รู้จัก ChatGPT : AI จะเป็นอับดุลสำหรับครูแนะแนว (ได้ไหม?)
หมวดหมู่: เครื่องมือข้อมูลด้านการสอน
Tags: ChatGPT
อ่านแล้ว: 963 ครั้ง
ยุคนี้ ใครๆ ก็พูดถึง AI
เทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น อาจช่วยทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น ในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นที่เราทุกคนจะต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยเฉพาะคุณครูที่ต้องรับบทหนัก เพราะนอกจากจะต้องเรียนรู้แล้ว ยังต้องปลูกฝังและดูแลนักเรียนของพวกเราให้สามารถใช้งานเทคโนโลยีอย่างเหมาะสมด้วย
แล้วครูแนะแนวควรทำยังไงดีนะ? วันนี้ แนะแนวฮับ จึงอยากชวนคุณครูมาทำความรู้จักกับเจ้าเทคโนโลยี AI ให้มากขึ้น โดยครั้งนี้ขอหยิบตัวที่ชื่อว่า ChatGPT มาแบ่งปันกันค่ะ (ยังมี AI อีกหลายตัว ที่มีความสามารถที่หลากหลายแตกต่างกันไป อยากรู้จักตัวไหนเป็นพิเศษ สามารถแจ้งแอดมินได้เลยนะคะ)
ChatGPT คืออะไร?
-
คือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่พัฒนาโดยบริษัท OpenAI เปิดตัวเมื่อช่วงปลายปี 2565
-
ย่อมาจากคำว่า "Chat" และ "Generative Pre-training Transformer" เป็น AI รูปแบบแชตบอท (Chatbot) ที่สามารถจดจำและดึงข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต มาตอบคำถามและแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้งานได้ เสมือนพิมพ์คุยโต้ตอบกัน
-
ตัวอย่างสิ่งที่ ChatGPT ทำได้และเป็นประโยชน์ ช่วยให้ชีวิตเราง่ายขึ้น เช่น การให้ข้อมูลเหมือนเวลาเราสืบค้นผ่าน Google แต่ที่ทำได้มากกว่านั้น คือ สามารถแก้โจทย์คณิตศาสตร์ แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว แปลงาน เขียนโปรแกรมเบื้องต้น แต่งเพลง จัดทริปการเดินทาง รวมไปถึงผู้ใช้บางคนก็ชวน ChatGPT เล่นมุกตลก!
-
คำถามที่หลายคนเริ่มสงสัย คือ ChatGPT (รวมถึง AI ตัวอื่นๆ) จะแย่งงานมนุษย์ได้จริงหรือไม่ ซึ่งมีการศึกษาพบว่า คนทำงานมีโอกาสได้รับผลกระทบทั้งทางบวกและลบแน่นอน แต่จะอยู่ในสัดส่วนที่ต่างกันไป
-
จากการศึกษาของบริษัท OpenAI, ทีม OpenResearch และ University of Pennsylvania พบว่าอาชีพที่เสี่ยงจะถูกผลกระทบสูง เพราะ ChatGPT สามารถดึงข้อมูลมาประมวลผลแทนมนุษย์ได้ในเวลาอันสั้น เช่น นักแปล นักคณิตศาสตร์ ผู้เตรียมข้อมูลภาษี เจ้าหน้าที่พิสูจน์อักษร นักบัญชี นักข่าว ฯลฯ ในขณะที่อาชีพที่ไม่เสี่ยง มักเป็นอาชีพที่ใช้แรงงาน ซึ่งมนุษย์ยังต้องเป็นคนทำเอง เช่น นักกีฬา ช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์ นักแล่ปลา ฯลฯ
-
บริษัทเทคโนโลยีเจ้าอื่นอีกมาก ที่พัฒนา AI ขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกในมนุษย์ ซึ่ง AI แต่ละตัวจะมีจุดเด่นที่ต่างกันไป เช่น ผู้ใช้สามารถใส่คำหรือข้อความลงไป ให้ AI ทำไฟล์นำเสนองาน จองตั๋วเครื่องบิน หรือสร้างรูปภาพขึ้นมาให้ได้ (เคยมีกรณีที่ถกเถียงกันมากในวงการศิลปะ เมื่อศิลปินบางคนใช้ AI วาดรูปเพื่อส่งประกวด!)
แหล่งอ้างอิง https://arxiv.org/pdf/2303.10130.pdf https://www.thairath.co.th/lifestyle/tech/2640561
ChatGPT กับโอกาสสำหรับวิชาแนะแนว
หากมองว่า ChatGPT เป็นตัวช่วย ก็อาจเป็นโอกาสในการทำงานแนะแนวได้สะดวกและน่าสนใจขึ้น ผ่านการใช้ Prompt เช่น
-
ใช้ประมวลผล ทำสถิติข้อมูลผู้เรียน
-
ใช้ช่วยออกแบบและร้อยเรียงหัวข้อเนื้อหาการเรียนการสอนในวิชาแนะแนว
-
ใช้สืบค้นข้อมูลอาชีพ เพื่อเพิ่มความรู้ เปิดโลกอาชีพที่หลากหลาย หรือข้อมูลอื่นๆที่เป็นประโยชน์ต่องานแนะแนว
-
ใช้เขียนแคปชั่นหรือตั้งชื่อเนื้อหาการเรียนการสอนและงานบริการสนเทศของงานแนะแนวให้น่าสนใจ
-
ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล แนวโน้มต่างๆ ในสังคม เสมือนที่ปรึกษาข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ
หมายเหตุ Prompt คือ การเขียนข้อความหรือประโยคที่อธิบายสิ่งที่เราต้องการให้ AI สร้างสิ่งนั้นขึ้นมา หากเขียนละเอียด ชัดเจน ครอบคลุม ก็จะยิ่งทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น (ปัจจุบันเกิดทักษะ Prompt Engineering ที่สามารถสร้างเงินได้จากการคิดคำสำหรับสั่งการ AI)
จุดที่น่าสนใจและข้อควรระวัง สำหรับคุณครูแนะแนว
ความน่าสนใจ
-
เป็นเทคโนโลยีที่กำลังมาแรง มีการพัฒนาต่อเนื่อง และถูกนำไปใช้ในหลายวงการ หลายแพลตฟอร์ม และหลายโปรแกรมเครื่องมือ ในอนาคตอันใกล้จะมีตัวช่วยให้เราทำงานได้ง่ายและสะดวกขึ้น
-
มีแบบ plus และแบบฟรี (ตัวที่ฟรี อาจมีปัญหาคำตอบไม่ค่อยแม่นยำและระบบติดขัดบ้าง หากมีผู้เข้าใช้งานเป็นจำนวนมาก)
-
สามารถโต้ตอบด้วยภาษาไทยได้ แต่การแปลคำหรือเรียบเรียงประโยคยังติดขัดบ้าง
ข้อควรระวัง
-
เนื่องจากเป็นการทำงานด้วยการดึงข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ผู้ใช้จึงต้องมีทักษะ ความรู้ และวิจารณญาณในการใช้งาน รวมถึงต้องตรวจสอบความถูกต้องจากแหล่งอื่นที่น่าเชื่อถือ ควบคู่ไปด้วย (เท่าที่แอดมินลองใช้งานดู ข้อมูลที่ได้มีทั้งที่ถูกต้อง ถูกบ้างผิดบ้าง และผิดทุกจุดเลย ก็มีค่ะ)
-
เป็นเครื่องมือที่ใครก็สามารถเข้าใช้งานได้ และสามารถให้ทั้งคุณและโทษ เคยมีกรณีที่ผู้ใช้ทดลองให้ ChatGPT ทำการบ้านให้ ทำวิทยานิพนธ์ให้ และใช้ในการสืบค้นหรือพูดคุยหัวข้อที่ไม่เหมาะสม
-
ทุกอย่างดูง่ายแค่ปลายนิ้วและประหยัดเวลามาก ในขณะเดียวกันก็อาจลดทอนคุณค่าของความพยายามในการเรียนรู้ด้วยตนเอง การให้เวลาในการพัฒนาทักษะตนเอง การฝึกการจำ ฯลฯ
สามารถสมัครลองใช้งานได้ที่ https://chat.openai.com/auth/login
“ครูคะ อาชีพที่หนูอยากทำ จะโดน AI แย่งงานไหม”
นี่อาจเป็นหนึ่งในคำถามติดดาวประจำปี 2023 ที่นักเรียนอาจเริ่มมาขอคำปรึกษาจากครูแนะแนว ก็ว่าได้ค่ะ เพราะข้อมูลการวิเคราะห์และวิจัยจากหน่วยงานมากมายที่ระบุไปในทิศทางเดียวกันเลยว่า การมาของเทคโนโลยี AI ครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอีกต่อไป ทุกอาชีพล้วนได้รับผล (ขึ้นอยู่กับว่าเป็นบวกหรือลบ) แม้คนที่ทำงานอาชีพเดียวกัน ก็อาจมีมุมมองที่ต่างกันก็ได้
แล้วครูแนะแนวอย่างเราจะทำยังไงดีนะ? แนะแนวฮับจึงมีแนวทางเล็กๆ น้อยๆ มาเสนอ เผื่อคุณครูจะนำไปใช้ชวนนักเรียนตั้งหลักให้พร้อมโต้คลื่นการเปลี่ยนแปลงที่จะมีมาอีกเรื่อยๆ ค่ะ
1.ตระหนัก ไม่ตระหนก (Awareness)
-
อัปเดตข่าวสารแบบมีสติเสมอเมื่อเจอข้อมูลใหม่ๆ เสพสื่ออย่างมีวิจารณญาณ เลือกข้อมูลที่มีแหล่งข้อมูลที่อ้างอิงได้ เชื่อถือได้
-
เป็นผู้เรียนรู้ที่พร้อมเปิดรับมุมมองความรู้ เครื่องมือใหม่ๆ แต่ก็ไม่ละเลยองค์ความรู้เก่า ที่อาจมองในมุมมองหรือประเด็นใหม่ๆ เพิ่มได้
2.ผู้ที่ปรับตัวได้คือผู้ที่จะอยู่รอด (Adaptibility และ Resilence skill)
-
เห็นความสำคัญของการปรับตัว ซึ่งต้องอาศัยเวลาและสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ได้ฝึกทักษะการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง (ที่บางครั้งมาแบบฉับพลัน หรือเมื่อต้องพบความผิดหวัง ผิดแผน)
-
ฝึกฝนทักษะทั้งด้านการคาดการณ์ การคิดวิเคราะห์สถานการณ์ การวางแผนหลัก-แผนสำรอง การตัดสินใจ รวมถึงทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
3.การเข้าใจตัวเองยังเป็นสิ่งสำคัญ (Self-Understand/ Self-awareness)
-
เข้าใจตัวเอง ความฝัน ความคาดหวัง เรื่องที่สนใจ ความถนัดหรือจุดแข็งที่มี เรื่องที่ยังไม่ถนัดหรือยังทำได้ไม่ดีนัก และเท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง รู้ว่าเวลาใดควรพักจอจากการเสพข้อมูล เวลาใดควรทำกิจกรรมอื่นที่ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด เป็นต้น
-
เข้าใจบริบทแวดล้อมรอบตัว ทั้งภูมิหลัง ความคาดหวัง หรือเงื่อนไขของครอบครัว ไปจนถึงบริบทที่กว้างขึ้น อย่างเทรนด์ กระแสสังคม
แนะนำเครื่องมือค้นหาตัวเองและออกแบบเส้นทางชีวิต คลิก https://a-chieve.org/doll-activity/map
4.ในวันที่ใจไม่ไหว พื้นที่ตรงนี้พร้อมโอบอุ้มเสมอ (Safe space และ Mental health)
-
ไม่ลืมว่านักเรียนยังมีคุณครูและเพื่อนคนอื่นๆ ในห้อง ที่จะคอยเป็นกำลังใจ พร้อมรับฟัง และพร้อมสนับสนุนเสมอ
-
ฝึกฝนพัฒนาทักษะการดูแลใจตัวเองและคนใกล้ตัว ให้สามารถลุกขึ้นยืนและสู้ชีวิตต่อได้อีกครั้ง
แนะนำเครื่องมือสำรวจอารมณ์ คลิก https://a-chieve.org/emotion-survey
หากยังไม่มั่นใจ อยากได้ที่ปรึกษาที่เข้าใจ คุณครูยังมีแนะแนวฮับนะคะ!
เราคือเพื่อนที่พร้อมสนับสนุนการทำงานแนะแนวแบบรอบด้าน ที่เข้าใจ เป็นพื้นที่ปลอดภัยและพึ่งพาได้ สำหรับครูทุกคน
พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน
หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)
ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง
✅ เรียนฟรี
✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว
✅ มีเกียรติบัตร
คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses