Keywords พิชิต TCAS

หมวดหมู่: เครื่องมือข้อมูลด้านการสอน

Tags: 

อ่านแล้ว: 452 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

“ครูขา คำนี้หมายถึงอะไรเหรอคะ แล้วอันนี้แปลว่าหนูต้องส่งครบทุกอันไหม?”

ฤดูกาล TCAS ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ไม่แปลกเลยหากคุณครูจะได้พบคำถามนี้ (และอีกหลายร้อยคำถาม) บ่อยขึ้น เพราะคำศัพท์บางคำในระเบียบการรับสมัคร อาจมีทั้งที่สื่อความหมายชัดเจนและมีความคลุมเครือ ซึ่งสำหรับนักเรียนแล้วถือว่าท้าทายและต้องอาศัยการทำความเข้าใจมากๆ ค่ะ วันนี้แนะแนวHUB เลยอยากหยิบประเด็นเหล่านี้มาเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลให้คุณครู สำหรับช่วยเหลือนักเรียนในการตีความเพื่อพิชิต TCAS โดยเฉพาะในรอบที่ 1 และ 2 นี้

จะมีคำไหนบ้าง เราไปดูเลยกันค่ะ!

ชื่อภาพ

"เชิงประจักษ์" หมายถึง ชัดเจน เห็นได้ชัด มีหลักฐานยืนยัน

คำนี้เป็นคำที่เจอค่อนข้างบ่อย โดยเฉพาะโครงการเด็กดีมีที่เรียน “ในเชิงประจักษ์” หมายถึง การแสดงหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นรูปถ่าย เกียรติบัตร หนังสือรับรอง เอกสารใดๆ ที่จะเป็นเครื่องยืนยันทักษะความสามารถนั้นๆ ได้ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น “การเป็นผู้มีจิตอาสา” หลักฐานที่เกี่ยวข้องควรเป็น เกียรติบัตรการเข้าร่วมค่ายจิตอาสาของโรงเรียน เกียรติบัตรช่วยกิจกรรมจากโรงเรียน เป็นต้น

ชื่อภาพ

"ผลงานโดดเด่น" หมายถึง สะดุดตา น่าสนใจเป็นพิเศษ

ขอให้เตรียมเนื้อหาที่น่าสนใจเพื่อยื่นผลงาน ซึ่งหมายความว่า นักเรียนควรตั้งหลักคัดเลือกหรือหยิบผลงานที่อาจมีจำนวนมาก มาเฉพาะอันที่มีความโดดเด่น เพราะขึ้นชื่อว่า “ผลงานโดดเด่น” ก็เป็นข้อได้เปรียบหนึ่งที่กรรมการจะใช้ในการตัดสินใจคัดเลือกโดยผลงานที่โดดเด่นนี้ ควรต้องสอดคล้องกับโครงการหรือสาขา ที่จะยื่นสมัครด้วย ตัวอย่างเช่น ให้ผู้สมัครแสดง “ผลงานที่มีความโดดเด่น” ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ งานที่เป็นผลงานโดดเด่น อาจจะมาจากโปรเจกต์ที่ได้ร่วมงานกับหน่วยงาน หรือผลการแข่งขันที่ได้รับรางวัล เป็นต้น

ชื่อภาพ

"จะพิจารณาเป็นพิเศษ" หมายถึง ให้ความสำคัญ ให้ความสนใจมาก หรือมีคะแนนพิเศษ

เป็นหนึ่งคำที่เจอแล้วต้องรีบกลับบ้านเพื่อตั้งหลักเตรียมตัวกันเลยทีเดียว เพราะคำนี้ จะหมายถึงสิ่งที่ทางสถาบันหรือโครงการที่เปิดรับสมัคร ให้ความสำคัญมาก อาจจะทำให้นักเรียนมีสิทธิ์ในการผ่านคัดเลือกได้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หากนักเรียนมีคะแนนสอบวัดความสามารถทางด้านภาษาที่ 3 จะพิจารณาเป็นพิเศษ เป็นต้น

ชื่อภาพ

"เป็นโมษะ" หมายถึง การตัดสิทธิ์ กรณีการทำไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข ส่งผลให้ผู้สมัครไม่ผ่านการคัดเลือก

เป็นเงื่อนไขหนึ่งในกติกาการดำเนินการต่างๆ ไม่ว่าจะรอบใดๆ หมายความว่า นักเรียนต้องมีข้อมูลเตรียมพร้อมสำหรับการยื่นสมัครให้เป็นไปตามเงื่อนไข และไม่ขัดกับกติกา เพราะมิฉะนั้นจะถูกตัดสิทธิ์ หรือ “เป็นโมษะ” ทันที ยกตัวอย่างเช่น ระเบียบของมหาวิทยาลัยหนึ่งอาจอนุญาตให้นักเรียนสามารถสมัครได้หลายโครงการ แต่ในบางมหาวิทยาลัยอาจจะเป็นเงื่อนไขที่หากสมัครมากกว่า 1 โครงการ จะทำให้นักเรียนถูกตัดสิทธิ์ทันที ดังนั้นอย่าลืมที่จะศึกษารายละเอียดในโครงการดีๆ นะคะ

ชื่อภาพ

"ไม่ต่ำกว่า" หมายถึง ไม่น้อยกว่า น้อยกว่าไม่ได้

เป็นคำที่เจอบ่อยมากๆ ในเงื่อนไขของหลายๆ โครงการ คำว่า “ไม่ต่ำกว่า” ใกล้เคียงกับคำว่าไม่น้อยกว่า น้อยกว่าไม่ได้ หรือถ้าน้อยกว่าอาจจะไม่มีสิทธิ์สมัครก็เป็นได้ ดังนั้นคุณครูอาจจะต้องชวนนักเรียนมาพูดคุยเพื่อให้เข้าใจโอกาสในการยื่นสมัคร เช่น ผู้สมัครจะต้องมีเกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.50 แต่มีนักเรียนบางคนที่ได้เกรดเฉลี่ย 2.49 และอยากยื่นสมัครหลักสูตรนั้นๆ ก็มีแนวโน้มที่จะไม่ได้รับการพิจารณา อย่างไรก็ดี คุณครูสามารถชวนนักเรียนมาพูดคุยและคาดการณ์ถึงผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น (ทั้งโอกาสและความเสี่ยง) เพื่อให้นักเรียนตั้งรับอย่างเข้าใจ

ชื่อภาพ

"ข้อใดข้อหนึ่ง / ด้านใดด้านหนึ่ง" หมายถึง ให้ตัดสินใจเลือก หรือเลือกเพียงข้อหนึ่งข้อใด หรือด้านใดด้านหนึ่ง เท่านั้น

เป็นอีกคำที่นักเรียนหลายๆ คนมักถามบ่อยๆ ตัวอย่างเช่น “ต้องมีความคุณสมบัติด้านใดด้านหนึ่ง ถึงสามารถสมัครได้” และคำถามที่นักเรียนมักถามตามมา คือ ถ้ามี มากกว่า 1 ด้าน ได้ไหม? ส่วนตัวแอดมินอยากเสนอคำแนะนำว่า ต้องดูเงื่อนไขของคุณสมบัติที่หลักสูตรนั้นๆ ระบุให้ชัดเจนก่อน ว่าหมายถึงอะไร เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโมฆะหรือผิดกติกา เช่น ความสามารถ บางสถาบันอาจจะหมายถึง ให้เลือกความสามารถที่โดดเด่นเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าหมายถึง ความสามารถทางด้านภาษาข้อใดข้อหนึ่ง ถ้าสถาบันไม่ระบุให้เลือกได้แค่เพียง 1 ข้อ นั้นก็หมายความว่า การมีมากกว่า 1 ก็จะเป็นประโยชน์ หรือเป็นข้อได้เปรียบมากกว่า

ชื่อภาพ

"ถ้ามี" หมายถึง ไม่บังคับ ทำตามความสมัครใจ หรือเท่าที่มีข้อมูล

คำนี้หมายถึง จะมีหรือไม่มีก็ได้ ให้ทำตามความสมัครใจ หรือกรอกเท่าที่นักเรียนมีข้อมูล ซึ่งข้อมูลนี้แม้ไม่ถูกบังคับให้ต้องส่งหรือต้องแสดงข้อมูล แต่ก็อาจเป็นอีกหนึ่งอย่างที่จะช่วยทำให้กรรมการพิจารณามีข้อมูลของผู้สมัครเพิ่ม เช่น ถ้ามีหลักฐานการเข้าร่วมกิจกรรม โปรดแนบหลักฐานประกอบ เป็นต้น


คอร์สเรียนฟรี สุดพิเศษ เอาไปใช้ได้จริง! สำหรับครูแนะแนว

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ มีเกียรติบัตร ***จะได้รับเมื่อทำ Quiz และแบบประเมินหลังเรียนจบเรียบร้อย

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา