ครูแนะแนวรุ่นใหม่ฯ : ก้าวแรกของการขยายผลของครูหมูแดง

หมวดหมู่: พื้นที่เพื่อนครู

Tags:  ครูแนะแนวรุ่นใหม่

อ่านแล้ว: 389 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

ครูหมูแดง – กฤษณี เพ็ชรสงฆ์ ปัจจุบันสอนอยู่ที่โรงเรียนบางพลีราษฎร์บำรุง จ. สมุทรปราการ

รับหน้าที่ดูแลงานแนะแนวนักเรียนระดับชั้น ม.3 และ ม.6

ครูหมูแดงเข้าร่วมโครงการครูแนะแนวรุ่นใหม่ฯ รุ่น 1 กับ a-chieve เมื่อปี 2561 และเวทีชุมชนครูแนะแนวรุ่นใหม่ฯ อีกหลายครั้งต่อเนื่อง นอกจากการเข้าร่วมอบรมในโครงการแล้ว ครูหมูแดงยังหาโอกาสไปช่วยสนับสนุนงานของเพื่อนครูคนอื่นๆ ในโครงการอยู่เสมอ

เมื่อวันที่ 22 – 23 สิงหาคม 2563 ครูหมูแดงและทีมเพื่อนครูมีโอกาสไปจัดการอบรมให้ตัวแทนครูประถมศึกษาในสังกัดของสพป.สมุทรปราการ เขต2 เรื่องราวที่มาที่ไปจะเป็นอย่างไร เกิดเหตุการณ์ที่นำไปสู่การถอดบทเรียนการเห็นตัวเองและเห็นเพื่อนครูได้อย่างไร ตามไปเรียนรู้ด้วยกันนะคะ

HIGHLIGHT

  • ครูหมูแดง – กฤษณี เพ็ชรสงฆ์ เป็นครูแนะแนวของนักเรียน ที่อยู่ๆ ก็ได้โอกาสไปนำอบรมทักษะงานแนะแนวให้ครูคนอื่น

  • ไอเดียดีๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้นในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ เมื่อเราพัฒนาการคิดคำถามเพื่อรอคำตอบ ให้เป็น การคิดคำถามเพื่อหาคำตอบ

  • การสร้างทีมต้องทำแบบใจ-ใจ คือให้เขาสนใจจากการได้ลองลงมือทำแล้วเห็นประโยชน์ และมั่นใจว่าร่วมงานกับเราแล้วเขาเองจะได้สิ่งที่เขาต้องการ

ชื่อภาพ

โอกาสที่มาแบบปุ๊บปั๊บรับโชค

“ปุ๊บปั๊บรับโชคเลย (หัวเราะ) ที่ผ่านมาก็ดูแลแค่งานแนะแนวในโรงเรียนนะ มีวันนึงหัวหน้าเดินมาหาและบอกว่า รับงานจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 2 มา เขาอยากให้โรงเรียนเราส่งครูไปเป็นผู้นำอบรมหัวข้อ ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนและทักษะการให้คำปรึกษา ให้ตัวแทนครูแผนกประถมจากโรงเรียนต่างๆ 80 คน และให้เราเอาไปทำ เพราะเห็นว่าเคยไปอบรม ไปทำกิจกรรมเยอะ และเราเอามาทำเองกับนักเรียนด้วย น่าจะมีความรู้และประสบการณ์ไปถ่ายทอดได้ เอาจริงๆ ตอนรับงานนี้มา รู้ว่าต้องพูดเรื่องงานแนะแนว พวกเทคนิกการให้คำปรึกษา เราไม่ได้กังวลอะไรเลยนะ คิดแค่ว่าทำได้แหละ คงทำสไลด์ไปพูด ไม่น่ามีอะไรมาก” ครูหมูแดงทวนภาพให้ฟัง

เรื่องราวน่าจะจบลงแค่นี้ แต่เปล่าเลย นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นจริงๆ

“ไม่รู้อะไรดลใจให้เราเอามาคิดต่อ คงเพราะเราเชื่อในการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์กับตัวอย่างกระบวนการที่เราได้จาก a-chieve เราเลยอยากเห็นภาพครูที่มาฟัง เขาได้ลองทำอะไรที่เอากลับไปใช้ได้จริง ก็นั่งคิดนั่งคุยกับตัวเองคนเดียวอยู่พักใหญ่ ว่าครูที่มาเขาน่าจะต้องการอะไร หัวใจสำคัญของงานแนะแนวคือการให้คำปรึกษา แต่พอนั่งนิ่งๆ คิดให้ช้าลง ไม่เร่งตัวเองอย่างที่เคย เราพบว่ามันยังคิดต่อได้ ก็ถามตัวเองต่ออีกว่า แล้วหัวใจสำคัญของการให้คำปรึกษาล่ะคืออะไร มันคือ การฟัง กับพื้นที่ปลอดภัย ไง ซึ่งพอได้แก่นกลางนี้แล้ว เดี๋ยวเราค่อยหากิจกรรมที่เน้นทั้งเรื่องความรู้สึกและประสบการณ์ คือมันตอบโจทย์ได้ว่า นี่ล่ะคือสิ่งที่เราอยากให้ผู้เข้าร่วมได้กลับไป

จากใจเลยนะ จังหวะที่คิดแก่นเนื้อหานี้ได้นี่ภูมิใจในตัวเองเลย แบบ เฮ้ย เราก็คิดได้นี่! (หัวเราะ) เพราะที่ผ่านมาเรามักถามคนอื่นเพื่อขอคำแนะนำ คุยถึงเรื่องนี้แล้วยังไงต่อ เจอแบบนี้แล้วเอาไงดี รู้สึกว่าสมองมันคิดได้แค่นั้น คิดเร็วแล้วก็รีบลงมือทำให้เสร็จเลย รอบนี้สังเกตตัวเองว่าช้าลง คิดให้ครบให้สุดทาง จนเจอคำตอบ ก็เซอร์ไพรส์ตัวเองนะ ภูมิใจในตัวเอง (ยิ้ม)”

ชื่อภาพ

ตั้งต้นได้ด้วยแรงหนุน

“Support แรกเลยคือหัวหน้า ที่ให้ทั้งโอกาสและให้กำลังใจ เขาก็เห็นด้วยว่าผู้เข้าร่วมเยอะ เทียบกับสถานที่แล้ว ถ้าอยากทำกิจกรรม อยากให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ เราอาจใช้เวลาบรรยายฉายสไลด์ซักชั่วโมง แล้วเอาโต๊ะย้ายออกจากห้องไปเลย ให้มันมีพื้นที่มากขึ้น ส่วนอุปกรณ์พวกเครื่องเขียนก็ใช้เท่าที่จัดหาได้ เพราะมีงบจำกัด จริงๆ เกรงใจด้วยแหละเลยไม่ค่อยกล้าขอเพิ่ม

ส่วนเนื้อหาเราก็เอาสิ่งที่คิดได้ไปปรึกษา a-chieve ให้เขาช่วยดูแนวทาง ช่วยประเมิน ชวนกันคุยและออกแบบรูปแบบกิจกรรมเพิ่ม เพราะเราไม่มั่นใจในตัวเองเลย วันที่ไปคุยก็เจอพี่ต้น-ภาธรณ์ เพื่อนครูรุ่น 1 ในโครงการครูแนะแนวรุ่นใหม่ฯ พอเล่าว่าจะทำอะไร คำแรกที่ได้ยินคือ ‘ให้ช่วยอะไรบอกนะ’ ก็ดีใจนะที่มีคนรอช่วย และใจชื้นขึ้นเยอะตอนที่พี่ต่าย พี่เอ๋ย บอกว่าจะมาเป็นฝ่ายสนับสนุนที่งาน ถ้าเราขาดเหลืออุปกรณ์อะไรก็จะเอามาสมทบด้วย

นอกจากเตรียมส่วนกระบวนการแล้วเราก็แบ่งเวลาไปสืบค้นกิจกรรมเพิ่ม เข้าเว็บ inskru และเสิร์ชกูเกิ้ลเลย เราเตรียมกิจกรรมที่น่าทำไว้เยอะพอสมควร แล้วค่อยๆ เลือกเอามาร้อยเรียงเป็นกำหนดการหลักสูตรในวันอบรม”

เนื้อหาอบรมพร้อมแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือต้องหาทีม เพราะลำพังตัวคนเดียวกับครูอีกคนที่เป็นหัวหน้าฝ่ายงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ไม่น่าเอาอยู่

“ตอนหาทีม นอกจากขอความช่วยเหลือจาก a-chieve แล้ว เราก็ชวนเพื่อนใกล้ตัวและรุ่นพี่รุ่นน้องมาช่วย ได้มา 5 – 6 คน ซึ่งทุกคนน่ารักมาก บอกว่าจะมาช่วยนะ แต่ออกตัวว่าขอมาแบบเป็นแรงงานช่วยหยิบจับอุปกรณ์อะไรพวกนี้ ตรงนี้เราก็มานั่งคิดว่า เอายังไงดี a-chieve ซึ่งเป็นคนแรกที่นึกถึงว่าอยากชวนมาช่วยนำกิจกรรม ก็ออกตัวว่าจะให้เรานำกิจกรรมเองนะ เขาแค่มาเป็นกองหนุนเฉยๆ แล้วเพื่อนครูที่ชวนมาช่วยงานก็ดูยังลังเล เราเลยเหมือนยืนตรงกลางแบบเคว้งๆ นี่เราต้องทำจริงๆ แล้วเหรอ (หัวเราะ) แต่คิดว่ายังมีเวลา เลยตัดสินใจจัดวง PLC (Professional Learning Community) ซักรอบ หลักๆ คือ ชวนเพื่อนครูที่ว่าจะชวนมาช่วยงานนี่แหละ มาคุยกัน ถือเป็นการเตรียมความพร้อมทีมก่อน ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับดีนะ ทุกคนได้ลองสัมผัสประสบการณ์บรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่ไม่ต้องมีใครสอนใคร แต่เราฟังกัน แชร์กัน พอได้เห็นตัวอย่างเครื่องมือกับกิจกรรมที่เราใช้กับนักเรียน เขาก็เริ่มสนใจมากขึ้น เราเลยกระตุ้นเพิ่มว่า การออกไปทำกิจกรรมนอกโรงเรียนแบบนี้ คือโอกาสการนำไปใส่ในสรุปสำหรับประเมินครูด้วย เรียกว่า ทำให้เขาสนใจเพราะได้ลองทำแล้วเห็นประโยชน์ และทำให้มั่นใจว่าร่วมงานกับเราแล้วเขาเองจะได้อะไรด้วย

วันสุดท้ายก่อนวันอบรม ก็ได้พี่เอิร์ธกับพี่เอ๋ย a-chieve มาช่วยทวนกระบวนการให้ เพื่อนครูคนไหนรับหน้าที่ดูแลกิจกรรมช่วงไหน ก็มาซ้อม มาให้ช่วยอธิบายให้เข้าใจมากขึ้น ก็มั่นใจขึ้นนะ ส่วนตัวเราเห็นว่าทีมมีความรู้สึกเป็นเจ้าของในงานมากขึ้น คิดว่าเตรียมงานกันเต็มที่เท่าที่ทำได้ สัดส่วนคือ 70% นี่อุ่นใจและมั่นใจขึ้นว่าทำได้แหละ อีก 30% เราว่าเรายังกังวลอยู่ ต้องการที่พึ่ง”

ชื่อภาพ

อะไรก็เกิดขึ้นได้ อะไรไม่เกิดขึ้นก็ได้

จากโจทย์แรกที่จะต้องอบรมให้ครู 80 คน ใน 1 วัน ถูกปรับเป็นแบ่งครูเป็น 2 กลุ่มๆ ละ 40 คน แยกกันอบรมกลุ่มละวัน เพื่อให้จำนวนคนเหมาะสมกับสถานที่และรูปแบบกิจกรรม

“เรามีงานวันเสาร์รอบนึงและวันอาทิตย์รอบนึง ตั้งแต่ 8.30 – 16.00น. จัดที่สพป. สมุทรปราการ เขต 2 ตอนแรกบอกว่าเราเตรียมการมาแล้ว มั่นใจขึ้นแล้วใช่ไหม ผลคือวันแรกพังมากค่ะ (หัวเราะ) พังแบบพังตั้งแต่เช้าเลย มันมีความขลุกขลักหน้างานเยอะ ทั้งจำนวนผู้เข้าร่วมที่มาเยอะเกินที่ตั้งไว้ เพราะเขาจำวันผิด กลายเป็นมาเกือบ 50 คน คนที่ประสานงานหลักก็มีแค่เรา แล้วเราดันลืมแบ่งงาน ไม่ทันสื่อสาร มันเลยกลายเป็นเราคนเดียวต้องวิ่งวุ่นทั้งงาน ไม่ได้นั่งพักเลย ไม่มีช่วงให้โฟกัสหรือมองภาพรวมอะไรเลย แค่พยายามดันกิจกรรมให้ผ่านไปตามกำหนดการก็หืดขึ้นคอแล้ว

ตอนพักเที่ยงมีประชุมกันนะว่าต้องปรับแผนอะไรยังไง แต่ช่วงบ่ายที่เราเป็นคนนำกิจกรรมคือยิ่งแล้วใหญ่ เราเองก็พูดปล่อยโจทย์กิจกรรมยืดเยื้อไป ครูคนไหนที่ตามทันก็ทำล่วงหน้าไปก่อน คนที่ยังงงเลยงงหนัก คือตอนเห็นว่าผลที่เกิดมันไม่เป็นไปตามภาพในหัวที่เราคิด ยิ่งกดดัน หัวตื้อ ไม่สังเกตสภาพผู้เข้าร่วม ไม่ทันประเมินสถานการณ์อะไรเลย เราไม่มีสติอะไรเท่าไรเพราะมันกังวลไปหมด คอยหันไปมองขอความช่วยเหลือจาก a-chieve ตอนนั้นรู้เลยว่าเราต้องการที่พึ่ง ต้องการความรู้สึกปลอดภัยมากจริงๆ

ตอนเย็นที่สรุปงาน ก็ให้ทีมงานทุกคนประเมินตัวเองด้วยเครื่องมือการให้ดอกไม้กับก้อนหิน ดอกไม้หมายถึงคำชื่นชม สิ่งที่ทำได้ดี ก้อนหินคือสิ่งที่ควรพัฒนาเพิ่ม จำได้ว่าเราให้ก้อนหินตัวเองเยอะมากๆ มากจนพี่ต่าย a-chieve สะกิดว่า ลองให้ดอกไม้กับตัวเองด้วย เลยเริ่มได้สติ ก็ทบทวนเท่าที่จำได้ กลับมาอยู่กับความจริงที่เกิดขึ้นมากขึ้น ว่าจริงๆ มันก็ไม่ได้แย่อะไรอย่างที่เราคิดขนาดนั้น เพราะจากผลตอบรับผู้เข้าร่วมในใบประเมินคือดีมากนะ เขียนไปในทิศทางเดียวกันว่าเขารู้สึกยังไง คิดว่าได้อะไรกลับไป มันตรงกับเป้าหมายที่เราตั้งไว้ แค่มันไม่ได้ออกมาในรูปแบบที่เราคิดไว้เท่านั้นเอง แล้วก็รู้สึกขอบคุณตัวเองที่ยังทันตัวเองและพยายามประคองตัวเองมาได้จนหมดวัน แม้จะพังแบบต่อเนื่อง เย็นนั้นร้องไห้เลย มันอัดอั้นมากจริงๆ เพื่อนครูในทีมสะท้อนว่า เห็นเรามองหาพี่ๆ a-chieve ทั้งวัน ข้อนี้ทำให้เราเองเพิ่งรู้ตัวนะ ว่าเราไม่เห็นเพื่อนเราเลย เราลืมทีมเราไปเลย

พอเราได้สติ คืนนั้นก็ตั้งหลักใหม่ แม้จะกังวลอยู่เพราะรู้ว่างานที่เหลืออีกวัน จะต้องลุยทำกันเองแล้ว พี่ๆ a-chieve ไม่ได้มาร่วมด้วยแล้ว ที่กังวลเพราะเราและทีม ไม่มีใครมีประสบการณ์นำกิจกรรมแบบนี้เลย บอกไม่ได้ว่ากระบวนการที่ออกแบบมามันจะนำไปสู่อะไรได้บ้าง แต่โชคดีมากที่ได้รับกำลังใจจากเพื่อนครูในทีม เราเลยมีแรงฮึด นั่งทวนเป้าหมายงาน หาข้อมูลอ้างอิงเพิ่ม ระลึกชาติตอนไปอบรมและช่วยงาน a-chieve (หัวเราะ) แล้วก็นั่งไล่ดูกำหนดการ ดูคิวตัวเอง เตรียมแผน เตรียมตัวรับมือ”

ชื่อภาพ

งานวันนี้คืองานของเรา

“งานวันที่สองคือดีมากกกก (ยิ้มกว้างลากเสียงยาว) เหมือนเมื่อวานเป็นวันซ้อม พอจับทางได้แล้ว วันนี้มันเลยลงตัวไปซะทุกอย่าง ทั้งผู้เข้าร่วมที่มาน้อยกว่าเมื่อวาน เลยได้จำนวนที่พอดีกับสถานที่และทีมงาน พอดูแลทั่วถึงก็รับรู้ได้ว่าผู้เข้าร่วมเขาพร้อมเปิดรับ เพื่อนครูในทีมก็ทำหน้าที่ตัวเองได้ดี สแตนบายพร้อม support หันไปทีไรก็จะเห็นเพื่อนเตรียมพร้อมอยู่แล้ว มันเลยทำให้เรายิ่งอุ่นใจ มั่นใจ และมีสติโฟกัสกับกิจกรรมแบบเต็มที่จริงๆ ตรงไหนตกหล่นก็มีคนช่วยดูภาพรวมคอยมาบอก

เราเปิดรับ โฟกัส ฟังเสียงทุกคนแบบ 100% และนั่นน่าจะเป็นสิ่งที่เราค้นพบ เราเพิ่งสังเกตและเห็นทีมในวันนี้เอง เพิ่งเห็นว่าเพื่อนที่เคยบอกว่าทำไม่ได้หรอก จะให้ชวนถอดบทเรียนหลังจบกิจกรรม ทำไม่เป็น แต่โอ้โห พอจับไมค์ปุ๊บองค์ลงเลย สรุปได้ดี คม กระชับ พี่ที่เป็นมือวิชวลที่รับหน้าที่จดประเด็นขึ้นกระดาน ทั้งที่ไม่เคยทำมาก่อน ก็ทำได้ดีมาก คำและข้อความที่อยู่บนนั้นช่วยเสริมการนำกิจกรรมได้ดีมาก ฝ่ายที่ช่วยดูอุปกรณ์ก็พร้อมแบบไม่ต้องมองหาเลย รุ่นน้องที่ชวนมาช่วยถ่ายรูปกับเปิดเพลงในกิจกรรม ก็ support ดีมาก ช่วยนำเกมและเปิดเพลงได้เข้ากับกิจกรรมมาก กิจกรรมที่มีการแบ่งกลุ่ม ทีมเราก็กระจายตัวเข้ากลุ่มย่อย คือมันดีมากจริงๆ เราไม่เคยเห็นเพื่อนในมุมนี้เลย เรามีทีมที่ดีมาก

เพิ่งเข้าใจว่าที่ a-chieve บอกว่าเราโชคดีกว่าใครหลายคนเพราะมีทีมเพื่อนครูที่พร้อมมากๆ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง

เย็นวันนั้นเราสรุปงานกัน เราให้ดอกไม้กับทุกคนเลย และให้ดอกไม้ตัวเองเยอะกว่าวันที่ผ่านมาด้วย ดูผลตอบรับจากผู้เข้าร่วมที่ว่าดีแล้ว สิ่งที่เราเห็นว่าทีมเราได้ มันก็เยี่ยมไม่แพ้กัน ขอบคุณครูเดือน ครูนวล ครูบี ครูปอย ครูเต้ และครูชิตมากๆ คำพูดของครูชิตที่ว่า ‘เหมือนเมื่อวานเป็นงานที่พวกเรามาช่วยพี่ๆ a-chieve แต่วันนี้ เป็นงานของพวกเรา’ มันใช่มากจริงๆ”

ชื่อภาพ

สิ่งที่ได้เรียนรู้คือตั้งหลักแล้วไปต่อ

“งานมี 2 วันก็จริง แต่เราว่าเราได้เรียนรู้อะไรเยอะเลย ถ้าให้ทบทวนตัวเองเหรอ (นิ่งคิดนาน) โห ยากเลย ไม่ค่อยได้ตกผลึกตัวเองบ่อยๆ แต่น่าจะเห็นตัวเองว่า เราก็ทำได้ ล่ะมั้ง ตั้งแต่ตอนคิดงานช่วงแรกเลย ถ้าเราลองตั้งหลักกับตัวเองดีๆ มันสามารถเปลี่ยนจากการคิดเพื่อถามและรอคอยคำตอบ เป็น ค่อยๆ คิดและค่อยๆ หาคำตอบ

การคิดแล้วลงมือทำเลย งานมันอาจจะจบได้นะ แบบคิดเร็วทำเร็ว ปิดงานไว แต่ถ้าเรามาทบทวนตัวเอง มาประเมินตัวเองและทีมด้วย เราจะเห็นว่ามีตรงไหนที่ทำได้ดี ตรงไหนยังตกหล่น แล้วครั้งหน้าเราจะรอบคอบมากขึ้น จัดการเตรียมการและวางแผนเผื่อมากขึ้น ถ้ามีงานอีกก็อาจจะยังตื่นเต้นมากอยู่ แต่เราว่าเราจะมั่นใจมากขึ้น

อีกเรื่องที่ค้นพบคือ ที่ผ่านมา ด้วยความที่เราสอนแนะแนวคนเดียว เราเลยไม่ค่อยรู้สึกว่ากับเรื่องงาน เราจะมีทีมอะไรแบบกลุ่มสาระวิชาอื่น นอกจากนักเรียนแล้วเราก็อยู่คนเดียว คิดคนเดียว ทำคนเดียวมาตลอด งานนี้ทำให้เราเห็นเพื่อน เห็นศักยภาพว่า ไม่จำเป็นต้องสอนแนะแนวเลย ทุกคนก็ทำได้ และทำได้ดีมากๆ ด้วย จบงานนี้เห็นเพื่อนแชร์รูปกิจกรรมแล้วรู้สึกเลยว่าเขาเองก็ภูมิใจ ไม่ใช่แค่ครั้งนี้ แต่เราว่าเขาพร้อมสำหรับครั้งต่อไปด้วย ที่เซอร์ไพรส์เพิ่มคือมีครูคนอื่นเห็นโพสต์แล้วเขาก็สนใจ มาทักที่โรงเรียนด้วยว่าคราวหน้าชวนเขาด้วยนะ เป็นบรรยากาศที่ดีมากๆ เลย ไม่คิดว่ามันจะส่งผลได้ขนาดนี้ มันไม่ได้มีแค่เราคนเดียวอย่างที่เคยคิด (ยิ้ม)

ถามว่ามีแผนต่อยังไง ก็มีคุยกับหัวหน้านะ ว่าถ้ามันเป็นประโยชน์กับคุณครู ก็น่าลองเอามาชวนครูในโรงเรียนเรามาเรียนรู้ด้วยกัน ทีมงานเราก็มีแล้ว แต่ยังต้องคิดต่อ เพราะช่วงนี้เริ่มงานเยอะกันแล้ว อีกไม่นานเด็กนักเรียนจะสอบปลายภาค อาจมีจังหวะช่วงเทอม 2 นี้ ชวนครูทีละระดับชั้นมาทำกิจกรรมประมาณนี้ไหมไม่แน่ใจ ขอทำการบ้านก่อน (หัวเราะ)”

ชื่อภาพ

คว้าโอกาสนั้นไว้!

“สำหรับเพื่อนครูที่กำลังจะได้รับโอกาสทำอะไรที่มันได้ขยายผล เรามองว่า ให้รับทำเลย จริงๆ นะ เราเชื่อว่าทุกคนเฝ้ารอโอกาสที่จะได้ลองทำอะไรทั้งกับนักเรียนเรา ห้องเรียนเรา ชั้นเรียนเรา หรือขยายผลต่อให้คนอื่นๆ อยู่แล้ว ถ้าโอกาสมาก็คว้าไว้เลย แล้วเดี๋ยวที่เหลือมันจะตามมาเอง มันไม่ยากอย่างที่เรากังวล ถ้าอยากได้ไอเดียก็นั่งคิดกับตัวเองก่อน มองหาคนสนับสนุน ขอความช่วยเหลือ เราว่ามันไปได้แหละ เชียร์ทุกคนเลยค่ะ” ครูหมูแดงยิ้มชูกำปั้นให้กำลังใจฝากทีมงาน a-chieve มาให้คุณครูทุกคนที่กำลังพยายามเรียนรู้ และก้าวออกจาก Comfort zone ของตัวเอง เพื่อพัฒนาตัวเองไปพร้อมกับนักเรียนและเพื่อนครูคนอื่นๆ

ชื่อภาพ

เสียงจากทีมเพื่อนครู ถึงความรู้สึกและสิ่งที่ได้จากการรวมทีมกันในครั้งนี้

*ข้อมูลได้จากการเรียบเรียงคำตอบจากแบบสอบถามออนไลน์

“ประทับใจในทีมงาน และมั่นใจ รู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น ทั้งที่ตอนครูหมูแดงมาชวนไปช่วยงานก็แปลกใจ เพราะเราไม่ใช่ครูแนะแนว หลังจบงานนี้คิดว่าอยากพัฒนาเรื่องการให้คำปรึกษากับนักเรียนค่ะ” – ครูปอย-กนกวรรณ สาลีสี ครูวิชาชีววิทยา และฝ่ายงานสารบรรณและบุคลากร

“รู้สึกสนุก มีความสุข และอุ่นใจ ทุกครั้งที่หันไปหาทุกคนในทีม เพราะทุกคนทำงานเป็นทีมจริงๆ ได้เรียนรู้การคุยกันเยอะๆของทุกคนในทีม ทำให้การทำกิจกรรมต่างๆ ทำด้วยความราบรื่น ไม่ต้องมีการมาถามกันซ้ำ ทุกคนรู้หน้าที่ของตัวเองหมด อีกอย่างที่ชอบที่สุดคือเราคุยกันจนเรารู้เนื้องานกิจกรรมของเพื่อนๆคนอื่นด้วย ทำให้เราเข้าใจกันว่าเพื่อนต้องการอุปกรณ์อะไร ต้องการให้ช่วยอะไรโดยอัตโนมัติ” – ครูบี-ธรรมรัตน์ เพ็งผล ครูวิชาฟิสิกส์และจัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์

“รู้สึกตื่นเต้นตอนครูหมูแดงมาชวนให้ไปช่วยงาน ได้ทำหน้าที่มือ Visual (เขียนขึ้นกระดาน) สิ่งที่ได้คือได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ถ้ามีโอกาส ก็อยากเข้าร่วมหรือจัดกิจกรรมแบบนี้อีกค่ะ” – ครูนวล-นวลศรี ตาดต่าย ครูวิชาวิทยาศาสตร์

“งานนี้ได้เป็นผู้บรรยายและช่วยเตรียมอุปกรณ์ค่ะ ทุกคนน่ารัก ช่วยเหลือกันเป็นอย่างดี มีลักษณะทีมที่ดี เข้าใจ ให้กำลังใจกัน ช่วยเสริมเติมเต็มในสิ่งที่บกพร่องให้แก่กันและกัน อยากร่วมงานแบบนี้อีกทุกๆ ครั้งเมื่อมีโอกาสค่ะ” -ครูเต้-ขัตติยากร สุขได้พึ่ง หัวหน้าฝ่ายงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนและงานแนะแนว

“รับหน้าที่เปิดเพลง สันทนาการก่อนเข้ากิจกรรม และถ่ายรูปครับ สิ่งที่คิดว่าได้จากงานนี้คือ ความกล้าที่จะทำ จบงานแล้วก็อยากฝึกเรื่องการกล้าเเสดงออก การเป็นผู้ฟังให้มากขึ้น” -ครูชิต-อนุชิต วันภักดี ครูวิชาฟิสิกส์

“ความรู้สึกที่ได้จากการร่วมทีมเพื่อนครู คือ ตื่นเต้น ดีใจ และภูมิใจ สิ่งที่ได้ คือ มิตรภาพเพื่อนต่างโรงเรียน และแนวทางในการจัดการเรียนการสอน รวมถึงการนำไปประยุกต์ในชั้นเรียน ถ้ามีโอกาสหน้าก็จะมาช่วยงานอีกแน่นอนครับ” – ครูคิม-สุขสันต์ เพชรอาภรณ์ เพื่อนครูแนะแนวจากโรงเรียนธัญบุรี


โครงการครูแนะแนวรุ่นใหม่ สร้างเด็กไทยให้ออกแบบชีวิตตัวเองได้

โดยธุรกิจเพื่อสังคม a-chieveในความร่วมมือกับโครงการ ร้อยพลังการศึกษา

มีเป้าหมายเพื่อสร้างและพัฒนาชุมชนครูแนะแนวรุ่นใหม่ฯ ให้สามารถสร้างคาบเรียนวิชาแนะแนวที่มีชีวิต และเกิดพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียนเพื่อช่วยให้นักเรียนได้รู้จัก เห็นคุณค่าในตนเอง ออกแบบชีวิตของตนเองได้ และอยู่ร่วมกับความแตกต่างหลากหลายได้อย่างเคารพเข้าใจกัน

ปัจจุบันดำเนินการมาแล้ว 4 ปี มีครูในเครือข่ายแล้วทั้งหมด 105 คน จาก 61 โรงเรียน 25 จังหวัดทั่วประเทศ


คอร์สเรียนฟรี สุดพิเศษ เอาไปใช้ได้จริง! สำหรับครูแนะแนว

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ มีเกียรติบัตร ***จะได้รับเมื่อทำ Quiz และแบบประเมินหลังเรียนจบเรียบร้อย

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา