ครูแนะแนวรุ่นใหม่ฯ : ก้าวเดินที่ชัดเจนกับตัวเองมากขึ้นของครูน้ำกรอง
หมวดหมู่: พื้นที่เพื่อนครู
Tags: ครูแนะแนวรุ่นใหม่
อ่านแล้ว: 549 ครั้ง
ครูน้ำกรอง - ชลนภา เหลืองรังษี เข้าร่วมโครงการครูแนะแนวรุ่นใหม่ฯ รุ่น 3 กับ a-chieve เมื่อปี 2562
ปัจจุบันเป็นคุณครู Teacher for Thailand ที่โรงเรียนวัดตะคร้ำเอน จ.กาญจนบุรี
รับหน้าที่สอนวิชาภาษาอังกฤษให้นักเรียนระดับชั้น ม.1 และ ม.2 และได้ดูแลเด็กๆในชมรมเพื่อนที่ปรึกษา (Youth Counselor: YC) รวมถึงเป็นฝ่ายสนับสนุนงานของครูประจำการด้วย
HIGHLIGHTS
- ครูน้ำกรอง คือครูวิชาภาษาอังกฤษที่พกพาหัวใจของงานแนะแนวติดตัวไปด้วยเสมอ เพราะเชื่อว่าการพัฒนาเด็กๆ สามารถทำด้านวิชาการและทักษะชีวิตไปพร้อมกันได้
- โอกาสการได้เป็นครูในระบบการศึกษาไทย ทำให้ค้นพบว่าสุดท้ายแล้วครูก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่ผิดพลาดได้ เปราะบางได้
- คำถามสำคัญคือ แล้วอะไรบ้างที่จะช่วยให้ครูคนหนึ่งประคับประคองตัวเองให้ผ่านความยากเหล่านั้นมาได้
ตามไปทำความรู้จักครูน้ำกรองได้เลยค่ะ :)
จากความสนใจสู่การลงมือทำ
“จุดเริ่มต้นที่ทำให้พาตัวเองเข้ามาเป็นครู เอาจริงๆ ไม่เคยคิดว่าจะได้มาจับงานสอนเลยนะ ตั้งแต่เรียนจบมาก็ทำงานเหมือนคนทั่วไปนั่นแหละ เรามองว่าเราเป็นชนชั้นกลางที่โตมาในสภาพแวดล้อม ครอบครัว คนและบริบทรอบตัว ที่ค่อนข้างพร้อม ทำให้แต่ก่อนเราไม่รู้และไม่เข้าใจเลยว่าทำไมสังคมเรามีปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่เข้าใจว่าทำไมเด็กตีกัน ทำไมติดยา ทำไมไม่ได้เรียน ทำไมยังมีข่าวปัญหานี้ให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ก่อนหน้านี้เราเคยทำงานเอเจนซี่ที่ทำบริการให้เด็กเรียนต่อต่างประเทศ เคยได้สอนน้องๆกศน. จนมีโอกาสเลยสมัครเป็นครูในโครงการของ Teach for Thailand แล้วก็ได้เข้าไปอยู่ในระบบการเรียนการสอนของรัฐเต็มตัว
เป้าหมายของเราคือ เราอยากเข้าใจ อยากเห็นว่าจริงๆปัญหาที่ได้ยินมามากมายมันคืออะไร พอมีทางไหนที่เราจะเข้าไปช่วยได้ หรือเราเองจะเป็นส่วนหนึ่งให้การแก้ไขมันเกิดขึ้นได้ไหม เลยคิดว่าทางหนึ่งที่เราจะเข้าใจได้คือการเอาตัวเองเข้าไปมีประสบการณ์
เราเรียนจบด้านภาษามาก็จริง แต่ส่วนตัวสนใจศาสตร์ด้านจิตวิทยามากๆ เรียกได้ว่ามากจนเพื่อนบอกให้ไปลงเรียนเลยจะได้จบๆ (หัวเราะ) ก็มีทั้งศึกษาด้วยตัวเอง อ่านหนังสือ เข้าคอร์สอบรมต่างๆ ซึ่งเราว่านี่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่หล่อหลอมหลักความคิดความเชื่อให้ค่อนข้างมั่นใจและพร้อมเอาตัวเข้าไปทำความเข้าใจโลกความจริงของระบบการศึกษาบ้านเรา
ครูของ Teach for Thailand จะมีอายุงาน 2 ปี ตอนนี้เราสอนมาปีครึ่ง นับดูก็ 3 เทอมได้แล้ว ที่มีโอกาสได้อยู่กับเด็กๆ ม.ต้น ก็อยู่แต่ที่โรงเรียนนะ ไม่ได้ไปไหนเท่าไร แต่คิดว่าได้เห็นและเรียนรู้อะไรๆเยอะมาก เรื่องความท้าทายที่เข้ามาวัดใจกันนี่ก็มีมากเหมือนกันค่ะ (หัวเราะ)”
เป็นครูที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้นักเรียน
“งานสอนสำหรับเราเหรอ (นิ่งคิด) เรามองว่าโอเคนะ คิดว่าทำได้โอเค พื้นฐานเราเข้ากับเด็กๆ ได้อยู่แล้ว อาจเพราะพอมีทักษะความรู้เป็นทุนเดิมด้วย เด็กนักเรียนเลยรู้สึกปลอดภัยมากพอจะกล้าเข้าหาเรา เอาจริงๆ เข้ามาเป็นครูที่นี่ไม่นานเราก็ไปเล่นกับเด็กแล้ว คือหันมาอีกทีครูน้ำกรองลงไปนั่งจับกลุ่มคุยกับเด็กแล้ว (หัวเราะ) เคยได้ยินเหมือนกันนะ ว่าคนที่เป็นครูควรวางตัวให้เป็นครูให้น่าเคารพ ต้องมีระยะห่าง อย่าคุยเล่นกับเด็กมากนัก อะไรประมาณนี้ ซึ่งเราพยายามทำความเข้าใจ แต่เพราะเราเชื่อมากกว่าว่ามันยังมีวิธีอื่นที่ทำได้ เราเชื่อว่าความเคารพ การให้เกียรติ ไม่ได้มาจากการตีตัวออกห่างว่าฉันอยู่สูงกว่า เหนือกว่า แต่เด็กจะให้เกียรติและเคารพเราเพราะเราเข้าใจ ให้ใจเขา จนเขาให้ใจเราตอบแทนกลับมาเอง
เป้าหมายการสอนของเราคือการโฟกัสที่การพัฒนาเด็กเป็นหลัก เข้ามาเทอมแรกนี่เราใส่เต็มร้อยเลย พลังเต็มเปี่ยม ไฟแรงมาก
มันเห็นผลนะ ยกตัวอย่างนักเรียนห้องหนึ่งที่เราเข้าไปสอน ที่เจอกันคาบแรกๆ เราก็เข้าสอนปกติ พอผ่านไป 2 - 3 อาทิตย์ เด็กๆชวนกันตั้งไลน์กรุ๊ปของห้อง เราก็สนับสนุนว่า ดีนะ จะได้เป็นช่องทางสื่อสารระหว่างกัน แต่จะให้ครูเข้าด้วยหรือไม่ก็ได้นะ แค่ว่าถ้าครูได้เข้าครูจะสังเกตการณ์เงียบๆ ไม่วุ่นวาย คือเราให้สิทธิ์นักเรียนคุยตกลงและตัดสินใจกันเต็มที่เลย ผลคือเด็กลงความเห็นว่ายังไงๆก็ต้องมีเราอยู่ด้วย คือมันเซอร์ไพรส์แหละ ว่าเราเพิ่งได้สอนเขาไม่นานเอง แต่อีกใจก็ดีใจที่เขาเปิดรับเรามากและไวขนาดนี้ กับเด็กห้องอื่นที่ได้สอนก็ด้วย เวลาเดินในโรงเรียน คือไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน เจอปุ๊บ มาแล้ว ครูน้ำกรองคะ หนูขอปรึกษาหน่อย (หัวเราะ) เราว่า ถ้าคนเป็นครูสามารถฟังแบบไม่ตัดสินเด็กได้ ฟังแบบเรากับเขาเท่ากันจริงๆ คอยชวนเขาคิดตั้งคำถามและหาคำตอบไปด้วยกัน ให้เขาได้ลองคิดและลงมือเองเขาจะเกิดการเรียนรู้ การเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก จะทำให้เขาเชื่อใจ ไว้วางใจเรา ครูไม่ต้องคอยมองหาหรือตามจัดการอะไรเลย ถึงเวลาเด็กจะเข้าหาเราเอง
จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยได้ มันต้องใช้เวลาและความอดทนด้วยนะ
อย่างเราที่สอนภาษาอังกฤษ จะมีคาบที่ครูต้องพาเด็กเข้าเรียนกับโปรแกรมในคอมพิวเตอร์ คาบแรกๆนี่พูดเลยว่ากุมขมับ นึกภาพตามก็ได้ว่าเด็ก ม.1 กับห้องคอมฯ คือทั้งเดินทั้งวิ่งเล่นกัน เตะปลั๊ก เตะสายไฟหลุด โอ้โห ที่สุดของความครื้นเครง (หัวเราะ) เรายอมรับว่าเหนื่อย แต่เพราะเราเข้าใจด้วยแหละว่ามันเป็นไปตามวัยของเด็กๆ ดังนั้นเราเลยพยายามเอากระบวนการ เอากิจกรรมมาช่วยเสริมในคาบ มีเทคนิคลูกล่อลูกชน สร้างแรงจูงใจ ก็ค่อยๆจับทางเด็กได้มากขึ้น ว่าเขาสามารถโฟกัสเราได้ถึงแค่ไหน ช่วงปลายเทอมคือ เวลาเราพูด เด็กๆจะเงียบแบบตั้งใจฟังเลยนะ แล้วสิ่งที่เราปลูกฝังเขามาตลอดเทอม มันก็งอกเงยให้เห็นผล ทั้งพฤติกรรมและทักษะการคิด ถามเรื่องการค้นหาและรู้จักตัวเองไปว่ามันสำคัญกับเขายังไง เขาคิดและตอบเราได้ แบบที่เป็นคำตอบของตัวเขาเองด้วย ซึ่งเราว่านี่ล่ะคือการเรียนรู้ที่เราตั้งใจอยากมอบให้เขา
การประเมินความพร้อมของผู้เรียนก็สำคัญ อย่างช่วงวัยของนักเรียนที่เราดูแลเป็นระดับม.ต้น การจะให้เลคเชอร์ทั้งคาบนี่ไม่น่าเหมาะ เราเลยจะคอยมองหาตัวอย่างกระบวนการเรียนรู้และตุนคลังกิจกรรมสำหรับเด็กๆเรื่อยๆ
นี่ถือเป็นความคาดหวังที่ทำให้เราสมัครเข้าร่วมโครงการกับ a-chieve เลย เพราะได้ยินคนรอบตัวบอกว่าโครงการนี้มันดีนะ มันอย่างนู้นอย่างนี้ อะ งั้นสมัคร ซึ่ง… (นิ่งคิด) พอได้เข้าไป นอกจากการปรับตัวกับสภาพชุมชนครูที่เราไม่เคยรู้จักไม่คุ้นเคย สิ่งที่เราได้หลังอบรมครูครั้งแรกเลยคือ เราเปิดใจให้ครูคนอื่นๆมากขึ้น ลดอคติลง เพราะในการอบรม เรามีโอกาสได้ฟังได้คุยกับครูคนอื่นๆ มันเหมือนเปิดโลกให้เราด้วย นอกจากกระบวนการแล้ว สิ่งที่เราเอาไปใช้ในห้องเรียนแบบจริงจังมากคือแผนการสอน เชื่อไหม เราเปิดแผนการสอนของ a-chieve บ่อยมาก อ่านทุกหน้า ทำการบ้านก่อนทุกครั้งว่าจะปรับใช้กับนักเรียนเรายังไงได้บ้าง คือเราตั้งใจมากจริงๆ”
เป็นครูที่ก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน
“ชีวิตการเป็นครูที่นอกเหนือจากการสอนสำหรับเราคือพีคมากค่ะ (หัวเราะ) ตอนนี้หัวเราะได้นะ แต่ช่วงก่อนหน้านี้เราเจอเรื่องที่ส่วนตัวรู้สึกว่ามันหนักและประดังเข้ามาแบบต่อเนื่องจนสภาพจิตใจมันดำดิ่งมาก ดิ่งแบบ โห มันแย่มาก แย่ระดับที่เราได้รับผลประเมินว่าเรา Low Performance ซึ่งเรายอมรับแบบ 100 เปอร์เซ็นต์เลย เพราะเราหมดไฟจริงๆ เราไม่มีกะใจจะคิดหรือสร้างสรรค์อะไรเลย เราไม่เหลือพลัง เป็นภาวะที่เรารู้สึกว่าเราไม่มีใครจริงๆ
การได้เจอ a-chieve นอกจากเพื่อเอาเทคนิคการสอนกลับมา เราว่ามันเหมือนการได้พักเบรกสำหรับเราด้วย เบรกในที่นี้ไม่ใช่พักแบบ โอ้ สบ๊ายสบาย แต่มันคือการพักจากเรื่องที่มันหนักหน่วงสำหรับเรา ณ เวลานั้น มันคือการพักเพื่อให้มีโอกาสกลับมาสังเกตตัวเอง และเห็นตัวเองชัดขึ้น ให้มีช่วงได้หายใจและดึงตัวเองกลับมา
ในการอบรมครูครั้งแรก เราเห็นตัวเองชัดมาก ทั้งที่ปกติเราจะเป็นคนที่ทันตัวเองเสมอ เพราะทบทวนและสังเกตตัวเองบ่อยๆอยู่แล้ว แต่เพราะการอบรมครั้งนั้นมันเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับผู้เข้าร่วมมาก ใครเจออะไรก็สื่อสารกันตรงๆ อาจจะมีงงบ้าง ไม่ชินบ้าง แต่ก็รับรู้ได้ว่าทีมงานเขาช่วยกันออกแบบกระบวนการเพื่อพาทุกคนให้ไปด้วยกันจริงๆ
เราพบว่าตัวเองข้างนอกอาจดูมั่นใจ แต่จริงๆเราค่อนข้างเปราะบาง เราไม่แข็งแรงมากพอจะเจอคำพูดหรือความคิดเห็นตรงๆ นั่นทำให้เราเลือกที่จะไม่เปิดเผยตัวตน ไม่พูดอะไรที่จะแสดงความเป็นตัวเอง แต่เราจะเลือกพูดในสิ่งที่คิดว่าคนฟังอยากฟังหรือควรได้ยิน
พอสัมผัสได้ว่าพื้นที่ตรงนี้มันปลอดภัยมากพอ เราเลยลองตัดสินใจก้าวออกมายอมรับและลองเป็นตัวเองให้มากขึ้น ซึ่งเอาจริงเราเชื่อว่ามีเพื่อนครูที่อบรมด้วยกันบางคนเขาคงมันเขี้ยวเรา ว่าทำไมเรามีความคิดอะไรแปลกๆ ทำไมถามอะไรแปลกๆ (หัวเราะ) แต่ส่วนตัวคิดว่าก็โอเคนะ เราชอบที่ได้เป็นตัวเองแบบนั้น กลับจากอบรมเรายังอยากเป็นตัวเองต่อเลย แต่เพราะสภาพแวดล้อมที่โรงเรียนมันคนละแบบกัน ผู้คนก็คนละกลุ่ม เราไม่ได้มีโอกาสนั่งจับเข่าคุยกันแบบตอนอบรมครู สถานการณ์มันเลยกลับไปหน่วงแบบหน่วงยิ่งกว่าเดิมด้วย
พอเจอภาวะที่เข้ามาสั่นคลอน มันสะเทือนความคิดความเชื่อเรา ในหัวมีแต่คำถาม มีแต่ความไม่มั่นใจว่าสิ่งที่เราทำมา ด้วยความคิดความเชื่อที่เรายึดมั่น มันคืออะไร เพราะทำอะไรไปก็เจอแต่ข้อติติงว่าต้องแก้ตรงนี้นะ ต้องปรับตรงนี้นะ ช่วงที่พีคที่สุดเป็นจังหวะที่เด็กนักเรียนเราก็เป็นตัวเองแบบเต็มขั้นมากๆด้วย หน้างานมันเลยยากกว่าเดิม หันหลับมาดูงานหลังบ้านที่ต้องเจอการประเมินนี่เหมือนประสาทจะกินเลย จำได้ว่าเราต้องเตรียมตั้งรับแบบสูดหายใจเข้าออกเยอะมาก ได้ผลมาแล้วก็ต้องก้มหน้าปรับงานแก้งานกันต่อ เป็นช่วงชีวิตที่จิตใจข้างในมันพังแบบ พัง……… (ลากเสียงยาว) ตอนที่ทีม a-chieve ไปติดตามระหว่างเทอม ปกติเขาน่าจะคุยเรื่องการสอนและผลที่เกิดขึ้นใช่ไหม ของเราคือนั่งร้องไห้ให้เขาฟัง (หัวเราะ) มันพังจริงๆ จะใช้คำว่าเส้นทางที่ผ่านมามันโดดเดี่ยวและสะบักสะบอมก็คงได้
เจอแบบนี้เข้ากับตัวเองเลยทำให้เรารู้ว่า คนเป็นครู ก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน แม้จะด้วยหน้าที่ที่ต้องเข้มแข็ง ต้องเป็นแบบอย่างให้นักเรียน แต่เราว่าครูก็มีความเปราะบางได้ ทำผิดพลาดได้ มันไม่มีความเพอร์เฟคแบบ 100 เปอร์เซ็นต์หรอก ครูเองก็ต้องการพื้นที่ปลอดภัย ให้ได้ตั้งหลักตั้งแกนตัวเองเวลาเจอภาวะยากๆเหมือนกัน ครูเองก็ต้องการคนรับฟังแบบที่เขาฟังเราจริงๆ ฟังเสียงที่พูด รับรู้ความรู้สึก ส่งกำลังใจให้กันบ้าง ดูแลใจบ้าง ให้มันมีเรี่ยวแรงไปต่อ คือเรามองว่าเวลาเจอความท้าทาย หรือโจทย์ยากๆ ทางแก้น่ะรู้อยู่ทุกคนแหละ แต่ถ้าคนเราไม่มีแรง มันก็ทำอะไรไม่ได้นะ ซึ่งบางครั้งนอกจากการไม่มีแรงสร้างสรรค์แล้ว เราเองอาจปล่อยพลังด้านมืด เอาพลังลบใส่คนรอบตัว รวมถึงเด็กๆด้วย”
ตั้งหลักด้วยความตั้งใจ
“ตอนนี้ถือว่าสภาพจิตใจโอเคขึ้นแล้วค่ะ เราว่าด้วยระยะเวลาและอะไรหลายๆอย่างด้วยล่ะ ที่ทำให้เราเปิดใจได้มากขึ้น ปลงได้มากขึ้น ทำใจปล่อยผ่านได้ง่ายขึ้น ซึ่งการที่เราดีขึ้น แข็งแรงขึ้น มันก็มาจากการที่ใจเรามันได้รับการดูแลเยียวยาในหลายๆ มิติ ทั้งความโชคดีที่เรามีคนรักที่คอยสนับสนุนเรา การที่ทีม a-chieve แวะมาหาที่โรงเรียน ชวนออกไปกินข้าว ถามไถ่ว่าเป็นยังไงบ้าง คือรู้แหละว่าเขาอยากติดตามความเปลี่ยนแปลงของครูและนักเรียน แต่ชีวิตคนเรามันมีอีกหลายอย่างนอกจากงาน การเจอกันในรูปแบบนี้ ทีมติดตามเขาจะพอเห็นภาพความเป็นจริงที่เราเจอ ซึ่งมันกว้างกว่าการจี้ถามหาผลลัพธ์อย่างเดียว พอเขาไม่ตัดสินเรา เขาก็เข้าใจเรา เอาจริงๆนะ แค่เขาเข้าใจสภาพเรา รับรู้ว่าเราเจออะไรมา เรารู้สึกยังไง มันก็ช่วยเราแล้ว
จุดพลิกที่สำคัญกับเรามากคือ ตอนอบรมครูกับ a-chieve ครั้งที่ 2 ที่เราได้ไปพบ 'ป้ามล' – ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก เป็นช่วงเวลาที่เติมเต็มเรามากๆ เราได้ฟังแนวคิด ฟังเรื่องราวการทำงาน การยืนหยัดที่ป้ามลไม่ได้ทำแค่คนเดียว แต่ขยายผลถึงทีมงานและเด็กๆในบ้านด้วย ฟังป้ามลเล่าเรื่องเด็กๆในบ้านให้ฟัง โห มันมีพลังมาก เราชื่นชมแกมากๆ แต่ที่ทำให้น้ำตาไหลไปหลายรอบคือ การมีอยู่ของป้ามลนี่แหละที่ช่วยยืนยันสิ่งที่เราคิดเราเชื่อ ความพยายามที่ผ่านมาของเรามันไม่สูญเปล่า แค่เรายังทำไม่ได้หมดอย่างที่ตั้งความหวังไว้ แค่ที่ผ่านมาเราอาจยังขาดการสนับสนุนหรือแรงหนุนบางอย่างที่จะทำให้เราทำสำเร็จได้
คำพูดของป้ามลที่ส่งผลกับเรามากคือ ‘อย่าใช้ด้านมืดไปพยายามเอาชนะเขา ให้เชื่อในความดีของเด็กๆเสมอ’ มันจริงมาก เพราะช่วงที่เราเจอภาวะยากๆ เราเองก็เป็นครูคนหนึ่งที่เผลอเอาพลังด้านมืดไปลงกับเด็กนักเรียน เพราะมันใช้ได้ง่ายกว่า จัดการได้ไวและเหมือนจะเห็นผลง่ายกว่า แต่มันไม่ยั่งยืนเลย นั่นแหละที่ทำให้เราได้ดึงสติตัวเองกลับมา ตั้งหลักกับตัวเองใหม่ว่าเราจะพยายามใช้ด้านสว่างเข้าหาและดูแลเด็กๆ พอกลับมาที่โรงเรียน เราก็เข้าสอนด้วยความตั้งใจใหม่ ฟังเสียงเขา ฟังความรู้สึกเขา ชวนเขาตั้งหลักเพื่อเรียนรู้ไปด้วยกัน มีความคิดความรู้สึกอะไรเราสื่อสารกัน นั่นทำให้เราพบว่าเด็กๆเราก็สนใจเรียนนะ เขามีความพยายามดีด้วย คาบท้ายๆคือเด็กๆนั่งตั้งใจกันเองเลย เราเชื่อว่าสุดท้ายแล้วเด็กทุกคนอยากเรียนรู้แหละ แค่เขายังมีความต้องการบางอย่างที่คนเป็นครูต้องหาให้พบ ชวนเขาเล่า ชวนเขาคิด แล้วเติบโตไปพร้อมเขา
ที่ผ่านมาที่เรายังลังเลไม่เชื่อในสิ่งที่ตัวเองทำ ทั้งที่เรามองว่าเราก็พอมีความรู้ ทักษะ ประสบการณ์นะ เราเอาทฤษฎีทางจิตวิทยามาปรับใช้ในการสอนด้วย แต่สิ่งที่เราเพิ่งสังเกตว่าเรายังขาดไปคือ การเก็บผลที่เกิดขึ้น ที่เรากล้าเคลมได้ว่านี่คือผลของสิ่งที่เราทำ จนกระทั่งล่าสุดที่ทีมติดตามของ a-chieve แวะมาเยี่ยมที่โรงเรียน แล้วเขาขอคุยกับเด็กที่เราสอน เป็นการคุยกันเองแบบไม่มีเราร่วมวงด้วย แล้วทีม a-chieve ค่อยมาบอกเราหลังจากนั้นว่าเด็กๆพูดอะไรถึงเราบ้าง เราแบบ โห เด็กๆคิดกับเราแบบนี้เหรอ คือรับรู้ได้เลยว่าเด็กสังเกตครูนะ เห็นและรับรู้ว่าครูเหนื่อยนะ อยากให้ครูไม่เหนื่อย อยากให้ครูไม่เครียด อยากเห็นครูมีความสุขนะ เราแบบ เออ มันคือความรู้สึกว่าเด็กก็แคร์เรา และมันแสดงออกผ่านคำพูดและพฤติกรรมของเด็กๆ จริงๆ”
วันนี้ที่ตอบตัวเองได้แล้วว่าอยากทำอะไรต่อ
“เราเข้ามาเป็นครูเพราะอยากเข้าใจ มาตอนนี้ถ้าถามเรา เราอยากเรียนต่อนะ เพราะมองว่าด้วยวุฒิหรือกำลังที่มีในตอนนี้ ถ้าให้เป็นครูจับงานสอนไปอีก 5 ปี เราว่าเราอาจจะยังไม่มีแรงพอจะทำในสิ่งที่ตั้งใจไว้ได้ เรายังอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญหาการศึกษา ปัญหาที่เด็กๆเจอ มันหายไป อยากสร้างความเข้าใจเรื่องพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น ให้กับครูหรือคนที่ทำงานประเด็นนี้ อยากเป็นกำลังให้คนที่ทำงานด้านนี้
ไอเดียนี้ก็ไม่รู้จะสำเร็จไหมนะ ถ้าไม่ได้อย่างที่ตั้งใจไว้ก็อาจจะเคว้งหน่อยว่าจะยังไงต่อดี แต่เรามั่นใจว่าคิดมารอบคอบแล้ว ประสบการณ์ที่ผ่านมา การเรียนรู้ต่างๆ การทบทวนตัวเอง หลักการความคิดความเชื่อที่มี ความมุ่งมั่นตั้งใจที่มี มันทำให้เราในวันนี้ตอบตัวเองได้ ว่าอยากทำอะไรต่อเพื่ออะไร
ก็เหมือนกับนักเรียน ที่เราอยากให้เขามีเป้าหมายในชีวิต มีแผนสำหรับอนาคต ที่ไม่ใช่ความอยากลอยๆ แต่มันเกิดจากกระบวนการคิดถึงเป้าหมาย ทวนสิ่งที่มี วางแผนการพัฒนาตัวเองให้สามารถไปถึงเป้าหมายได้นั่นแหละ ครูเองก็ควรทำได้อย่างที่บ่มเพาะเด็กๆเหมือนกัน
เรื่องความผูกพันกับเด็กๆ ที่โรงเรียน มันมีอยู่แล้วล่ะ ก็อยู่ด้วยกัน เห็นหน้ากัน สอนกันมาทุกวัน (ยิ้ม) เราเชื่อว่าเด็กๆ จะเข้าใจ เพราะเราไม่ได้หนีเขาไปไหนเลย เราแค่ปรับบทบาทหน้าที่ ให้ได้ลงลึกให้มากขึ้น เพื่อขยับตัวเองให้มีพลังมากขึ้น ให้สามารถแก้ไขและดูแลเด็กๆ ได้ดีขึ้น
กับเพื่อนครูที่โรงเรียน เราก็เห็นการเปลี่ยนแปลงนะ มันไม่ใช่การที่เราไปบอกให้เขาทำ แต่เขาซึมซับไปจากเรา จากการเห็นว่าเด็กๆกล้าเข้าหา กล้ามาบอกมาคุยกับครูน้ำกรอง ที่โรงเรียนมีการทำข้อตกลงร่วมกันหน้าแถวเลยนะ ว่าเวลานักเรียนจะขอครูไปห้องน้ำ คิดว่าควรใช้เวลากี่นาทีดี เห็นแบบนี้ก็ดีใจที่คุณครูท่านอื่นๆเริ่มเปิดพื้นที่รับฟังเด็กๆมากขึ้น ถ้ามีโอกาสก็อยากส่งต่อพลังความตั้งใจนี้ให้คุณครูทุกคนเลยค่ะ”
💌 เสียงจากนักเรียนของครูน้ำกรอง 💌
นอกจากการพูดคุยกับครูน้ำกรองแล้ว ทีมงาน a-chieve ที่ทำหน้าที่ติดตามและสนับสนุนครูแนะแนวในเครือข่าย ยังมีโอกาสได้พบกับน้องๆนักเรียนของครูน้ำกรองด้วย พวกเราจึงอยากขอรวบรวมและหยิบนำความคิดเห็นบางส่วนจากนักเรียนลูกศิษย์ของคุณครู (ทั้งจากวงพูดคุยครั้งนั้นและจากแบบสำรวจความคิดเห็นออนไลน์) มาแบ่งปันกัน เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจให้คุณครูทุกท่านที่กำลังพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงให้นักเรียนของเราค่ะ
“ชอบนิสัย และการมีเหตุผลของครูน้ำกรองค่ะ กิจกรรมที่คุณครูน้ำกรองให้ทำก็มีหลายกิจกรรมและสนุกมาก ได้ค้นพบว่าตัวเองชอบอาชีพอะไรหรือถนัดอาชีพอะไรด้วย” - ปังปอนด์ ด.ญ.นันทนัช แตงอ่อน ม.1
“เรียนกับครูน้ำกรอง บรรยากาศการเรียนดีมาก แล้วได้เรียนรู้เรื่องการแสดงออกกับความสามัคคีครับ” - เก้า ด.ช.เก้า ม.1
“สิ่งที่ชอบมากเวลาเรียนกับครูน้ำกรองคือ ครูรับฟังทุกความคิดเห็นของนักเรียนเลยคะ ไม่ว่าถูกหรือผิด มีกิจกรรมสนุกๆที่ทำให้เรารู้จักตัวเองและเพื่อนๆมากขึ้นด้วย ได้เรียนรู้ทั้งความชอบของตัวเอง ได้ค้นหา อาชีพ แล้วก็รู้ว่าเพื่อนเราชอบอะไรไม่ชอบอะไร” - นาเดียร์ ด.ญ.ธันยธรณ์ อินบุญเรืองศรี
“ชอบที่ครูน้ำกรองไม่ใช้อารมณ์ในการสอนเเต่ใช้เหตุผล เรียนเเบบไม่ใช้การตีนักเรียนเเต่ทำความเข้าใจเเทนเเล้วบอกนักเรียน” - วีโน่ ด.ญ.นิชนันท์ เซี่ยงจ้ง ม.1
“เวลาเรียนครูน้ำกรองจะมีการพูดคุยที่เป็นกันเอง เด็กแต่ละคนก็กล้าถาม ”- ฟลุ๊ค ด.ช.สุทธิ ดีคำ ม.1
“หนูชอบครูน้ำกรองมากๆตรงความใส่ใจ ความคิดของครูว่าเราเหมือนเพื่อนกัน เรียนแล้วสนุก ไม่เครียด เหมือนได้คลายเครียดในวิชาครูนํ้ากรองค่ะ” - ต้นข้าว ด.ญ.จิณัฐตา ปานสอาด ม.1
โครงการครูแนะแนวรุ่นใหม่ สร้างเด็กไทยให้ออกแบบชีวิตตัวเองได้
โดยธุรกิจเพื่อสังคม a-chieveในความร่วมมือกับโครงการ ร้อยพลังการศึกษา
มีเป้าหมายเพื่อสร้างและพัฒนาชุมชนครูแนะแนวรุ่นใหม่ฯ ให้สามารถสร้างคาบเรียนวิชาแนะแนวที่มีชีวิต และเกิดพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียนเพื่อช่วยให้นักเรียนได้รู้จัก เห็นคุณค่าในตนเอง ออกแบบชีวิตของตนเองได้ และอยู่ร่วมกับความแตกต่างหลากหลายได้อย่างเคารพเข้าใจกัน
ปัจจุบันดำเนินการมาแล้ว 4 ปี มีครูในเครือข่ายแล้วทั้งหมด 105 คน จาก 61 โรงเรียน 25 จังหวัดทั่วประเทศ
คอร์สเรียนฟรี สุดพิเศษ เอาไปใช้ได้จริง! สำหรับครูแนะแนว
หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)
ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง
✅ เรียนฟรี
✅ มีเกียรติบัตร ***จะได้รับเมื่อทำ Quiz และแบบประเมินหลังเรียนจบเรียบร้อย
คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses