5 เช็กลิสต์ ครูพูดไม่เก่งจะทำให้นักเรียนเอ็นจอยกับการเรียนยังไงดี?
หมวดหมู่: พื้นที่เพื่อนครู
Tags: ไอเดียการสอน
อ่านแล้ว: 1422 ครั้ง
ไม่ถนัดนำเกม ชวนนักเรียนคุยทีไรก็เงียบกริบ แถมของเล่นในวิชาแนะแนวก็ไม่ค่อยมีอีก
โธ่… แล้วคุณครูแบบเราจะเข้าถึงใจนักเรียนได้ยังไงนะ?!
มีคุณครูมาปรึกษาเรื่องนี้กับแอดมินบ่อยๆ เลยค่ะ ว่า “จริงหรือไม่ ที่ครูแนะแนวที่ดีจะต้องคุยเก่ง ตลก และมีเกมเยอะๆ?” เพราะเมื่อพูดถึงการเรียนการสอนแบบที่นักเรียนให้ความสนใจ คนที่ทำสำเร็จก็มักจะเป็นคุณครูสายกิจกรรมที่มีสื่อการสอนมากมาย มีอุปกรณ์ประกอบการเรียนสีสันสดใส มีมุกตลกแพรวพราว ที่สำคัญ คือ มีเกมมาชวนเด็กๆ เล่นเสมอ
วันนี้แนะแนวฮับเลยอยากขอมาแชร์แนวทางที่จะช่วยให้คุณครูตั้งหลักได้ และสามารถดูแลนักเรียนทั้งงานสอนวิชาแนะแนวรวมถึงทักษะชีวิตด้านอื่นๆ ได้อย่างมั่นใจมากขึ้นค่ะ
เพราะเราเชื่อว่า ไม่ว่าคุณครูจะเป็นคนที่มีคาแรกเตอร์ลักษณะนิสัยแบบไหน ก็สามารถสร้างห้องเรียนให้เป็น #พื้นที่ปลอดภัย และออกแบบการเรียนการสอนให้เหมาะกับผู้เรียนได้
เข้าใจตัวเอง
จุดเริ่มต้นสำคัญที่จะช่วยให้คุณครูรู้ทิศทางเพื่อออกแบบการเรียนรู้ให้เด็กๆ เอ็นจอย คือ การเข้าใจตัวเอง ค่ะ ต้องยอมรับว่า บทบาทความรับผิดชอบของครู 1 คน จะต้องแลกด้วยแรงกายและแรงใจมากพอสมควร คุณครูแนะแนวหรือคุณครูที่ดูแลงานแนะแนวหลายๆ คน จึงแทบไม่มีเวลาให้ตัวเองได้กลับมาทบทวนความรู้สึก ความคิด สิ่งที่ค้นพบในตัวเองเท่าไร ซึ่งหากคุณครูทำความเข้าใจตัวเองอย่างรอบด้านและสม่ำเสมอ จะมีส่วนช่วยทำให้เส้นทางต่อจากนี้ค่อยๆ ชัดเจนมากขึ้นค่ะ
คุณครูอาจเริ่มทบทวนตัวเองง่ายๆ ด้วย 5 ประเด็นนี้
- ตอนนี้เราเป็นคนแบบไหน/ เราเป็นครูแบบไหน เราชอบอะไร สนใจอะไร สไตล์การใช้ชีวิตและรูปแบบของเราเป็นยังไง
- จุดแข็งจุดอ่อนของเราคืออะไร สิ่งที่เราทำได้ดี-ยังทำได้ไม่ดี หรือ สิ่งที่เราถนัดและไม่ถนัด มีอะไรบ้าง
- ภาพฝันของการเป็นครู และ ห้องเรียนในฝันของเราเป็นยังไง หากสถานการณ์ปัจจุบันมีเรื่องชวนท้อใจ จนไม่มีแรงจะฝันต่อ อยากชวนให้ลองนึกย้อนทวนถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้อยากเป็นคุณครู หรือทบทวนตัวเองในฐานะผู้เรียนก็ได้นะคะ
- สภาพแวดล้อมแบบไหนที่เหมาะกับเรา บรรยากาศในห้องเรียนแบบไหนที่เราจะรู้สึกผ่อนคลาย วางใจ กล้าเปิดเผยตัวตน หรือเหตุการณ์อะไรที่จะทำให้เรารู้สึกตึงเครียด ไม่เป็นตัวเอง
- เรื่องที่เราอยากพัฒนาตัวเองตอนนี้ มีอะไรบ้าง อาจเป็นเรื่องที่เราอยู่อยู่แล้ว หรือมุมมองจากคนใกล้ตัวที่เคยบอกเราก็ได้ค่ะ
เข้าใจความแตกต่างหลากหลาย
การสร้างห้องเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย จะทำให้เราได้เปิดรับและเห็นความแตกต่างหลากหลายมากมาย ซึ่งคุณครูเองก็เป็นส่วนผสมหนึ่งของความแตกต่างหลากหลายนี้ด้วยนะคะ
-
แนวทางการทำความเข้าใจเรื่องความแตกต่างหลากหลาย อาจทำได้ผ่านการสังเกตสิ่งที่เห็นได้ด้วยตา (อายุ เพศสภาพ ความสูง สีผิว ฯลฯ) การรับรู้ข้อมูลส่วนบุคคล (ชาติพันธุ์ ความเชื่อ ความสนใจ ความเชี่ยวชาญ ภูมิหลังครอบครัว ฯลฯ) รวมถึงการแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน ที่จะทำให้เข้าใจมุมมอง ทัศนคติ ลักษณะนิสัยที่หลากหลายของกันและกันมากขึ้น จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อห้องเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่อนุญาตให้ทุกคนเป็นตัวเองได้ โดยไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับใคร หากคุณครูเห็นและรู้จักนักเรียนในห้อง ก็ยิ่งมีโอกาสออกแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับผู้เรียนมากขึ้นด้วย
-
สไตล์หรือลักษณะของคุณครูเอง ก็มีความแตกต่างหลากหลายได้เช่นกัน ทุกคนสามารถพัฒนาตัวเองให้สร้างการเรียนรู้ให้นักเรียนเอ็นจอยไปด้วยกันได้ ไม่ว่าจะมีบุคลิกแบบใด เราต่างมีลักษณะเฉพาะ มีจังหวะการสื่อสาร รสนิยม และลูกเล่นในการเรียนการสอนที่ไม่เหมือนกันได้ ดังนั้น อย่าเพิ่งเปรียบเทียบเพียงระดับความดังของเสียงหัวเราะของนักเรียนในวิชาอื่น แต่ขอให้กลับมาสังเกตการเปลี่ยนแปลงเทียบจากคาบก่อนของคุณครู กับคาบที่กำลังจะมาถึง ว่าเราสามารถออกแบบการเรียนรู้ยังไงได้บ้างเพื่อให้เด็กๆ เอ็นจอยไปกับการเรียนรู้ได้มากขึ้น
-
เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ในการอยู่ร่วมกับความแตกต่างหลากหลาย ได้แก่
- ทำข้อตกลงร่วม: คุณครูสามารถชวนนักเรียนมาออกแบบกติกาในการอยู่ร่วมกันในห้องเรียน ที่ทุกคน (รวมทั้งคุณครูด้วยนะคะ) จะรู้สึกโอเค สามารถเป็นตัวเอง และเรียนรู้เพื่อเติบโตได้ในแบบของตัวเอง
- เปิดพื้นที่รับฟัง 100%: ข้อนี้อาจเป็นจุดแข็งของคุณครูที่พูดไม่ค่อยเก่งแต่ถนัดฟังและสังเกตการณ์ ซึ่งคุณครูสามารถทำเป็นตัวอย่างให้นักเรียนดู รวมถึงช่วยฝึกทักษะนี้ให้เด็กๆ การฟังนี้เองที่จะเป็นกุญแจที่สำคัญในการเข้าถึงหัวใจของผู้เรียน ถ้าเขารับรู้ว่าครูฟังเขาอย่างแท้จริง เมื่อนั้นเขาจะเริ่มวางใจในตัวคุณครู และเชื่อมั่นในการเรียนรู้ที่คุณครูเตรียมมาให้ค่ะ
- สื่อสารตรงไปตรงมา บนพื้นฐานการเคารพและให้เกียรติในฐานะมนุษย์ที่เท่ากัน: หากคุณครูมองว่าตัวเองพูดไม่เก่ง อาจให้เวลาตัวเองซักครู่ในการเตรียมตัว เขียนสิ่งที่ต้องการสื่อสารออกมาเป็นข้อๆ ก่อนพูดก็ได้ค่ะ
มีเป้าชัดและเป็นไปได้
คุณครูหลายท่านมาปรึกษาทีมงานบ่อยๆ เลยค่ะ ว่ารู้สึกท้อ เพราะทำงานมาตั้งนาน แต่ยังไม่เห็นผลซักที ซึ่งสิ่งที่พวกเราจะตอบกลับเสมอ คือ มันอาจเกิดจากปัจจัยหลายๆ อย่าง ทั้งสิ่งที่คุณครูสามารถเตรียมการรับมือก่อนได้ และสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของคุณครูจริงๆ ดังนั้น อย่าเพิ่งถอดใจหรือโทษตัวเองนะคะ
วิธีหนึ่งที่ช่วยคุณครูได้ โดยเฉพาะคุณครูที่ยังมีความไม่มั่นใจในตัวเอง คือ การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน ร่วมกับมีการวัดผลการเปลี่ยนแปลงระหว่างทางค่ะ ตัวอย่างเครื่องมือช่วยคุณครู เช่น
1.การตั้งเป้าหมายแบบ SMART Goal ประกอบด้วย
S - Specific เป้าหมายนั้นต้องมีความชัดเจน มีขอบเขตที่แน่ชัด (รู้ว่า ใคร-ทำอะไร-ที่ไหน-เมื่อไร-อย่างไร-เพราะอะไร)
M - Measurable สามารถวัดได้ อ้างอิงหลักฐานได้ (ตัวชี้วัดความก้าวหน้าหรือความสำเร็จคืออะไร)
A - Achievable มีความเป็นไปได้ สมเหตุสมผล บนพื้นฐานเงื่อนไขที่มี (เรามีทุนหรือประสบการณ์เดิมยังไงบ้าง เป้าหมายนี้ท้าทายสำหรับเราในระดับที่เหมาะสมไหม)
R - Relevant สอดคล้องกับเป้าหมายหรือภาพฝันในระยะยาว (เป้าหมายนี้เชื่อมโยงกับสิ่งที่คุณครูเชื่อถือ/ให้คุณค่า หรือดีต่อตนเองหรือสังคมอย่างไร)
T - Timely มีระยะเวลาชัดเจน (เราตั้งใจจะทำเป้าหมายนี้นานเท่าไร คิดว่ามันจะสำเร็จเมื่อไร)
ตัวอย่างเป้าหมาย เช่น “ฉันอยากออกแบบแผนการสอนที่ทำให้นักเรียน ม.4/2 รู้จักตัวเองรอบด้านและสามารถอยู่ร่วมกับเพื่อนในห้องได้ โดยไม่มีเหตุการณ์การบุลลี่หรือแกล้งกัน ตลอดเทอม 1/66”
2.การกำหนดระยะการเก็บผล
คล้ายกับการเดินทางไกล ที่กว่าจะถึงปลายทางมันช่างยาวนาน การเช็กระยะระหว่างทาง จึงสำคัญค่ะ ลองกำหนดช่วงเวลาเก็บผลเพื่อประเมินความก้าวหน้าหรือการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะ นอกจากจะเป็นการเก็บเกี่ยวผลแล้ว ข้อมูลที่ได้ ยังสามารถนำมาใช้เพื่อทบทวนแผนและเป้าหมายว่ายังเป็นจริงไหม หรือจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนอะไรหรือไม่ ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า ในการเก็บผลแต่ละระยะนี้ เราจะใช้เกณฑ์อะไรเพื่อสังเกตหรือวัดผลการเปลี่ยนแปลงในตัวนักเรียนบ้าง อาจเป็นการดูจำนวนนักเรียนเข้าสาย (ที่คาดว่าจะน้อยลงเรื่อยๆ) การสรุปผลจากสมุดบันทึกจำนวนเคสที่นักเรียนมาขอคำปรึกษาทุกสัปดาห์ การเช็กสภาพความรู้สึกนักเรียนต่อบรรยากาศในคาบวิชาแนะแนว ฯลฯ
ตัวอย่างการกำหนดระยะการเก็บผล เช่น ทุกสัปดาห์ ทุกครั้งที่มีเรียนคาบแนะแนว ทุกเดือน ทุกไตรมาส เป็นต้น
หาตัวช่วยหรือทีมสนับสนุน
คุณครูไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวนะคะ ขึ้นหัวข้อใหม่ก็ขอย้ำก่อนตั้งแต่ตอนนี้เลย เพื่อให้คุณครูมั่นใจว่า มีการสนับสนุนและทีมหนุนรายล้อมคุณครูอยู่จริงๆ ว่าแต่กองหนุนรอบข้างคุณครูจะมีใครบ้างนะ?
-
กลุ่มคนรอบตัว ได้แก่
- เพื่อนครู ลองเริ่มจากการปรึกษากับเพื่อนครูที่สนิท ทั้งในและนอกโรงเรียน หรืออาจหารือกับคุณครูที่ดูมีลักษณะคาแรกเตอร์บางอย่างตรงกับสิ่งที่คุณครูอยากพัฒนาก็ได้
- นักเรียน หากกังวลว่าจะเข้าหานักเรียนไม่ค่อยได้ ในช่วงแรกอาจลองขอไอเดียจากนักเรียนหัวหน้าห้อง (เพราะน่าจะคุ้นชินกับการพูดคุยกับคุณครูอยู่แล้ว) ให้ช่วยหาและนำกิจกรรมอุ่นเครื่องเพื่อนๆ ก่อนคุณครูพาเข้าเนื้อหาได้ไหม หรือค่อยๆ พาตัวเองไปร่วมวงคุยกับนักเรียนในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย เป็นกันเอง เช่น นั่งทานขนมกันที่โต๊ะม้าหินในช่วงพัก ก็ได้ค่ะ มันอาจต้องใช้เวลาในการสร้างสายสัมพันธ์และความไว้วางใจ แต่ขอให้คุณครูเชื่อมั่นว่า เด็กๆ เองก็พร้อมเปิดใจและสนับสนุนคุณครูนะคะ
- ผู้ปกครอง ข้อนี้แม้จะเป็นเรื่องท้าทาย เนื่องจากผู้ปกครองของนักเรียนก็มีหน้าที่ความรับผิดชอบมากมายเช่นกัน แต่คุณครูอาจเริ่มสานสัมพันธ์เล็กๆ ผ่านการพูดคุยได้เมื่อต้องออกเยี่ยมบ้าน หรือในวันประชุมผู้ปกครอง
- หน่วยงานที่สนับสนุนการทำงานของคุณครู เช่น ชุมชนพื้นที่เพื่อนครู เครือข่ายครูที่รู้จักจากการอบรม (แนะแนวฮับก็เป็นหนึ่งในนั้นนะคะ คุณครูสามารถปรึกษาทีมงานได้ที่ Line OA @guidancehubth https://lin.ee/t3Xt9x0 ได้เสมอเลยค่ะ)
-
เครื่องมือทุ่นแรง ได้แก่
- การใช้สัญลักษณ์ตามที่เคยทำข้อตกลงร่วมกับนักเรียนไว้ เช่น ถ้าครูยกป้ายสีเขียว หมายถึง “ขอให้ทุกคนโฟกัสครูเพิ่มขึ้นนิดนึงจ้า”
- การเลือกหรือออกแบบการเรียนรู้ ให้นักเรียนจับกลุ่มย่อย เพื่อสร้างโอกาสให้คุณครูเข้าไปพูดคุยทำความรู้จักได้ในวงเล็กๆ
- การตุนคลังกิจกรรมหรือเกมเล็กๆ ที่คุณครูประเมินแล้วว่า “เอาอยู่” และลองหยิบมาใช้เมื่อมีโอกาส เพื่อขยายพื้นที่ให้คุณครูกล้าทดลองนำกิจกรรมอื่นๆ ต่อค่ะ (สามารถติดตามไอเดียและเครื่องมือการเรียนการสอนเพิ่มได้ที่ https://guidancehubth.com/database/cat/development
พัฒนาตัวเองต่อเนื่อง
คุณครูสามารถพัฒนาตัวเองได้หลายแนวทางเลยค่ะ เช่น
- ฝึกฝนทักษะที่ถนัดหรือทำได้ดีอยู่แล้ว ให้ดียิ่งขึ้น
- ศึกษาข้อมูลความรู้ในสิ่งที่คุณครูสนใจหรืออินอยู่แล้ว ให้ลึกซึ้งมากขึ้น
- ฝึกฝนทักษะที่ยังไม่ถนัดหรือยังทำได้ไม่ดี เช่น ทักษะการฟัง ทักษะการตั้งคำถาม ทักษะการนำกระบวนการ ***
- ศึกษาข้อมูลความรู้ในเรื่องที่นักเรียนสนใจหรือกำลังอินอยู่ อาจเป็นการพูดคุยกับนักเรียนโดยตรง หรือเข้าไปอยู่ในโลกที่เขาอยู่ เช่น ลองเล่นโซเชี่ยลมีเดียที่เด็กๆ ใช้ ลองเปิดใจดูหนังหรือฟังเพลงของศิลปินที่เขาชอบ ***
- พาตัวเองออกไปเจอผู้คน ข้อมูล และรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น เวิร์กช็อป วงเสวนาพูดคุย เพื่อเจอเพื่อนใหม่ แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ขยายโอกาสสร้างเครือข่ายความร่วมมือในอนาคต ฯลฯ ***
ข้อ 3 - 5 นี้ ขออนุญาตติดดาวให้เลยค่ะ
เพราะสำคัญและจำเป็นมากๆ มันอาจรู้สึกติดขัดหรืออึดอัดบ้างเพราะความไม่คุ้นชิน แต่ขอให้คุณครูเชื่อว่า สิ่งนี้จะช่วยให้คุณครูค่อยๆ สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในห้องเรียนได้ ในแบบของตัวคุณครูเอง
หัวใจสำคัญ คือ
💜 ห้องเรียนที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย ไม่ได้วัดด้วยระดับความสนุกหรือเสียงหัวเราะลั่นห้อง รอยยิ้มและเสียงหัวเราะอาจเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดบรรยากาศในห้องเรียนคาบนั้นๆ ได้ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เกณฑ์นี้ในทุกๆ คาบค่ะ เพราะบางหัวข้อหรือบางกิจกรรมอาจจำเป็นต้องเน้นเนื้อหาและกระบวนการเรียนรู้ที่จริงจังเข้มข้น (ซึ่งเมื่อผู้เรียนกำลังตั้งใจทำความเข้าใจเนื้อหา ก็อาจจะไม่มีใครส่งยิ้มหรือเสียงหัวเราะให้กัน)
สิ่งที่อาจช่วยให้คุณครูตั้งหลักได้ คือ การ #กำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ที่ชัดเจน และ #ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียน โดยไม่ลืม #หลักการการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ที่ทุกคนจะมองเห็นกันและกัน รับฟังกันอย่างไม่รีบด่วนสรุปหรือตัดสินผิด-ถูก รู้สึกปลอดภัย ไว้วางใจกันและกัน ในระดับที่กล้าเป็นตัวเองได้ Tips เล็กๆ ที่ทำได้เลย คือ ลองเริ่มจากการจดจำชื่อของนักเรียนให้ได้ จดจำรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างวิชาที่เขาทำได้ดี ความสนใจ ความกังวลของเขา เพียงแค่นี้ก็ถือว่าคุณครูเข้าใกล้หัวใจน้อยๆ ของนักเรียนมากขึ้นแล้วค่ะ
💜 ห้องเรียนที่เป็น พื้นที่ปลอดภัย มีคุณครูอยู่ในนั้นด้วยนะคะ ดังนั้น อยากให้คุณครูวางใจในตัวเอง วางใจในนักเรียน เมื่อรู้สึกหวั่นไหว ไม่มั่นใจ ก็อย่ารีรอที่จะแบ่งปันความรู้สึกและความคิดกับเด็กๆ เพื่อร่วมกันหาทางดูแลและปรับแก้ไปด้วยกันนะคะ
💜 ครูก็คน อย่าลืมหาโอกาสฮีลใจ ดูแลหัวใจของคุณครูเองด้วยนะคะ เพราะเราเชื่อว่าเดิมทีคุณครูก็มีภาระหน้าที่มากมายอยู่แล้ว การจะเริ่มขยับปรับเปลี่ยนตัวเอง เพื่อริเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียน จะต้องผ่านการทำงานภายในกับตัวเองและกลั้นใจทำสิ่งที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งต้องใช้พลังฮึดสู้มากเหมือนกัน คุณครูหลายคนที่ลองทำแล้วประสบความสำเร็จในครั้งแรกๆ ก็จะยังเจอความท้าทายว่า จะรักษาให้เกิดเป็นวัฒนธรรมของห้องเรียนยังไงในระยะยาว ในขณะที่คุณครูอีกไม่น้อย ก็ยังต้องอาศัยระยะเวลาและเรี่ยวแรง รวมถึงการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ให้สามารถยืนระยะได้จนถึงวันที่ผลการเปลี่ยนแปลงผลิดอกออกมาให้ชื่นใจ
สำหรับวันที่ใจไม่ไหว คุณครูสามารถทบทวนความรู้สึกผ่านเครื่องมือเช็กสภาพเฉดสีใจ ได้ที่ https://a-chieve.org/emotion-survey หรือหากต้องการพูดคุยขอคำปรึกษาจากทีมงานแนะแนวฮับ ผ่าน Line OA @guidancehubth คลิก https://lin.ee/t3Xt9x0
ทีมงานแนะแนวฮับขอส่งกำลังใจดวงโตๆ ให้คุณครูทุกคน ขอให้คุณครูได้เป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีขึ้นเรื่อยๆ นะคะ
พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน
หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)
ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง
✅ เรียนฟรี
✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว
✅ มีเกียรติบัตร
คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses