่จะต้องย้ายสายการเรียนจริงๆ นักเรียนจะได้ไม่กังวลและเตรียมดำเนินการได้ทันเวลา
นอกจากนี้ แอดมินยังมีข้อมูลเพิ่มเติมที่อยากให้คุณครูชวนนักเรียนคิดถึงเงื่อนไขบางอย่างของการย้ายสายการเรียนด้วย ดังนี้
1.ปรึกษาฝ่ายวิชาการก่อนตัดสินใจ
คุณครูแนะแนวลองแนะนำให้นักเรียนไปปรึกษาฝ่ายวิชาการ หรือครูที่ปรึกษาก่อนว่าสามารถย้ายได้หรือไม่ หรือควรย้ายช่วงเวลาไหนดี เป็นต้น
2.คำนึงถึงหน่วยกิตต่างๆ
เพราะการย้ายสายการเรียน หมายถึง นักเรียนจะต้องลงเรียนในรายวิชาใหม่ ที่อาจไม่ตรงกับวิชาเดิมเลย ฉะนั้น นักเรียนจึงต้องศึกษารายวิชาของการสายใหม่ให้ดีๆ เพื่อที่จะได้ลงเรียนครบและจบตามหลักสูตร
3.ตามเก็บหน่วยกิตที่เริ่มต้นใหม่ให้ครบ
นักเรียนจะต้องกระตือรือร้นมากกว่าเดิม เพราะว่าเพื่อนๆ ในห้องอาจจะเรียนบางวิชาไปล่วงหน้าก่อนสักพักแล้ว ตัวนักเรียนเองอาจเป็นคนเดียวที่ต้องไปนั่งเรียนย้อนหลังกับคุณครูและต้องตามงานที่ผ่านมาให้ทันเพื่อน
4.บางวิชาต้องเรียนแบบต่อยอด
บางแผนการเรียนที่มีความเฉพาะ เช่น แผนการเรียนภาษา จะต้องเริ่มเรียนตั้งแต่ระดับชั้น ม.4 เทอม 1 เพื่อปูพื้นฐานภาษา หากนักเรียนสามารถย้ายไปเรียนสายภาษาได้อย่างที่ต้องการจริง ก็ต้องพยายามตั้งใจเรียนอย่างมาก เพื่อให้เรียนทันตามหลักสูตรที่รุดหน้าไปก่อนแล้ว หรือบางครั้งอาจต้องไปลงเรียนพร้อมกับรุ่นน้อง ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับแนวทางนโยบายของโรงเรียน หรือสถานศึกษาที่สังกัด
ทุกการตัดสินใจล้วนมีผลต่ออนาคตไม่มากก็น้อยเสมอ แต่อย่างไรก็ดี ไม่ว่านักเรียนจะเลือกตัดสินใจอย่างไร เกิดผลอะไร ก็ขอให้คุณครูทุกท่านคอยรับฟัง ตั้งคำถาม และให้กำลังใจพวกเขาตลอดเส้นทางแห่งการเรียนรู้นี้ด้วยนะคะ :)
อ้างอิง
-
How to choose a college Major: Critical Questions to ask yourself https://shorturl.at/lntEV
-
What should I major in? 10 essential questions to ask yourself https://shorturl.at/tGIX0
พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน
หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)
ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง
✅ เรียนฟรี
✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว
✅ มีเกียรติบัตร
คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses