ครูแนะแนวรุ่นใหม่ฯ : ก้าวที่เข้าใจและมั่นใจในแบบครูยุ้ย
หมวดหมู่: พื้นที่เพื่อนครู
Tags: ครูแนะแนวรุ่นใหม่
อ่านแล้ว: 629 ครั้ง
ครูยุ้ย - อัญชลี ระดมแสง เข้าร่วมโครงการครูแนะแนวรุ่นใหม่ฯ รุ่น 1 กับ a-chieve เมื่อปี 2561
ปัจจุบันเป็นคุณครูที่โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย สมุทรปราการ
รับผิดชอบดูแลวิชาชีววิทยา สำหรับนักเรียนชั้น ม.2 และ ม.5 วิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป สำหรับนักเรียนชั้น ม.6 และเป็นคุณครูที่ปรึกษาของนักเรียนชั้น ม.5/9
นอกจากการเข้าร่วมอบรมในโครงการช่วงปีแรก ครูยุ้ยได้มีโอกาสเข้าร่วมเวทีชุมชนครูแนะแนวรุ่นใหม่ฯ อีกหลายครั้งต่อเนื่อง และไปช่วยสนับสนุนงานของเพื่อนครูคนอื่นๆ ในโครงการอยู่เสมอ สำหรับ a-chieve แล้ว เรามองว่าครูยุ้ยถือเป็นคุณครูอีก 1 คน ที่ย้ำชัดความเชื่อให้เราเสมอว่า ไม่ว่าจะเป็นคุณครูวิชาอะไร ก็สามารถนำกระบวนการแนะแนวไปปรับใช้และสร้างพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียนได้ โดยล่าสุดที่เราได้ข่าวมาคือ โรงเรียนของครูยุ้ยมีการเปิดให้นักเรียนลงคะแนนโหวตคุณครูสอนดีในดวงใจ และครูยุ้ยคือคนที่ได้คะแนนสูงสุด จนถูกเชิญไปร่วมแชร์นวัตกรรม รูปแบบการสอน ประสบการณ์การจัดการเรียนรู้ออนไลน์ในช่วงโควิด -19 เพื่อขยายผลต่อให้ครูทั้งโรงเรียนและตัวแทนครูในสหวิทยาเขต
วิชาชีววิทยา และวิทยาศาสตร์ทั่วไป วิชาที่ใครหลายคนรู้ว่ามีเนื้อหาหลักสูตรวางมาชัดเจนเต็มคาบตามหน่วยกิต คนเป็นครูจะสามารถแทรกกระบวนการเรียนรู้อะไรเข้าไปตรงไหนได้อีก? ห้องเรียนวิชาการกับพื้นที่ปลอดภัย จะไปด้วยกันได้อย่างไร? ตามไปทำความรู้จักและฟังเรื่องราวของครูยุ้ยกันได้เลยค่ะ!
❣️ความเชื่อที่แข็งแรงเกิดจากประสบการณ์การลงมือทำ❣️
“ถ้าถามว่าเราเป็นครูแบบไหนเหรอ … (นิ่งคิด) มองว่าเป็นครูชีววิทยา ที่ชอบไปอบรม นี่ก็เป็นเหตุผลนึงที่ได้มาเจอกับ a-chieve นะ (ยิ้ม) เราชอบเรียนรู้เครื่องมือใหม่ๆ เราพร้อมเอาหลักการ วิธีการนู่นนี่มาปรับ มาผสมใช้ในการเรียนการสอน เราเห็นความเป็นไปได้ในทุกอย่างเลย ถ้าเป็นไปไม่ได้ก็แค่ล้มลงมา ล้มลงมาก็เอาใหม่ เอาวิธีอื่น หาวิธีใหม่ ไม่ชอบการตั้งข้อแม้ เพราะถ้ามีข้อแม้ มันจะทำอะไรไม่ได้เลย
ตอนนี้มาสอนที่นี่ได้ 1 ปีครึ่งแล้ว ถ้าเทียบกับที่โรงเรียนเก่าก็พูดเลยว่าต่างกันมากๆ ชัดสุดคือขนาดของโรงเรียนที่พ่วงมาพร้อมจำนวนนักเรียน โรงเรียนเก่าเรา (โรงเรียนวังข่อยพิทยา จ.นครสวรรค์) เป็นโรงเรียนเล็ก เด็กห้องหนึ่ง 20 กว่าคน ระดับชั้นละ 2 ห้อง ตอนนั้นเราได้ดูแลงานหลายๆ ส่วน ก็ช่วยๆ กันกับเพื่อนครู พอย้ายมาที่นี่ โห… เด็กเยอะมาก มีครูชีววิทยา 3 คน รับผิดชอบคนละระดับชั้น และยังมีวิชาเสริมอื่นๆ อีก
ช่วงแรกๆ ยอมรับว่าเราต้องปรับตัวเยอะอยู่นะ แต่เข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติ ที่ท้าทายมากกว่าคือความเป็นตัวเรา เป็นครูยุ้ยนี่แหละ (หัวเราะ) เพราะเราเป็นครูสอนชีววิทยา ก็จริง แต่เราพร้อมเปิดรับ เอาแนวคิดวิธีการมาใช้ อะไรที่เคยทำแล้วเวิร์ก มันไม่ใช่แค่วิธีการ แต่เป็นหลักคิดความเชื่อที่หล่อหลอมให้เราเป็นเรา สิ่งที่เราให้ความสำคัญมากๆ ไม่แพ้เนื้อหาวิชาการคือเรื่องพื้นที่ปลอดภัย ไม่ใช่แค่สำหรับเด็กนักเรียนนะ แต่ตัวครูก็ต้องเอาตัวเองเข้าไปในพื้นที่นั้นกับนักเรียนด้วย
ย้ายโรงเรียนมาใหม่ๆ ก็ได้เป็นครูที่ปรึกษาให้เด็กนักเรียนที่ถูกเรียกได้ว่าเป็นห้องท้ายๆ ก็เข้าถึงกันได้มากหน่อย แต่เทอมนี้ได้สอนเด็กห้องวิทย์-คณิตด้วย อย่างที่บอกว่าเรามีความเชื่อเป็นทุนเดิม เพราะตั้งแต่ที่เรารู้จัก a-chieve เราก็เอากระบวนการแนะแนวไปใช้ตอนเราสอนที่โรงเรียนเก่า ซึ่งมันเวิร์ก พอเราสร้างพื้นที่ปลอดภัยได้ นักเรียนเขาเปิดใจกับเรา เขากล้าสื่อสาร กล้าเข้าหาครู มีอะไรก็พูดก็คุยกันตรงๆ นี่คือสิ่งที่ครูต้องการเลยนะ เราเอาประสบการณ์เอาความเชื่อนี้ติดตัวมาที่โรงเรียนใหม่ด้วย ช่วงแรกๆ มีนักเรียนงงแหละว่าทำไมครูชีววิทยามาชวน Check-in เช็กสภาพจิตใจกัน ทำไมมีเปิดเพลงให้ฟังด้วย บางครั้งชวนกันนั่งพื้นล้อมวงด้วยกันอีก
ถ้ากลุ่มเด็กที่เขาตั้งใจเรียนมากๆ ก็มีบ้างที่ไม่ชินกับการเรียนรู้รูปแบบนี้ เพราะเขารู้สึกว่าเวลาเรียนเนื้อหามันหายไป คนที่ไม่มั่นใจในตัวครูยุ้ยบางคนก็แสดงออกโดยการถาม บางทีเหมือนถามลองเชิงว่าเรารู้จริงไหม ซึ่งเราก็ตอบกลับไปให้ตลอด จนตอนหลังมีนักเรียนอีกคนมาถามว่าครูรู้ไหมว่าเพื่อนคนนั้นเอาแต่ถามทั้งที่เจ้าตัวรู้คำตอบ เราก็ตอบไปว่า ครูสังเกตเห็นนะ แต่ที่ครูพยายามตอบตลอด ถ้าตอบไม่ได้ก็สื่อสารไปตรงๆเลย ครูเตรียมตัวมาเยอะมากๆ อ่านข้อมูลเยอะกว่าในหลักสูตร ครูอยากดึงความมั่นใจของนักเรียนคนนั้นกลับมาให้ได้ หลังสอนเสร็จแต่ละครั้ง เวลาที่เหลือก็ชวนคุย ชวนนักเรียนมาแชร์ความคิดกัน แล้วรีบเรียกชื่อเลยนะ เห็นจังหวะปุ๊บเรียกชื่อนักเรียนเลย เรียกชื่อแล้วเขาก็ตอบ เขาอยากคุยกับเรา ยิ่งเราจำชื่อเขาได้ยิ่งรอเลย สรุปวันนั้นก็เล่าทั้งห้อง (ยิ้ม)
เด็กบางคนมองว่าเราเป็นครูใจดีนะ ซึ่งเราไม่มองว่าตัวเองเป็นครูใจดีอะไร เราอยากทำให้นักเรียนรับรู้ว่าพื้นที่ตรงนี้ไม่ใช่แค่ให้ทุกคนมาชิลๆ เล่นๆ นะ พื้นที่ของเราต้องดีด้วย ดีต่อเป้าหมายตัวนักเรียนเอง ทั้งด้านการเรียนและจิตใจ
ช่วงแรกมีบ้างที่มีคนโดดคาบโฮมรูมของเรา ซึ่งเรารับรู้ว่าเขาไม่ได้ไปไหนไกลหรอก ก็ไปนั่งหลบตึกนู้นตึกนี้ แต่เขามองมาที่เรานะ อะ ไม่เป็นไร พร้อมเมื่อไรค่อยมา เมื่อเขาเห็นแล้วว่าเราไม่ได้มีพิษมีภัย (หัวเราะ)
ครูบางท่านที่ยังไม่เข้าใจการเรียนการสอนของเรา ก็มีส่งสัญญาณความเป็นห่วงมาให้เป็นระยะค่ะ (หัวเราะ) ทั้งแสดงออกต่อหน้าเราบ้าง สื่อสารผ่านเด็กบ้าง ไม่รู้ถ้าเป็นคนอื่นจะทำยังไง แต่ส่วนตัวครูยุ้ยจะเลือกรับฟังและปล่อยผ่าน หมายถึง รับรู้ว่าเขากังวลเรื่องอะไร ลองเอามาเทียบกับหลักการที่เรามี ถ้าอันไหนพอปรับได้แต่ยังได้ผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือเด็กๆ ต้องได้ประโยชน์ เราก็ปรับลดปรับเพิ่มเอา อะไรที่ตั้งใจไว้แล้วก็จะตั้งใจทำต่อ แล้วหาโอกาสเข้าหาครูคนนั้นๆ ต่อเนื่อง
เอาจริงๆ เราพอรู้ว่ามีใครบ้างที่ไม่ค่อยโอเคกับวิธีการของเรา แต่เราไม่ได้เอามาติดใจส่วนตัวไง ก็เป็นตัวเรานี่แหละ เดินผ่านก็ทักทายเขาปกติ จะไปไหนก็ชวนติดรถไปด้วยกัน ถ้ามัวมีปัญหาทางใจกัน เราจะมองเขาได้ไม่เต็มตา เราเปิดรับมากเพราะอยากเข้าใจเขาจริงๆ ส่วนเขาจะเข้าใจเราไหม หรือเข้าใจแค่ไหน อาจต้องรอให้เจ้าตัวมาบอกเอง (ยิ้ม)”
❣️เข้าถึงใจนักเรียนได้ด้วยหลักการที่มั่นคง❣️
“เราสอนวิชาชีววิทยา และวิทยาศาสตร์ทั่วไป ก็สอนไปแบบเรานี่ล่ะ มีวันหนึ่ง ทางโรงเรียนเขาส่งแบบสำรวจออนไลน์ให้นักเรียนโหวตให้คะแนน เชื่อไหม เราได้ผลโหวตสูงสุด (ทำตาโต) ไม่รู้ว่าได้มาได้ยังไง (หัวเราะ) ทั้งๆ ที่ เราสอนวิชาที่มันวิชาการมาก แถมการเรียนออนไลน์ทำให้เราไม่สามารถพาเด็กทำกิจกรรมห้องแล็บได้เหมือนเดิม ก็แปลกใจว่าทำไมเด็กๆ ถึงลงคะแนนให้เรา แต่ถ้าจะลองคิดดูจริงๆ เราเดาว่าอาจจะมาจากหลักการที่เรายึดถือและใช้เป็นแนวทางในการเข้าหานักเรียน
1.ไม่ลืมว่าพื้นที่ปลอดภัยคือพื้นที่ที่เราทุกคนเท่ากัน
เราเคารพความเป็นมนุษย์ที่เท่ากัน เคารพในความแตกต่างหลากหลาย รับฟังกันแบบเปิดรับ ไม่ด่วนตัดสินผิด-ถูก ครูต้องทันตัวเองไม่ให้เผลอรีบสอนหรือบอก แม้จะด้วยความปรารถนาดี พื้นที่ปลอดภัยไม่ใช่ว่าใครจะทำอะไรก็ได้ แต่มันคือเราแคร์กัน เห็นกัน ฟังกัน ไม่ลืมกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ‘วันนี้นักเรียนปิดกล้อง อ้าว ขอทักหน่อยว่าเป็นอะไรไหม คาบที่แล้วยังเปิดกล้องมองตากันอยู่เลย นอนพอหรือเปล่าเมื่อคืนนี้’ อะไรแบบนี้ คือเราไม่ได้จะเพ่งเล็งนักเรียนจี้ว่าเราจ้องอยู่ แต่เราถาม เราชวนคุย เพราะเราสังเกต สนใจ และใส่ใจเขาจริงๆ รอยยิ้มจากนักเรียนมันไม่ใช่แค่เขาสนุก แต่มันคือเขาสบายใจที่จะอยู่ด้วยกันในพื้นที่นี้ อีกเรื่องที่สำคัญคือ เราจะช่วยกันดูแลเรื่องราว ไม่เอาไปบอกต่อ เวลามีเด็กมาปรึกษาหรืออยากเล่าอะไรให้ฟัง เราจะรับฟังตลอดนะ บางทีเปิดห้องคุยกันจนดึก แต่พูดแล้วก็จบ ไม่มีเอาไปบอกต่อ เราว่านี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กๆ วางใจกับครู
2.คนเป็นครูต้องเชื่อในความอยากเรียนรู้ของนักเรียน
อันนี้สำคัญเลย ถ้าเรายึดหลักนี้ มันจะเป็นพลังให้เราฮึดกับงาน ทั้งการเตรียมสอน ระหว่างที่สอน กระทั่งสอนเสร็จ เราจะสังเกต จดจำและทำความรู้จักนักเรียนไปด้วย ทีนี้ ที่ต้องให้ชัดเจนคือ ‘ความอยากรู้’ ไม่เท่ากับ ‘ความตั้งใจเรียน’ เสมอไป ถ้าเราบอกว่านักเรียนมีสิทธิ์ตั้งเป้าหมายของตัวเอง ดังนั้น เขาก็ต้องมีสิทธิ์เลือกว่าจะตั้งใจเรียนแค่ไหนเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เด็กบางคนตั้งเป้าหมายว่าเขาอยากเป็นหมอ แปลว่าเขาจะต้องใส่ความตั้งใจในวิชานี้เยอะ ต้องตั้งใจทำงานส่ง ในขณะที่บางคนตั้งเป้าแค่ผ่าน เขาก็มีสิทธิ์จะโดดเรียน มีสิทธิ์จะหลับ เขาเข้าห้องมาเพราะเขารับผิดชอบว่าต้องเข้าเรียน แค่เอาตัวเข้ามาให้ไม่ขาดเรียน พอเข้ามาแล้วเขาก็หลับ ท้ายคาบนี่ชัดเลยว่าเป็นคนเดิม บางทีเพื่อนคนอื่นรอดูด้วยนะว่าหลับจริงไหม เพื่อนจะตื่นไหม บางทีคนที่หลับในห้อง อาจมีเรื่องที่เรายังไม่รู้ก็ได้ ต้องไม่ลืมว่า เขาก็ยังเข้าเรียนนะ ที่ทำได้แบบนี้ได้ ไม่ใช่เพราะครูยุ้ยสปอยล์เด็ก แต่เพราะเราสอนเด็กโตกับเด็กที่คุยกันแบบผู้ใหญ่ได้ คุยเป้าหมาย ชวนตั้งหลักกันแล้วและมีทบทวนกันบ่อยๆ ด้วย ถ้าสอนห้องที่ต้องโฟกัสเรื่องความคิดความอ่าน ก็อาจจะท้าทายกว่านี้
3.เราล้วนแตกต่างหลากหลาย
จะอยู่ด้วยกัน จะเรียนด้วยกันได้ ต้องมีข้อตกลงร่วม ข้อนี้สำคัญมากเหมือนกัน และจำเป็นต้องทำตั้งแต่แรกๆ เลย ครูยุ้ยจะชวนนักเรียนทำข้อตกลงร่วมกันตั้งแต่ต้นเทอม คุยกันตรงไปตรงมาว่าจะยังไงกันดี บวกกับเราเองก็ต้องประเมินนักเรียนตามสภาพจริงด้วย เข้าใจเขาด้วยว่าเรียนมาทั้งวันแล้ว ไหนจะเรื่องเครียดๆ ความเหนื่อยล้าที่เขากำลังเจออยู่อีก จะให้มีพลังสมองเรียนวิชาเราแบบสดใสเลยมันก็คงไม่ใช่ มีครั้งนึงที่นักเรียนเงียบใส่ สอนไปถามไปก็ไม่ตอบ ครูยุ้ยก็ทวนข้อตกลงแล้วว่าถ้าไม่มีเสียงตอบมาคือไม่พร้อมเรียนกันเนอะ ก็สรุปให้ว่า โอเค งั้นวันนี้ ยกคลาสนะ ปิดห้องเรียนเลย (หัวเราะ) แล้วครูไปออกแบบเอาว่าจะสอนยังไงต่อดี แต่มีแค่ครั้งนั้นครั้งเดียวแหละ เพราะเด็กเขารู้ว่าครูเอาจริง ครั้งต่อไปเขาบูสต์พลังกันมาเลย คือเราต้องชัดเจนนะ นักเรียนเองเขาก็จะมีบทเรียน และมุ่งมั่นเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับคาบต่อๆ ไป เพราะเขารู้แล้วว่าครูจริงจัง”
❣️ครูผู้สนุกและเต็มที่กับการสอนแบบไม่หวั่นแม้วันออนไลน์❣️
“ตอนสอนเรื่องราก นักเรียนแต่ละคนก็พิมพ์ตอบข้อมูลมาเรื่อยๆ ซักพักก็มี ‘รากเธอมัก รักเธอมาก’ อะ สนใจการเรียนหน่อยจ้ะ (หัวเราะ) เรามีความสุขเวลาสอนจริงๆ แหละ แต่จะมีความสุขได้ มันต้องเริ่มสร้างที่ครูก่อนนะ เริ่มที่การสร้างพื้นที่ปลอดภัยเลย เราไม่มองว่าการสอนวิชาที่เป็นวิชาการจะต้องน่าเบื่อ แล้วก็ไม่จำเป็นต้องหัวเราะกันทุกคาบ มันมีจังหวะเยอะเลย ที่ครูสามารถชวนนักเรียนให้เรียนไปด้วยกันแบบ Enjoy ได้ ส่วนตัวมองว่าเป็นที่บรรยากาศการเรียนมากกว่า ตัวครูก็เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดอย่างนึง จะบอกว่านักเรียนรับรู้ว่าครูเห็นเขานะ ไม่ใช่แค่เราสังเกตเขา เขาก็สังเกตเราอยู่ว่าครูไม่ลืมเขา เด็กๆ รับรู้ได้ว่าเขาสำคัญกับเรา
พอโควิดมา เรียนออนไลน์ช่วงแรกๆ ครูยุ้ยมองว่ามีพลังงานมากเลย เพราะทั้งนักเรียนทั้งครูเหมือนได้ของเล่นใหม่ แต่หลังๆ มันแผ่วลง ต้องบูสต์พลังกันเยอะ เพราะเด็กเบื่อ บรรยากาศมันเนือยไปหมด ด้วยรูปแบบมันคือเรียนผ่านจอ ครูนี่พลังต้องไม่ตกเลยนะ (หัวเราะ) วันไหนที่บูสต์แล้วไม่เวิร์ก ต้องรีบจดเลย ต้องรู้ว่ากิจกรรมอันนี้ไม่ได้ ไม่ผ่าน แล้วเอามารีวิวว่าเราตกหล่นตรงไหน ครั้งหน้าฮึดใหม่ ชวนเด็ก Check-out ความรู้สึก วัดค่าพลังกัน ถามไอเดียว่าครั้งหน้าเราจะทำยังไงกันได้บ้าง
อีกเรื่องที่สังเกตตัวเองตอนสอนออนไลน์คือ เราเลือกปรับเวลาให้มันจริงมากขึ้น เทอมนี้ครูยุ้ยลดเวลาตัวเอง ประเมินเองตามสภาพเด็กเลย ให้เขามีเวลาหายใจ คาบเรียนมี 50 นาที เราตั้งเป้าเลยว่าจะสอนแค่ 40 นาที ถ้าได้สอนคาบคู่ (2 คาบติดกัน) เราจะอนุญาตให้นักเรียนเข้าสายได้นิดนึง แต่ต้องทำข้อตกลงร่วมกันก่อนนะ ว่าที่ให้สายได้เพราะอะไร สายได้เท่าไร ถ้าเกินที่กำหนดเราจะยังไงกันดี ต้องคุยกันจริงจังก่อน แลกเปลี่ยนกันแบบจริงใจทั้งนักเรียนและครูเลย ข้อตกลงร่วมที่ทำกัน ถ้าไม่เวิร์กก็เอามารีวิวด้วยกันเรื่อยๆ ได้ ประเมินเรื่อยๆ
การสอนออนไลน์ มันท้าทายตรงที่ครูไม่รู้เลยว่าสิ่งที่นักเรียนเป็น แบบที่เราเห็นผ่านจอ มันเป็นความจริงอย่างที่เราคิดไหม แล้วยิ่งเด็กปิดกล้องปิดไมค์อีก มันเป็นพื้นที่ที่เราไม่อาจรู้ได้เลย ต้องใช้พลังในการสังเกตและการจำเยอะมาก เด็กบางคนที่เราทักชื่อไปว่าหายไปไหน รู้อีกทีคือคุณพ่อเสีย ทุกทีต้องมีเขาคอยเปิดกล้องเรียน มาวันนี้ไม่เข้าเรียน เลยถามว่าเป็นอะไรหรือเปล่า เราสังเกตและจำได้หมดเลยโดยไม่ต้องจดอะไร
คุณครูหลายคนคงเครียดเวลานักเรียนปิดจอปิดไมค์ แต่เราเป็นครูที่บอกความรู้สึกกับเด็กนะ รู้สึกยังไงก็บอกกันตรงๆ อย่างเวลาถามความรู้สึกเขา เราก็แชร์ความรู้สึกเราด้วย เช่น
‘วันนี้ครูง่วงมากเลย อยากให้วันนึงมี 25 ชั่วโมง’
‘วันนี้นักเรียนเปิดกล้องกันน้อยจังเลย ไม่เป็นไร ครูยุ้ยนั่งมองรูปโปรไฟล์นักเรียนก็ได้’
‘ถ้าหน้าไม่พร้อม เพดานที่บ้านพร้อมมั้ย ถ้าพร้อม เปิดกล้องให้ครูยุ้ยหน่อยนะ’
ซึ่งนักเรียนก็ทำให้ (ยิ้ม) แค่นั้นพอแล้ว เราใจชื้นแล้ว รู้ว่าเขาอยู่ตรงนั้นนะ ขอบคุณที่เขายังอยู่กับเรา คนที่ไม่ทันเปิดกล้องเราเช็กชื่อให้แล้วก็ขออนุญาตกดดีดออกจากห้อง ซักพักเขากดกลับเข้ามาอีกทีบอก ‘ครู มาแล้ว ตื่นแล้ว’ (หัวเราะ) คือคุยกันดีๆ พูดกันตรงๆ ฟังเขาจริงๆ ให้เข้าใจเขาจริงๆ นักเรียนเขาพร้อมอยู่กับเราอยู่แล้วล่ะ
พอนักเรียนเริ่มคุ้นกับบรรยากาศการเรียนแบบนี้ เขาจะเริ่มเห็นจังหวะของเพื่อนด้วยนะ เช่น มีครั้งนึง ตลกมาก เรื่องนี้เอาไปแชร์ในเวทีนำเสนอด้วย (หัวเราะ) คือเราแบ่งกลุ่มให้นักเรียนมานำเสนอ มีเงื่อนไขว่า ถ้าใครนำเสนอเสร็จก่อน จะเลือกได้ว่าจะออกจากห้องเลยไหม ครูยุ้ยปล่อยเลย ผลคือในช่องแชตนี่พิมพ์แย่งกัน ‘กลุ่มต่อไปของกูนะ ใครแย่ง จะหยิกกี’ (หัวเราะ) เพื่อนกลุ่มที่นำเสนอแล้วก็มีที่ยังอยู่ฟังเพื่อนกลุ่มอื่นๆ ต่อนะ ไม่ใช่หายไปเลย เพราะเขาก็อยากรู้อยากฟังกันแหละ นี่ครูยุ้ยแคปจอไว้ด้วย ส่วนตัวมองว่านี่คือหลักฐานเชิงประจักษ์เลย ว่าห้องเรียนเรามันปลอดภัยสำหรับทุกคนจริงๆ รูปที่เราแคปไว้เราก็แจ้งเด็กๆ ก่อนนำไปขึ้นเวที ไม่รู้ครูท่านอื่นๆ เห็นแล้วว่ายังไงบ้าง เพราะฉายขึ้นจอตอนนำเสนอเลย เสียดายรูปที่ตากล้องถ่ายมาไม่ติดมาด้วย (หัวเราะ)”
❣️ไม่ต้องเป็นครูแนะแนว ก็ใช้กระบวนการแนะแนวได้❣️
“เคยมีคนทักว่า ครูยุ้ยเหมือนครูแนะแนวเลย มีบางคนสงสัยว่าครูยุ้ยเอาแนะแนวมาบวกกับชีววิทยาได้ยังไง จะบอกว่า เราทำงานกับตัวเองเยอะมากเลยนะ จากวันแรกที่เราเจอ a-chieve 4 ปีที่แล้วเรามีโอกาสได้ดูแลงานแนะแนวด้วย มันเป็นจุดเปลี่ยนเราเลย ครูยุ้ยเอาไปลองทำแล้วพบว่ากระบวนการนี้มันดีจริงๆ คำว่าพื้นที่ปลอดภัยมันสำคัญไม่ใช่แค่เฉพาะในคาบวิชาแนะแนว ความหมายและคุณค่าของมันขยายไปพื้นที่อื่นๆ ได้หมดเลย ตอนย้ายมาโรงเรียนใหม่ช่วงแรกๆ ก็เสียดายที่เราไม่ได้ดูงานแนะแนวต่อ แต่สิ่งที่เราเคยได้รับมาและมันเปลี่ยนเรา มันไม่หยุด มันค่อยๆ คลำหาทางไปข้างหน้า เราเอาหลักคิดของกระบวนการแนะแนวมาปรับ มาเทียบ เริ่มจากอันง่ายๆ เลย เช่น ลองเปลี่ยนชื่อสิ่งของในกิจกรรมที่ a-chieve เขียนมาในแผนการสอนแนะแนว มาเป็นชื่อสารในวิชาชีววิทยา แค่นี้เลย แค่นี้บรรยากาศในห้องก็เปลี่ยนแล้ว รูปแบบการเรียนรู้มันเปลี่ยนเลย นักเรียนมีส่วนร่วม ได้เนื้อหาวิชา ครูเองก็เห็นนักเรียน เข้าใจนักเรียนด้วย พอค่อยๆ จับทางได้ จะไปต่อมันก็ง่ายขึ้น ครูหมูแดง - กฤษณี เพ็ชรสงฆ์ เพื่อนครูรุ่น 1 เคยบอกว่า ยินดีด้วยที่เราก้าวผ่านคำว่า ‘จะเอาไปใช้ยังไง’ ได้แล้ว (ยิ้ม)
สิ่งหนึ่งที่ช่วยเราได้คือ เรายืนยันหนักแน่นว่าเราไม่อยากรับงานพิเศษใดๆ ของโรงเรียนเลย เพื่อทุ่มเวลาให้กับงานสอนอย่างเต็มที่ นี่คือบทเรียนอีกอย่างของเราเลยว่า ต้องรู้จักปฏิเสธ ฟังดูเป็นไปได้ยากเพราะไม่ว่าจะยุคไหนอาชีพครูก็งานล้นมือ แต่จะบอกว่า เพราะเราเคยผ่านมาแล้ว เรามีประสบการณ์ที่ผ่านมา เราพอเข้าใจระบบ เราเห็นงาน เห็นคน เห็นว่ามีคนที่เขาอยากรับงานเพื่อสะสมประสบการณ์ส่วนนั้นจริง มีกลไกในบางโรงเรียนที่งานมันจะรันไปได้จริง ขอแค่เรารู้จักปฏิเสธที่จะไม่รับหน้าที่เพิ่ม ไม่รับงานพิเศษ ต้องหนักแน่นในความรู้สึกว่าเราไม่ยอมรับด้วยท่าทีที่นอบน้อม สิ่งนี้ถ้าเป็นครูผู้ช่วยที่รอประเมินก็อาจทำใจยากหน่อย (ยิ้ม) เว้นแต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้จริงๆ เราก็ต้องพร้อมตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออก และต้องรีบปิดงานนั้นให้ไว เพราะเราต้องให้เวลากับการสอนจริงๆ
ไม่ใช่แค่กับระบบงานนะ กับการดูแลนักเรียน เราก็ขีดเส้นชัดเหมือนกัน เช่น ถ้าเรื่องเรียนหรืองาน เราขอให้นักเรียนไปถามในกรุ๊ปรวม เวลาครูตอบ เพื่อนจะได้เห็นด้วย ครูยุ้ยคือครูที่จะไม่ตอบไลน์ที่ทักมาเดี่ยวๆ คิดดูนะ (ไถจอโทรศัพท์ให้ดู) มีตั้งกี่แชตที่ทักกันมาส่วนตัวเพื่อถามคำถามเดียวกัน ถ้าให้ครูมาตอบก็หมดเวลาพอดี ครูขอเอาเวลานี้ไปเตรียมตัวสอนพวกเราดีกว่า เว้นแต่ถ้าเรื่องด่วนที่สำคัญจริงๆ นักเรียนติดต่อครูได้อยู่แล้ว
ตอนขึ้นนำเสนอบนเวที ก็เทียบตัวกิจกรรม Check-in, Check-out ที่ทำให้ครูเข้าใจผู้เรียนมากขึ้น ไปชวนคุณครูที่มาฟังเล่นด้วยกัน ผลตอบรับก็โอเคเลยนะ เชื่อว่าหลายท่านคงไม่เคยเจอกระบวนการแบบนี้ ซึ่งเอาจริงๆ มันสามารถเทียบกับ ขั้นนำ-ขั้นสอน-ขั้นสรุป ได้ แค่เราโฟกัสที่ความพร้อม ที่จิตใจของนักเรียน ฟังเขาให้มาก เดี๋ยวครูจะเห็นทางเอง”
❣️สำคัญคือต้องทันตัวเอง❣️
“เห็นสนุกกับการสอนแบบนี้ ถามว่ามีเรื่องเครียดไหม ก็มีนะ แต่เรามองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แค่ต้องทันตัวเอง ต้องสังเกตตัวเองอยู่เสมอ ด้วยความที่ส่วนตัวเราเป็นคนไม่ค่อยยอมให้ตัวเองจมกับความรู้สึกเชิงลบนาน เราไม่ชอบวิธีการระบายหรือบ่นด้วยนะ เราจะเลือกมองโลกในภาพรวมมากกว่า เหมือนแนวคิดที่ว่าคนเรามีกระดาษสีขาวแผ่นนึง มีจุดสีดำแต้มอยู่ ถ้าเราเอาแต่เพ่งที่จุดดำที่เป็นตัวทำให้ใจท้อ มันก็ไม่แฟร์กับตัวเอง เพราะส่วนที่เหลือมันคือพื้นที่สีขาวหมดเลยนะ ชีวิตมันมีเรื่องทำเราท้อ แต่มันก็มีเรื่องที่ให้พลังเราเหมือนกัน ทำงานๆ ไปก็ต้องไม่ลืมกลับมาทบทวนตัวเอง มาเช็กใจตัวเอง ช่วงนี้เหนื่อยไหม ไหวไหม
วิธีการดูแลใจแบบฉบับครูยุ้ยคือ เราชอบคุยกับนักเรียนนะ เราจะเก็บเกี่ยวกับสำเร็จเล็กๆ เสมอ เช่น พัฒนาการของนักเรียนแต่ละคน หรือถ้าไม่ไหวจริงๆ เราจะเข้าไปนั่งคุยเล่นกับนักเรียนเลย (ยิ้ม) คือเข้าไปคุยกับแก๊งนักเรียน ไปเม้าท์มอย ไปถามเลย ให้เขาแชร์ ให้เขาเล่า Feedback ให้ฟังว่าเพื่อนห้องนั้นพูดถึงครูยุ้ยว่าไง ห้องนี้ล่ะ อะไรแบบนี้ แก๊งนักเรียนฮีลใจเราได้เยอะเลย ซึ่งสิ่งนี้เป็นอะไรที่นักเรียนไม่เคยเห็น จนเขาโอเคที่จะใช้เวลาด้วยกันกับเรา บางทีจบคาบแล้วก็ยังอยู่กันต่อ เอากีต้าร์มาเล่น ร้องเพลงกัน คุยกัน บางห้องคุยกันถึงตี 1 เลยนะ ครูยุ้ยก็อยู่ด้วย คุยไปก็ทำงานบ้านดูแลบ้านไป (หัวเราะ) คือเราเป็นครูอายุ 31 ที่อยู่กับแก๊งเด็กอายุ 17 ได้แบบเนียนๆ เลย (ยิ้ม)
อีกทางที่เติมพลังให้เราได้เสมอคือชุมชนเพื่อนครู a-chieve เวลาเจอเรื่องอะไรหนักๆ มา แค่ได้มาคุยกัน คุยภาษาเดียวกัน กลับมาเจอกันทีไรก็ได้เติมพลัง ถ้าล้มมา ไม่นานเราก็ตั้งหลักได้ เอาใหม่ กลับไปสู้ใหม่ ครูยุ้ยยังแซวตัวเองบ่อยๆ เลย ว่านี่ถ้ากรีดเลือดออกมาคือเป็นสีฟ้า a-chieve แล้วนะ (หัวเราะ)”
❣️เรียนรู้ต่อเนื่องร่วมไปกับเพื่อนครู❣️
“ปีนี้ครูยุ้ยและเพื่อนครูในโครงการมีโอกาสไปแจมงานของครูหมูแดง - กฤษณี เพ็ชรสงฆ์ ด้วย เป็นการนำเครื่องมือตุ๊กตาขนมปัง ของ a-chieve ไปจัดกระบวนการให้น้องๆ ผู้พิการทางสายตา เพื่อนครูในเครือข่ายที่มาร่วมงานนี้มีทั้งครูซัน ครูเมย์ ครูคิม จริงๆ จะมีเยอะกว่านี้ค่ะ แต่ติดภารกิจส่วนตัวกัน งานนี้มีจังหวะเหนื่อยๆ ช่วงประชุมเตรียมงานนิดหน่อย แต่มองว่าตอนทำกระบวนการมันเป็นพลังงานบางอย่างนะ เวลาเราทำอะไรที่มันแปลกใหม่ ท้าทาย ตอนทำก็สนุกดี ยิ่งได้ Feedback จากน้องๆ ผู้เข้าร่วมว่ามันดีมาก ยิ่งมีพลัง เรามีเรื่องมาเล่าให้นักเรียนที่โรงเรียนฟังด้วย นักเรียนก็ได้แชร์กลับมาว่าเขาไปทำอะไรมาบ้าง แต่ถามว่าเหนื่อยไหม (หัวเราะ) นี่ตั้งแต่จบงานมายังไม่มีเวลา ไม่มีแรงโพสต์หรือเขียนเล่าเลย มัวแต่เตรียมสอน
การมีชุมชนเพื่อนครูคือการเติมพลัง มันทำให้รู้ว่า หันไปแล้วรู้ว่ายังมีคนไปกับเราอยู่ เราไม่ได้โดดเดี่ยว ตอนที่รู้สึกประหลาดใจสุดๆ เลยคือ ตอนที่ ครูเมย์ - สุวรัตน์ บุญยะรัตพันธ์ ที่ตามมาสมทบทีมทีหลัง ซึ่งมาไม่ทันช่วงคุยแผนอะไรกัน คือมาถึงก็ลุยต่อด้วยกันได้เลย ทำไปด้วยกันได้ มันเลยเกิดความคิดว่า สิ่งที่เราเชื่อ มีคนทำได้ โดยที่เราไม่ต้องบรีฟอะไรกันมากเลย เราสามารถทำต่อโดยสัญชาตญาณได้เลย ความเป็นชุมชนแบบที่ไม่ต้องแลกเปลี่ยนอะไรเยอะๆ ที่ต้องลงรายละเอียดเยอะๆ แต่มองไปแล้วเห็นว่าเขายังทำวิธีนี้อยู่ เราก็ใช้วิธีนี้ได้ โอเค ติดขัดตรงไหนเอามาหารือกัน มองตาก็รู้จังหวะกัน งานมันก็สำเร็จได้ และเอากลับมาปรับใช้กับโรงเรียนเราได้แน่ๆ ด้วย
ส่วนตัวเราตอนนี้ยังไม่รู้จะชวนชุมชนเพื่อนครูทำอะไรด้วยกันดี เพราะยังอยากขอโฟกัสพื้นที่ในห้องเรียนของเราก่อน ทั้งเตรียมสอน รักษาคุณภาพการสอน เก็บผลนักเรียนทั้งจากการสังเกตด้วยตัวเอง ถามจากนักเรียนเลย มีทำแบบประเมินออนไลน์ด้วย
ถ้าที่คิดไว้ คืออยากหาโอกาสชวนน้องๆ ในกลุ่มสาระวิทย์ฯ ในโรงเรียนที่สนใจ มารวมกลุ่มแก๊งให้กลุ่มสาระเรามันสนุกขึ้น ดูแล support กัน ทำให้วิชามันสดใสขึ้น ชวนกัน PLC ย่อย ช่วยกันดูช่วยกันคุย ซึ่งทุกคนก็ดูสนุกและเต็มที่ไปด้วยกันดี ถ้ามีอัพเดตยังไงเดี๋ยวมาบอกนะคะ (ยิ้ม)
ถ้ามีโอกาส อยากฝากถึงคุณครูท่านอื่นๆ ว่า ครูยุ้ยเชื่อว่าทุกคนมีพลังบางอย่างข้างในที่อยากทำเพื่อเด็กๆ ของเรา อยากชวนให้ลองลงมือทำดู เริ่มทำคนเดียวเลยก็ได้ หรือจะหากลุ่มคน หาชุมชนอย่างทีม a-chieve ก็ได้ค่ะ เป็นกำลังใจให้ทุกๆ คนเลย และอยากฝากถึงเด็กๆ ที่โรงเรียนของครูยุ้ยทุกคนด้วย ว่าขอบคุณที่เป็นพลังให้กัน ทุกครั้งที่เรากระโจนเข้าไปทำอะไร มันมีแต่พลังบวกๆๆ กลับมาทั้งนั้นเลย มันหายเหนื่อยจริงๆ ค่ะ ขอบคุณมากๆ ค่ะ”
💌 เสียงจากนักเรียนของครูยุ้ย 💌
นอกจากการพูดคุยกับครูยุ้ยแล้ว ทีมงาน a-chieve ยังมีโอกาสได้รับฟังข้อมูลความเห็นของนักเรียนลูกศิษย์ของครูยุ้ยผ่านการทำแบบสำรวจความคิดเห็นออนไลน์ ที่อ่านแล้วก็อดยิ้มตามด้วยความปลื้มใจไม่ได้ เลยขอเรียบเรียงและนำมาแบ่งปัน เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจให้คุณครูทุกท่านที่กำลังพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงให้นักเรียนของเราค่ะ
“ครูยุ้ย Energy ในการสอนที่ไม่เคยแผ่วเลย มาเต็มจัดเต็มตลอดทุกคาบเรียน ทำให้จากที่นักเรียนง่วงๆ อยู่ ตื่นพร้อมเรียนเลยค่ะ อีกอย่างคือเทคนิคในการสอนที่ไม่เหมือนใคร มีการเช็คอินความรู้สึกก่อนเข้าเรียน เพื่อให้รู้สภาพจิตใจของเด็กในแต่ละวัน มีการพูดคุยเม้าท์มอยในคาบ ทำให้บรรยากาศตอนเรียนไม่เครียดเกินไป เด็กเกิดความรู้สึกเป็นกันเองและทำให้กล้าพูดกล้าตอบ มีเกมและกิจกรรมใหม่ๆ ให้ทำในคาบอยู่ตลอดทำให้ไม่จำเจ อยากบอกครูยุ้ยว่า ครูยุ้ยคือครูคนนึงที่ทำให้หนูเปิดใจกับการเรียนชีววิทยา ครูทำให้หนูรู้สึกว่ามันไม่ได้ยากและทำให้หนูอยากเรียน ทั้งๆ ที่หนูไม่ได้ชอบวิชานี้เลย ขอบคุณนะคะ” - วรวัตร พิลึกนา (ฟรีมมี่) ม. 5/2
“ลักษณะการเรียนการสอนคาบอื่นหรือวิชาอื่นจะไม่ค่อยมีการ check in หรือ check out เลยค่ะ พอครูยุ้ยนำมาพูดคุยภายในห้องเรียน เหมือนกับได้ถามตัวเองไปในตัวด้วยเหมือนกันว่าช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง รู้สึกอย่างไรบ้าง และเข้าใจเรื่องที่เรียนไปในวันนี้มากน้อยเพียงใด อีกทั้งในคาบอื่นๆ เพื่อนๆ ในห้องจะไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยแสดงความคิดเห็นหรือพูดหยอกล้อกัน แต่ด้วยความที่บรรยากาศภายในห้องเรียนที่ครูยุ้ยสอนมัน relax และไม่เครียดเกินไป เพื่อนๆ ในห้องจึงพูดแสดงความคิดเห็นกัน พูดคุยหยอกล้อกันสนุกมากๆ ไม่ตึงเครียดจนเกินไป รวมถึงบางวิชาที่เพื่อนไม่กล้าถามแต่พอเป็นวิชาชีววิทยาเพื่อนๆ กล้าพูด กล้าถามมาก เพราะครูยุ้ยเป็นกันเองมากๆ ได้ค้นพบว่าตนเองชอบบรรยากาศห้องเรียนที่ไม่ตึงเครียดเกินไป และยังค้นพบว่าบางเรื่องที่ไม่เข้าใจเราก็สามารถถามได้ ไม่ต้องเก็บไปถามเพื่อน หรือเก็บไว้คนเดียว เพราะมันจะทำให้เราเข้าใจเรื่องที่เรียนได้มากยิ่งขึ้น หากวิชาอื่นเป็นแบบวิชาชีววิทยาก็คงจะดีมากๆ ค่ะ” - รวิสรา มณีพันธุ์ (แนท) ม. 5/3
“ชอบที่ครูยุ้ยเข้าใจเด็ก เเน่นอนว่าถ้าคุณมีเนื้อหาการสอนที่ดีขนาดไหน เเต่คุณทำให้เด็กอยากจะเรียนกับคุณไม่ได้เท่ากับว่านั่นถือว่าคุณไม่ประสบความสำเร็จ เเต่ครูยุ้ยกลับทำทั้ง 2 อย่างได้ดีอย่างน่าประทับใจครับ ทำให้ผมสัมผัสได้ว่า ครูคนนี้ทำการบ้านเเละใส่ใจการสอนอย่างหนักมาก มันเเสดงออกมาในรูปของกิจกรรมต่างๆ ครูยุ้ยไม่ใช่ครูประเภทที่นั่งรอให้เด็กมาหาครับ เเต่จะเป็นคนที่เดินเข้าหาเด็ก เรียนกับครูยุ้ยแล้วผมว่าผมได้เจอตัวอย่างการเรียนยุคใหม่ เพราะทั้งวิธีการสอน วิธีการเข้าหา การลองผิดลองถูกถึงวิธีในการสอน ตรงนี้มันได้ใจเด็กเต็มๆ เลยครับ เนื่องจากน้อยคนนักครับที่ผมจะสัมผัสได้ถึงความทุ่มเท การเตรียมตัวต่างๆ” - ปริยกร สุวรรณ (อชิ) ม. 5/4
“ครูยุ้ยเป็นคนที่ปรึกษาได้ทุกเรื่อง มีจุดเด่นคือเป็นกันเองกับนักเรียนทำให้พูดคุยได้สนุกและชอบร้องเพลงกับนักเรียนด้วย เปิดเทอมต้องกินหมูกระทะหน่อยแล้วครับ555” - นายอภิรักษ์ ศรีแก้ว (เกม) ม. 5/9
“ชอบที่ครูยุ้ยน่ารัก สอนเข้าใจง่าย เข้ากับนักเรียนได้ดี เวลาเรียนกับครูยุ้ยก็ได้ทำอะไรใหม่ๆ ได้เล่นเกมส์ใหม่ๆ เนื้อหาไม่เยอะแต่แน่นสุดๆ ค่ะ” - สาริณี ฝ่ายเคนา (นุ่น) ม. 6/8
โครงการครูแนะแนวรุ่นใหม่ สร้างเด็กไทยให้ออกแบบชีวิตตัวเองได้
โดยธุรกิจเพื่อสังคม a-chieveในความร่วมมือกับโครงการ ร้อยพลังการศึกษา
มีเป้าหมายเพื่อสร้างและพัฒนาชุมชนครูแนะแนวรุ่นใหม่ฯ ให้สามารถสร้างคาบเรียนวิชาแนะแนวที่มีชีวิต และเกิดพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียนเพื่อช่วยให้นักเรียนได้รู้จัก เห็นคุณค่าในตนเอง ออกแบบชีวิตของตนเองได้ และอยู่ร่วมกับความแตกต่างหลากหลายได้อย่างเคารพเข้าใจกัน
ปัจจุบันดำเนินการมาแล้ว 4 ปี มีครูในเครือข่ายแล้วทั้งหมด 105 คน จาก 61 โรงเรียน 25 จังหวัดทั่วประเทศ
คอร์สเรียนฟรี สุดพิเศษ เอาไปใช้ได้จริง! สำหรับครูแนะแนว
หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)
ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง
✅ เรียนฟรี
✅ มีเกียรติบัตร ***จะได้รับเมื่อทำ Quiz และแบบประเมินหลังเรียนจบเรียบร้อย
คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses