ดูแลใจนักเรียนยังไง ในวันที่ความผิดหวังแวะมาทักทาย
หมวดหมู่: พื้นที่เพื่อนครู
Tags: ดูแลใจนักเรียน
อ่านแล้ว: 2028 ครั้ง
“ครู… หนูไม่ผ่านรอบสอบสัมภาษณ์ชิงทุน”
“ครู… คะแนนผมน้อยลงกว่าเดิม ที่บ้านจะต้องดุแน่ๆ เลย”
“ครู… ผมเพิ่งเลิกกับแฟน”
“ครู…..” …. “ครู……”...... “ครู……”
คุณครูเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ในห้องเรียนหรือเปล่าคะ?
เหตุการณ์ที่นักเรียนกำลังเผชิญกับ ‘ความรู้สึกผิดหวัง’ กับบางเรื่องแล้วเดินเข้ามาปรึกษาคุณครู ยิ่งในยุคสมัยนี้ ที่เด็กๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลที่อาจส่งผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกทั้งด้านบวกและด้านลบได้อย่างรวดเร็ว แล้วคนเป็นครูจะรับมือและดูแลใจเด็กๆ ยังไงได้บ้างนะ??
วันนี้แนะแนวฮับอยากนำเทคนิคดีๆ มาแบ่งปันเผื่อคุณครูที่สนใจลองนำไปใช้เป็นแนวทางในการดูแลใจนักเรียน เสมือนเป็นหมอนอิงและไหล่พิงในวันที่พวกเขาพบความคิดหวังค่ะ
ความผิดหวังในช่วงวัยรุ่น อาจจะมาจากหลายสาเหตุ เช่น
- ความผิดหวังจากผลสอบ
- ความผิดหวังจากการถูกปฏิเสธ ไม่ว่าจะเป็นการสอบชิงทุน การสมัครเข้าฝึกงาน
- ความผิดหวังจากเพื่อน เช่น ทะเลาะกับเพื่อน
- ความผิดหวังจากความรัก
- ความผิดหวังจากคนที่บ้านหรือคนรอบตัว
- ความผิดหวังจากความคาดหวังของตัวเอง
- ฯลฯ
อาการหรือพฤติกรรมที่เด็กๆ มักแสดงออกเมื่อพบความผิดหวัง อาจมีได้หลากหลาย เช่น ร้องไห้ ซึม เก็บตัว มีสีหน้ากังวล บางคนอาจหาทางระบายออกด้วยการใช้คำพูดหรือความรุนแรง แต่ไม่ว่าจะเป็นความผิดหวังที่มาจากสาเหตุอะไร วิธีการพื้นฐานที่คุณครูสามารถใช้เพื่อดูแลใจนักเรียนได้ มีดังนี้ค่ะ
1.แสดงความรู้สึกปลอบใจ
คุณครูอาจจะเริ่มพูดปลอบใจนักเรียนก่อน เช่น “ไม่เป็นไรนะ… ครูเชื่อว่านักเรียนทำดีที่สุดแล้ว” หรืออาจจะแสดงท่าทีปลอบใจด้วยการแตะบ่าเบาๆ ก็ได้ แต่ถ้านักเรียนเริ่มอยากเล่ารายละเอียดมากขึ้น คุณครูสามารถทำตามวิธีการที่ 2 ได้เลยค่ะ
2.ชวนนักเรียนพูดคุย 1 ต่อ 1 ในบรรยากาศที่ปลอดภัย:
หากบรรยากาศแวดล้อมของทั้งคุณครูและนักเรียนไม่ค่อยมีความเป็นส่วนตัว ลองชวนนักเรียนออกมาพูดคุยกัน 1 ต่อ 1 ในพื้นที่ที่นักเรียนรู้สึกสบายใจ หลังจากนั้นก็ให้โอกาสนักเรียนได้อธิบายความรู้สึกของตนเองอย่างเต็มที่
3.รับรู้และรับฟังในสิ่งที่นักเรียนกำลังเล่า
รับฟังในสิ่งที่นักเรียนเล่าโดยที่ไม่พูดแทรกหรือรีบให้คำแนะนำ เด็กๆ บางคนอาจต้องใช้เวลาในการเรียบเรียงความคิดความรู้สึกแล้วค่อยๆ เล่าออกมา สิ่งที่คุณครูสามารถทำได้ถ้าเห็นจังหวะที่นักเรียนนิ่งไป คือ การตั้งคำถามปลายเปิด เพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าใจตัวเองมากขึ้น (โดยการไล่ถามเป็นลำดับ) เช่น
- “ตอนนี้นักเรียนกำลังรู้สึกอะไร เล่าให้ฟังครูฟังหน่อยได้ไหม”
- “อะไรที่ทำให้นักเรียนรู้สึกผิดหวัง”
- “อยากให้ครูช่วยยังไง”
*หมายเหตุ บ่อยครั้งที่อาจพบว่า นักเรียนไม่สามารถอธิบายความรู้สึกของตัวเองได้ หรือไม่สามารถพูดความต้องการของตัวเองได้ทันที คุณครูอาจจะใช้วิธีการที่ 4 เพื่อช่วยให้นักเรียนรู้สึกดีขึ้นและพร้อมสื่อสารความต้องการก่อนค่ะ
4.ให้เวลาในการเขียนสะท้อนความคิดหรือความรู้สึกตนเอง
คุณครูอาจจะต้องจัดเวลา 10 - 15 นาทีในแต่ละวัน เพื่อให้นักเรียนเขียนสะท้อนความรู้สึกของตนเอง ซึ่งโจทย์ในการเขียนแต่ละครั้งก็อาจปรับเปลี่ยนไป เช่น การให้นักเรียนวิเคราะห์ SWOT* เพื่อให้เห็นทั้งจุดเด่นในตัวเอง จุดที่ควรต้องปรับปรุงหรือพัฒนา รวมทั้งโอกาสและความท้าทายต่างๆ รอบตัว เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกทำความเข้าใจตัวเองในหลากหลายแง่มุมมากยิ่งขึ้น
หมายเหตุ SWOT Analysis คือเครื่องมือวิเคราะห์ปัจจัย 4 อย่าง เพื่อวางแผนในเชิงธุรกิจ ประกอบด้วย Strengths (จุดแข็ง), Weaknesses (จุดอ่อน), Opportunities (โอกาส), Threats (อุปสรรค) แต่คุณครูสามารถนำมาปรับใช้เพื่อให้นักเรียนฝึกวิเคราะห์ตัวเองเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาต่อไปได้
5.ชวนนักเรียนตั้งเป้าหมายใหม่
เมื่อนักเรียนพร้อม คุณครูสามารถชวนนักเรียนก้าวข้ามความผิดหวังในครั้งนี้ด้วยการตั้งเป้าหมายใหม่ เพื่อที่จะไม่ผิดหวังซ้ำอีกครั้ง หรือถ้าจะต้องผิดหวังอีก ก็จะมีแผนสำรองอื่นๆ ให้มั่นใจมากขึ้นว่านักเรียนจะสามารถเดินหน้าต่อได้ เช่น ลองใช้วิธีการ Worst-case Scenario หรือการจำลองสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้น ลองชวนนักเรียนคิดถึงผลลัพธ์หรือสถานการณ์ที่เลวร้ายหรือผิดคาดที่สุดที่อาจเกิดขึ้นจากแผนหลักที่เตรียมไว้ จากนั้นจึงชวนมองหาทางแก้ไขหรือทางออกอื่นๆ แล้วจึงสรุปออกมาเป็นแผนสำรอง เป็นต้น
วิธีการนี้มีไว้เพื่อให้นักเรียนมองหาทางเลือกอื่นๆ ที่เป็นไปได้อีกมากมาย ไม่ต้องยึดติดกับแผนๆ เดียว และเป็นการฝึกทักษะให้นักเรียนมองสถานการณ์ทั้งในภาพรวม และสามารถวิเคราะห์ รมวถึงวางแผนได้อย่างรอบคอบมากขึ้น
6.เปิดโอกาสการขอความช่วยเหลือ หรือสร้างพื้นที่แสดงความรู้สึกให้มากขึ้น
เช่น จัดเวลา 10 นาทีในคาบโฮมรูมเพื่ออัปเดตความรู้สึกของนักเรียน ทำกล่องจดหมายน้อยให้นักเรียนเขียนความรู้สึกของตัวเองในแต่ละวันใส่ไป หรือคุณครูอาจแนะนำแหล่งข้อมูลและช่องทางโซเชี่ยลมีเดียที่น่าสนใจให้นักเรียนก็ได้ เช่น a-cheive ตัวช่วยในการออกแบบเส้นทางชีวิตพร้อมกับดูแลใจ สำหรับนักเรียนมัธยม (https://a-chieve.org) เป็นต้น
ไม่ว่าจะเป็นคุณครูแนะแนว หรือคุณครูวิชาใดๆ ก็สามารถนำ 6 แนวทางนี้ไปปรับใช้กับเหตุการณ์หรือบริบทที่พบเจอได้เลยค่ะ ถึงแม้บางครั้งอาจจะพบว่า บางวิธีการใช้ไม่ได้ผลกับนักเรียนบางคน แต่ได้ผลกับบางคนแทน นั่นเป็นเพราะนักเรียนทุกคนล้วนมีความแตกต่างกัน และบางคนต้องใช้ระยะเวลาในการช่วยกันดูแลใจกันไปยาวๆ ดังนั้น อย่าเพิ่งรีบร้อน รีบเร่งตัวเองให้สามารถช่วยเหลือเด็กๆ กลับมาเข้มแข็งในเร็ววันก็ได้นะคะ
แนะแนวฮับขอส่งพลังและกำลังใจให้คุณครูมีแรงและความปรารถนาดีที่อยากดูแลนักเรียนต่อไป ดูแลใจเด็กๆ แล้ว อย่าลืมดูแลใจตัวเองกันด้วยนะคะ <3
อ้างอิง :
- How to help students manage disappointing results https://shorturl.at/yBKU9
- Dealing with Disappointment : How to Coach your college students to handle adversity https://shorturl.at/jqIQZ
พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน
หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)
ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง
✅ เรียนฟรี
✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว
✅ มีเกียรติบัตร
คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses