เยี่ยมบ้านให้เวิร์ก! รวม Dos & Don’ts ที่ครูควรรู้ก่อนก้าวเท้าเข้าบ้านนักเรียน
หมวดหมู่: สนับสนุนงานแนะแนว
Tags:
อ่านแล้ว: 28 ครั้ง

การเยี่ยมบ้าน คือหนึ่งในภารกิจสำคัญของคุณครู ที่ไม่เพียงช่วยให้เข้าใจนักเรียนในมิติต่างๆ ได้ลึกซึ้งขึ้น
แต่ยังเป็นโอกาสในการสร้างความไว้วางใจและความร่วมมือกับผู้ปกครอง เพื่อร่วมกันดูแลนักเรียนอย่างรอบด้าน
ในอีกแง่หนึ่ง หากคุณครูไม่ได้มีการเตรียมตัว หรือวางแผนล่วงหน้าสำหรับการเยี่ยมบ้าน ก็อาจทำให้บรรยากาศระหว่างการเยี่ยมบ้านเกิดความไม่สบายใจหรือขาดความเข้าใจร่วมกันได้ ดังนั้น การเตรียมตัวล่วงหน้าจึงสำคัญ เพื่อให้การเยี่ยมบ้านเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสะท้อนความเป็นมืออาชีพ
แนะแนวฮับขอแนะนำ สิ่งที่ควรทำ (Dos) และไม่ควรทำ (Don’ts) ในการเยี่ยมบ้าน เพื่อเป็นแนวทางให้คุณครูได้นำไปใช้จริงค่ะ
สิ่งที่ควรทำ (DOs)
1.วางแผนหัวข้อที่จะพูดคุยให้ชัดเจน เพื่อให้การเยี่ยมบ้านมีทิศทาง ไม่หลุดประเด็น และสามารถใช้เวลาอย่างคุ้มค่า เช่น
- แนะนำทำความรู้จักคนในครอบครัว
- ให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากโรงเรียน ที่ผู้ปกครองจำเป็นต้องรู้ เช่น ….
- สะท้อนพฤติกรรมนักเรียน เมื่ออยู่ในโรงเรียน
- รายงานผลการเรียน ทั้งนี้ การเยี่ยมบ้านแต่ละครั้งอาจมีหลายหัวข้อได้ แต่จะต้องไม่ยืดเยื้อกว่ากำหนด
2.นัดหมายล่วงหน้าให้ผู้ปกครองทราบ ควรติดต่อผู้ปกครองล่วงหน้า ทางโทรศัพท์ หรือกลุ่มไลน์ เพื่อลดความกังวล ตื่นตระหนก และได้ช่วงเวลาที่ทั้งสองฝ่ายสะดวก เช่น หลังเลิกงาน
3.กำหนดระยะเวลาให้เหมาะสม บางครั้งการเยี่ยมบ้านอาจจะเป็นการรบกวนเวลาของผู้ปกครอง คุณครูจึงควรกำหนดเวลา โดยทั่วไปใช้เวลา 20 - 30 นาทีต่อบ้าน แต่บางสถานการณ์อาจต้องใช้เวลานานกว่านั้น ดังนั้น ขอให้คุณครูประเมินเวลากับหัวข้อสนทนาให้ดี ๆ อย่าปล่อยให้ยืดเยื้อเกินกำหนด
4.แต่งกายสุภาพและวางตัวให้เหมาะสม การแต่งกายสุภาพ เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว รองเท้าผ้าใบที่เดินสะดวก จะช่วยให้คุณครูขยับร่างกายได้อย่างคล่องแคล่ว หากจะต้องเดินผ่านตรอกซอกซอยต่าง ๆ อีกทั้ง การวางตัวให้สุภาพก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยสร้างบรรยากาศความเป็นมิตร ผู้ปกครองจะรู้สึกผ่อนคลายและกล้าพูดคุยแลกเปลี่ยนมากขึ้น
5.สื่อสารด้วยความเข้าใจและรับฟังอย่างไม่ตัดสิน การเยี่ยมบ้านเปรียบเสมือนตัวช่วยที่จะเพิ่มความเข้าใจระหว่างครอบครัวและโรงเรียนมากยิ่งขึ้น ฉะนั้น ในขั้นแรกคุณครูอาจจะต้องสื่อสารอย่างเป็นมิตร เน้นที่ความร่วมมือในการดูแลนักเรียน ไม่ตำหนินักเรียนหรือการเลี้ยงดูของผู้ปกครองจนนำไปสู่ความขัดแย้ง
ดังนั้น ขอให้เริ่มจากการพูดคุยแบบเปิดใจ ให้ผู้ปกครองเล่าเรื่องราวต่างๆ และคุณครูรับฟังอย่างตั้งใจ ไม่ตัดสิน ไม่พูดแทรก ไม่รีบแนะนำในทันที หลังจากนั้น จึงใช้คำถามเพื่อช่วยให้ผู้ปกครองสะท้อนความต้องการที่แท้จริง เปิดพื้นที่ให้ผู้ปกครองได้มีส่วนในการแลกเปลี่ยนด้วยทุกครั้ง เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและกัน
6.บันทึกข้อมูลสำคัญ ทุกครั้งหลังจากเยี่ยมบ้านเสร็จ ขอให้คุณครูกลับมาบันทึกข้อมูลสำคัญที่ได้จากการเยี่ยม เพื่อนำไปวางแผนพัฒนาการดูแลนักเรียน หรือการทำงานกับผู้ปกครองต่อ เช่น
- ข้อมูลพื้นฐานของนักเรียน
- สภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ (ความปลอดภัย / ความสะอาด / ความเป็นส่วนตัวของนักเรียน / พื้นที่อ่านหนังสือหรือทำการบ้าน)
- โครงสร้างครอบครัว (อาชีพ / ผู้ดูแลหลัก / ลักษณะความสัมพันธ์ของครอบครัว)
- พฤติกรรมของนักเรียน (กิจวัตรประจำวัน / ความสนใจพิเศษ)
- ความคิดเห็นของผู้ปกครอง (ด้านพฤติกรรม / ด้านการเรียน/ ด้านอนาคต)
- ปัญหาคือความท้าทายที่พบ (สุขภาพ / อารมณ์และสังคม / ความปลอดภัย)
- แนวทางการพัฒนาต่อ (แผนการจัดการเรียนรู้ / การช่วยเหลือต่อ (ถ้ามี)
- ข้อสังเกตเพิ่มเติมจากครู (ทัศนคติของผู้ปกครอง / บรรยากาศในการพูดคุย)
สิ่งที่ไม่ควรทำ (Don’ts)
1.อย่าถ่ายรูปที่อยู่อาศัยของนักเรียนลงโซเชียลมีเดียทุกช่องทาง ไม่เพียงแต่การถ่ายรูปเท่านั้น ขอให้คุณครูระมัดระวังการโพสประสบการณ์การเยี่ยมบ้านนักเรียนลงช่องทางสื่อออนไลน์ เนื่องจากต้องเคารพสิทธิความเป็นส่วนตัวของนักเรียน แต่สามารถเก็บข้อมูลเหล่านี้นำไปใช้เพื่อขอความช่วยเหลือกับหน่วยงานหรือองค์กรอื่น ๆ อีกทางได้
2.อย่าตัดสิน หรือโฟกัสที่สภาพแวดล้อมทางกายภาพมากเกินไป การเยี่ยมบ้านมีเป้าหมายเพื่อให้คุณครูเข้าใจนักเรียนมากขึ้น ไม่ใช่เพื่อการประเมินหรือตัดสินพฤติกรรมจากสภาพความเป็นอยู่ ดังนั้น ขอให้คุณครูระวังการแสดงออกและท่าทางต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในขณะเยี่ยมบ้าน เช่น ต้องนั่งบนเก้าอี้เท่านั้น ไม่กล้านั่งกับพื้น หรือพฤติกรรมตำหนินักเรียนต่อหน้าผู้ปกครอง เป็นต้น
3.อย่าขอให้ผู้ปกครองอ่านหรือกรอกเอกสารใด ๆ ต่อหน้า หลายครั้งนักเรียนอาจจะอาศัยกับคุณตาหรือคุณยายที่อายุมาก บางครอบครัวอาจมีปัญหาเรื่องการอ่านการเขียน หรือมีปัญหาสายตาและอาจจะรู้สึกอาย ถ้าจะต้องอ่านหรือเขียนอะไรต่อหน้าคุณครู ดังนั้น หากคุณครูมีเอกสารให้เขียนหรือเซ็นต์ ขอให้มอบหมายนักเรียนเป็นตัวกลาง คอยเก็บรวบรวมเอกสารมาให้แทน
4.อย่าเดินทางไปคนเดียว หากเป็นไปได้ คุณครูไม่ควรเดินทางไปในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคยเพียงคนเดียว สามารถชักชวนเพื่อนครูไปเป็นเพื่อน หรือแจ้งให้เพื่อนร่วมงานทราบว่าจะเดินทางไปที่ไหน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างเดินทาง
5.อย่าใช้ท่าทีวางอำนาจเหนือกว่า เข้าใจว่าบางครั้งการใช้ภาษาทางการหรือใช้ศัพท์ยาก ๆ อาจเกิดจากความเคยชิน แต่เมื่อต้องสื่อสารกับผู้ปกครอง คุณครูอาจจะต้องนึกถึงผู้ฟังให้มากที่สุด พยายามสื่อสารในสิ่งที่จำเป็น ไม่วางท่าทีว่า “ฉันเป็นคุณครู” หรือ “ฉันรู้มากกว่า” ไม่อย่างงั้น คุณครูอาจจะเผลอไปสั่งสอนผู้ปกครอง ทำให้เกิดความอึดอัดและนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างกันได้
6.อย่ารับปาก หากคุณครูไม่สามารถตัดสินใจได้ หลายครั้งที่ผู้ปกครองอาจจะแสดงความต้องการ หรือขอร้องให้คุณครูและโรงเรียนปรับเปลี่ยนบางอย่าง ทั้งกับเรื่องเล็ก ตั้งแต่ กติกาในห้องเรียน ไปจนถึงเรื่องใหญ่ ๆ เช่น นโยบายของโรงเรียน ขอให้คุณครูพยายามคิดไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนก่อนที่จะรับปาก ทางที่ดีที่สุด คือการแสดงการตอบรับว่า “รับทราบ” และขอลองนำกลับไปเข้าที่ประชุมเพื่อหารืออีกครั้ง หากมีอะไรคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง เพื่อเป็นการแบ่งรับแบ่งสู้ตามความเหมาะสม
หวังว่าแนวทาง Dos & Don’ts นี้จะช่วยเป็นแนวทางให้คุณครูได้เบื้องต้นนะคะ
เพราะสุดท้ายแล้ว การเยี่ยมบ้านไม่ใช่แค่ภารกิจเชิงระบบ แต่คือโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนที่อยู่รอบตัวของนักเรียน เมื่อครูทำหน้าที่เป็นสะพานกลางอย่างเข้าใจและเห็นคุณค่าทุกฝ่าย ก็ไม่เพียงช่วยให้นักเรียนรู้สึกมีพื้นที่ที่ปลอดภัยและเป็นตัวของตัวเอง แต่ยังเปิดทางให้ผู้ปกครองได้มองเห็นแง่งามใหม่ๆ ของลูกหลานอีกด้วย
แนะแนวฮับขอเป็นกำลังใจให้นะคะ 💕
อ้างอิง Santamaria Graff, C. (2023, September 11). Home visits 101. Edutopia. https://www.edutopia.org/article/home-visits-101-cristina-santamaria-graff/ Education Week. (1997, September 1). Dos and don'ts for home visits. https://www.edweek.org/leadership/dos-and-donts-for-home-visits/1997/09
พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน
หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)
ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง
✅ เรียนฟรี
✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว
✅ มีเกียรติบัตร
คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses