ดีลชัด ประหยัดเวลา
หมวดหมู่: เครื่องมือข้อมูลด้านการสอน
Tags: ไอเดียการสอน ข้อตกลงร่วม
อ่านแล้ว: 787 ครั้ง
“โปรไฟล์ไลน์ของนักเรียนไม่ระบุตัวตน”
“คำถามนักเรียนไม่ชัดเจน”
“ตกลงแล้วนักเรียนต้องการอะไรนะ”
คุยแล้วไม่เคลียร์ ดีลยาก ปิดเคสไม่ได้ซักที ความไม่ชัดเจนมากมายนี้น่าจะเป็นปัญหาใหญ่หลวงเรื่องหนึ่งสำหรับคุณครูทุกคนใช่ไหมคะ 🥲🥲??
วันนี้แอดมินอยากนำเสนอแนวทางการสื่อสารปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่จะช่วยให้คุณครูกับนักเรียนเข้าใจตรงกันมากขึ้น มาฝากค่ะ
มีคุณครูหลายคนเลยค่ะ ที่มักได้กุมขมับหัวหมุนกับไลน์ของนักเรียน
คุณครูไม่รู้ว่านักเรียนที่แช็ตมานี้คือใคร เพราะโปรไฟล์ไลน์นักเรียน มีตั้งแต่รูปดาราเกาหลี รูปน้องหมาน้องแมว รวมถึงภาพอื่นๆ ที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ หรือแม้กระทั่งการตั้งชื่อไลน์ที่ก็ไม่สามารถระบุตัวตนได้อีก เรียกว่าใส่มาแบบเต็มที่ ทั้งฉายา ตัวเลข และสัญลักษณ์พิเศษมากมาย
แม้จะอยากให้คะแนนความคิดสร้างสรรค์ แต่ก็ต้องยอมรับว่าสิ่งนี้คือเรื่องหนักใจเรื่องหนึ่งของคนเป็นครูเลยค่ะ เพราะเวลาที่มีจำกัดกับความคาดหวังที่อยากช่วยเหลือนักเรียนมันช่างสวนทางกัน หากนักเรียนแสดงตนสื่อสารมาแบบไม่ชัดเจน คุณครูก็ต้องใช้เวลาถามกลับไปกลับมาอีก ทำให้ทั้งนักเรียนและครูต้องใช้เวลาในการติดต่อกันเยอะเกินจำเป็น
แอดมินเดาว่า ส่วนหนึ่งอาจเพราะคุณครูยังไม่เคยสื่อสารปัญหานี้กับนักเรียนแบบจริงจัง (หรือจริงจังแล้ว แต่นักเรียนก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี ฮือๆๆ) เลยทำให้นักเรียนเองไม่ได้รับทราบถึงปัญหาหรืออุปสรรคที่คนเป็นครูพบเจอค่ะ
ทั้งหมดนี้เราสามารถเริ่มต้นที่ การสร้างข้อตกลงร่วม (อ่านเพิ่มเติมในงานเขียนที่ลิงก์ https://bit.ly/3pUq6qF) ที่นอกเหนือจากข้อตกลงในชั้นเรียนแล้ว คุณครูสามารถเสนอประเด็นช่องทางออนไลน์ ทั้งไลน์ หรือกลุ่มแช็ตต่างๆ ที่คุณครูใช้สื่อสารกับนักเรียน ได้เลยค่ะ และเพื่อให้คุณครูสามารถสื่อสารปัญหากับนักเรียนได้ชัดเจน ตรงประเด็น วันนี้แอดมินมีตัวอย่างสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และแนวทางสร้างความเข้าใจร่วมกันมาแนะนำด้วยค่ะ
มาดูกันเลยค่า!
ตัวอย่างสถานการณ์ที่ 1
โปรไฟล์ หรือชื่อนักเรียนไม่ชัดเจน ไม่สามารถระบุตัวตนได้ บางครั้งภาพอาจจะเล็ก หรือเป็นภาพใส่หน้ากากปิดหน้าปิดตา บวกกับคุณครูเองที่อาจต้องสอนนักเรียนหลายระดับ ทำให้บางครั้งจำชื่อนักเรียนได้ไม่หมดหรือไม่ครบทุกคน ปัญหานี้มีทางแก้ค่ะ
-
ขอความร่วมมือนักเรียน หรือสร้างข้อตกลงในการสื่อสาร ขอให้นักเรียนแนะนำตัวคร่าวๆ สำหรับการแช็ตครั้งแรกหรือในทุกๆ ครั้ง เช่น แจ้งชื่อเล่น - ชื่อจริง - ชั้นหรือห้องเรียน - เลขที่ เพื่อให้ครูรู้จักนักเรียนและจดจำรายละเอียดนักเรียนได้ดีขึ้น ยกตัวอย่าง นักเรียนอยากทักไลน์ครูมาเพื่อถามเรื่องงานค้าง การแจ้งชื่อและเลขที่ห้อง จะช่วยให้ครูสามารถตอบคำถามในสิ่งที่นักเรียนต้องการได้ไวมากขึ้น ลดเวลาคุณครูในการต้องถามย้อนกลับไปว่า นักเรียนชื่ออะไร อยู่ห้องไหน
-
เพิ่มเพื่อน เพื่อเปลี่ยนชื่อไลน์นักเรียนด้วยตัวคุณครูเอง ในกรณีคุณครูใช้ไลน์ คุณครูสามารถ “เพิ่มเพื่อน” แล้วเปลี่ยนชื่อไลน์นักเรียนได้ทันที เพื่อให้สะดวกในการสื่อสารครั้งต่อๆ ไป แต่ในกรณีที่คุณครูสอนหลายระดับชั้นหรือหลายห้อง การเปลี่ยนชื่อนักเรียนก็ค่อนข้างเป็นอุปสรรคทีเดียว เพราะด้วยจำนวนนักเรียน น่าจะจัดการกันไม่หวัดไม่ไหว หรือหากทำได้ โควต้าจำนวนเพื่อนในไลน์ก็จำกัดแค่เพียง 5000 คน เท่านั้น แอดมินแนะนำให้มีการเคลียร์ลิสต์เพื่อนบ่อยๆ หรือมีช่องทางสื่อสารอื่นสำรองไว้ค่ะ
-
ใช้ Line Official เพื่อตั้งข้อความต้อนรับอัตโนมัติ ในกรณีคุณครูใช้ Line Official คุณครูจะสามารถตั้งค่าข้อความต้อนรับ โดยสามารถระบุสิ่งที่ครูต้องการอยากให้นักเรียนสื่อสารได้เลยค่ะ เช่น สวัสดีค่ะ หากนักเรียนต้องการสอบถามข้อมูล รบกวนนักเรียน แจ้งชื่อ เลขที่ และห้อง แล้วตามด้วยสิ่งที่นักเรียนต้องการถามหรือรับข้อมูลจากครู นะคะ
ตัวอย่างสถานการณ์ที่ 2
สิ่งที่นักเรียนสื่อสารมาไม่ชัดเจน เช่น กรณีที่ครูแนะแนวส่งข้อมูลข่าวประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนสม่ำเสมอ หรือครั้งละมากๆ แต่สิ่งที่นักเรียนสื่อสารมา คือ “สนใจอันนี้ครับครู” แต่ไม่มีการอ้างอิงว่าสนใจข่าวใด ของหน่วยงานใด ประกาศเมื่อวันที่เท่าไร เป็นต้น ปัญหานี้มีทางแก้ค่ะ
-
สื่อสารกับนักเรียนตรงไปตรงมากับปัญหาที่เกิดขึ้น และขอความร่วมมือนักเรียนแนบเนื้อหา หรือรายละเอียดที่เกี่ยวข้องมาด้วย เช่น อาจจะแคปหน้าจอแนบส่งมาด้วย หรืออาจจะเป็นไฟล์ข้อมูล ที่นักเรียนมีคำถามมาด้วยก็จะดีมากๆเลยค่ะ
-
เพิ่มความมั่นใจและแน่ใจว่าได้รับและสนใจข้อมูลข่าวสารที่ตรงกัน แนะนำให้นักเรียนมาติดต่อด้วยตนเองที่ห้องแนะแนว หรือนัดหมายกับคุณครูเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติมค่ะ
ตัวอย่างสถานการณ์ที่ 3
นักเรียนทักมาแบบเว้นที่ว่างรอครูตอบ ซึ่งคุณครูหลายคนอาจจะไปต่อไม่ถูก ว่าจะตอบหรือถามนักเรียนต่อไงยังไงดี หรือเข้าไปกดอ่านก็พอ หรือนักเรียนกำลังพิมพ์มาเพิ่มอยู่นะ ปัญหานี้มีทางแก้ค่ะ
-
ใช้แนวทางแก้ปัญหาแบบในสถานการณ์ที่ 1 ได้เลยค่ะ
-
เข้าใจเจตนานักเรียนเพิ่มอีกนิด เข้าใจตรงกันมากขึ้นอีกหน่อย จากประสบการณ์แอดมินพบว่า นักเรียนหลายคนอาจรอให้คุณครูส่งสติกเกอร์หรือตอบรับการทักทายนั้นไปค่ะ แต่หลังจากแอดมินสื่อสารปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับนักเรียน ปัญหาเหล่านี้ก็น้อยลง นักเรียนบางคนสามารถกระชับข้อความที่ส่ง ทั้งแนะนำตัวเองพร้อมระบุปัญหาหรือคำถามให้จบ และครบถ้วนในข้อความแค่เพียงข้อความเดียวก็มีค่ะ
(ปล. เคสแบบนี้แอดมินเคยได้ยินประสบการณ์จากเพื่อนครูหลายคนบอกว่า นักเรียนบางคนยังไม่อ่านข้อความที่คุณครูส่งกลับเลยค่ะ ผ่านมา 1 ปีแล้ว ตอนนี้แอบกังวลว่านักเรียนยังต้องการคำตอบหรือความช่วยเหลือคุณครูอีกไหม ฮ่าๆๆ ฮือๆๆ)
ส่วนนี้แอดมินทำรายการมาเพิ่มให้ เผื่อคุณครูนำไปชี้แจงกับนักเรียนค่ะ
ถือเป็นการฝึกฝนมารยาทการสื่อสาร และข้อระมัดระวังในการสื่อสาร ซึ่งเป็นหนึ่งในมารยาททางสังคม เพื่อป้องกันเรื่องการโทรเข้ามาซ้ำๆ การส่งสติกเกอร์รัวๆ หรือส่งข้อความมาตอนดึกหรือนอกเวลาทำการ
ปัญหาการสื่อสารเหล่านี้ อาจแก้ได้ด้วยการสื่อสารที่ชัดเจน แต่ก็ต้องไม่ลืมว่านักเรียนเองก็อาจเผลอเรอทำพลาดด้วยความเคยชิน ยังไงแอดมินและทีมงานแนะแนวHUB ขอบีบมือส่งกำลังใจให้คุณครูทุกคนเลยนะคะ สู้ๆ ค่ะ!
พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน
หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)
ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง
✅ เรียนฟรี
✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว
✅ มีเกียรติบัตร
คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses