วางระบบติดตามผลให้ครูทำงานง่ายขึ้น

หมวดหมู่: สนับสนุนงานแนะแนว

Tags:  ระบบติดตามผล

อ่านแล้ว: 975 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

“อย่าลืมแจ้งครูน้าาา ว่าใครติดที่ไหนแล้วบ้าง!?” 🤗🤗

คำพูดนี้น่าจะเป็นคำพูดที่ครูแนะแนวหลายคนเริ่มนำมาสื่อสารกับนักเรียนกันแล้วใช่ไหมคะ เพราะหลังจากที่ TCAS รอบที่ 1 ยืนยันสิทธิ์ไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา คุณครูน่าจะพอทราบข่าวการได้ที่เรียนต่อของเด็กๆ หลายคน

ว่าแต่… คุณครูทำงานคนเดียวหรือมีระบบการติดตามผลช่วยงานคุณครูกันไหมคะ?

วันนี้แนะแนวHUB ขอมานำเสนอแนวทางสำหรับโรงเรียน คุณครูแนะแนว หรือคุณครูที่มารับหน้าที่ติดตามผล ที่กำลังเริ่มเก็บข้อมูลการศึกษาต่อ (โดยเฉพาะในโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนค่อนข้างเยอะ) เพื่อให้คุณครูได้ทำงานง่าย รวดเร็วและประหยัดเวลามากขึ้น พ่วงด้วยข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ของการจัดเก็บข้อมูลรวมถึงสิ่งที่คุณครูควรระมัดระวังในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลด้วยค่ะ

ชื่อภาพ

ไม่ใช่นักเรียนทุกคนที่อยากให้ข้อมูล

ดังนั้นครูแนะแนวหรือผู้ที่ทำงานด้านการเก็บข้อมูลนักเรียน อาจจะต้องทำความเข้าใจ รวมถึงสื่อสารวัตถุประสงค์การเก็บข้อมูลติดตามผลให้ชัดเจน กล่าวคือ คำนึงเรื่องการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล PDPA นอกจากครูแนะแนวจะต้องสื่อสารกับนักเรียนแล้ว ครูที่ปรึกษาเองก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจเช่นกันค่ะ

ชื่อภาพ

ความสำคัญของการติดตามผล

  1. ความสำคัญต่อสถานศึกษา

    1.1 เพื่อประเมินการจัดการเรียนการสอนของแต่ละแผนการเรียน

    1.2 เพื่อประเมินการดำเนินการของงานวิชาการ

    1.3 ใช้วางแผนเพื่อออกแบบเนื้อหาให้สอดคล้องกับความต้องการ

    1.4 เพื่อประเมินเครือข่ายความเข้มแข็งจากสถานศึกษา

    1.5 ใช้เป็นฐานข้อมูลศิษย์เก่า

    1.6 ใช้เป็นฐานข้อมูลในการกำกับติดตาม ประเมินทั้งภายใน-ภายนอก

  2. ความสำคัญต่องานแนะแนว

    2.1 เพื่อใช้ออกแบบการเรียนการสอน

    2.2 ใช้วางแผนการแนะแนว แนวโน้มการจัดสรรสถาบันเพื่อเข้าแนะแนวการศึกษา

    2.3 เพื่อจัดระบบทำเนียบรุ่นพี่ รุ่นน้อง

    2.4 เป็นโอกาสจัดกิจกรรมพี่พบน้องในอนาคต

    2.5 เป็นโอกาสเชื่อมโยงประโยชน์เชิงประสบการณ์พี่สู่น้อง

    2.6 เป็นฐานข้อมูลศิษย์เก่า

    2.7 เป็นประโยชน์ต่องานแนะแนว ทุน ของขวัญ การสนับสนุนต่างๆ

    2.8 เป็นแรงบันดาลใจในการเรียน และวางเป้าหมายของรุ่นน้อง

ชื่อภาพ

แนวทางการวางระบบงานติดตามผล

เริ่มจากวางโครงสร้างการติดตามผลให้เป็นรูปแบบที่ชัดเจน เนื่องจากงานติดตามผลการศึกษาต่อสามารถนำไปใช้ในหลายๆ วัตถุประสงค์ ครูที่ปรึกษา หัวหน้าแผนการเรียน ฝ่ายงานวิชาการ ก็อาจเข้ามามีส่วนร่วมในการวางระบบได้เช่นกันค่ะ

หากมองมุมงานบริหารงานในระดับชั้น แอดมินเสนอแนวทางการวางระบบตามนี้ค่ะ

  1. ประสานงานติดตามกับหัวหน้าระดับ เพื่อกระจายข้อมูลการมีส่วนร่วมในการเก็บข้อมูลนักเรียนเพื่อส่งต่อไปยังครูที่ปรึกษา

  2. ครูแนะแนวสร้างความเข้าใจและเสนอวิธีการสื่อสาให้รกับครูที่ปรึกษา แชร์ปฏิทินTCAS เน้นย้ำประโยชน์ที่จะได้จากการติดตามผล ในมุมมองของสถานศึกษา แผนการเรียน ฯลฯ รวมถึงความเข้าใจเรื่อง PDPA

  3. ประสานงานข้อมูลจากเพื่อนในชั้นเรียน จากผู้ปกครองนักเรียน และส่งข้อมูลกลับมายังงานแนะแนว เพื่อรวบรวมข้อมูลเป็นลำดับถัดไป

ชื่อภาพ

สิ่งหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้งานติดตามผลเป็นแบบแผนชัดเจน คือ การแต่งตั้งคำสั่งติดตามผล เพื่อเป็นหลักฐานในการขอความร่วมมือจากครูที่ปรึกษาและหัวหน้าระดับในการช่วยสนับสนุนกำกับติดตามผลการศึกษาของนักเรียนอีกแรง (สิ่งนี้สามารถใช้เป็นผลงานให้กับครูที่ปรึกษาได้ด้วย)

ชื่อภาพ

ข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นในการติดตามผล ได้แก่

  1. ข้อมูลพื้นฐานของนักเรียนที่ระบุตัวตน เช่น ชื่อ นามสกุล ชื่อเล่น เบอร์โทรศัพท์ ID line เป็นต้น

  2. ข้อมูลบุคคลใกล้ชิด เช่น เบอร์ติดต่อของผู้ปกครอง เบอร์ติดต่อของเพื่อนสนิท (สำหรับเก็บไว้เพื่อเป็นข้อมูลสำรอง กรณีที่ครูไม่สามารถติดตามหรือติดต่อข้อมูลจากนักเรียนได้)

  3. ระมัดระวังข้อมูลเปราะบาง

*ไม่แนะนำให้เก็บข้อมูลที่เปราะบางหรืออาจจะขัดกับหลักการ PDPA

  1. เชื้อชาติ

  2. เผ่าพันธุ์

  3. ความคิดเห็นทางการเมือง

  4. ความเชื่อในลัทธิ ศาสนาหรือปรัชญา

  5. พฤติกรรมทางเพศ

  6. ประวัติอาชญากรรม

  7. ข้อมูลสุขภาพ

  8. ความพิการ หรือข้อมูลสุขภาพจิต

  9. ข้อมูลสหภาพแรงงาน

  10. ข้อมูลพันธุกรรม

  11. ข้อมูลชีวภาพ

  12. ข้อมูลทางชีวมิติ (Biometric) เช่น รูปภาพใบหน้า, ลายนิ้วมือ, ฟิล์มเอกซเรย์, ข้อมูลสแกนม่านตา, ข้อมูลอัตลักษณ์เสียง, ข้อมูลพันธุกรรม

  13. ข้อมูลอื่นใดซึ่งกระทบต่อเจ้าของข้อมูลในทำนองเดียวกันตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

(อ้างอิง พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562)

4 วิธีการแนวทางติดตามผล มีดังนี้

ชื่อภาพ

วิธีการที่ 1: การใช้ Google form ตอบกลับข้อมูล

เป็นวิธีการเก็บข้อมูลติดตามผลที่นิยมมากที่สุด เพราะทำง่ายและครอบคลุมมากที่สุด โดยหัวข้อส่วนใหญ่ที่มักเจอในแบบฟอร์ม ได้แก่

  1. ส่วนของข้อตกลง PDPA

  2. ส่วนข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ สกุล ชื่อเล่น เบอร์ติดต่อ ID Line คณะ/สาขาที่ศึกษาต่อ รายละเอียดอื่นๆ

  3. ส่วนการอัปโหลดรูปภาพ

ชื่อภาพ

วิธีการที่ 2: การสอบถามจากสายรหัส

อีกเครื่องมือหนึ่งที่น่าสนใจที่จะช่วยให้คุณครูได้ข้อมูลการติดตามผล และเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสายรหัส หากสายรหัสของสถานศึกษานั้นๆ ปลูกฝังการสนับสนุนช่วยเหลือกันแบบเกื้อกูลและใกล้ชิด

ชื่อภาพ

วิธีการที่ 3: การโทรสอบถาม

วิธีการนี้น่าจะเป็นวิธีการที่ได้ผลมากที่สุด และยังเป้นวิธีการที่สามารถสอบถามข้อมูลอื่นๆ จากเพื่อนร่วมชั้นด้วยกัน ทั้งนี้ก็อาจจะต้องคำนึงถึงความยินดี และยินยอมในการให้ข้อมูลของนักเรียนเช่นกันนะคะ วิธีการนี้เหนื่อยหน่อยแต่ได้ผลทันใจแน่นอนค่ะ

ชื่อภาพ

วิธีการที่ 4: การใช้ระบบเพื่อนถามเพื่อน

อีกวิธีการหนึ่งที่ได้ผลก็คือ การต่อยอดจากการโทรสอบถามรายบุคคล คุณครูสามารถสอบถามข้อมูลจากเพื่อนได้อีกทาง เช่น “นักเรียนพอทราบข่าว นนทกรไหม ว่าเพื่อนเรียนต่อที่ไหน พอดีครูติดต่อเพื่อนไม่ได้” “อ๋อ งั้นเดี๋ยวผมถามเพื่อนให้นะครับ”

วิธีการนี้จะช่วยย่นระยะเวลาการเก็บผลและเป็นวิธีการที่คุ้มค่า เพราะนักเรียน 1 คน สามารถให้ข้อมูลของเพื่อนได้มากกว่า 1 คน (ทั้งนี้อาจจะมีปัญหาการระบุข้อมูลสาขา/คณะ ที่อาจจะไม่แม่นยำ ซึ่งอาจจะต้องเป็นการบ้านให้คุณครูในการเสาะหาชื่อคณะ/สาขานั้นๆ เพิ่มเติมค่ะ)

ชื่อภาพ

วิธีการนำเสนอข้อมูล

เมื่อได้ข้อมูลกลับคืนมาแล้ว ขั้นต่อไปคือรวบรวมเพื่อนำเสนอ ซึ่งรูปแบบการนำเสนอจะขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละโรงเรียนเลยค่ะ เท่าที่แอดมินดูข้อมูลมา เรื่องการขึ้นป้ายแสดงความยินดี (ป้ายหน้าโรงเรียน) อ้างอิงจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เมื่อปี 2563 ที่ห้ามมีการขึ้นป้าย แต่แอดมินยังไม่แน่ใจเรื่องผลการบังคับใช้นะคะ ที่แอดมินเคยเห็นมาคือ มีหลายโรงเรียนที่เปลี่ยนรูปแบบมาทำในเพจเฟสบุ๊กแทน

อย่างไรก็ดี ถ้าผ่านการยินยอมจากเจ้าของข้อมูลแล้ว ก็อยู่ที่การตัดสินใจของแต่ละโรงเรียนเลยค่ะ

ชื่อภาพ

ตัวอย่างการจัดเก็บข้อมูล

เพื่อให้สามารถจดจำรูปร่างหน้าตาของนักเรียนได้ ข้อมูลในการติดตามผลอาจจะเป็นในรูปแบบการแนบรูป ชื่อ-สกุล และสาขา/คณะที่นักเรียนศึกษาต่อ โดยอาจเก็บในรูปแบบของไฟล์เอกสารหรือปริ๊นเก็บในรูปแบบเล่มก็ได้ค่ะ (รูปภาพนักเรียนอาจจะติดต่อประสานงานกับร้านถ่ายรูปหรือฝ่ายโสตฯ ของโรงเรียนได้)


คอร์สเรียนฟรี สุดพิเศษ เอาไปใช้ได้จริง! สำหรับครูแนะแนว

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ มีเกียรติบัตร ***จะได้รับเมื่อทำ Quiz และแบบประเมินหลังเรียนจบเรียบร้อย

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา