ออกแบบ+เข้าใจ พอร์ตโฟลิโอ ง่ายๆ ด้วย Storyboard
หมวดหมู่: เครื่องมือข้อมูลด้านการสอน
Tags: ทำพอร์ตโฟลิโอ
อ่านแล้ว: 4178 ครั้ง
ออกแบบ+เข้าใจพอร์ตโฟลิโอ ง่ายๆ ด้วย Storyboard
ชวนนักเรียนไปสำรวจและเตรียมความพร้อมสำหรับการทำพอร์ตโฟลิโอง่ายๆ ผ่านการใช้ Storyboard กันค่ะ! กิจกรรมนี้ ถูกออกแบบมาให้เด็กๆ ได้ลงมือ แต่งเติมงานของตนเองตามจินตนาการ แบบเห็นภาพโครงสร้างของพอร์ตโฟลิโอ ที่สนุกและมีลูกเล่นมากขึ้น รวมทั้งเกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักเรียน เพื่อน รวมถึงครูผู้สอนด้วย
🟠 ทำความรู้จัก Storyboard
- Storyboard คือ การวาดและจัดเรียงไอเดียเป็นรูปภาพเป็นช่องๆ ให้เป็นเรื่องราวที่ร้อยเรียง สอดคล้องกัน
- การทำ Storyboard ช่วยให้เราเห็นภาพรวมและสามารถเลือกโฟกัสเนื้อหาแต่ละส่วนได้ดีขึ้น เห็นความเชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผล เห็นว่างานชิ้นนั้นๆ ยังมีช่องโหว่หรือปัญหาตรงไหน เมื่อสมองสามารถจัดระเบียบข้อมูลได้ ก็จะเกิดไอเดียในการสื่อสารที่ทำให้เห็นภาพที่เราต้องการนำเสนอมากขึ้น
- Storyboard เป็นเครื่องมือที่หลากหลายวงการหยิบมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นในวงการภาพยนตร์ วงการครีเอทีฟ หรือสื่อต่างๆ ที่ต้องคิดวางแผนก่อนการถ่ายทำหรือลงมือสร้างสรรค์งานจริง
แนะแนวฮับจึงออกแบบไอเดียการสอน โดยนำ Storyboard มาใช้ เพื่อให้เด็กๆ สามารถร่างแบบไอเดียแฟ้มสะสมผลงาน หรือพอร์ตโฟลิโอ ของตนเองออกมา ได้ลองจัดวางข้อมูล จุดด้อยและจุดแข็งของตนเอง และออกแบบพอร์ตให้ตรงกับคณะ/ สาขาที่ตนเองต้องการได้ยิ่งขึ้น
🟠 กิจกรรมนี้ใช้ระยะเวลา 5-6 คาบ
🟠 วัตถุประสงค์ของกิจกรรมนี้คือ
- เพื่อให้นักเรียนรู้จักโครงสร้างของพอร์ตโฟลิโอ
- เพื่อให้นักเรียนวางแผนออกแบบพอร์ต ให้เหมาะสม เนื้อหาครบถ้วน
- เพื่อให้นักเรียนเห็นไอเดียรูปแบบการออกแบบพอร์ตที่มากกว่า 1 รูปแบบ ผ่านงานเพื่อนๆ ในห้อง
- เพื่อให้นักเรียนประเมินตัวเองด้านความพร้อม สิ่งที่เป็นจุดเด่น และจุดเพื่อการพัฒนา เพิ่มเติมในพอร์ต
- เพื่อให้นักเรียนได้ทบทวนตนเอง ตลอดจนศึกษาเกณฑ์การคัดเลือกเข้าศึกษาในคณะ/ สาขาที่ตนเองสนใจ
🟠 สิ่งสำคัญคือ
การสร้างพื้นที่ปลอดภัย ที่นักเรียนสามารถลดความกังวลในการทำกิจกรรมนี้ เนื่องจากนักเรียนบางคนอาจยังไม่คุ้นชินกับวิธิการ และอาจยังมีข้อมูลไม่ครบถ้วน คุณครูอาจเน้นย้ำว่า กิจกรรมนี้มีเป้าหมายเพื่อพานักเรียนให้เห็นภาพการทำพอร์ต เป็นขั้นตอนการเตรียมพร้อม (กรณีนักเรียนบางคนมีความพร้อม ก็ให้ถือว่าการทำชิ้นงานนี้เป็นการทวนตัวเองไปพร้อมกับเพื่อนๆ ก็ได้)
🟠 ชุดกิจกรรมจะประกอบไปด้วย ใบงานกิจกรรม 4 ใบงาน ตามลำดับการสอน ได้แก่
- ใบออกแบบ จำนวน 1 หน้า
- โครงร่าง Storyboard จำนวน 3 หน้า
- ใบงานกิจกรรม Feedback จำนวน 1 หน้า
- ใบงานกิจกรรม Check-out จำนวน 1 หน้า
สามารถดาวน์โหลดไฟล์ได้ตามลิ้งก์ด้านล่างนี้
📌 ใบงาน https://bit.ly/469c0Wd
📌 สื่อนำเสนอ/สอน (canva) https://t2m.io/SothjwE
1. คุณครูนำเข้าบทเรียน
เริ่มขั้นตอนแรกด้วยการเช็กอิน ชวนถามตอบนักเรียนถึงความพร้อมของการเตรียมตัวในการยื่นคัดเลือกในรอบต่างๆ โดยการให้นักเรียนจับคู่ แล้วสลับกันแบ่งปัน
ตัวอย่างโจทย์เช็กอิน เช่น
- “ให้คะแนนความพร้อมของฉันที่มีต่อการยื่นคัดเลือกในรอบต่างๆ เต็ม 10 ให้กี่คะแนน เพราะอะไร”
- “ความรู้สึกของฉัน เมื่อพูดถึงคำว่า พอร์ตโฟลิโอ คืออะไร เพราะอะไร”
จากนั้นคุณครูแจกใบงานที่ 1 My port storyboard ให้กับนักเรียนคนละ 1 ใบ ชวนนักเรียนเขียนคณะ สาขา ที่ตนเองสนใจ/ยังไม่แน่ใจ ตามหัวข้อในใบงาน ตั้งแต่ข้อ 1 - 5 และข้อ 6 ที่เป็นเช็กลิสต์ 10 ข้อ (สามารถย้อนกลับมาทบทวนและทำควบคู่กับ ใบงานที่ 2 ได้) เพื่อเป็นการตรวจสอบแฟ้มสะสมผลงานของนักเรียนว่ามีส่วนประกอบครบถ้วนหรือครอบคลุมแล้วหรือยัง ดังนั้น ข้อไหนที่ยังไม่แน่ใจ ก็ยังสามารถเว้นว่างไว้ได้จนกว่าจะมีข้อมูลพร้อมแล้ว
หากพอมีเวลาเหลือ ให้คุณครูชวนนักเรียนดูใบงานที่ 2 (ตาราง Storyboard จำนวน 3 ใบ)
-
ชวนนักเรียนจินตนาการถึงแฟ้มสะสมผลงานตามที่ตนเองสนใจหรืออยากให้เป็น เรียงจากซ้ายไปขวา
-
ชวนวาดด้วยดินสอ ปากกา หรือเครื่องมือที่นักเรียนถนัด คุณครูอาจมอบหมายให้นักเรียนกลับไปทำที่บ้านหรือมาทำต่อในคาบถัดไปก็ได้ แต่ในระหว่างการทำให้นักเรียนคำนึงถึง “เช็กลิสต์ 10 ข้อ จากใบงานในคาบที่ 1” ไปด้วย เพื่อเป็นการเช็กและช่วยจัดระเบียบความคิดของนักเรียน
👥 เราอาจแบ่งเด็กๆ ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
- กลุ่มที่มีเอกสารหรือเกียรติบัตรแล้ว เริ่มทำพอร์ตแล้ว แต่อยากทวนเช็กอีกที (โดยปกติจะเป็นช่วงชั้น ม.6)
- กลุ่มที่ยังไม่มีเอกสารหรือเกียรติบัตร กลุ่มที่กำลังเตรียมทำพอร์ต ยังนึกไม่ออกว่าจะใส่ความโดดเด่นของตัวเองเรื่องไหนลงในพอร์ตดี (โดยปกติจะเป็นช่วงชั้น ม.4 - ม.5)
💡 ตัวช่วยก่อนทำ Storyboard
หากมีนักเรียนที่ไม่แน่ใจว่าควรใส่ข้อมูลอะไรดี ให้คุณครูลองตั้งคำถามพร้อมยกตัวอย่างให้เป็นแนวทางไอเดียก็ได้ค่ะ เช่น ถามว่า “ถ้านักเรียนมีเป้าหมายคณะหรือสถาบันในใจแล้ว ให้ลองคิดดูว่า พอร์ตแบบไหนที่น่าจะช่วยแสดงศักยภาพความเป็นเรา ให้พอร์ตเรามีโอกาสผ่านการคัดเลือกมากที่สุด” แล้วยกตัวอย่างแนวทางไอเดีย เช่น หากนักเรียนสนใจอยากเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ลองคิดดูว่า พอร์ตโฟลิโอของเรา น่าจะต้องมีข้อมูล เอกสาร หรือเกียรติบัตรหัวข้ออะไรบ้างนะ?
- บางคนอาจมองว่า น่าจะต้องมีเกียรติบัตรการประกวดด้านภาษา (กรรมการจะได้เห็นศักยภาพทั้งด้านภาษาของเรา)
- บางคนอาจมองว่า น่าจะต้องมีหนังสือรับรองการเข้าร่วมอบรมกับชมรมมัคคุเทศน์ชุมชน ของหน่วยงานภาครัฐ (กรรมการจะได้เห็นกิจกรรมที่เราเคยเรียนรู้นอกห้องเรียน)
- บางคนอาจมองว่า น่าจะต้องมีรูปและสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานอาสาสมัครล่าม ในงานแข่งขันกีฬาระดับประเทศ (กรรมการจะได้เห็นทักษะการใช้ภาษาในชีวิตจริง)
📌 สิ่งสำคัญคือ
- ไม่มีไอเดียหรือคำตอบไหนผิดหรือถูก เพราะข้อมูลทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับว่า
- สามารถนำเสนอเอกลักษณ์ ศักยภาพ ประสบการณ์ และความมุ่งมั่นของตัวนักเรียนคนนั้นๆ ได้หรือไม่
- สามารถเชื่อมโยงและมีโอกาสโน้มน้าวใจกรรมการได้ว่า นักเรียนเจ้าของพอร์ตมีความเหมาะสมกับคณะและสถาบันการศึกษานั้นๆ หรือไม่
- การเขียน Storyboard เป็นการจัดระเบียบความคิด ช่วยให้เห็นภาพรวมและทำแผนได้ชัดเจนขึ้น แต่ก็ยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น เริ่มทำครั้งแรกตอน ม.5 แต่เรียนไปแล้วเปลี่ยนใจ เปลี่ยนเป้าหมาย ก็สามารถกลับมาลองใช้ Storyboard ใหม่ได้
***ข้อเสนอแนะในการทำกิจกรรม คลายความกังวลนักเรียนที่อาจจะไม่มั่นใจหรือไม่ถนัดวาดรูป ให้รู้สึกมั่นใจที่จะใช้การวาดเป็นเครื่องมือถ่ายทอดความคิด มากกว่าการใช้ในงานศิลปะ
ในคาบหรือชั่วโมงถัดไป ให้นำผลงานของแค่ละคนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ + ทำความรู้จักดอกไม้ก้อนหิน (ใช้ใบงานที่ 3)
- คุณครูแบ่งนักเรียนออกเป็น 2 กลุ่ม ตามจำนวนนักเรียนในห้อง เป็นกลุ่ม A และ B
-
ชี้แจงให้รอบแรกกลุ่ม A เป็นจุดปล่อยของ และให้กลุ่ม B เป็นผู้เยี่ยมชม
- นักเรียนกลุ่ม B รับหน้าที่สอบถามเรื่องราวรายและละเอียดในพอร์ตของเพื่อนกลุ่ม A พร้อมทั้งให้ดอกไม้ ก้อนหิน และข้อเสนอแนะหรือ Feedback ลงในชิ้นงานของเพื่อน (เงื่อนไข คือ นักเรียน 1 คนจะต้องได้รับ Feedback จากเพื่อน 5 คน )
- นักเรียนกลุ่ม A รับหน้าที่อธิบาย ขยายความ หรือยกตัวอย่าง ฝึกการนำเสนอข้อมูลของตัวเอง
-
สลับบทบาทในรอบ2 โดยให้กลุ่ม A เป็นผู้เยี่ยมชมผลงานเพื่อนกลุ่ม B
การอธิบายสัญลักษณ์ในใบงานที่ 3
- สัญลักษณ์ดอกไม้ คือ สิ่งที่ทำได้ดี หรือจุดน่าสนใจของชิ้นงาน
- สัญลักษณ์ก้อนหิน คือ สิ่งที่เป็นอุปสรรค หรือจุดอ่อนที่น่าปรับปรุงของชิ้นงาน
- สัญลักษณ์กล่องข้อความ คือ คำแนะนำอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อการพัฒนาชิ้นงาน
อย่าลืมเผื่อเวลาช่วงท้ายให้นักเรียนได้กลับมาอยู่กับตัวเอง
อาจเป็นการเช็กเอ๊าท์ความรู้สึก ให้คะแนนการทำงานของตนเองในคาบนี้ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรม และสิ่งที่อยากต่อยอดในพอร์ตโฟลิโอของตัวเอง ลงไปในใบงานที่ 4
หากมีเวลาเหลือ
คุณครูสามารถชวนนักเรียนแลกเปลี่ยนวงใหญ่ สรุปสิ่งที่แต่ละคนได้เรียนรู้จากกิจกรรม เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้จากเพื่อนคนอื่นๆ ด้วย
ตัวอย่างชิ้นงาน
เครดิต: ออกแบบกิจกรรมและใบงานโดย สุขสันต์ เพชรอาภรณ์
อ้างอิง
2.https://boords.com/storyboard-examples
พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน
หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)
ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง
✅ เรียนฟรี
✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว
✅ มีเกียรติบัตร
คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses