ครูแนะแนวรุ่นใหม่ฯ : ก้าวที่มั่นคงในเป้าหมายของครูก่อ

หมวดหมู่: พื้นที่เพื่อนครู

Tags:  ครูแนะแนวรุ่นใหม่

อ่านแล้ว: 486 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

ครูก่อ - อุกฤษฏ์ สุวรรณปัญญา เข้าร่วมโครงการครูแนะแนวรุ่นใหม่ฯ รุ่น 3 กับ a-chieve เมื่อปี 2563

ปัจจุบันเป็นคุณครูที่โรงเรียนทุ่งเสลี่ยมชนูปถัมภ์ จ.สุโขทัย รับหน้าที่สอนวิชาสังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ ให้นักเรียนระดับชั้นม.4 และ ม.6 รวมถึงรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของนักเรียนชั้น ม.4 ด้วย

ครูก่อเป็นคุณครูที่ไม่ได้เรียนจบด้านแนะแนว และไม่มีพื้นที่งานสอนในวิชาแนะแนวด้วย แต่เพราะมีความมุ่งมั่นอยากพัฒนาเด็กๆ อยากเป็นที่ปรึกษาที่เด็กนักเรียนกล้าเล่า กล้าแชร์ กล้ามาแลกเปลี่ยนขอคำปรึกษาได้ จึงเข้าร่วมในกระบวนการเรียนรู้และมีส่วนร่วมในกิจกรรมกับทางโครงการฯ อย่างสม่ำเสมอ

ชื่อภาพ

จุดเริ่มต้นที่พกเป้าหมายกับความตั้งใจมาเต็มกระเป๋า

“เอาจริงๆคือ ผมได้เข้ามาร่วมโครงการฯ กับครูแนะแนวคนอื่นๆได้ยังไงก็ไม่รู้ครับ ต้องขอบคุณที่ได้รับโอกาสนี้ (ยิ้มเขิน) เพราะผมเป็นครูสังคม เรียนจบครูสายสังคมมาก็สอนแต่วิชาสังคมศึกษา ผมไม่มีพื้นฐานและไม่เข้าใจระบบงานแนะแนวหรือการดูแลเด็กๆเลย

ชีวิตการเป็นครู ก็คิดว่าตัวเองเป็นครูที่ใจดีครับ (ยิ้ม) ยืดหยุ่นได้ในระดับหนึ่ง แต่มีเป้าหมายชัดนะ จะมีบ้างที่เข้มงวดตามสิ่งที่เราตกลงร่วมกับเด็กๆ โดยรวมคิดว่าเป็นครูที่เต็มที่พอสมควรครับ คือผมทุ่มเทกับงานมาก ตั้งใจมาก ไม่ใช่แค่งานสอน แต่อยากสร้างความเชื่อใจให้นักเรียนด้วย ซึ่งยอมรับว่าแต่ก่อนไม่เข้าใจ คือเราให้ไปเยอะมาก แต่ทำไมเด็กกลับดูไม่มีผลตอบรับอะไรกลับมาเท่าไร มีอะไรก็ไม่ค่อยมาบอกมาคุยกับเรา ไอ้เราก็ อืม ทำไมนะ (หัวเราะ) เดาว่าสิ่งที่เราคิดว่าเต็มที่แล้วมันไม่เห็นผล อาจเพราะเรายังทำได้ไม่มากพอ ยังขาดทักษะความรู้ หรืออะไรบางอย่างไป

ก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้จักว่า a-chieve คืออะไรนะ แต่มี ครูเบ๊นซ์ - ไตรภูมิ อ้ายวงค์ รุ่นพี่ครูที่โรงเรียนเก่า ตอนนั้นผมสอนที่โรงเรียนบ้านแก่งวิทยา จ.สุโขทัย พี่เขาเป็นครูแนะแนวที่โรงเรียน และได้เข้าร่วมโครงการครูแนะแนวรุ่นใหม่ฯ รุ่นที่1 พอไปอบรมของโครงการฯ กลับมาโรงเรียนคือพี่เขาฟิตมากครับ เขากุลีกุจอทำแผนการสอนแจกให้ครูที่ปรึกษาทุกระดับชั้นให้เอาไปใช้กับนักเรียนเลย จริงจังมาก ไฟแรงมาก ผมชื่นชมพี่เขามากเลยนะ แล้วผู้อำนวยการโรงเรียนผมตอนนั้น ก็สนับสนุนให้ครูเอาไปใช้กันด้วย ตอนที่รับแผนมาก็พยายามอ่านทำความเข้าใจ แม้ยังงงๆ ไม่ค่อยมั่นใจ ก็ลองเอาไปใช้ดู เด็กๆก็ดูสนุกนะ ดูมีความสุขด้วย เราเองก็อยากทำได้บ้าง อยากเข้าถึงใจเด็กๆได้บ้าง

แต่ถึงจะเคยใช้แผนการสอนของครูเบ๊นซ์ เอาเข้าจริงก็มีโอกาสได้ใช้ไม่กี่ครั้ง เพราะคาบแนะแนวหรือโฮมรูมของโรงเรียนบางทีก็โดนดึงเวลาไปทำกิจกรรมอื่น นับไปนับมาเหลือเวลาได้ดูแลเด็กๆจริงๆน้อยมาก แต่ก็เข้าใจนะเพราะกิจกรรมและงานต่างๆของโรงเรียนก็เยอะจริงๆครับ ส่วนครูที่ดูแลงานแนะแนวของโรงเรียนเขาจะให้ความสำคัญเรื่องทุนการศึกษากับการเรียนต่อมาก ตรงเรื่องกระบวนการเรียนรู้อย่างพวกการค้นหาตัวเองหรือพื้นที่ปลอดภัยเลยยังไม่ชัดเท่าครับ

พอเห็นข่าวประชาสัมพันธ์ว่าโครงการฯ เปิดรับสมัครครูรุ่น 3 เลยตัดสินใจลองสมัครดู จริงๆไม่คาดหวังว่าจะได้เลยครับ เขามีให้เขียนก็เขียนอย่างที่เราคิด เหมือนได้กลับมาทบทวนว่าเรามีเป้าหมายอะไร มีความตั้งใจอะไร คิดเห็นต่อนักเรียนยังไง ของผมคืออยากให้นักเรียนมีความสุข อยากให้เขาเชื่อใจในตัวครู แล้วปีนั้นผมได้เป็นที่ปรึกษาของม.6 ด้วย ก็เลยหวังไว้ว่าอยากให้เขาเรียนจบไปพร้อมกับได้สิ่งที่ตัวเองต้องการนะ อยากเป็นครูที่ให้คำแนะนำเขาได้ แต่ถ้าถามเรื่องประสบการณ์ด้านงานแนะแนวนี่ยากเลย มีความอยากนะ แต่ไม่มีความรู้ทักษะเลย อาศัยความตั้งใจล้วนๆเลยครับ วิธีการค่อยว่ากัน ลองเรียนรู้ ลองทำก่อน”

ชื่อภาพ

การเติบโตเริ่มที่การออกจาก Comfort zone

“เข้าเวิร์กช็อปอบรมครูแนะแนวฯ ครั้งแรก ผมตื่นเต้นทำตัวไม่ถูกเลย ยอมรับเลยว่าอึดอัดมากครับ (หัวเราะ) เพราะไม่ใช่รูปแบบที่เราคุ้นเคยเลย ตอนแรกคิดว่าคงเป็นเลคเชอร์ น่าจะมีสไลด์ฉายขึ้นจอ คงมีคนมายืนสอนหน้าห้องให้เรานั่งฟัง แต่ความจริงคือไม่ใช่เลยครับ (หัวเราะ) แล้วเนื้อหาก็ใหม่มากสำหรับเรา มองไปก็เหมือนจะมีแต่ครูแนะแนว บางคนจบแนะแนว บางคนไม่ได้จบแนะแนว แต่เขามีคาบวิชาแนะแนวของตัวเอง แต่ผมไม่มี เขาคุยอะไรกันผมก็ไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง พื้นเพเราเป็นคนโลกส่วนตัวสูงด้วย แถมพูดไม่เก่งอีก จะถามก็ไม่รู้จะถามอะไรดี จะให้แชร์ก็ไม่รู้จะพูดอะไรอีก ก็เห็นตัวเองว่าจะเน้นฟังเก็บข้อมูลซะมากกว่า แต่ในกระบวนการเขามีคำถามชวนให้คิดให้แชร์บ่อยเลยครับ (หัวเราะเขิน) เป็นการออกจาก Comfort zone ทั้งเนื้อหาและรูปแบบกิจกรรมเลย คิดว่าตอนนั้นเราต่อสู้กับตัวเองเยอะมากๆ ทั้งความเป็นตัวเองแบบเดิมที่เราคุ้นเคย ความไม่รู้ การไม่มีประสบการณ์ แต่ก็อยู่จนจบงานนะ

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากเวิร์กช็อปครั้งแรกคิอ การพบว่าการเรียนรู้มันมีรูปแบบที่หลากหลายจริงๆ เป้าหมายครั้งนี้คือการสร้างครู การให้ความสำคัญกับตัวครู แล้วเรื่องอื่นๆมันจะเชื่อมโยงตามกันมาเอง นอกจากตัวกระบวนการกิจกรรมที่ผมพยายามเก็บกลับมาใช้กับเด็กนักเรียนแล้ว คิดว่าที่ตัวเองผ่านภาวะความอึดอัดมาได้ ต้องขอบคุณเพื่อนครูคนอื่นๆด้วย อย่างครูต้น ครูคิม ครูเอ็ม ที่คอยฟัง อธิบายสิ่งที่ไม่เข้าใจ และให้กำลังใจผมด้วย คำพูดของครูเอ็มที่พอจำได้คือ แกบอกว่า ‘เราได้โอกาสมาเวิร์กช็อปนี้แล้ว มาถึงนี่แล้ว ก็อยากชวนให้ลุกขึ้นมาสร้างบทบาทให้ตัวเอง อย่าลืมว่าเราไม่ใช่ตัวประกอบ’ เป็นหนึ่งในแรงผลักดันที่ทำให้ผมบอกตัวเองว่าจะลองฮึดดู ถึงจะอึดอัด กังวล ไม่เข้าใจ ตามไม่ค่อยทัน แต่จะลองดู

ผมไม่อยากเป็นครูที่แค่ไปถึงโรงเรียนตอนเช้าเพื่อสอนจนเย็นแล้วกลับบ้าน เราอยากสร้างไฮไลต์ในแต่ละวันให้ตัวเอง จำได้ว่าเรายังบอกเด็กเลย ว่าถ้ามาโรงเรียนแล้วเอาแต่ฟุบหลับในห้อง เวลาก็จะหมดไปแบบเปล่าประโยชน์ แล้วเราที่เป็นครูล่ะเวลาเจอความท้าทายที่ไม่เคยทำ หรือยังทำไม่ได้ เราทำยังไง ก็ลองเลยสิ จะได้รู้ จะได้พัฒนาตัวเอง นั่นแหละครับ เลยได้เปิดใจเรียนรู้ไปจนจบเวิร์กช็อป (ยิ้ม)

เสร็จจากเวิร์กช็อปนั้น ตอนขับรถกลับคือไฟแรงมากครับ ร้อนวิชา (หัวเราะ) อยากเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปลองใช้ไวๆ กลับถึงโรงเรียนก็คิดเลย วางแผนว่าจะลองเอากิจกรรมไหนไปทำกับเด็กกลุ่มไหน ด้วยความที่โรงเรียนเก่าผมขนาดเล็ก ดังนั้นเวลาทำงานเลยมีโอกาถเข้าถึงนักเรียนได้หลายกลุ่ม เราสามารถเจอเด็กๆนอกเหนือจากในคาบผ่านกิจกรรมอื่นด้วย

แต่มีครั้งหนึ่งครับ อันนี้ขอเล่าเลย (หัวเราะ) เป็นช่วงกิจกรรมหน้าเสาธง ที่ครูจะผลัดกันขึ้นไปสอนหัวข้อการพัฒนาตัวเอง ปกติครูแต่ละคนก็ขึ้นไปพูดเฉยๆ เด็กทั้งโรงเรียนรวมแล้ว 200 กว่าคนก็นั่งฟังเฉยๆ แต่พอถึงวันพุธซึ่งเป็นเวรของผม ไม่รู้นึกคึกอะไร แต่คิดว่าเราอยากก้าวออกจาก Comfort zone อยากท้าทายตัวเอง โดยการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กทั้งโรงเรียนพร้อมกันครับ ตอนนั้นตั้งใจจะสอนเรื่องความสามัคคี เช้าวันนั้นไปถึงโรงเรียนก็คว้าเอากระดาษมาปั้นเป็นบอลรอเลย กิจกรรมนี้ผมแปลงจากการเล่นโยนบอลที่ได้จาก a-chieve มาครับ ต้องแปลงเพราะบริบทตอนนั้นเล่นตามกติกาเกมไม่ไหว ไม่งั้นน่าจะหลายชั่วโมงครับ (หัวเราะ)

ตอนเดินผ่านเด็กห้องที่ผมสอน ก็ยังไปบอกนักเรียนเลยว่า เดี๋ยววันนี้จะมีเกมให้เล่นนะ เด็กก็แซวกลับว่า จริงเหรอครู เอาจริงเปล่า ซึ่งความจริงคือในใจผมยัง 50-50 เลยครับ ใจเต้นตุ้มๆต่อมๆ ว่า เอ จะเล่นดีไหมนะ แต่ขามันต้องเดินไปหน้าแถวแล้ว (หัวเราะ) พออธิบายกติกาการเล่นเสร็จ ผมก็โยนบอลให้เด็กคนแรก ให้เขาโยนส่งต่อให้เพื่อน แล้วผมจับเวลา เล่นรอบเดียวจนจบ บอลผ่านมือเด็กทั้งโรงเรียน แล้วผมก็ชวนคุยนิดหน่อย ก่อนจะสรุปเข้าการเรียนรู้เรื่องความสามัคคี แล้วก็ปล่อยแถว แยกย้ายเข้าคาบโฮมรูม

รู้ไหมครับ เด็กในโฮมรูมทักผมว่า ครู ไปวิ่งมาเหรอ ทำไมเหงื่อแตกขนาดนี้ (หัวเราะ) มันตื่นเต้นมากๆครับ มันไม่มีความมั่นใจเลยว่าจะโอเค ไหนจะสายตาเพื่อนครูคนอื่นๆอีก ผอ.ก็ยืนดูอยู่ครับ แต่แกก็ไม่ว่าอะไรนะ (หัวเราะ) ก็เป็นเช้าที่ตื่นเต้นดีครับที่ได้ออกจาก Comfort zone ยังโหวงๆหวิวๆหน่อย แต่ก็เป็นความรู้สึกที่โล่งดีครับ ก็ดีใจนะ เป็นความภูมิใจเล็กๆก็ได้ที่เรากล้าทำในสิ่งที่เราไม่เคยคิดว่าจะทำ”

ชื่อภาพ

พลังของการฟังและการสร้างข้อตกลงร่วมกัน

“แผนการสอนที่ได้รับมา ก็อยากเอามาลองใช้หมดเลยนะ แต่จะติดอยู่ 2 เรื่องคือ อ่านแล้วยังนึกภาพตามไม่ค่อยออกครับ (ยิ้มเขิน) คิดว่าอันนี้ต้องใช้เวลา และอาจต้องไปลองถามจากเพื่อนครูคนที่เขาทำแล้วให้เขาอธิบายเพิ่ม อีกเรื่องคือ ตัวผมอาจไม่ได้ใช้กระบวนการในคาบแนะแนวโดยตรง เพราะไม่ใช่วิชาในความรับผิดชอบด้วย แต่ส่วนตัวเห็นว่ามันปรับใช้ได้ในพื้นที่การทำงานที่หลากหลายเลย ที่ทำไปแล้วคือ ใช้ในวิชาสังคม คาบโฮมรูม ใช้เวลาดูแลกลุ่มชุมนุมนักศึกษารด. และดูแลเด็กนักเรียนที่อยู่บ้านพัก (หอ) ของโรงเรียนครับ

หลักๆเลยคือเรื่องการฟัง กับการทำข้อตกลงร่วมกันครับ

จริงๆผมก็ยังไม่ค่อยมั่นใจว่าสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กได้หรือยัง แต่ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงอยู่นะ อาจต้องอาศัยระยะเวลาและความต่อเนื่อง เทียบกับครั้งแรกๆที่ให้เด็กจับคู่แลกเปลี่ยนความรู้สึกกัน เขาจะยังเคอะเขิน ไม่กล้าพูด งง ทำตัวไม่ถูก ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะผมเองก็เป็น (หัวเราะ) แต่หลังๆเขาสนิทใจกันมากขึ้น ตั้งใจฟังเพื่อนมากขึ้น ซึ่งก็เป็นไปตามเป้าหมายที่เราวางไว้ว่าเราอยากให้เขาสนิทกัน ไว้วางใจซึ่งกันและกัน

การฟังนี่ได้ใช้กับเด็กในที่ปรึกษาด้วยครับ คือผมจะให้แต่ละคนมาแชร์เป้าหมายในชีวิตของตัวเอง ตอนเขาแชร์เราก็นั่งฟัง แล้วก็เลยได้เก็บข้อมูลเด็กไปด้วย

ส่วนการทำข้อตกลงร่วมกันนี่ใช้ได้กับหลายงานเลย ถ้าเป็นในคาบ เวลาผมสอน ต้นเทอมจะให้เด็กคุยเรื่องนี้เลย ว่าจะทำยังไงดีให้ทุกคนเรียนได้อย่างมีความสุข ซึ่ง… (หัวเราะ) มันมีบางข้อที่ขัดกับกฎกลางของโรงเรียนด้วย อย่างเรื่องกินขนมในห้องที่ปกติจะทำไม่ได้ใช่ไหม แต่เด็กบอกว่าอยากกินน้ำกินขนมนะ โอเค ในคาบครูก่อให้กินได้ครับ โรงเรียนห้ามเอาโทรศัพท์มือถือมานะ แต่เด็กๆมองว่าอยากเอามาสืบค้นเพื่อการเรียนรู้ โอเค ในคาบครูก่อเอามือถือมาสืบค้นได้ (ยิ้ม) เพราะมันเป็นข้อตกลงร่วมกัน เพื่อไปสู่เป้าหมายการเรียนในวิชา

ครูคนอื่นว่ายังไงเหรอ… (นิ่งคิด) ผมว่าคงมีคนที่เขาไม่เข้าใจ หรืออาจจะมองว่าผมหละหลวมในการควบคุมชั้นเรียนก็ได้ ซึ่งผมยอมรับว่ามันอาจเป็นความผิดตามวัฒนธรรมสากลครับ ฝ่ายปกครองเขาก็มาบอกนะว่าลดได้ไหม เบาลงหน่อยได้ไหม (ยิ้ม) แต่ผมไม่ได้เอามาใส่ใจมาก เพราะมองว่าเรามีเป้าหมายชัดเจน และเราสื่อสารเข้าใจตรงกันกับเด็กๆแล้ว ว่าถ้าเป็นพื้นที่ในคาบผม ภายใต้เป้าหมายวัตถุประสงค์การเรียน ผมให้ทำได้ เต็มที่เลย แต่ถ้านอกคาบเรียนต้องเคารพกฎกติกาของส่วนกลางนะ

เรื่องการแต่งกายและมาสาย ที่เป็นปัญหาให้ครูคอยจัดการมาตลอดก็อีกเรื่องครับ ผมลองชวนเด็กๆนั่งล้อมวงคุยกันเลย ไล่คุยแชร์สาเหตุกันทีละคนเลย ชวนกันคิดว่าทำยังไงดี แต่ละคนมองว่ายังไง จะช่วยกันยังไงได้บ้าง ถ้าเรารับฟังเสียงของเด็กจริงๆ ทั้งกติกาและบทลงโทษก็ออกมาจากตัวพวกเขาเอง พอเด็กเขารู้สึกว่าเป็นเจ้าของ รู้ว่าตัวเองมีส่วนร่วมในการออกกฎ เขาก็โอเคที่จะทำตาม ซึ่งผลที่เกิดขึ้นคือปัญหาลดลงครับ ผมคิดว่าโอเคนะ”

ชื่อภาพ

การเปลี่ยนแปลงเริ่มที่ทัศนคติ

“เรื่อง Mindset ครับ ทัศนคติเรื่องการรับฟังโดยไม่เผลอตัดสินคน น่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงในตัวเองที่ชัดที่สุดครับ แต่ก่อนผมก็ไม่ทันได้มองตัวเองเท่าไร แต่มันชัดขึ้นตอนมีเพื่อนครูที่โรงเรียนเขาเอาเคสเด็กมาเล่าให้ผมฟัง ว่าเด็กมีพฤติกรรมแบบนั้นแบบนี้ ตอนนั้นผมก็ตั้งใจฟังเขานะ ฟังจนจบเลย แล้วก็ทันตัวเองว่าจะไม่เผลอตัดสินเด็ก ยังบอกครูคนนั้นไปเลยว่าที่เห็นเด็กแสดงกิริยาแบบนั้น เราที่เป็นครูอาจยังไม่เข้าใจเหตุผลของเขา ยังไม่รู้จักนักเรียนมากพอก็ได้นะ ซึ่งถ้าเป็นผมแต่ก่อน คงคุยตามน้ำและหยิบพฤติกรรมเด็กตอนอยู่ในคาบผมมาแชร์เสริมไปด้วยแล้ว

ตอนรู้ว่าจะมีอบรมครั้งที่ 2 ก็ อืม ขอสารภาพว่ากดดันตั้งแต่ก่อนไปเลยครับ (หัวเราะ) เพราะเดาว่าจะได้เจอกระบวนการเรียนรู้ที่เราไม่คุ้นชินอีกแน่ๆ แต่อีกใจก็บอกตัวเองว่า เราเริ่มมาแล้วก็ต้องต่อให้จบ ต้องเก็บเกี่ยวกลับไปที่โรงเรียน ไปใช้กับเด็กๆ อีกอย่างที่ทำให้อยากไปคือ อยากเล่นน้ำครับ สถานที่จัดอบรมครั้งที่ 2 ทีมงานเขาเลือกที่มีให้เล่นน้ำได้ (หัวเราะ)
แต่เพราะกิจกรรมการอบรมครูครั้งนี้ ที่ทำให้มีโอกาสไปพบ 'ป้ามล' – ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) และเด็กที่บ้านกาญจนาภิเษก ได้ฟังแนวคิดที่ป้ามลใช้ในการทำงาน หลักๆคือการเชื่อมั่นในคุณค่าของมนุษย์ เชื่อมั่นในเด็ก เชื่อมั่นในนักเรียนของเรา ถ้าเราเชื่อมั่นมากพอ เราจะไม่ด่วนไปตัดสินเขา เรื่องหนึ่งที่สะเทือนผมมากคือคำพูดของป้ามลที่บอกว่า ถ้าเด็กหลุดออกจากรั้วโรงเรียนไป ประตูคุกจะเปิดอ้ารอเขาทันที ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็ก 1 คน หลุดออกจากระบบการศึกษาคือเรื่องการด่วนตัดสินกันนี่แหละครับ

พอจบงานกลับโรงเรียน ก็ประจวบเหมาะกับที่ได้ข่าวว่ามีเด็ก ม.2 คนหนึ่งที่เขาไม่ค่อยมาเข้าเรียนเลย ผมรู้มาว่าเด็กอยู่ที่บ้านคนเดียว แต่ต่อมาหายไปเลย ไม่มาเรียน มารู้อีกทีตอนแม่ผมโทรมาบอกว่าเห็นเด็กนักเรียนผมย้ายไปอยู่บ้านญาติที่เป็นอู่ซ่อมรถ ซึ่งอู่ที่ว่าอยู่ตรงข้ามบ้านแม่ผม ผมเลยขับรถไปตามให้กลับมาเรียน ไปแบบส่วนตัวเลยครับ ไม่ได้บอกครูคนไหน ซึ่งจริงๆเป็นข้อเสียของผมด้วย ที่จะทำอะไรก็ทำเลย ไม่ทันสื่อสารใคร ตอนนั้นคิดถึงแค่คำพูดป้ามลเลยครับ ก็ไปด้วยความตั้งใจที่ดี ซึ่งเด็กเขาก็รับปากนะว่าจะกลับมาเรียน คุยเสร็จผมก็ขับรถกลับ หลายสัปดาห์ต่อมา เด็กคนนั้นก็ไปโรงเรียนครับ ใส่ชุดนักเรียนไปเลย แต่ผมไม่รู้เพราะไม่ทันได้ตามต่อ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เขาไปเจอครูที่บอกเขาว่า เขาขาดเรียนเยอะมากจนไม่มีสิทธิ์สอบแล้ว หลังจากนั้นเขาก็ไม่มาโรงเรียนอีกเลย ผมมารู้เอาทีหลังว่าสุดท้ายเขาไปขโมยเงินเจ้าของอู่รถ และโดนจับเข้าสถานพินิจแล้ว

ตอนรู้ข่าวผมรู้สึกแย่นะ ผมยอมรับและเข้าใจเรื่องผลการกระทำความผิดที่ต้องได้รับโทษ แต่มาคิดดูก็ไม่รู้ว่าเพราะเราเองยังไม่เข้มแข็งพอจะดูแลเด็กคนหนึ่งหรือเปล่า เราถึงปล่อยเขาหลุดออกจากระบบการศึกษา ทั้งที่เราอาจจะยังรักษาเขาไว้ได้ ถ้าเราประสานงานร่วมกับครูคนอื่นหรือแจ้งครูที่ปรึกษาไว้ก่อน ตอนนั้นเลยได้ทันเห็นตัวเองว่านอกจากการสอนและการดูแลเด็กที่เราทำปกติแล้ว เราก็ไม่ค่อยได้คุยกับเพื่อนครูเรื่องระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนเท่าไร นั่นเลยทำให้เราไม่รู้ ไม่มีข้อมูล ไม่เข้าใจว่ามันมีกลไกการทำงานยังไง จากที่ป้ามลยกตัวอย่างให้ฟัง พอมาเจอกับตัวเอง ก็แย่อยู่ครับ แต่พอมาทบทวนตัวเองแล้วก็เลยคิดว่าจะเก็บเป็นบทเรียน อย่างตอนนี้ที่ผมย้ายมาโรงเรียนใหม่ที่จะเปิดเทอมในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ก็ตั้งใจว่าในช่วงแรกจะพยายามทำความรู้จักและเข้าใจนักเรียนให้มากก่อน แล้วผมจะทำงานให้เป็นระบบมากขึ้น คิดไวๆตอนนี้ตั้งใจว่า จะสื่อสารกับฝ่ายปกครองและไปปรึกษาเพื่อนครูที่ทำงานส่วนการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ให้เราเข้าใจระบบงานมากขึ้น จะได้ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดกรณีแบบนี้อีก”

ชื่อภาพ

ผลลัพธ์ปลายทางอาจยังอีกไกล ถ้าไม่ได้ด้วยพรสวรรค์ ก็ใช้พรแสวงไปเรื่อยๆ

“เป้าหมายในการทำงานของผมตอนนี้คือ รักษามาตรฐานงานเดิมที่ทำได้ดีแล้ว และอยากพัฒนาตัวเองให้เพิ่มขึ้นครับ อยากเอากระบวนการแนะแนวมาใช้ในการเป็นทีปรึกษาให้เด็กตั้งแต่ ม.4 เลย ให้เขาได้มีโอกาสทำความรู้จักตัวเองเร็วขึ้น ที่ผ่านมาผมเคยเจอเด็กบางคนที่เรียน ม.6 แล้ว เพิ่งมาค้นพบตัวเอง ซึ่งมันกลับไปแก้ไขทางเดินในชีวิตไม่ทันแล้ว

บนเส้นทางการใช้กระบวนการแนะแนวรูปแบบต่างๆ ทั้งกิจกรรม ความรู้ หรือประสบการณ์ ผมไม่มีเลยครับ น้อยแบบน้อยมาก ท้อไหม บางทีก็ท้อครับ เพราะมันไม่รู้เรื่อง จับต้นชนปลายไม่ถูก แต่ผมยังเชื่อว่าคนเราสามารถพัฒนาได้ เหมือนที่เราเชื่อมั่นในเด็กนักเรียนของเราว่าพวกเขาสามารถพัฒนาได้ อะไรใหม่ๆมา ถ้าลองได้ก็อยากชวนให้ลองไปด้วยกันครับ ถ้ามันเวิร์ก เราก็ทำต่อ แต่ถ้ามันเฟล อยากให้มองว่าเป็นประสบการณ์ มันจะทำให้เราโตขึ้น บทเรียนจากประสบการณ์จะเป็นแบบฝึกให้เราพัฒนาตัวเองต่อ”

ชื่อภาพ

💌 เสียงจากนักเรียนของครูก่อ 💌

นอกจากเรื่องราวการเติบโตของครูก่อ ทีมงาน a-chieve ยังมีโอกาสได้รับฟังข้อมูลความเห็นของนักเรียนลูกศิษย์ของคุณครูก่อผ่านการทำแบบสำรวจความคิดเห็นออนไลน์ ที่อ่านแล้วก็อดยิ้มตามด้วยความปลื้มใจไม่ได้ เลยขอเรียบเรียงและนำมาแบ่งปันเพื่อส่งต่อพลังงานดีๆ ถึงคุณครูทุกท่านที่กำลังพยายามพัฒนาตนเองเพื่อเด็กๆของเราค่ะ

“ครูก่อมีวิธีการสอนหลากหลาย ไม่น่าเบื่อในแต่ละครั้งที่เรียนเลยค่ะ เช่น ค้นหาด้วยตัวเองโดยการสรุปเป็น Mind-mapping หรือมีการนำเสนอผ่านอุปกรณ์ดิจิทัลภายในห้องเรียน และมีการออกนอกสถานที่ทำกิจกรรมประกอบการเรียน ที่สำคัญครูก่อใจดีมากๆค่ะ เรียนกับครูก่อได้ทั้งความสนุกสนานและผสมไปด้วยความรู้ ที่นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ หนูชอบวิธีการสอนของครูก่อมาก เราได้สนุกไปกับบทเรียน ไม่เครียด ครูก่อรับฟังความคิดเห็นของนักเรียนทุกคน มีกิจกรรมสนุกๆมาให้นักเรียนทำตลอด ไม่อยากให้ครูก่อย้ายไปโรงเรียนอื่นเลย และอยากให้ครูคนอื่นๆใจดีเหมือนครูก่อค่ะ” - นิชนันท์ เหมันต์ (มุก) ม.2/1

“ชอบที่ครูเอนเตอร์เทนนักเรียน ตอนเรียนกับครูก่อก็อารมณ์แบบเรียนสบายไม่ต้องเครียด แล้วครูก่ออธิบายการเรียนการสอนออกมาดีมากให้ข้อมูลแบบครบถ้วนและเข้าใจง่ายด้วย ครูเป็นที่ปรึกษาให้ได้ด้วย แถมเป็นตากล้องที่ดีมากๆด้วยครับ” - ภูริณัฐ หินอ่อน (บรู๊ค) ม.3/1

“ในคาบครูก่อจะมีกฏของห้องที่ให้นักเรียนและครูช่วยกันตั้งขึ้นมา เช่น การใช้โทรศัพท์ในห้องเรียนเพื่อหาความรู้ การทำงานกลุ่มนอกห้องเรียน สิ่งเหล่านี้ทำให้รู้สึกว่าผ่อนคลาย มีใจที่จะเรียนมากขึ้นครับ ครูก่อเป็นคนที่ทำให้ผมรู้ว่าการตั้งใจทำอะไรสักอย่างที่เราชอบ มันจะประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดีถ้าเราเชื่อมั่นในตัวเอง” - ศักดา สร้อยสกุลชัย (ยอด) ม.4/1

“เรียนกับครูก่อแล้วเข้าใจค่ะ เวลาสอนจะมีกิจกรรมให้ทำเสมอ แล้วครูก่อก็เป็นคนตลกค่ะ ครูไม่มีการบ้านด้วย” - ช่อชมพู จงไกรจักร (โมเม) ม.5/1

“ตอนสอนครูก่อจะมีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ควบคู่กับการอธิบายเนื้อหาที่เรียน มีการนำเกมส์ต่างๆมาให้เด็กนักเรียนได้เล่นเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจมากขึ้น และในกิจกรรมบางอย่างก็ส่งเสริมให้เด็กภายในห้องเรียนเกิดความรักความสามัคคีกันด้วย สิ่งที่หนูได้เรียนรู้จากครูก่อคือ การมีความรับผิดในหน้าที่ของตนเอง การทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม และการมีความคิดที่จะมุ่งมั่นทำในสิ่งที่ดีๆค่ะ” - สิริยากร ชูเพชร (พิมพ์) ม.6/1

“บรรยากาศการเรียนกับครูก่อคืออารมณ์ดีอยู่ตลอดเวลาครับ” - เจษฎา เตือนคุ้ม (ไมค์) เตรียมขึ้นปี1


โครงการครูแนะแนวรุ่นใหม่ สร้างเด็กไทยให้ออกแบบชีวิตตัวเองได้

โดยธุรกิจเพื่อสังคม a-chieveในความร่วมมือกับโครงการ ร้อยพลังการศึกษา

มีเป้าหมายเพื่อสร้างและพัฒนาชุมชนครูแนะแนวรุ่นใหม่ฯ ให้สามารถสร้างคาบเรียนวิชาแนะแนวที่มีชีวิต และเกิดพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียนเพื่อช่วยให้นักเรียนได้รู้จัก เห็นคุณค่าในตนเอง ออกแบบชีวิตของตนเองได้ และอยู่ร่วมกับความแตกต่างหลากหลายได้อย่างเคารพเข้าใจกัน

ปัจจุบันดำเนินการมาแล้ว 4 ปี มีครูในเครือข่ายแล้วทั้งหมด 105 คน จาก 61 โรงเรียน 25 จังหวัดทั่วประเทศ


คอร์สเรียนฟรี สุดพิเศษ เอาไปใช้ได้จริง! สำหรับครูแนะแนว

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ มีเกียรติบัตร ***จะได้รับเมื่อทำ Quiz และแบบประเมินหลังเรียนจบเรียบร้อย

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา