แจกเทมเพลต แผนแทรกแซง BIP พร้อมใช้งาน ตอนที่ 2
หมวดหมู่: สนับสนุนงานแนะแนว
Tags:
อ่านแล้ว: 80 ครั้ง

การปรับพฤติกรรมของนักเรียนให้ดีขึ้น คือ หนึ่งในภารกิจสำคัญของคุณครูแนะแนวและครูประจำชั้นทุกคน
วันนี้แนะแนวฮับมาชวนคุณครูลงมือทำแผนปรับพฤติกรรม หรือ แผนการแทรกแซงพฤติกรรม (Behavior Intervention Plan: BIP) กันผ่านเทมเพลตที่จะแจกในบทความนี้ !
ก่อนอื่นชวนมารู้จักแผน BIP แบบกันก่อน BIP คือ แผนปฏิบัติการเพื่อช่วยให้นักเรียนสามารถปรับปรุงพฤติกรรมบางอย่าง หรือบรรลุเป้าหมายพฤติกรรมที่เฉพาะเจาะจงได้ เครื่องมือในการจัดการและปรับพฤติกรรมนักเรียนที่มีปัญหาซ้ำ ๆ ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ของตนเองและเพื่อนร่วมชั้น โดยส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวกและลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ผ่านการวิเคราะห์สาเหตุของพฤติกรรม และการวางแผนอย่างเป็นระบบ ในรูปแบบแผนปฏิบัติการ
อ่านบทความรู้จักแผนแทรกแซงพฤติกรรม (Behavior Intervention Plan - BIP) https://guidancehubth.com/knowledge/225
ต่อมา ขอชวนคุณครูรู้จักแต่ละองค์ประกอบของแผน พร้อมตัวอย่างการกรอกข้อมูล ดังนี้
🟦ชื่อนักเรียน/ระดับชั้น
เด็กชายก้องภพ (นามสมมุติ) ม.1
🟦พฤติกรรมที่ต้องการแก้ไข
คือ การระบุพฤติกรรมที่ต้องการแก้ไขของนักเรียนตามหลัก 5 ข้อ (ใคร/ ทำอะไร / ที่ไหน / เมื่อไร / บ่อยแค่ไหน)
“ก้องภพ (ใคร) ตะโกน, ส่งเสียงดัง, พูดคำไม่เหมาะสม เช่น การสบถ หรือการใช้ภาษาที่หยาบคาย (ทำอะไร) ในคาบเรียน (ที่ไหน) พฤติกรรมนี้เกิดขึ้นเมื่อถูกขอให้ทำงาน ให้ตอบคำถาม หรือเมื่อครูขอให้แยกกลุ่มกับเพื่อน (เมื่อไร) นักเรียนแสดงพฤติกรรมนี้ประมาณ 1 นาที แต่ส่งผลให้การสอนถูกขัดจังหวะและทำให้นักเรียนคนอื่น ๆ ไม่มีสมาธิ และเกิดกับทุกรายวิชา (บ่อยแค่ไหน)"
🟦ตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับพฤติกรรม
คือ การวิเคราะห์เบื้องต้นถึงปัจจัยที่กระตุ้นให้นักเรียนเกิดพฤติกรรมเหล่านั้น ผ่าน 3 หัวข้อ
เช่น 1.สิ่งกระตุ้น (เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น “ก่อน” พฤติกรรม) : นักเรียนถูกแยกกลุ่มกับเพื่อน ,ถูกมอบหมายให้ทำงาน หรือตอบคำถาม 2.ผลลัพธ์ (เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น “หลัง” พฤติกรรม) : นักเรียนโดนเพื่อนหัวเราะ หรือได้รับความสนใจจากเพื่อน / ครูหยุดสอนเพื่อมาตักเตือน/ นักเรียนหลีกเลี่ยงการเรียนได้สำเร็จ 3.สาเหตุที่เป็นไปได้ : ก้องภพตะโกนเสียงดัง พูดคำหยาบคาย เพราะต้องการเรียกร้องความสนใจจากเพื่อนและครู / แสดงความไม่พอใจต่อครู / หลีกเลี่ยงบรรยากาศอึดอัดใจ/อาย เพราะตัวเองไม่สามารถตอบคำถาม หรือทำงานที่ครูมอบหมายได้
🟦เป้าหมาย
คือ การกำหนดพฤติกรรมที่ต้องการเห็นหรือต้องการให้พัฒนา โดยมีพฤติกรรมเฉพาะเจาะจงอย่างชัดเจน
เช่น “ก้องภพพูดจาด้วยถ้อยคำสุภาพ แม้ในสถานการณ์ที่ไม่พอใจ หรือเลือกใช้คำพูดได้อย่างเหมาะสม เมื่อเจอกับความไม่ชอบใจ อย่างการถูกแยกออกจากกลุ่มเพื่อน หรือตอบคำถามคุณครู
🟦กลยุทธ์การแทรกแซง
คือ การคิดวิธีการ/กิจกรรมที่จะช่วยให้นักเรียนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้
เช่น - การสอนพฤติกรรมใหม่ : จัดกิจกรรมฝึกการสื่อสารอย่างสุภาพ / บทบาทสมมติสถานการณ์จริง - เสริมแรงทางบวก : ให้ดาว / สติกเกอร์ / คำชมเมื่อนักเรียนควบคุมคำพูดได้ดี - การเตือนเชิงบวก : เข้าไปเตือนแบบส่วนบุคคล เช่น การทักเบา ๆ สัมผัสเบา ๆ ที่ไหล่ หรือสัญญาณมือ - การสนับสนุนจากเพื่อน : มอบหมายเพื่อนคู่คิด (buddy) ช่วยเตือนในสถานการณ์เสี่ยง - การมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง : แจ้งผลรายสัปดาห์ พร้อมบันทึกพฤติกรรมดีให้ผู้ปกครองรับ
🟦ผู้รับผิดชอบหลัก
คือ การระบุบุคคลที่ดำเนินกิจกรรมตามกลยุทธ์แทรกแซง
เช่น ครูแนะแนว หรือครูประจำชั้น หรือแม้แต่ผู้ปกครอง
🟦วันเริ่มต้นดำเนินการ
คือ การระบุวันที่จะเริ่มต้นทำกิจกรรม
เช่น 16 พฤษภาคม 2568
🟦ระยะเวลาของการดำเนินการ
คือ การระบุช่วงเวลาของการทำกิจกรรม จะระบุเป็นสัปดาห์หรือเดือนก็ได้ แต่ระยะเวลาขั้นต่ำของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอยู่ที่ 6 สัปดาห์หรือ 1 เดือนครึ่ง
เช่น 3 เดือนหลังจากวันที่เริ่มต้นดำเนินการ
🟦ความถี่และบันทึกพฤติกรรมความก้าวหน้า
คือ การระบุความถี่ของการนัดหมายเพื่อติดตามความก้าวหน้าของนักเรียน
เช่น ทุก ๆ 2 สัปดาห์ และมีการบันทึกข้อมูลความก้าวหน้าหลังจากที่ได้พูดคุยกับนักเรียน
🟦เกณฑ์การวัดผล
คือ การระบุพฤติกรรมที่ต้องการเห็นและประเมินว่านักเรียนสามารถบรรลุเป้าหมายได้หรือไม่
เช่น
- ก้องภพสามารถลดพฤติกรรมพูดคำหยาบจาก 3 ครั้ง/สัปดาห์ เหลือน้อยกว่า 1 ครั้ง/สัปดาห์ ภายใน 8 สัปดาห์
- ก้องภพแสดงพฤติกรรมพูดสุภาพในสถานการณ์ตึงเครียดอย่างน้อย 3 ครั้งในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของแผน
หากคุณครูเข้าใจวิธีการกรอกรายละเอียดในแผน BIP แล้ว สามารถดาวน์โหลดเทมเพลตไปใช้งานได้เลย ที่ https://drive.google.com/file/d/16ZNFNRLvrbxvJaNmBE9J--GeCqm6Nost/view?usp=drive_link
อ้างอิงและดัดแปลงจาก Panorama Education. (n.d.). Behavior intervention plan template [PDF]. Retrieved April 23, 2025, from https://www.panoramaed.com/hubfs/Behavior%20Intervention%20Plan%20Template-1.pdf
พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน
หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)
ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง
✅ เรียนฟรี
✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว
✅ มีเกียรติบัตร
คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses