4 วิธีชวนคุย เมื่อรู้ว่านักเรียนใช้ AI ทำงาน
หมวดหมู่: พื้นที่เพื่อนครู
Tags:
อ่านแล้ว: 20 ครั้ง

ยุคดิจิทัล นักเรียนเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น AI จึงกลายเป็นเครื่องมือช่วยเรียนรู้ แต่ในขณะเดียวกันการใช้ AI ทำงานแทนก็อาจปิดกั้นกระบวนการคิดและทำให้เรียนรู้ได้น้อยลงเช่นกัน
คำถามคือ “เราจะทำอย่างไรให้นักเรียนใช้ AI เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ มากกว่าให้ AI มาคิดแทน?” วันนี้ แนะแนวฮับขอแนะนำวิธีพูดคุยและป้องกันในการที่นักเรียนจะใช้ AI ทำงานแทนตัวเองแทบทั้งหมด โดยเริ่มจากวิธีต่อไปนี้ 🙂
1.สนทนาด้วยคำถามปลายเปิด หัวใจสำคัญของการวิธีการนี้ คือ อย่ารีบตัดสินนักเรียน แต่ให้ตั้งคำถามเพื่อเข้าใจนักเรียนจริง ๆ เพราะยิ่งเรารู้ว่าเพราะอะไรนักเรียนถึงใช้ AI ในการทำงานทั้งหมด เราก็จะยิ่งหาทางช่วยเหลือนักเรียนได้อย่างทันท่วงที
ตัวอย่างคำถามที่ใช้เมื่อรู้ว่านักเรียนใช้ AI ทำงาน
- ช่วยเล่าให้ครูฟังหน่อยได้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้น ?
- งานนี้ยากเกินไปสำหรับนักเรียนไหม ?
- ตอนที่ทำงานชิ้นนี้ รู้สึกอย่างไรบ้าง ?
การตั้งคำถามปลายเปิดแบบไม่รีบตัดสินจะช่วยให้นักเรียนกล้าเปิดใจและพูดความจริงออกมาซึ่งหลังจากที่นักเรียนเริ่มเปิดใจแล้ว คุณครูก็สามารถตั้งคำถามเพื่อชวนคุยต่อไปได้ เช่น อะไรที่ทำให้นักเรียนคิดแบบนั้น ? เพื่อช่วยหาทางเลือกอื่น ๆ ให้นักเรียน
2.ถามถึงกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ อาจจะมีนักเรียนบางคนที่ไม่ยอมรับว่าใช้ AI ในการทำงาน ดังนั้น ขอให้คุณครูลองใช้คำถามต่อไปนี้
- ช่วยเล่ากระบวนการทำงานของงานชิ้นนี้หน่อยได้ไหม ?
- ช่วยเล่าให้ฟังถึง …(ประเด็นในการบ้าน)... ตามความคิดของนักเรียน ?
- ในระหว่างที่ทำงานนี้ นักเรียนรู้สึกชอบส่วนไหนมากที่สุด เพราะอะไร ?
- ช่วยเล่าวิธีการหาข้อมูลให้หน่อยได้ไหม ?
คำถามเหล่านี้เน้น ‘กระบวนการทำงาน’ มากกว่าผลลัพธ์ ซึ่งจะช่วยให้คุณครูสังเกตพฤติกรรมและคำตอบที่แท้จริงของนักเรียนได้
แต่หากนักเรียนยอมรับว่าใช้ AI ในการทำงาน คุณครูสามารถถามคำถามต่อไปได้ เพื่อที่จะเข้าใจวิธีการคิดของนักเรียนมากขึ้น เช่น
- นักเรียนใช้โปรแกรมตัวไหนในการทำงาน ?
- สร้างคำสั่งอย่างไร ?
- นักเรียนรู้สึกอย่างไรกับชิ้นงานที่ได้ ?
- มีการใช้โปรแกรมอื่นร่วมด้วยหรือไม่ ?
3.มอบหมายงานที่คล้ายกันในห้องเรียน วิธีนี้จะช่วยให้คุณครูเปรียบเทียบงานเก่าและงานใหม่ของนักเรียนได้อย่างชัดเจน เช่น ในวิชาภาษาไทยคุณครูอาจลองสังเกตการตั้งโครงหัวข้อ สไตล์การเขียน รวมถึงการใช้ภาษาที่เป็นธรรมชาตินักเรียน เพื่อป้องกันและตรวจสอบว่างานชิ้นนั้นนักเรียนเขียนเองหรือไม่
4.พูดคุยถึงผลกระทบของการใช้ AIในการทำงานที่มากเกินไป การพูดคุยถึงผลกระทบกับนักเรียนอย่างจริงใจ จะช่วยให้นักเรียนเริ่มมองหาทางเลือกในการพัฒนาชิ้นงานของตัวเองมากขึ้น โดยคุณครูสามารถใช้คำถามอย่างเปิดกว้าง เช่น
- อะไรที่ทำให้นักเรียนตัดสินใจทำแบบนั้น ?
- ถ้านักเรียนยังใช้วิธีการเดิมในการทำงาน นักเรียนคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?
- ครูจะช่วยเหลือนักเรียนอย่างไรได้บ้าง เพื่อที่นักเรียนจะได้ทำงานด้วยตัวเอง ?
- หากนักเรียนไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ AI หรือต้องทำข้อสอบด้วยตัวเอง นักเรียนจะทำอย่างไร ?
คำถามเหล่านี้จะช่วยให้นักเรียนเห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และคิดวิธีการรับมืออื่น ๆ ในสถานการณ์ที่ต้องพยายามด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ภายใต้การใช้ AI ที่มากเกินไป อาจมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ซ่อนอยู่ด้วย เช่น
- คุณครูอาจจะให้งานที่ยากเกินไป
- นักเรียนกลัวการถูกตำหนิว่าทำงานไม่ดี
- นักเรียนไม่มีเวลาเพียงพอในการทำงานชิ้นนี้
ซึ่งเมื่อคุณครูหาสาเหตุเหล่านี้เจอ เราก็จะค้นพบวิธีการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดโดยไม่ต้องคาดโทษความผิดไปที่นักเรียน หรือ AI เพียงอย่างเดียว
ดังนั้น ครูควรใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาส ฝึกให้นักเรียนใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ โดยไม่ทำลายกระบวนการเรียนรู้และการสร้างสรรค์ผลงาน
แนะแนวฮับขอเป็นกำลังใจให้นะคะ 🙂
เรียบเรียงและอ้างอิง Swanson, H. (2024, April 22). Responding to student use of AI. Edutopia. https://www.edutopia.org/article/responding-student-ai-use
พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน
หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)
ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง
✅ เรียนฟรี
✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว
✅ มีเกียรติบัตร
คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses