ครูแนะแนวรุ่นใหม่ฯ : ทีละก้าวที่ต่อเนื่องในแบบครูต้น

หมวดหมู่: พื้นที่เพื่อนครู

Tags:  ครูแนะแนวรุ่นใหม่

อ่านแล้ว: 676 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

ครูต้น – ภาธรณ์ สิรวรรธกุล ปัจจุบันสอนอยู่ที่โรงเรียนเบญจมานุสรณ์ จ.จันทบุรี

รับหน้าที่ดูแลงานแนะแนวนักเรียนระดับชั้น ม.2 และ ม.5

ครูต้นเข้าร่วมโครงการครูแนะแนวรุ่นใหม่ฯ รุ่น 1 กับ a-chieve เมื่อปี 2561 นอกจากการเข้าร่วมอบรมในโครงการแล้ว ครูต้นยังจัดเวลาไปร่วมเวทีชุมชนครูแนะแนวรุ่นใหม่ฯ อีกหลายครั้งต่อเนื่อง และไปช่วยสนับสนุนงานของเพื่อนครูคนอื่นๆ ในโครงการอยู่เสมอ

ด้วยความที่เป็นคุณครูนักคิด ที่มักตั้งคำถาม ทดลองลงมือทำ ปรับเปลี่ยน และพัฒนางานในวิชาแนะแนวอยู่เสมอ ครูต้นจึงเป็น 1 ในครูแนะแนวที่มีเรื่องราวกระบวนการเรียนการสอนให้ทีมงาน a-chieve เซอร์ไพรส์ทุกครั้ง และล่าสุดที่เราได้ข่าวมาคือ ครูต้นกำลังปลุกปั้นโปรเจกต์ใหม่อีกแล้ว! อะไรที่ทำให้ครูคนหนึ่งสามารถคิดไอเดียอะไรได้มากมายขนาดนี้ และสิ่งสำคัญในการทำงานมีอะไรบ้าง ตามไปทำความรู้จักครูต้นและแนวคิดในการทำงานแนะแนวกันได้เลยค่ะ

HIGHLIGHT

  • ครูต้น – ภาธรณ์ สิรวรรธกุล เป็นครูแนะแนวของนักเรียน ที่ไม่ใช่แค่แนะแนวเพื่อค้นหาและรู้จักตัวเอง แต่รวมถึงการแนะแนวอาชีพด้วย “ต้มยำทำแกง”, “เรื่องกล้วยๆ ก็รวยได้”, “เก๊ตสึโนว่า” และอีกหลายโปรเจกต์ในคาบวิชาแนะแนวของครูต้น ที่ไม่ได้มีดีแค่ชื่อที่ดึงดูด แต่กระบวนการให้นักเรียนได้เรียนรู้ระหว่างทางก็น่าสนใจไม่แพ้กัน
  • ใครอยากมีไอเดียกิจกรรมเจ๋งๆ ที่ส่งผลกับนักเรียนได้จริงแบบนี้บ้าง ครูต้นขอแนะนำให้เริ่มต้นที่การฟังเสียงนักเรียนก่อน
  • การทำงานคนเดียวให้ทุกฝ่าย Win-Win ไปด้วยกันแบบ SOLO-Together คือ การทำตัวเป็นสะพานเชื่อมเส้นทาง

ชื่อภาพ

จากแนวคิดสู่การลงมือทำ

“โปรเจกต์ที่ทำในงานแนะแนว ตั้งแต่เป็นครูแนะแนวมาก็คิดว่ามีเยอะอยู่นะ เพราะคิดและทำเรื่อยๆ เลย ล่าสุดที่เพิ่งจบไปคือ ชุมนุม Empower ที่ชวนเด็กนักเรียน ม.2 มาเรียนรู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่เขายังไม่คล่อง แต่ให้เริ่มจากสิ่งที่ตัวเองชอบก่อน มาบูรณาการกับการรู้จักตัวเอง มีให้โจทย์ ชวนกันไปหาข้อมูลแล้วกลับมาแบ่งปันกับเพื่อน ชวนคิดเชื่อมโยง ซึ่งสุดท้ายมันกลับมาที่ตัวเขา ว่าที่เขามีส่วนร่วมในกระบวนการได้ เพราะมันเริ่มจากคำศัพท์ที่เขาชอบ เป็นคำที่เขาสนใจ แล้วมันค่อยๆ ต่อยอดต่อ ใครจะสมัครเข้าชุมนุมนี้มีเงื่อนไขคือ ต้องไม่เก่งอังกฤษ ต้องไม่มีความมั่นใจ อันนี้จริงจังเลย ตอนนี้จบโปรเจกต์ไปเรียบร้อยครับ นี่กำลังคิดไอเดียใหม่ เพื่อแก้ปัญหานักเรียนเรียนแล้วไม่รู้เรื่อง เรียนแล้วไม่เข้าใจ เอาแนวทางแบบวงเก็ตสึโนว่าเลย อยากชวนกันมาติวแบบไม่ติว ไว้ถ้าคิดครบแล้วเดี๋ยวมาแชร์ให้ฟังนะ

นอกจากจะทำเพื่อให้นักเรียนรู้จักตัวเอง ก็ทำงานแนะแนวอาชีพ เป้าหมายงานแนะแนวสำหรับครูต้นคือ การให้เด็กได้ลงมือเรียนรู้ ค้นหา และค้นพบแนวคิดของตัวเองด้วยตัวเอง ซึ่งแต่ละคนจะได้แนวคิดที่แตกต่างกัน แล้วค่อยกลับมาเปิดวงแชร์กัน เรียนรู้ร่วมกันกับเพื่อนๆ คือข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพหรือสถานประกอบการ ที่สืบค้นหรือหาอ่านได้ในหนังสือ ก็จำเป็นและช่วยเปิดโลกให้เด็กๆ นะ แต่เรามองว่า สิ่งที่สำคัญกว่า Content คือ Concept ถ้าเด็กมี Concept เขาจะสามารถปรับใช้ในเรื่องอื่นๆ ได้

ตัวอย่างงานด้านแนะแนวอาชีพที่เคยทำ เช่น โปรเจกต์ชื่อต้มยำทำแกง ที่เราหยิบเอาเรื่องปากท้องการกินซึ่งใกล้ตัวเด็ก มาชวนเขาคิดและไปเรียนรู้กัน พูดง่ายๆคือ ชวนเด็กไปตามดูซิว่าวัตถุดิบแต่ละอย่างในหม้อแกงที่เราเห็นๆ กันนี่มาจากไหน ต้องผ่านมือผ่านตาคนทำงานอาชีพอะไรมาบ้างกว่าจะมาถึงจานข้าวเรา ข้อมูลที่เด็กนักเรียนได้มันไม่ใช่แค่ข้อมูลแบบที่เราสืบค้นในอินเตอร์เน็ท เพราะมันได้ข้อมูลบริบทในชุมชนนั้นด้วย เห็นความเกี่ยวข้องของแต่ละอาชีพ เห็นเส้นทางที่มาของอาหาร และได้ฝึกทักษะการหาข้อมูลในรูปแบบที่หลากหลายด้วย ผลตอบรับจากเด็กๆ ก็ดูสนุกกันดีนะ ตอนมานำเสนอทุกคนก็ตั้งใจดีมากๆ เพื่อนแต่ละกลุ่มก็ได้ฟังของกลุ่มอื่นด้วย ครูต้นเองก็ได้เรียนรู้ไปด้วย

ก่อนหน้านี้เคยทำโปรเจกต์แผนที่อาชีพ ชื่อ ‘ค่ายรู้จักตนเอง รู้จักผู้อื่น สู่อาชีพที่ใช่ ผ่านกระบวนการสร้างแผนที่อาชีพชุมชน’ ซึ่งไอเดียนี้เราหยิบแผนการสอนที่ได้จาก a-chieve ไปปรับแล้วลงมือทำจริง ตอนนั้นครูต้นเป็นครูแนะแนวที่โรงเรียนแหลมสิงห์วิทยาคม จ.จันทบุรี มีผู้เข้าร่วมเป็นนักเรียน 20 คน จาก 4 โรงเรียนใน จ.จันทบุรี ได้รับความร่วมมือจากเพื่อนครูแนะแนว 10 คน จาก 9 โรงเรียน 5 จังหวัด ซึ่งเกิดการเรียนรู้ทั้งนักเรียนและครูเลย เพราะเราจัดเวิร์กช็อปเตรียมความพร้อมกันก่อนจะปล่อยเด็กๆ ลงเดินในชุมชน แยกสายกันไปพูดคุย ไปถาม ไปฟังเสียงคนทำงานอาชีพต่างๆ กลับมาในค่ายมีให้จัดนิทรรศการแผนที่อาชีพในชุมชนนำเสนอกัน เราเชิญผู้อำนวยการโรงเรียน เชิญชาวบ้านในชุมชน เชิญผู้ใหญ่มาเป็นแขกเดินชมงานจริงๆ เลย เด็กนักเรียนบอกว่าตื่นเต้นนะ แต่อยากบอกว่าครูก็ลุ้นไปด้วย (หัวเราะ) ซึ่งพอเรามาสรุปงาน มานั่งอ่านผลตอบรับจากใบประเมินแล้วก็ดีใจนะ ดีใจที่เห็นว่าเด็กนักเรียนได้รับประสบการณ์จริงๆ เขาเกิดการเรียนรู้จากการลงมือทำจริง และบอกได้ด้วยหลังจบค่ายเขาอยากทำอะไร มีแผนทำอะไรต่อ”

ชื่อภาพ

ไอเดียดีๆ เริ่มจากการมองเห็นปัญหา

“ไอเดียทุกอย่าง เกิดจากปัญหาที่เด็กๆ เจอเลย ปัญหาที่เด็กเขาไม่โอเค อะไรที่มันพร่องไป อะไรที่มันไม่สนุก ยังไม่ใช่สำหรับเขา สำหรับครูต้นแล้ว ครูต้องหาให้เจอก่อนว่าเด็กๆ กำลังเผชิญปัญหาอะไร เพราะอะไร ฟังเสียงเขาก่อน

จะระบุปัญหาให้ชัดๆ แบบไม่รวบรัดหรือคิดเอาเอง ส่วนตัวเราจะทำ 2 อย่างใหญ่ๆ หนึ่งคือ สร้างพื้นที่ปลอดภัยก่อน เริ่มจากการรับฟังกันก่อนเลย สังเกตกัน แคร์กัน ทั้งนักเรียนทั้งครูได้เป็นตัวเอง เอาความเป็นตัวเองมาอยู่ร่วมกันในพื้นที่ปลอดภัยนี้ เวลาที่เด็กนักเรียนครูต้นเจออะไรที่เขาไม่โอเค เขาจะบอก หรือไม่ก็เป็นเราที่จะสังเกตเห็น แล้วถามกัน

สองคือ เดินทำงาน การจะได้ยินเสียงนักเรียน บางทีไม่ใช่รอให้เขามาหาเรา แต่เราเองก็เดินไปหาเขาก่อนได้ ข้อนี้อาจจะเป็นจุดแข็งของครูต้นนะ ที่เป็นครูแนะแนวที่เดินไปนู่นไปนี่ตลอด เราไปทั่วโรงเรียนเลย ใต้ตึก สนามบาส เจอนักเรียนก็ทักทาย บางทีไปขอเล่นด้วยเลยก็มี เจอเด็กนั่งคุยกันก็ขอแวะขอแจมไปฟังด้วยว่าเขาคุยอะไรกัน บ่นเรื่องอะไรกัน ฟังอะไรกันอยู่ อ๋อ ฟังยังโอมเหรอ โอเค เรารู้จักเด็กเราเพิ่มขึ้นอีกเรื่องแล้ว บางครั้งเราจำได้ว่านักเรียนอยู่ห้องไหน แต่แกล้งทักห้องผิด เขาก็ช่วยแก้ให้ว่าครูจำผิดนะ หนูอยู่ห้องนี้ ก็ตลกดี เป็นบรรยากาศการคุยที่มันกันเองจริงๆ แต่เพราะเป็นครูที่ไม่ค่อยอยู่ประจำที่ห้องแนะแนวนี่ล่ะ ก็เป็นจุดอ่อนด้วยเหมือนกัน เด็กคนไหนจะมาหาคือต้องโทรถามกันก่อนว่าครูอยู่ไหน (หัวเราะ) เป็นจุดอ่อนจริงๆ แต่ก็ยอมรับนะ เพราะเราเองที่เลือกจะเดินทำงาน

ครูต้นมองว่า เด็กนักเรียนก็เหมือนบานประตู ครูคือคนที่ถือกุญแจในมือ ถ้ากุญแจมันใช่ เขาจะเปิดประตูรับเรา แต่ถ้าไม่ใช่ ให้ทู่ซี้ฝืนไข หรือทุบประตู มันก็ไม่ได้ใช่ไหม จะหากุญแจที่ใช่ ก็ต้องฟังเขาก่อน เปิดใจรับฟังเพื่อเข้าใจเขาจริงๆ ถึงเวลานั้นกุญแจในมือไม่สำคัญเลย เพราะเด็กจะเปิดประตูให้คุณเอง

เพราะเราฟังเสียงเด็กๆ นี่แหละ เราเลยเห็นปัญหา ว่า อ๋อ เด็กไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้โตไปจะทำอาชีพอะไร เพราะไม่มีเวลาค้นหาตัวเองเลย นี่ไง ได้โจทย์ตั้งต้นแล้ว”

ชื่อภาพ

ประสบการณ์เดิม คือ เครื่องมือที่ช่วยให้เราเห็นโอกาสความเป็นไปได้

“เวลาเราได้โจทย์มา อันดับแรกเลยคือตั้งหลักก่อน เพราะประสบการณ์เดิมของเราอาจทำให้เราเผลอไปตัดสินความคิดของเด็ก ส่วนตัวครูต้นเองเห็นแบบนี้ก็ยั้งตัวเองไว้เยอะอยู่นะ อย่างแรกคือยอมรับก่อนว่าวัยเรานี่มีจำนวนประสบการณ์มากกว่าเด็กนักเรียน เห็นอะไรมามาก เจออะไรมามาก และมีความหวังดีที่ไม่อยากให้ลูกศิษย์คิดพลาดทำพลาด แต่ก็ต้องยอมรับอีกข้อด้วยว่า เด็กนักเรียนเขาก็มีชุดประสบการณ์ของเขา ที่ต่างจากเราเหมือนกัน ทีนี้ประสบการณ์ของเราจะมีประโยชน์ยังไง ก็มีตรงที่ช่วยทำให้เรา ซึ่งแม้ไม่ใช่เจ้าของปัญหา (เช่น การไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้โตไปจะทำอาชีพอะไร เพราะไม่มีเวลาค้นหาตัวเอง) สามารถเทียบประสบการณ์ว่า เวลาเจอปัญหาหรือเรื่องยากๆ เป็นเราเจอภาวะแบบนั้น เราจะรู้สึกยังไง จะมีความคิดยังไง จะมองโลกยังไง จำลองตัวเองให้เป็นเด็กที่มีประสบการณ์ชีวิต 14 – 15 ปี สำนวนฝรั่งที่ว่า Put yourself in someone’s shoes ให้เอาตัวเองไปอยู่ในรองเท้าเขา นี่คือใช่เลย

พอเข้าใจปัญหา บริบท ความรู้สึกนึกคิดของเด็กๆ แล้ว ประสบการณ์เดิมของเรานี่แหละ จะเป็นตัวช่วยให้เราเห็นโอกาสความเป็นไปได้ ว่า เฮ้ย มันยังมีโอกาสอยู่นะ ซึ่งถ้าคิดแบบเด็กนักเรียนแล้ว มันน่าลองทำอันนั้นอันนี้จัง แล้วมันจะเริ่มเกิดเป็นไอเดีย ซึ่งไอเดียมันไม่ได้มาจากเราเลย แต่มาจากเด็กๆ และการที่เราทำความเข้าใจเขา แบบเอาใจเขามาใส่ใจเรานี่แหละ เลยทำให้นักเรียนครูต้นโอเคที่จะทำกิจกรรม และเรียนรู้ตามกระบวนการไปด้วยกัน”

ชื่อภาพ

เสียงหัวเราะไม่สำคัญเท่าความสนุก

“ความสนุกสำคัญมากนะ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องตลกหรือต้องขำอย่างเดียว แต่กลไกความสนุกนี่แหละที่จำเป็นในการประคองให้เด็กนักเรียนเรายังมองหาทางไปต่อ ลองเรียนรู้อีกหน่อยซิ ลองถามดูซิ ลองไปหาคำตอบกัน เจออะไรมาไหนลองกลับมาแชร์กันซิ ว่าเราได้เรียนรู้อะไรบ้าง ครูอาจจะเป็นผู้เริ่มชวนเด็กนักเรียนเข้ากระบวนการ แต่ระหว่างทางคือการเรียนรู้ของเขาและเพื่อนที่มีประสบการณ์ด้วยกันเองเลย เราเลือกให้ความสำคัญว่า ระหว่างทางเขาเกิดการเรียนรู้อะไรบ้าง มากกว่าการโฟกัสแค่ผลลัพธ์ปลายทาง

ครูต้นเคยทำโปรเจกต์ ‘เรื่องกล้วยๆ ก็รวยได้’ ที่ให้นักเรียนรับหน้าที่ดูแลกล้วย เมื่อออกผลก็ให้เอาไปลองขาย จะได้เห็นว่ากว่าจะทำอาชีพได้ มันต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง ต้องลงแรงอะไรบ้าง อันนี้ตามจริงมันไม่มีอะไรน่าสนุกเลยนะ ต้องฝ่าแดดไปถางหญ้า ไปกำจัดวัชพืช ไปเคลียร์พื้นที่ มันร้อนแบบสุดๆ เลย แต่จังหวะนั้นแหละที่เราอยู่กับเด็ก เราเลยชวนกันคุยว่า เออ ถ้าเราจับคู่ดูแลต้นกล้วยด้วยกัน มันจะเป็นยังไงนะ คนไหนสนิทกันให้จับคู่กันเลย แล้วมาดูผลงานกัน รู้อะไรไหม ผลงานในกิจกรรมนี้คือกล้วยที่ออกลูกมาลูกเล็กนิดเดียว แต่เด็กดีใจมาก (หัวเราะ) ความรู้สึกของนักเรียนเจ้าของผลงานคือยิ่งใหญ่มากเลย ใครดูแลไม่ดี กล้วยตาย ก็ชวนมาตั้งคำถาม แล้วทดลองกันใหม่ ฮึบไปด้วยกัน เรียนรู้ไปด้วยกัน

ซึ่งถ้าถามว่า แล้วอย่างนี้ถือว่าครูต้นคิดไอเดียสำเร็จไหม (หัวเราะ) จริงๆ ครูต้นไม่เคยมีความสำเร็จเลย จะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่ตัวนักเรียนล้วนๆ การที่เขาเอาตัวเข้าไปในกระบวนการเรียนรู้ ได้ลอง ได้ลงมือ ได้แลกเปลี่ยนพูดคุย ได้แชร์กับเพื่อน เกิดเป็นการเรียนรู้ของเขา ถือเป็นความสำเร็จของเด็กๆ ล้วนๆ เลย”

ชื่อภาพ

SOLO-TOGETHER ทำงานคนเดียวให้ Win-Win ทุกฝ่าย

“ตอนนี้ที่โรงเรียนมีครูแนะแนว 3 คนครับ เราก็ทำงานตามแผนการสอน แต่ไม่ค่อยมีจังหวะเชื่อมงานหรือออกแบบตัวกระบวนการร่วมกันบ่อยนัก ด้วยภาระงานหลายๆ อย่าง และเป็นช่วงที่ครูต้นเลือกโฟกัสกับเด็กนักเรียนก่อนด้วย คาบเรียนแนะแนวหรือชุมนุมแนะแนวครูต้นตอนนี้เลยทำงานโซโล่คนเดียว แต่เราก็ยังมองหาโอกาสอยู่เรื่อยๆ นะ เพราะเชื่อว่าถึงแม้เราจะทำงานคนเดียวได้ แต่การมีเพื่อนครูคนอื่นมาแจมงานด้วยกัน มันก็เกิดผลได้มากขึ้นจริงๆ

ถ้าถามว่าทำยังไงถึงจะ Win-Win ได้ทุกฝ่ายเหรอ … (นิ่งคิด) ครูต้นมองว่า เป้าต้องชัด เข้าใจเขาก่อน และเราต้องทำตัวเป็นสะพานเชื่อมให้เขาเดินผ่านสะดวกนะ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร เพื่อนครู เจ้าหน้าที่ ผู้ปกครอง ชาวบ้าน หรือใครก็ตาม การจะเป็น ‘สะพาน’ ได้ เราต้องวางตัวให้คนเข้าถึงง่าย และเราเองก็ต้องเข้าหาเขาก่อนด้วย อันนี้คือต้องทำต่อเนื่องเลย เหมือนเป็นการปูทางความสัมพันธ์ไว้ อย่างน้อยเวลามีอะไรเขานึกถึงเรา เรานึกถึงเขา

เมื่อเรามีงานที่อยากหาคนช่วย อย่างแรกคือ เดินเรื่องให้ผ่านฝ่ายบริหารก่อน เพราะผู้อำนวยการคือผู้ดูแลงานภาพรวมทั้งหมด ถ้าเขาเข้าใจเป้าหมายเรา เห็นว่าเราตั้งใจทำจริง สิ่งที่ได้อาจไม่ใช่แค่คำว่าอนุมัติ แต่เขาอาจชี้ทางให้เรารู้ว่าเพื่อนครูคนไหนที่เราจะไปแตะงานด้วยได้ หรือสนับสนุนงานกันได้ จากนั้นเราก็เดินหน้าสื่อสารกับเพื่อนครูหริอคนที่เกี่ยวข้องอย่างตรงไปตรงมาเลย ว่างานนั้นๆ ผลประโยชน์อยู่ที่ตัวเด็กนักเรียน และจะเป็นประโยชน์กับตัวทีมงานยังไงบ้าง

ตอนทำโปรเจกต์ให้นักเรียนไปติดตามเรียนรู้ชีวิตการทำงานอาชีพที่เขาสนใจ สมัยอยู่ที่โรงเรียนเก่า ตอนนั้นครูต้นเป็นครูแนะแนวคนเดียว ก็เดินเรื่องคุยจนฝ่ายบริหารอนุมัติให้นักเรียนมีตารางเรียน 4 วัน แล้วให้วันที่เหลืออีก 1 วันเป็นวันที่เด็กๆ จะได้ออกไปทำโปรเจกต์ติดตามและเรียนรู้อาชีพที่เขาสนใจ ถามว่าท้าทายไหม ท้าทายมากนะ เพราะไม่เคยมีใครทำด้วย แต่เรามีโจทย์ชัดแล้ว และเรามองเห็นโอกาส เราเลยทำความเข้าใจคนที่เราอยากชวนเขาให้มาช่วยก่อน ดูว่าผู้อำนวยการมีทิศทางนโยบายอย่างไรเพราะอะไร ฝ่ายวิชาการให้ความสำคัญกับหน่วยกิตการเรียนใช่ไหม โรงเรียนอยากให้นักเรียนรู้เป้าหมายอาชีพที่อยากทำเพื่อให้มีกำลังใจและแรงฮึดตั้งใจเรียนต่อใช่ไหม ซึ่งตอนนี้ข้อต่อนี้หายไปครับ เพราะการเรียนปกติ 5 วัน เด็กไม่มีเวลาและโอกาสสร้างประสบการณ์เพิ่มอยู่แล้ว โอเค งั้นเราจัดวันให้นักเรียนไปติดตามเรียนรู้กับคนทำงานจริง 1 วันต่อสัปดาห์กันไหม

ไอเดียนี้ฝ่ายบริหาร ฝ่ายวิชาการไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเลย แค่อนุมัติขยับตารางสอนให้มีวันว่าง ครูสอนเท่าเดิม บางคนสอนน้อยลงด้วย เพราะเอามาบูรณาการกับโปรเจกต์นี้ได้ ครูคนไหนต้องขับรถผ่านถนนเส้นทางไหน เราจำได้ ก็ไปชวนให้ช่วยนิเทศก์ติดตามเด็กๆ เพราะไหนๆ ก็ทางเดียวกันแล้ว นับเป็นชั่วโมงการทำงานได้ด้วย เพื่อนครูเขาก็ตอบรับเราง่ายขึ้น ผู้ปกครองเด็กก็โอเค เพราะลูกได้มีประสบการณ์และไม่กินเวลาเสาร์อาทิตย์ แถมไปรับส่งลูกได้แบบไม่ลำบากเพิ่ม เพราะเราออกแบบเงื่อนไขว่าสถานประกอบการนั้นๆ ต้องอยู่ในเส้นทางการเดินทางที่ผู้ปกครองผ่าน ไม่ก็เด็กๆ สามารถไปกลับเองได้ ปลอดภัย

ทุกอย่างเหมือนเดิม คนที่มาช่วยงานเรา เขาไม่มีอะไรต้องเสียเลย และถ้าเราออกแบบการทำงานกันดีๆ เขาจะได้ผลดีเพิ่มด้วย ทุกฝ่ายได้ประโยชน์หมด แค่เราที่เหนื่อยประสานงานเพิ่มหน่อย แต่ถ้ามันจะทำให้เกิดงานที่เกิดประโยชน์กับนักเรียนของเรา ครูต้นว่าคุ้มจะตาย แล้วถ้าผ่านงานแรกไปได้ ต่อไปมันจะเบาขึ้น คล่องขึ้นด้วย”

ชื่อภาพ

คุยกับนักเรียนเถอะ ฟังเสียงเขาเยอะๆ

“การทำงานแนะแนวในแบบครูต้นคือ เราใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปนะ ฟังเสียงเด็กนักเรียนเยอะๆ เติมความรู้ ประสบการณ์ เรียนรู้มุมมองและไอเดียใหม่ๆ จากเพื่อนครู จากชุมชนครูที่เราเข้าร่วม และสืบค้นจากสื่อที่หลากหลาย

ด้วยความที่เราเป็นตัวเราแบบนี้ วางตัวกับนักเรียนแบบกันเองแบบนี้ด้วยแหละ ก็มีครูบางท่านที่ยังไม่เข้าใจ เลยเป็นห่วง อยากให้เราเป็นตัวอย่างที่ดีให้นักเรียน เป็นครูในอุดมคติตามภาพจำสมัยก่อน แต่ครูต้นมองว่ามันไม่สำคัญเลย เพราะถ้าครูลองวางบทบาทและอุดมคตินั้นลง แล้วลองเป็นเพื่อนกับนักเรียน กำแพงมันจะหายไป เด็กๆ จะเปิดใจได้ง่ายขึ้น เมื่อเขาเปิดใจ เราพูดอะไร สอนอะไร เขาจะฟัง เขาจะคิดตาม และเรียนรู้ไปกับเราแน่นอน แค่นี้เลยครับ

ส่วนเรื่องการคิดไอเดียแปลกๆ ใหม่ๆ เหรอ (นิ่งคิด) บางคนมองว่าครูต้นติงต๊องนะ มองว่าเรามีความคิดแปลกๆ แต่จริงๆ เราแค่คิดบางเรื่องได้เร็วกว่าชาวบ้านเท่านั้นเอง เวลาเล่างานให้ฟังนี่ดูสนุกใช่ไหม แต่ไม่ได้เจอแค่คำชมหรอก เสียงวิจารณ์ก็เยอะ เสียงด่าก็เยอะ (หัวเราะ) ซึ่งเรารับฟังนะ มีทั้งฟังแบบ เออ มันต้องปรับแก้จริงๆ กับฟังแบบปล่อยผ่านบ้าง เรื่องที่ไม่ได้นำสู่ประโยชน์ของเด็กก็ปล่อยผ่านๆ ไปบ้าง เว้นแต่ถ้าเด็กด่านี่คือต้องฟังเลยนะ ฟังความรู้สึก ฟังความคิดของเขา เพราะมันคือปัญหาที่เขาเจอ และเราเองที่ตั้งใจว่าอยากช่วยเขาจริงๆ

อยากฝากถึงเพื่อนครูที่สนใจอยากคิดไอเดียไปลองใช้ในงานแนะแนวบ้าง หากจะสืบค้นหาวิธี เกม หรือกระบวนการใดๆ ไปลองใช้ อันดับแรกที่อยากให้ทำเลยคือ คุยกับนักเรียนก่อนครับ ไปฟังเสียงเขา ไปเข้าใจเขา เป็นเพื่อนกับเขา แล้วเราจะเห็นทางไปต่อ ขอเป็นกำลังใจให้คุณครูทุกคนครับ”

ชื่อภาพ

เสียงจากนักเรียนของครูต้น

นอกจากการพูดคุยกับครูต้นแล้ว ทีมงาน a-chieve ได้ออกแบบสอบถามออนไลน์เพื่อเป็นช่องทางการรับฟังความคิดเห็นจากนักเรียนลูกศิษย์ของครูต้นทั้งรุ่นที่เคยเรียนกับครูต้น รุ่นปัจจุบัน และรุ่นที่เรียนจบแล้ว พวกเราเห็นคำตอบของน้องๆแล้วก็อดปลื้มใจตามไม่ได้ และนี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทีมงานเรียบเรียงมาแบ่งปันกัน เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจให้คุณครูทุกท่านที่กำลังพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงให้นักเรียนของเราค่ะ

“สิ่งที่ชอบมากที่สุดเกี่ยวกับครูต้น คือ การเข้าใจเด็ก ในคาบก็มีการสอนที่ต่างจากครูคนอื่น แล้วก็ทำให้เราได้เข้าใจตัวเองค่ะ” – ฟิว บัณฑิตา ทองนพคุณ ม.2/8

“ครูต้นมีการสอนที่แปลกใหม่ มีความคิดสร้างสรรค์ในการสอน ตอนเรียนด้วยรู้สึกว่าเรามีอิสระ และได้ค้นพบตัวเองด้วยค่ะ” – เชอรี่ กิตยาภรณ์ กุลวงษ์ ม. 2/1

“ชอบเวลาครูต้นเล่นมุก และได้ความรู้เรื่องจิตวิทยา เป็นสิ่งวิชาอื่นไม่มี สนุกมากๆค่ะ” – เกรซ ภาศิกา คำเวียง ม. 2/1

“ในห้องเรียนมีการให้ตอบคำถาม รู้สึกสนุกดีเเละได้คิดอะไรกับสิ่งใหม่ๆ ชอบที่ครูต้นใจดี ไม่ตีเด็ก” – ฟลุ๊ค ปฏิภาณ เนินหาด ม. 2/3

“ครูต้นทำให้เราใกล้ชิดกับเพื่อนมากขึ้น เพื่อนๆในห้องสนิทสนมกันมากขึ้น” – ไอซ์ พรกนก พุ่มอ่ำ ม. 2/7

“จุดเด่นของคาบครูต้นอยู่ที่การเช็กชื่อค่ะ ตอนเเรกที่ได้เรียนกับครูต้น คาบเเรกๆ ยังงงๆ อยู่เลยค่ะว่านี่เป็นการตอบคำถามเเบบไหนกันเนี่ย แต่ว่าตอนนี้ชินแล้วรู้สึกสนุกมากค่ะที่ได้ตอบคำถามที่ปกติแล้วเราไม่เคยตอบ ชอบความกระตือรือร้นของครูต้นมากค่ะ ครูมีความอยากส่งต่อความรู้ที่ตัวเองมีให้นักเรียนมากๆ คอยให้คำปรึกษากับนักเรียนที่ยังไม่มีเป้าหมายหรือมีปัญหา หนูชอบครูต้นตรงนี้มากๆค่ะ” – เมษ์ นันทิยา วิมลลักษณ์ ม.5/2

“ในคาบจะเป็นการเรียนการสอนที่สนุก ไม่เครียด คอยหาสิ่งต่างๆมาให้นักเรียนทำ เป็นคาบที่รู้สึกผ่อนคลาย ส่วนครูต้นก็เป็นครูที่คอยช่วยเหลือนักเรียนในหลายๆเรื่อง เป็นคุณครูที่เก่งคนนึงและใจเย็น เป็นครูที่ดีมากๆ ก็ถ้าให้เลือกเรียนกับครูต้นได้ก็จะเลือกเรียนอีกครับ” – เคน เคนเน็ต หว่อง ม.5/2

“ชอบมากตรงที่ครูต้นใส่ใจในการสอน รู้ใจเด็กๆ และมีสื่อการสอนที่ดี ทันสมัยค่ะ” – ทับทิม ภัทรวดี โพธิพัฒน์ ม.5

“ครูต้นสอนสนุกค่ะ ไม่น่าเบื่อ เช็กชื่อไม่จำเจด้วย เรียนกับครูต้นทำให้เรารู้ว่าสิ่งสำคัญในการใช้ชีวิตคืออะไร” – พลอย พลอยพรรณ ปริวัฒน์ ม.5/5

“ตอนเรียนกับครูต้นแตกต่างจากวิชาอื่นมากๆคือเราสามารถพูดคุยกันได้ทุกเรื่องเปิดโอกาสให้เราได้กล้าพูดกล้าแสดงออก ขอบคุณครูต้นมากๆค่ะที่ส่งหนูถึงฝั่งตามเป้าหมาย หนูจะพยายามต่อไปให้ดีที่สุดค่ะ” – ดาว พนิดา ตั้งมั่น ปี1

“ครูต้นสอนสนุก มีกิจกรรมให้ทำในคาบเยอะ มีความเป็นเอ็นเตอเทน แต่ก็ได้ความรู้นอกกรอบ ทำให้เราค้นพบตัวเอง รู้ว่าตัวเองถนัดด้านไหนครับ” – เอิร์ท สมัชชา เจริญกลิ่น ปี1

“ครูต้นเข้าใจเด็ก ใจดี เรียบง่าย อินเตอร์ อบอุ่น กิจกรรมในชั้นเรียนก็สนุกมาก และทำให้เราได้ค้นพบตัวเองค่ะ” – นุ๊ก บัวชมพู นาคสกุล ปี1

“ครูต้นเป็นคนที่ให้คำปรึกษาเด็กๆได้ทุกเรื่อง ใจดี รับฟังทุกๆเรื่อง ซัพพอร์ตเด็กดีมากๆ เรียนกับครูต้นทำให้เราเองได้รู้อะไรใหม่ๆที่เราไม่เคยได้รู้” – แพร นวพรรษ อารัศมี ปี1

“ตอนเรียนกับครูต้นจะเป็นการนั่งเรียนแบบวงกลม ผมรู้สึกว่าเราได้มองเห็นทุกคนในเวลาเรียน เหมือนเราไม่ได้เป็นนักเรียนเพราะ ครูต้นกับเราก้สามารถมองเห็นทุกคนได้รู้ว่าทุกคนทำอะไรอยู่ ครูต้นเป็นคนที่คอยช่วยเหลืออยู่ด้านหลัง ชอบให้คำปรึกษาเด็กๆในสิ่งที่เราอยากรู้” – เบญ เบญจพล ชายหาด ปี1

“ครูต้นเป็นคนที่ให้คำปรึกษาได้ทุกเรื่อง สามารถพูดด้วยได้ทุกเรื่อง เป็นคนตลก เฮฮา ร้องเพลงเพราะมาก ครูต้นเป็นคนที่เก่งมากๆ เรื่องเล่นมุขก็สุดยอด สิ่งที่ค้นพบคือเราได้รู้คณะเรียนเยอะมากขึ้น รู้เรื่องเกี่ยวกับมหาลัยและอนาคตมากขึ้น สามารถวางแผนอนาคตได้ค่ะ” – เกศ เกศนภา อยู่คง ปี1


โครงการครูแนะแนวรุ่นใหม่ สร้างเด็กไทยให้ออกแบบชีวิตตัวเองได้

โดยธุรกิจเพื่อสังคม a-chieve ในความร่วมมือกับโครงการ ร้อยพลังการศึกษา

มีเป้าหมายเพื่อสร้างและพัฒนาชุมชนครูแนะแนวรุ่นใหม่ฯ ให้สามารถสร้างคาบเรียนวิชาแนะแนวที่มีชีวิต และเกิดพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียนเพื่อช่วยให้นักเรียนได้รู้จัก เห็นคุณค่าในตนเอง ออกแบบชีวิตของตนเองได้ และอยู่ร่วมกับความแตกต่างหลากหลายได้อย่างเคารพเข้าใจกัน

ปัจจุบันดำเนินการมาแล้ว 4 ปี มีครูในเครือข่ายแล้วทั้งหมด 105 คน จาก 61 โรงเรียน 25 จังหวัดทั่วประเทศ


คอร์สเรียนฟรี สุดพิเศษ เอาไปใช้ได้จริง! สำหรับครูแนะแนว

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ มีเกียรติบัตร ***จะได้รับเมื่อทำ Quiz และแบบประเมินหลังเรียนจบเรียบร้อย

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา