ถอดบทเรียนการจัดค่ายพัฒนานักเรียนแกนนำ YC ของ 4 ครูแนะแนวรุ่นใหม่ฯ
หมวดหมู่: พื้นที่เพื่อนครู
Tags: ครูแนะแนวรุ่นใหม่ เครือข่ายครูแนะแนว ค่ายพัฒนานักเรียนYC
อ่านแล้ว: 1267 ครั้ง
“จะสอบเข้าจิตวิทยาให้ได้และจะช่วยคนอีกเยอะๆ เลยครับ”
“จะเอาความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ต่อในอนาคต และจะพัฒนาทักษะด้านนี้ของตนเองให้ดีขึ้นไปอีก!”
“กิจกรรมวันนี้ได้ความรู้และสนุกมาก ได้รู้จักการกล้าแสดงออก กล้าจับไมค์ทั้งที่ปกติไม่กล้า ได้เรียนรู้ที่จะไว้ใจ กล้าเล่าปัญหาให้คนอื่นฟังและเปิดใจรับคำปรึกษาจากเขา เรียนรู้ที่จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้คนอื่น วันนี้สนุกมาก รู้สึกขอบคุณตัวเองที่สมัครมา”
นี่คือเสียงส่วนหนึ่งจากนักเรียนระดับชั้น ม.2 - ม.6 จำนวน 41 คน ที่เข้าร่วมค่ายพัฒนานักเรียนแกนนำ YC (Youth Counselor)
ของคุณครูซัน - วัฒนพงศ์ ล้วนเส้ง ครูแนะแนวฯ รุ่น1 โรงเรียนชลราษฎรอำรุง จ.ชลบุรี เมื่อวันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 9.00 - 16.00น. ค่ะ
HIGHLIGHT ทีมงานแนะแนวฮับ พบว่าค่ายนี้มีความพิเศษถึง 4 เรื่อง คือ
- เป็นการอบรม YC รูปแบบใหม่ด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบ Active learning
- ได้คุณครู 3 ท่านจากโครงการครูแนะแนวรุ่นใหม่ฯ* มาเป็นวิทยากรพิเศษ ได้แก่
- ครูหมูแดง - กฤษณี เพ็ชรสงฆ์ ครูแนะแนวฯ รุ่น1 จากโรงเรียนบางพลีราษฎร์บำรุง จ. สมุทรปราการ
- ครูคิม - สุขสันต์ เพชรอาภรณ์ ครูแนะแนวฯ รุ่น 3 จากโรงเรียนธัญบุรี จ. ปทุมธานี
- ครูอ้อย - ศิรินญา นวลจริง ครูแนะแนวฯ รุ่น 3 จากโรงเรียนวรราชาทินัดดามาตุวิทยา จ. ปทุมธานี
- คุณครูทั้ง 4 ท่านเป็นเพื่อนสมัยเรียนกันมาก่อน แม้ตอนนี้จะประจำการเป็นครูแนะแนวอยู่คนละโรงเรียน ก็เห็นโอกาสกลับมาร่วมงานกัน โดยอาศัยหลักคิดและแนวทางกิจกรรมส่วนหนึ่งที่ได้จากการเข้าร่วมอบรมโครงการครูแนะแนวรุ่นใหม่ สร้างเด็กไทยให้ออกแบบชีวิตตัวเองได้
- ค่ายจบคนไม่จบ เพราะทีมงานหลักทั้ง 4 คนได้ผูกหัวใจทำสัญญากันเรียบร้อยว่าจะมีโอกาสขยายผลต่อแน่นอน ทั้งในโรงเรียนชลราษฎรอำรุง และโรงเรียนของเพื่อนครูอีก 3 คน และมีแนวโน้มจะค่อยๆ ชวนเพื่อนครูที่สนใจคนอื่นๆ เข้ามาเสริมทัพด้วย
ที่มาที่ไปของงานเป็นอย่างไร เกิดผลอะไรขึ้นบ้าง แล้วถ้าคุณครูที่กำลังอ่านอยู่มีความสนใจอยากจัดค่ายแบบนี้ที่โรงเรียนเองบ้างจะต้องทำยังไง ติดตามได้ในบทสัมภาษณ์สุดพิเศษนี้ได้เลยค่ะ 🙂
หมายเหตุ ขอขอบคุณภาพบรรยากาศจากฝ่ายแนะแนว โรงเรียนชลราษฎรอำรุง จ.ชลบุรี และ ฝ่ายโสตทัศนศึกษา โรงเรียนบางพลีราษฎร์บำรุง จ.สมุทรปราการ
เพราะพื้นที่ปลอดภัยคือหัวใจหลักของการให้คำปรึกษา
“ตามจริงเราไม่ได้จัดกิจกรรมแบบนี้มาระยะหนึ่งแล้ว เหตุผลที่ตัดสินใจจัดครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่โรงเรียนเราจะมีนักเรียนแกนนำ YC ด้วย ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายพัฒนาผู้เรียน ซึ่งเราในฐานะครูแนะแนวมองว่า ทักษะด้านการให้คำปรึกษาเป็นทักษะสำคัญโดยเฉพาะในช่วงวัยของนักเรียนที่เขาจะต้องมีการพูดคุยและดูแลกันและกันอยู่แล้ว บวกกับเสียงเรียกร้องของนักเรียนด้วย เลยตัดสินใจเดินเรื่องจัดกิจกรรม
ตอนเลือกหัวข้อและรูปแบบงาน เราชัดเจนกับตัวเองเลยว่า อยากเลือกเรื่อง พื้นที่ปลอดภัย มาเป็นหัวข้อหลักของงาน เพราะมันคือหัวใจสำคัญของการให้คำปรึกษาเลย นอกจากเด็กๆ จะใช้แข่งขันกิจกรรมนักเรียนเพื่อนที่ปรึกษา (Youth Counselor: YC) แล้วเราเชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นพื้นฐานที่เขาสามารถใช้เพื่อดูแลกันและกันได้ เอาไปใช้กับคนรอบตัวที่บ้านได้ และสำหรับนักเรียนคนที่สนใจก็สามารถต่อยอดเก็บเป็นประสบการณ์สำหรับการเรียนต่อได้ด้วย
พอได้หัวข้อและขอบเขตเรียบร้อย ขั้นต่อไปคือการหาวิทยากร ซึ่งคิดถึงครูหมูแดงคนแรกเลย ต้องคนนี้เท่านั้น (ยิ้ม) ที่เจาะจงว่าต้องคนนี้ เพราะเราเห็นว่าเขามีทักษะความรู้ มีประสบการณ์ เขาจริงจังและจัดกระบวนการเรียนรู้ให้นักเรียนที่โรงเรียนต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งที่หมูแดงมีคือหลักการและแนวทางที่เราได้เรียนรู้ด้วยกันมา ตั้งแต่ตอนเข้าอบรมในโครงการครูแนะแนวฯ รุ่นที่ 1 ของ a-chieve เลยทำให้เราเชื่อและวางใจในตัวเพื่อน และคิดว่าอยากให้มาสร้างฐานเรื่องพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กๆ ของเรา
ตอนประชาสัมพันธ์ไปมีนักเรียนที่สนใจสมัครเข้ามา 70 คนได้ ดีใจมากๆ แต่เราก็สื่อสารไปว่ารับได้ 40 คนนะ เพราะเราเองก็มีข้อจำกัดบางอย่าง ความตั้งใจคือการรักษาคุณภาพให้สามารถดูแลนักเรียนที่เข้าร่วมได้ทั่วถึงด้วย
แต่พูดตามตรงว่า แม้เราจะตั้งใจจัดค่ายนี้แต่ตัวเราเองไฟมอดมากและมีภาระงานที่ค่อนข้างเยอะ เลยไม่ได้ช่วยนำกิจกรรมหลักอะไร จะเน้นส่วนการจัดการและสนับสนุนมากกว่า ซึ่งผลออกมาคือ คุณครูทีมวิทยากรทำออกมาดีมาก ไหลลื่น เป็นธรรมชาติ จนงงว่า นี่ทำงานประจำเป็นวิทยากรเหรอ (หัวเราะ) คือเขาสามารถทำให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาทฤษฎี และเชื่อมโยงกับชีวิตจริงได้ ซึ่งเมื่อเด็กๆ กล้าบอกความรู้สึกและความคิดของตัวเอง รับรู้ความสำคัญของการรับฟังและมีแนวทางในการการให้คำปรึกษาที่ถูกต้อง เข้าใจในความแตกต่างหลากหลาย มันจะเป็นคุณสมบัติที่สำคัญในการเป็นเพื่อนที่ปรึกษาเลย
นักเรียนผู้เข้าร่วมก็ว้าวกันนะ เพราะเขาไม่เคยทำอะไรแบบนี้ เพื่อนครูในโรงเรียนหลายคนก็ประหลาดใจและให้ความสนใจดี แต่ถ้าในฐานะคนจัด ส่วนตัวเราว้าวกับเพื่อนครูวิทยากรทั้ง 3 คนเลย มันเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้เราเห็นอีกมุมของเพื่อน เห็นจังหวะการสื่อสาร สายตา คำพูด การนำกระบวนการของเพื่อนที่เติบโตขึ้น แต่ละคนสามารถสนับสนุนวิทยากรหลักในแต่ละช่วงและสนับสนุนเด็กๆ ได้ ที่ตลกคือ ทีมครูวิทยากรดูมีความสุขมากกว่าตอนเป็นครูอีก (หัวเราะ)
จบจากงานนี้ ครูที่ปรึกษาชุมนุมแนะแนวก็มีคุยกันครับ ว่าปีการศึกษาหน้าเราจะวางแนวทางพัฒนาด้าน YC ให้นักเรียนแบบไหน เพื่อต่อยอดจากสิ่งที่เด็กๆ ได้เรียนรู้จากค่ายให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น และเรามีแผนขยายผลสำหรับนักเรียนกลุ่มอื่นๆ ในโรงเรียนด้วย เช่น นักเรียนห้อง Gifted ประมาณ 60 คน ที่เราอยากดูแลเขาเรื่อง Self-esteem เรื่อง Mental Health หลายคนอาจมองว่าเด็กกลุ่มนี้เก่งวิชาการ แต่จริงๆ แล้วเขาก็มีเรื่องเครียดที่ต้องการคนสนับสนุนเหมือนกัน
อยากฝากถึงเพื่อนครูที่สนใจแต่ยังไม่มั่นใจครับ ว่า อยากให้เชื่อว่า ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ เชื่อว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงชั้นเรียนได้ เปลี่ยนแปลงห้องเรียนได้ เปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนรู้แบบเดิม (ที่อาจยังไม่เวิร์ก) ได้ แม้มันจะเปลี่ยนได้ 1% จาก 100 มันก็คือการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เรากำลังจะทำมันอาจไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับทั้งโรงเรียนหรือทั้งเครือข่ายในเขต แต่มันจะเป็นจุดเล็กๆ ที่จะค่อยๆ ขยายออกในวันข้างหน้า
ถ้าจะเริ่มเปลี่ยนแปลงก็ต้องเริ่มจากจุดเล็กๆที่ตัวเรานี่ล่ะ แม้ไฟมันจะมอด ใจมันจะล้า อยากชวนให้กลับไปที่เป้าหมาย กลับไปที่ภาพฝันของเราครับ ถ้าเราอยากให้ค่ายพัฒนานักเรียนแกนนำ YC มันเกิด อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในแนวทางที่ดี ตัวครูเองก็ต้องเริ่มก่อน เริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เปลี่ยนแปลงความคิด จัดการดูแลทัศนคติหรือมุมมองที่อาจเคยอคติกับเรื่องต่างๆ มันมีโอกาสรอบตัว ถ้าเราทำอันไหนไม่ได้ ลองปรึกษาเพื่อนครู มองหาการสนับสนุนดู ขอเป็นกำลังใจให้คุณครูทุกคนครับ”
- ครูซัน - วัฒนพงศ์ ล้วนเส้ง ครูแนะแนวฯ รุ่น1 โรงเรียนชลราษฎรอำรุง จ.ชลบุรี
รูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียน มีอยู่จริง
“สำหรับค่ายพัฒนาแกนนำ YC ครั้งนี้ เราออกแบบกระบวนการเรียนรู้ภายใต้เป้าหมาย 3 ข้อ คือ เพื่อให้นักเรียนฝึกทักษะการให้คำปรึกษา ได้รู้จักพื้นที่ปลอดภัย และเข้าใจกระบวนการให้คำปรึกษา
เรื่องของเรื่องคือ เราเองก็ยังงงว่าทำไมครูซันเชื่อในตัวเราขนาดนี้ (หัวเราะ) เพราะเรามองว่าเราไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังอะไร ภารกิจของโรงเรียนตัวเองก็ตึงมือไม่ต่างกับเพื่อนครูคนอื่นๆ เลยจะมีเวลาเตรียมตัวจำกัด ถามว่าตอนรับทำงานนี้มีความกังวลไหม บอกเลยว่ามีแน่นอนค่ะ (หัวเราะ) แต่ก็คิดว่าทำเต็มที่ และปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของเรานะ
แม้จะได้เจอกันเป็นครั้งแรกและนักเรียนที่มาก็มีความแตกต่างหลากหลายมาก ทั้งอายุ ประสบการณ์ ความรู้เดิมที่มี แต่ทุกคนก็เปิดรับและพร้อมเรียนรู้ไปกับพวกเรา คุณครูในโรงเรียนที่มาสังเกตการณ์ก็ตั้งใจและน่ารักกับทีมวิทยากรมากๆ ตัวครูซันเองก็เปิดโอกาสให้เต็มที่ ไม่ก้าวก่ายงาน และช่วยเตรียมการจัดการต่างๆ ไว้ให้เรียบร้อยมาก มันเลยทำให้เราโฟกัสกับหน้างานได้เต็มที่ วางใจในตัวเอง เชื่อมั่นในประสบการณ์ที่ผ่านมา วางใจในทีมว่าจุดไหนตกหล่นก็มีเพื่อนครูวิทยากรอีก 2 คน ช่วยเสริม และที่สำคัญคือ เราเชื่อในพลังการเรียนรู้ของนักเรียน
ที่ประทับใจคือมีเด็กคนนึงบอกว่า งานนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมได้รู้จักตัวเอง ซึ่งในกระบวนการเราไม่มีกิจกรรมที่เน้นเรื่องรู้จักตัวเองเลย แต่มีบางมุมที่ทำให้เขาเห็นว่า ก่อนจะรู้จักและเข้าใจคนอื่น เขาต้องรู้จักตัวเองก่อนเป็นพื้นฐาน และมันสำคัญมากก่อนจะไปช่วยคนอื่น เราว้าวมาก นี่คือหลักฐานว่าเขาเกิดการเรียนรู้และเชื่อมโยง ต่อยอดสิ่งที่ได้เรียนรู้ได้จริง เด็กหลายคนบอกว่าได้เปิดประสบการณ์การกล้าแสดงออก การได้เจอเพื่อนใหม่ รู้ว่าการเปิดรับ รับฟัง และปรับเข้าหากันมันสำคัญในการอยู่ร่วมกัน เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กันและกัน
หลักการสำคัญที่เราใช้ออกแบบคือ การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง ซึ่งข้อนี้คิดว่าตรงกับที่ครูซันวางกรอบการทำงานมาให้ค่ะ ที่มาที่ไปหลักเลยคือ เราเองเคยได้เข้าอบรมกับทาง a-chieve ได้เรียนรู้และสัมผัสด้วยตัวเองว่าเรื่องพื้นที่ปลอดภัยมันจะเกิดขึ้นได้ เจ้าตัวต้องเข้าใจผ่านประสบการณ์ตรงกับตัวเองก่อน สิ่งนี้มันจะเป็นพื้นฐานในการต่อยอดทักษะอื่นๆ ต่อไป ทั้งการฟัง การพูด ฟังแบบไหนนะที่โอบอุ้มเพื่อนได้ พูดแบบไหนนะถึงจะเป็นการให้คำปรึกษาที่เหมาะกับเพื่อน และสิ่งที่จะมองข้ามไม่ได้คือ กลุ่มนักเรียนแกนนำ YC ด้วยกันเองนี่ล่ะที่ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กันและกัน เพื่อให้พวกเขาสามารถออกไปทำงานช่วยเพื่อนคนอื่นๆ ต่อได้
ส่วนตัวเรามองว่างานโดยรวมโอเคเลยนะ มันทำให้เรามั่นใจในตัวเองมากขึ้น มีจุดที่เห็นความเป็นไปได้และรู้แล้วว่าควรปรับเพิ่มอะไร ซึ่งก็อยากทำอีก อยากทำให้มันดีขึ้นในครั้งต่อๆ ไป อยากออกแบบให้กระบวนการมันกลมและครบมากขึ้น อยากพัฒนาให้ได้ใช้ต่อในโรงเรียนของพวกเราด้วย ซึ่งจากนี้จะเป็นคิวโรงเรียนเรา (6 มีนาคม 2566) ถือเป็นครั้งแรกที่จัดงานอบรมนักเรียนแกนนำ YC เหมือนกันค่ะ”
- ครูหมูแดง - กฤษณี เพ็ชรสงฆ์ ครูแนะแนวฯ รุ่น1 จากโรงเรียนบางพลีราษฎร์บำรุง จ. สมุทรปราการ
การเรียนรู้ร่วมกัน หมายถึง ผู้สอนได้เรียนรู้ไปพร้อมผู้เรียน
“ผลประเมินเด็กๆ ที่มาค่ายพัฒนานักเรียนแกนนำ YC ออกมาดีเลยนะ (ยิ้ม) นอกจากกระแสตอบรับจะดีแล้ว ส่วนตัวทีมวิทยากรเราก็เห็นตรงกันว่า พวกเราเอ็นจอยกับงานนี้มากๆ มันมีภาวะเกร็งและกังวลแหละ ขนาดจะเริ่มกิจกรรมแล้วก็ยังตัวเกร็งและใจเต้นกัน (หัวเราะ) แต่มองว่ามันอยู่ในระดับที่พอดีนะ มันช่วยสะกิดให้เรามีสติพร้อมสำหรับสถานการณ์ตรงหน้า ในขณะเดียวกันมันก็ปลดล็อกให้เราผ่านไปได้ในแบบของเรา ซึ่งผู้เข้าร่วมก็ดูเอ็นจอยไปกับเราด้วย คือตั้งใจฟัง ตั้งใจแลกเปลี่ยน อันไหนไม่เคลียร์ก็ถามก็แชร์กันเต็มที่มากๆ
ขนาดเราคิดว่าตัวเองพอมีประสบการณ์การจัดกระบวนการกับนักเรียนที่โรงเรียนตัวเองมาบ้างแล้ว พอได้เจอเด็กๆ กลุ่มใหม่ ก็ยังตื่นเต้นและสนุกที่จะได้เรียนรู้ไปกับทุกคน บรรยากาศการทำงานมันเลยดีจนเหมือนไม่ใช่ไปทำงาน (หัวเราะ) เหมือนเราได้ไปเจอเพื่อน ได้ทำกิจกรรมกับเพื่อนมากกว่า พอมันรู้สึกอิสระ อะไรๆ มันก็ลื่นไหล อาจจะมีจังหวะติดขัดหน้างานบ้างแต่ทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี
เราว่าสาเหตุหลักที่ทำให้สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ออกมาได้ดีและผู้เรียน Active คือ
1) การเลือกบทบาทที่เราเท่ากัน เราวางตัวในฐานะพี่ เราอยู่เท่ากับผู้เรียน ที่ก็มีบางเรื่องที่เรามั่นใจและบางเรื่องที่เรายังไม่รู้หรือไม่ค่อยมั่นใจได้ไม่ต่างกับเขา และมันทำให้ได้บรรยากาศสบายๆ มีความเป็นกันเอง ที่เด็กก็กล้าเข้าหาเรา สามารถเข้าถึงเราได้
2) การวางใจในทีม เราคิดว่ากระบวนการที่ออกแบบกันมา เป็นสิ่งที่เราเคยทำมาแล้ว และมั่นใจว่าถ้าตรงไหนที่ไม่ถนัด เพื่อนจะมาช่วยเติมให้เราได้
3) การเรียนรู้ร่วมกัน เราไม่มุ่งโฟกัสว่าอยากสอนอะไรให้เขา แต่เน้นกระบวนการนำประเด็นเข้าไปในวงและร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน
เพื่อนครูทีมวิทยากรสะท้อนสิ่งที่สังเกตในตัวเราว่า เขาเห็นความเปล่งประกายตอนเรานำกิจกรรม เห็นการเรียนรู้ร่วมกันแบบที่ผู้สอนและผู้เรียนได้ร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันจริงๆ มันเลยเป็นพลังและสร้างความเชื่อมั่นให้ทีมครูวิทยากรว่า เราอยากขยายเครือข่ายเพื่อนครูวิทยากร อยากสร้างการเรียนรู้การจัดกระบวนการใหม่ๆ ที่บางครั้งไม่จำเป็นต้องมุ่งแต่ความรู้ แต่ให้โฟกัสที่ผู้เรียน ให้เขาได้เติมเต็มสิ่งที่อยากเรียนรู้ไปด้วยกัน ก็ยังอยู่ในช่วงเริ่มปั้นโมเดลกันนะ แต่ได้ทำต่อแน่ๆ แม้งานที่โรงเรียนของตัวเองจะยังเข้มข้น แต่งานนี้ก็จะทำต่อนะ พลังมา”
- ครูคิม - สุขสันต์ เพชรอาภรณ์ ครูแนะแนวฯ รุ่น 3 จากโรงเรียนธัญบุรี จ. ปทุมธานี
จุดเริ่มของการมีพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียน คือ ตัวครูต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้นักเรียนก่อน
“การมาร่วมเป็นทีมวิทยากรในค่ายครั้งนี้ ตอนแรกตั้งใจจะมาเป็นฝ่ายสนับสนุนค่ะ แต่ไปๆ มาๆ ก็ได้ไปร่วมนำกิจกรรมด้วย (หัวเราะ) ส่วนตัวถือเป็นโอกาสที่ดีนะ เพราะปกติเราจะทำงานแต่กับเด็กนักเรียนที่โรงเรียนของเรา นี่คือเป็นเด็กกลุ่มใหม่ที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน ก็ท้าทายดีและดีใจที่เด็กๆ สนุกกับการเรียนรู้ไปพร้อมพวกเรา มีเด็กบางคนบอกว่าเขาเอ็นจอยกับกิจกรรมมากจนลืมมือถือไปเลย เขาไม่หยิบมาเล่นระหว่างกิจกรรมเลย
พื้นที่ปลอดภัย ทั้งในค่ายอบรมครั้งนี้และในคาบแนะแนว สำหรับเรามันไม่ใช่แค่เกม เพราะนั่นแปลว่า ถ้าเกมหมด กิจกรรมหมด เขาจะหลุดโฟกัสจากครูไปแล้ว ซึ่งจริงๆ คือ ถ้าเด็กๆ เขารับรู้ว่าครูอยู่ตรงนี้และเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขาได้ เขาจะกล้าเป็นตัวเอง เขาจะเห็นตัวเอง เห็นเพื่อน เห็นสังคมในห้อง ความรู้สึกไว้วางใจมันจะเกิดขึ้น รู้ว่ามีคำถามได้ สงสัยได้ มีความเห็น แบ่งปันได้ รับฟังและแชร์กันได้ สิ่งเหล่านี้จะนำพาเขาเข้าสู่บทเรียนเอง
ส่วนความสนุกและเสียงหัวเราะดังลั่นห้องมันคือสัญญาณหนึ่งที่บอกว่า เรากับเขาอยู่ในพื้นที่ที่เอ็นจอยไปด้วยกันได้ เมื่อเด็กๆ เปิดรับ เขาจะพร้อมเรียนรู้กับเรา ซึ่งเราในฐานะครู สามารถเก็บเกี่ยวผลกลับมาได้ 2 ส่วนใหญ่เลย คือ
1) ผลการเปลี่ยนแปลงในชั้นเรียน อย่างนักเรียนเราเขาก็สะท้อนว่าเขาจำได้นะ ว่าเทอมที่ผ่านมาได้ทำกิจกรรมอะไร ได้เรียนรู้เนื้อหาอะไรบ้าง มันไม่ใช่การท่องจำ แต่มันคือความทรงจำที่เกิดจากประสบการณ์จริงๆ
2) ตัวครูเองได้รู้จักนักเรียนมากขึ้น เพราะมองไป โห นักเรียนก็มีหลายคนนะ เวลาจะมานั่งสัมภาษณ์กันก็จำกัด แต่ถ้ามีหัวข้อ มีกิจกรรมมาชวนทำ ชวนแลกเปลี่ยน เราจะเข้าใจระบบความคิดของเขามากขึ้น ได้รู้จักมุมต่างๆ ในชีวิตของเขามากขึ้นด้วย
อยากฝากถึงเพื่อนครูท่านอื่นๆ ว่า เราอยากเชียร์ให้คุณครูชวนเด็กนักเรียนมาเรียนรู้ผ่านการลงมือทำไปด้วยกันนะคะ ให้เขาได้เจอประสบการณ์ตรง ได้ฝึกคิด ได้ลองถาม ลองแชร์ความคิดเห็นกัน ถามว่ายากไหม สำหรับคุณครูที่ยังไม่คุ้นชิน เราว่าช่วงแรกยังไงมันก็อาจจะยังติดขัด แต่ขอให้ทำต่อไป เรียนรู้ไปพร้อมเด็กๆ โดยที่ตัวครูเองต้องจับเป้าหมายให้ชัด ว่าเราอยากเห็นเด็กนักเรียนของเราเป็นยังไง เติบโตเป็นคนแบบไหน
แต่พูดจริงๆ นะ การได้เห็นว่ามีนักเรียนมารอหน้าห้องเรียน รู้ว่านักเรียนตื่นเต้นจนต้องไปแอบถามเพื่อนห้องอื่นว่าคาบแนะแนวสัปดาห์นี้เรียนอะไร แค่นี้คนเป็นครูก็ใจฟูแล้วค่ะ”
- ครูอ้อย - ศิรินญา นวลจริง ครูแนะแนวฯ รุ่น 3 จากโรงเรียนวรราชาทินัดดามาตุวิทยา จ. ปทุมธานี
พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน
หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)
ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง
✅ เรียนฟรี
✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว
✅ มีเกียรติบัตร
คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses