แจก ไอเดียกิจกรรม “รู้ไหม มหาลัยอะไร”
หมวดหมู่: เครื่องมือข้อมูลด้านการสอน
Tags: ไอเดียการสอน
อ่านแล้ว: 4243 ครั้ง
ชวนนักเรียนมารู้จักมหาวิทยาลัยกันค่ะ!
ต้องยอมรับว่าสถาบันการศึกษาในปัจจุบันมีหลากหลายมากๆ ลำพังเท่าที่นักเรียนของพวกเรารู้จักอาจจะมีจำนวนจำกัด ซึ่งนั่นหมายความว่า เด็กๆ อาจพลาดโอกาสได้ทำความรู้จักกับสถาบันอีกมากมาย ที่อาจจะมีเนื้อหาวิชาและคณะที่ตรงกับความสนใจของพวกเขา
วันนี้แอดมินเลยขอนำไอเดียกิจกรรมมาแบ่งปันคุณครูทุกคนค่ะ “รู้ไหม มหาลัยอะไร” (แอดมินขออนุญาตรวบคำว่า มหาวิทยาลัย เป็น มหาลัย ให้สามารถพูดตอนเล่นเกมได้กระชับ) เป็นกิจกรรมที่นักเรียนจะได้เรียนรู้ผ่านตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัย มีเป้าหมายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเรียน และเพิ่มเติมข้อมูลความรู้เรื่องสถาบันการศึกษาให้มากขึ้น
💡 ลักษณะเกม
เป็นรูปแบบการคาดเดาจากโจทย์ ที่เป็นรูป ส่วนหนึ่งจากสัญลักษณ์สถาบันการศึกษาในไทย ทั้งรัฐ ในกำกับรัฐ และเอกชน
พร้อมแล้ว เราไปลุยค่าาาา
ไฟล์สไลด์การสอน https://t2m.io/8Szn5Fe
🗣️ วิธีเล่น
1.อุ่นเครื่อง: ชวนให้นักเรียนจับคู่และสลับกันแลกเปลี่ยน ในประเด็น “มหาวิทยาลัยที่ฉันอยากเรียนต่อ”
2.ชี้แจงเป้าหมายกิจกรรม: อธิบายกติกาการเล่น โดยเน้นย้ำเรื่องพื้นที่ปลอดภัย เชิญชวนให้นักเรียนกล้าเสนอความคิดเห็นและสนุกกับการลองผิดลองถูก โดยคุณครูเองสามารถใช้คำใบ้ชวนนักเรียนคิดเพิ่มเติมได้ เช่น
- มหาวิทยาลัยรังสิต —> มหาลัยนี้มี 2 พยางค์ ตั้งอยู่ในหมู่บ้านเมืองเอก
- มหาวิทยาลัยกรุงเทพ —> ชื่อมหาลัยกับที่ตั้งสวนทางกัน
- มหาวิทยาลัยพะเยา —> มหาลัยนี้ มีแต่เณรทั้งนั้น (พระเยาว์)
- มหาวิทยาลัยทักษิณ —> มหาลัยนี้ชื่อคล้ายอดีตนายกรัฐมนตรีไทยท่านหนึ่ง แต่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกัน
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย —> มหาลัยนี้ เป็นมหาลัยเดียวที่ลงท้ายด้วยคำว่า มหาวิทยาลัย
- มหาวิทยาลัยสวนดุสิต —> มหาลัยนี้ ชื่อมหาลัยหมายถึงสวรรค์ชั้น ที่ 4
3.จัดกลุ่มเพิ่มความสนุก!: คุณครูสามารถเล่นเกมนี้แบบทั้งห้อง หรือให้นักเรียนจัดกลุ่มแบ่งทีมกันก็ได้ เพื่อเป็นการเพิ่มอรรถรส ความสนุก ตื่นเต้น ในการเล่นเกม (อาจจะให้สิทธิ์กลุ่มละ 1 ครั้งในการตอบสลับกันไป)
4.เฉลยกิจกรรม
5.ต่อยอดการเรียนรู้: หลังเฉลยคำตอบแล้ว คุณครูสามารถอธิบายและเพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันการศึกษานั้นๆ ก็ได้ เช่น ที่มา ประวัติ จุดเด่น คณะหรือสายการเรียน รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจ เพื่อชวนนักเรียนให้ลองตั้งคำถาม หรือทบทวนตัวเองว่ามีจุดไหนที่ตรงกับสายการเรียนที่ตัวเองสนใจบ้าง
6.เช็กเอ๊าท์สรุปผลการเรียนรู้: หลังเสร็จกิจกรรม อย่าลืมชวนนักเรียนเช็กเอ๊าท์ ทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรมในวันนี้
ตัวอย่างคำถามเช่น
- “รู้สึกอย่างไรกับกิจกรรมวันนี้”
- “สิ่งที่เราได้เรียนรู้ในวันนี้คืออะไร”
- “สิ่งที่เราค้นพบ หรือเรื่องใหม่ๆ ที่เราได้รู้เพิ่มจากกิจกรรมวันนี้คืออะไร”
- ”คำถามที่ฉันยังสงสัยจากกิจกรมวันนี้คืออะไร”
🧡 สิ่งสำคัญ คือ
การสร้างบรรยากาศตื่นเต้นสนุกสนาน ให้ทุกคนในห้องสามารถมีส่วนร่วมได้ ผู้ที่จะสามารถตอบได้ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นนักเรียนที่หัวไว หรือเสียงดังฉะฉานกล้าแสดงออกเท่านั้น เราสามารถออกแบบกระบวนการเพื่อชวนให้นักเรียนที่ยังไม่กล้าเสนอความเห็น หรือต้องใช้เวลาคิดมากกว่าเพื่อน ได้ตอบบ้าง ขอให้สนุกสนานและเรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียนนะคะ! 😊😊
พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน
หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)
ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง
✅ เรียนฟรี
✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว
✅ มีเกียรติบัตร
คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses