จาก 3 บทเรียน สู่ 4 แนวทางพานักเรียนพิชิต A-Level

หมวดหมู่: สนับสนุนงานแนะแนว

Tags: 

อ่านแล้ว: 1724 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

มีนานี้ มีใจพร้อม กายพร้อมลงสนามกันหรือยังคะ? 😣😣

ใกล้สอบ A-Level เข้าไปทุกที ไม่รู้ระหว่างนักเรียนกับครู ใครจะตื่นเต้นกว่ากันนะคะ 😅😅 ส่วนตัวแอดมินมองว่า ความตื่นเต้นนี้จะค่อนไปทางความกังวลมากกว่า เพราะแค่ต้องเร่งทบทวนเนื้อหาให้ทัน ให้มั่นใจ ก็เครียดแล้ว แต่ยังมีระเบียบปฏิบัติของการสอบ รวมถึงสถานการณ์หน้างานที่นักเรียนต้องมีสติและมีสมาธิเต็มที่สำหรับการทำข้อสอบด้วย

วันนี้ แนะแนวฮับ จึงอยากขอแบ่งปัน 3 บทเรียนที่ถอดจากประสบการณ์ตรงและการแลกเปลี่ยนกับเพื่อนครูหลายๆ ท่าน พร้อม 4 แนวทางแนะนำสำหรับนำไปสื่อสารกับนักเรียนของพวกเรานะคะ

ชื่อภาพ

3 เรื่องหลักที่นักเรียนมักเจอ

1.ทำข้อสอบไม่ทัน

ปัญหาโลกแตกที่ทำเอานักเรียนหลายคนเครียดไปตามๆ กัน เพราะแม้จะทบทวนเนื้อหามาดีแล้ว แต่ไม่วายเจอความท้าทายแบบที่เลี่ยงได้ยาก ไม่ว่าจะเป็น

  • ความรู้สึกตื่นเต้นหรือกดดันกับบรรยากาศการสอบ

  • ตัวข้อสอบที่มีความท้าทาย ต้องอาศัยทักษะการคิดวิเคราะห์ ทำให้นักเรียนต้องใช้เวลาในการตัดสินใจมากกว่าปกติ

  • ความกังวลเรื่องเวลา ที่นักเรียนบางคนไม่ได้สวมนาฬิกาเข้าห้องสอบ (ระเบียบการเข้าสอบระบุให้ใช้นาฬิกาแบบเข็มบอกเวลาเท่านั้น) จึงต้องเอาตัวรอดแบบเร่งด่วนตามสภาพแวดล้อมในห้องสอบ เช่น บางสนามสอบมีนาฬิกาแขวนผนัง ทำให้สามารถคอยดูเวลาได้และบริหารจัดการเวลาทำสอบได้ บางสนามสอบจะมีกรรมการคอยแจ้งเวลาเป็นระยะ ในขณะที่บางสนามสอบอาจไม่มีแจ้งจนกว่าจะถึงเวลาส่งข้อสอบ

😢 ผลที่เกิดตามมา คือ นักเรียนสติกระเจิง ทำข้อสอบไม่เสร็จและไม่ทันฝนข้อสอบข้ออื่นๆ ให้ครบ

2.อุปกรณ์เข้าห้องสอบไม่พร้อม

เพียงมีคำว่า “ไม่พร้อม” ขึ้นในหัว ดวงใจน้อยๆ ของนักเรียน (และครูด้วย ฮือ…) ก็หล่นไปที่ตาตุ่มแล้ว โดยเฉพาะเรื่องอุปกรณ์ที่ติดอันดับเรื่องชวนปวดหัว ซึ่งปีนี้ก็ไม่มีเว้นเช่นกัน มาแบบครบแบบเต็มคาราเบลเลย เช่น

  • เพิ่งรู้ตัวว่าไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน หาย หาไม่เจอ

  • ดินสอหักกลางคัน เหลาใหม่ไม่ได้เพราะไม่มีกบเหลา (หรือมีแต่เอาเข้าห้องสอบไม่ได้เพราะดีไซน์ผิดระเบียบ)

  • หลงทาง กะเวลาเดินทางพลาด เจอรถติด ไปผิดตึก

😢 ผลที่ตามมา คือ นักเรียนเกิดภาวะเครียด กังวล ลนลาน ไม่มีสมาธิในการทำข้อสอบ

3. มีของที่ไม่สามารถนำเข้าห้องสอบหรือใช้ระหว่างการสอบได้

ข้อนี้คือผิดระเบียบของการสอบแบบเต็มประตูเลยค่ะ เช่น พกโทรศัพท์มือถือติดตัวด้วยความเคยชิน หรือแม้จะเก็บใส่กระเป๋าวางไว้นอกห้องแล้ว แต่ลืมปิดเครื่องหรือปิดเสียง จนสร้างเสียงรบกวนให้ผู้สอบคนอื่นๆ

😢 ผลที่ตามมา คือ นักเรียนจะถูกกรรมการคุมสอบแจ้งห้ามนำเข้าห้องสอบ บางคนอาจเกิดมวลความรู้สึกเครียด กลัวถูกเพ่งเล็ง กลัวถูกจ้องจับผิด จนเสียสมาธิการทำข้อสอบ

ชื่อภาพ

4 แนวทางเตรียมนักเรียนพร้อมลุย A-Level

  • ข้อที่1 ทำความเข้าใจเรื่องการเซ็นชื่อและการฝนเครื่องหมายในกระดาษคำตอบ

(ข้อมูลอ้างอิงจากกระดาษคำตอบ ปี 67 ล่าสุด) มีข้อสังเกตบนกระดาษคำตอบ 2 จุด คือ

📍 จุดที่ 1 ช่องการเซ็นชื่อในช่อง “ลายมือชื่อผู้เข้าสอบ” นอกจากใน #กระดาษคำตอบ แล้ว ยังมีส่วนของ #ชุดข้อสอบ รวมถึง #ใบลงชื่อการเข้าสอบ ที่กรรมการจะคอยเดินส่งให้นักเรียนได้ลงชื่อด้วยค่ะ หลักๆ จะมีประมาณ 3 จุดที่ต้องเซ็นชื่อ และการเซ็นชื่อทั้ง 3 จุดนี้ อยากแนะนำให้เป็นการเขียนชื่อที่เหมือนกันทั้ง 3 จุด ***อย่าลืมเด็ดขาดนะคะ

📍 จุดที่ 2 การฝนเครื่องหมาย “เลขที่ชุดแบบทดสอบ” จุดที่สำคัญคือ เลขที่ชุดแบบทดสอบจะอยู่ที่ข้อ 0 ในทุกๆ รายวิชาดังนั้น นักเรียนจะต้องใช้ความระมัดระวังและรอบคอบในการทวนข้อมูลบนกระดาษคำตอบมากๆ เลยค่ะ

ชื่อภาพ

  • ข้อที่2 การเตรียมตัวและอุปกรณ์ให้พร้อมเข้าห้องสอบ

📍 จุดที่ 1 เอกสารบัตรประจำตัวผู้เข้าสอบรายวิชา (สามารถพิมพ์ได้จาก student.mytcas.com) และ หลักฐานแสดงตน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรที่ออกจากทางราชการ มีรูปผู้เข้าสอบ และเป็นบัตรที่ยังไม่หมดอายุ มาเพื่อเป็นหลักฐานในการเข้าห้องสอบ แต่หากไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนเข้าห้องสอบ ให้ใช้บัตรอื่นๆ ที่ออกจากทางราชการ เช่น ใบขับขี่ บัตรประจำตัวนักเรียน ที่มีภาพหน้านักเรียนชัดเจน หรืออีกทางนึงจะมีทางเลือก โดยการใช้แอปพลิเคชัน ThaiID มาเป็นหลักฐานในยืนยันตัวเองได้อีกทางเช่นกัน
ดาวน์โหลด ThaiId ผ่าน App Store https://apps.apple.com/th/app/thaid/id1533612248 ดาวน์โหลด ThaiId ผ่าน Play Store https://play.google.com/store/apps/details?id=th.go.dopa.bora.dims.ddopa&hl=th

📍 จุดที่ 2 อุปกรณ์สำหรับการทำข้อสอบ ได้แก่ ดินสอ 2B แบบไม้ จำนวน 3 แท่ง และยางลบแบบไม่มีปลอกหุ้มเพียง เท่านั้น โดย ปากกาลูกลื่นหมึกสีน้ำเงิน จะมีให้บริการจากกรมการคุมสอบตอนเซ็นชื่อเข้าห้องสอบ ส่วนกบเหลาดินสอหากจำเป็นต้องใช้จริงๆ สามารถขอยืมกรรมการคุมสอบได้ และที่สำคัญ*** นาฬิกาข้อมือชนิดเข็มที่จะใส่เข้าไปในห้องสอบ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ควรเตรียมเข้าไป เนื่องจากในทุกๆปี ทาง ทปอ. แจ้งว่าจะมีนาฬิกากลางในห้องสอบ และมีประกาศแจ้งเวลาให้แก่นักเรียนเป็นระยะจากกองกลาง แต่จากการสอบถามนักเรียนหลายคน พบว่า มีปัญหาบางสถานที่สอบมีการแจ้งเวลาไม่เหมือนกัน หรือบางที่ไม่มีนาฬิกากลางในห้องสอบ ทำให้นักเรียนหลายคนเสียโอกาสในการบริหารจัดการเวลาที่เหมาะสม ดังนั้นแอดมินขอแนะนำให้นำนาฬิกาแบบเข็มเข้าไปด้วยจะดีกว่าค่ะ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน น่าจะสำคัญที่สุดค่ะ

📍 จุดที่3 ข้าวของและการเตรียมตัวอื่นๆ นอกเหนือจากอุปกรณ์การทำข้อสอบ เช่น ใส่นาฬิกาข้อมือได้ แต่อนุญาตเฉพาะนาฬิกาแบบเข็มเท่านั้น ใส่แว่นสายตาและคอนแทคเลนส์เข้าสอบได้ สวมหน้ากากอนามัยได้

ชื่อภาพ

  • ข้อที่3 การเตรียมความพร้อมอื่นๆ

📍 จุดที่ 1 การเดินทาง

ด้วยระบบการสุ่มเลือกสถานที่สอบ ส่งผลให้นักเรียนหลายคนอาจประสบปัญหาการเดินทางไปสอบต่างสถานที่กัน บางคนได้ที่สอบของโรงเรียนตนเอง บางคนอาจจะต้องเดินทางไปสอบในสถานที่ที่ไม่คุ้นชิน ดังนั้นการวางแผนการเดินทางจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ แอดมินขอแนะนำให้วางแผนการเดินทางให้มั่นใจว่า นักเรียนจะไปถึงสนามสอบและหน้าห้องสอบอย่างน้อย 30 นาที ก่อนเวลาสอบค่ะ

📍 จุดที่ 2 การแต่งกาย

เพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกันการเข้าใจคลาดเคลื่อน แนะนำให้แต่งชุดนักเรียนหรือชุดนักศึกษา (กรณีเด็กซิ่ว)) แต่ทั้งนี้ หากสถานศึกษาหรือสนามสอบนั้นๆอนุญาต ก็อยู่ที่การตัดสินใจของนักเรียนเลยค่ะ และที่พีคไปกว่านั้นมีนักเรียนส่วนหนึ่ง เคยบ่นถึงเรื่องข้อห้ามในนักเรียนชาย ที่ไม่อนุญาตให้ใส้เสื้อยืดซับในที่มีลักษณะเสื้อยืดซับใน (ซึ่งใส่ซับใว้ในชุดนักเรียน) ไม่อนุญาตให้เข้าห้องสอบ ทำให้นักเรียนต้องถอดเสื้อซับในออกก่อนเข้าห้องสอบก็มีมาแล้วค่ะ ส่วนสุดท้ายนี้ การสวมเสื้อกันหนาวเข้าห้องสอบ #ก็ไม่อนุญาตให้ใส่เสื้อกันหนาวเข้าสอบ นะคะ อ้างอิงจากลิ้งก์นี้เลยค่ะ https://help.mytcas.com/article/216-faq-tcas66-20

📍 จุดที่ 3 การเตรียมตัวด้านอื่นๆ

กรณีที่ต้องไปสอบต่างพื้นที่ อยากแนะนำให้เตรียมอาหาร น้ำ ขนม สำหรับระหว่างเบรกหรือพักกลางวัน ไปด้วย โดยอาจฝากไว้กับผู้ปกครองที่มารอก็ได้ค่ะ เพราะปัญหาที่เคยพบเจอ คือ บางสถานที่สอบอาจจะมีจำหน่ายจริง แต่ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้สอบและผู้ปกครองที่ไปด้วย ส่วนเรื่องของสัมภาระอื่นๆ ก็ไม่อนุญาตให้นำเข้าห้องสอบนะคะ บางสถานที่สอบอาจมีบริการรับฝาก บางสถานที่สอบนักเรียนจะต้องรับผิดชอบสัมภาระของตนเอง ยังมีรายละเอียดยิบย่อยในส่วนอื่นๆ อีก คุณครูท่านไหนสนใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากลิงก์ https://help.mytcas.com/article/231-print-application-form

ชื่อภาพ

  • ข้อที่4 ข้อควรระวัง

1.เขียนผิดตำแหน่ง ได้กระดาษคำตอบไม่ตรงชื่อ

จำไว้ว่า เมื่อได้รับกระดาษคำตอบทุกครั้ง ให้ตรวจสอบ ชื่อ สกุล ของกระดาษคำตอบให้ครบถ้วนว่ากระดาษคำตอบใบนี้เป็นของเราหรือไม่
และหากลงชื่อหรือเซ็นชื่อผิดตำแหน่ง (เช่น ลงชื่อในตำแหน่งกรรมการคุมสอบ) อันนี้แอดมินแนะนำให้แจ้งกรรมการทันที ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดๆ ที่เกิดความผิดพลาดหรือผิดปกติในห้องสอบ กรรมการคุมสอบคือผู้แก้ปัญหาและหาทางออกให้นักเรียนค่ะ

2.เช็กความพร้อมอุปกรณ์ให้เรียบร้อยก่อนเข้าห้องสอบ

ระหว่างการสอบอาจเกิดเหตุไม่คาดฝัน ตัวอย่างเช่น ดินสอ2B หักระหว่างฝนข้อสอบ แต่นักเรียนไม่มีกบเหลาดินสอ จริงๆ แล้วหากเกิดปัญหาระหว่างสอบ นักเรียนสามารถขอความช่วยเหลือจากกรรมการคุมสอบได้นะคะ แต่จะดีกว่าหากนักเรียนเตรียมตัวไว้ก่อน จะได้ใช้เวลากับการสอบอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลส่วนอื่นๆ รวมไปถึงการเช็กข้อสอบภาพรวมด้วยนะคะก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะจะได้บริหารจัดการเวลาให้เหมาะสมได้ค่ะ

3.กระดาษคำตอบคือหัวใจสำคัญในระหว่างการสอบ

การรักษาให้กระดาษคำตอบของเราอยู่ในสภาพที่เรียบร้อยจนกว่าจะส่งคืนให้กรรมการคุมสอบ ถือเป็นหน้าที่หลักของผู้สอบทุกคน กรณีตัวอย่างที่เคยเจอคือ บางสถานที่สอบมีลิ้นชักใต้โต๊ะเพื่อเก็บของ แต่บางสถานที่สอบเป็นโต๊ะเลคเชอร์ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ นักเรียนอาจจะงีบหลับในระหว่างทำข้อสอบ หรือทำข้อสอบเสร็จแล้วแต่รอเวลาเพื่อส่งกระดาษคำตอบ จนเผลอทำกระดาษข้อสอบเปียกได้โดยไม่ตั้งใจ อีกกรณีคือ ห้องสอบที่อยู่บนตึกสูง ย่อมมีลมพัดเข้าหน้าต่าง แค่คิดก็ขนลุกเพราะแอดมินเคยมีประสบการณ์การวิ่งตามกระดาษคำตอบที่ปลิวจากชั้น 5 มาแล้ว ไม่อยากให้มันเกิดกับนักเรียนคนใดๆ อีกเลยค่ะ เหนื่อยยยย 😭😭

4.ทำข้อสอบไม่ทัน

การบริหารจัดการเวลาในการสอบให้ดีสำคัญมากๆ หากเกิดขึ้นแล้วจะไม่มีโอกาสแก้ตัว ข้อดีคือ ตอนนี้ยังมีโอกาสเตรียมตัวก่อนถึงวันสอบ ลองฝึกซ้อมทำข้อสอบแบบจับเวลา สมมติสถานการณ์ดูว่าหากเจอข้อที่ยากจนตอบไม่ได้ นักเรียนจะให้เวลาตัวเองสู้ต่ออีกกี่นาทีจึงจะขยับไปทำข้ออื่นต่อ และที่สำคัญหากมีนาฬิกาแบบเข็มพกเข้าสอบด้วย ก็จะช่วยมั่นใจได้ว่าจะสามารถบริหารจัดการเวลาให้ทันท่วงที

ว่าแต่คุณครูท่านอื่นๆ มีประสบการณ์หรือข้อควรระวังอะไรบ้างที่อยากสื่อสารกับนักเรียน คอมเมนท์แลกเปลี่ยนกันได้นะคะ แอดมินรออ่านค่าาาา


พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว

✅ มีเกียรติบัตร

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา