ปรับพฤติกรรมเชิงลบ ด้วยแผนแทรกแซง BIP ตอนที่ 1
หมวดหมู่: สนับสนุนงานแนะแนว
Tags:
อ่านแล้ว: 106 ครั้ง

หนึ่งในความท้าทายของครู ไม่ว่าจะเป็นครูประจำชั้น ครูรายวิชา หรือครูแนะแนว
คือ การช่วยให้นักเรียนเข้าใจตนเอง และเรียนรู้ที่จะปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม เพื่อให้พวกเขาอยู่ร่วมกับผู้อื่นและสังคมได้อย่างมีความสุขและปลอดภัย
เพราะบางครั้ง... พฤติกรรมที่ดูเหมือน “ไม่น่ารัก” หรือ “ไม่เหมาะสม” ก็อาจซ่อนบางอย่างไว้ข้างใน เช่น ความเครียด ความไม่เข้าใจตัวเอง หรือการขอความช่วยเหลือในแบบที่เด็กอาจยังบอกไม่เป็น เติมให้ค่ะ จะได้เพิ่มมู้ดโทนความเข้าใจไม่ตัดสิน
พฤติกรรมเชิงลบที่มักพบเจอในโรงเรียน เช่น
- แสดงอารมณ์รุนแรงกับผู้อื่นและทำลายข้าวของสาธารณะ
- แสดงพฤติกรรมที่รบกวนผู้อื่นขณะเรียนหนังสือหรือไม่โฟกัสการเรียน เช่น ส่งเสียงดัง ชวนเพื่อนคุย แอบเล่นเกมขณะเรียน
- แสดงพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ พกพาอาวุธเข้ามาในโรงเรียน
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่คุณครูจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ได้ แต่เราเชื่อว่า หากคุณครูมีเครื่องมือและการวางแผนที่ดี จะช่วยให้คุณครูพบวิธีการแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบขึ้น
แนะแนวฮับชวนคุณครูมารู้จัก “แผนแทรกแซงพฤติกรรม (Behavior Intervention Plan: BIP)” หนึ่งในกระบวนการที่ถูกพัฒนามาจากวงการจิตวิทยาพฤติกรรม และถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อแก้ป้ญหาพฤติกรรมของนักเรียน
1️⃣BIP คืออะไร ? คือ เครื่องมือในการจัดการและปรับพฤติกรรมนักเรียนที่มีปัญหาซ้ำ ๆ ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ของตนเองและเพื่อนร่วมชั้น โดยส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวกและลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ผ่านการวิเคราะห์สาเหตุของพฤติกรรม และการวางแผนอย่างเป็นระบบ ในรูปแบบแผนปฏิบัติการ โดยมีองค์ประกอบสำคัญในแผน ดังนี้
- เป้าหมาย (พฤติกรรมที่ต้องการแก้ไขที่เจาะจง ชัดเจน เช่น นักเรียนสูบบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียน)
- กลยุทธ์การแทรกแซง หรือแผนการปรับพฤติกรรม
- กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการ
- การติดตามความก้าวหน้าของแผน
2️⃣เป้าหมายของแผน BIP คือ เพื่อปรับเปลี่ยนหรือป้องกันพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ และส่งเสริมพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ผ่านการแทรกแซงระยะสั้น โดยมีเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง
3️⃣ลักษณะของการเกิดพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่ควรใช้แผน BIP
- เกิดซ้ำบ่อย ๆ (ไม่ใช่ครั้งเดียวแล้วจบ)
- ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ ของนักเรียนเองหรือเพื่อน
- ไม่ตอบสนองต่อวิธีจัดการทั่วไป เช่น การตักเตือนหรือลงโทษเบื้องต้น
- มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของตนเองหรือผู้อื่น
- พฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเครียดหรือปัญหาทางอารมณ์ เช่น ทำร้ายตัวเอง เก็บตัวอย่างรุนแรง แสดงพฤติกรรมซึมเศร้า
4️⃣ ขั้นตอนการสร้างแผน BiP
✍️ ขั้นตอนที่ 1 : ระบุพฤติกรรมที่เป็นปัญหา
คือ การ “วิเคราะห์” เพื่อทำความเข้าใจว่า "เด็กแสดงพฤติกรรมอะไร" และ "ทำไมจึงแสดงพฤติกรรมนั้น" โดยใช้กระบวนการวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุ/ประเมินพฤติกรรม (Funtional Behavior Asessment: FBA) ผ่านการเก็บรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมของนักเรียน โดยการ..
- สังเกตพฤติกรรมของนักเรียนในสถานการณ์ต่างๆ เช่น ขณะอยู่ในห้องเรียน อยู่กับเพื่อน ช่วงพักกลางวัน หรืออยู่คนเดียว รวมถึงช่วงเวลา สถานที่ คนที่เกี่ยวข้อง และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนและหลังพฤติกรรม
- สัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับนักเรียน เช่น เพื่อนร่วมห้อง ผู้ปกครอง รุ่นพี่ที่สนิท เป็นต้น
- ทบทวนประวัติของนักเรียน ผลการเรียน ประวัติทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง
ตัวอย่าง น้อง A ม.1 ชอบตะโกน พูดเสียงดัง พูดคำหยาบในคาบเรียนคณิตศาสตร์ ไม่ว่าจะอยู่กับเพื่อนหรืออยู่คนเดียว โดยเฉพาะเวลาครูมอบหมายให้ทำงาน ให้ตอบคำถาม พฤติกรรมจะหยุดชั่วคราวเมื่อครูตะโกนชื่อแรง ๆ หรือให้หยุดโดยตรง คุณครูวิชาอื่น ๆ แจ้งว่าไม่มีพฤติกรรมนี้ในคาบเรียน ส่วนคุณแม่แจ้งว่าน้องไม่ชอบเรียนเลขเลย และเคยรู้สึกอายที่ทำข้อสอบไม่ได้ ดูประวัติผลการเรียนแล้ว วิชาคณิตต่ำกว่าวิชาอื่นอย่างเห็นได้ชัด แต่ไม่พบปัญหาสมาธิหรือการแพทย์รุนแรง
✍️ขั้นตอนที่ 2 : กำหนดพฤติกรรม
เป็นขั้นตอนที่คุณครูจะต้อง “กำหนดพฤติกรรม” ที่ต้องการจะแก้ไข โดยการสร้างคำจำกัดความขึ้นมา ผ่านคำถาม 5 ข้อ
- พฤติกรรมที่เป็นปัญหาของนักเรียนคืออะไร (What) : น้อง A ม.1 ตะโกน พูดคำหยาบ
- นักเรียนมักจะแสดงพฤติกรรมที่ไหน (Where) : คาบเรียนคณิตศาสตร์
- นักเรียนมักจะแสดงพฤติกรรมเมื่อไร (When) : ตอนทำแบบฝึกหัด
- นักเรียนมักจะแสดงพฤติกรรมกับใคร (Who) : อยู่กับเพื่อนและคนเดียว
- นักเรียนทำพฤติกรรมนั้นบ่อยแค่ไหน (How often) : ทุกครั้งที่ต้องเรียนวิชานี้
✍️ขั้นตอนที่ 3 : ตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับพฤติกรรม
คือ การที่คุณครูพยายามวิเคราะห์ว่า “อะไรเป็นตัวกระตุ้น (Trigger)” และ “อะไรคือผลลัพธ์ (Outcome)” ที่ทำให้พฤติกรรมของนักเรียนเกิดขึ้นซ้ำๆ โดยคุณครูจะต้องระบุ “ปัจจัย” ที่กระตุ้นให้นักเรียนเกิดพฤติกรรม โดย
สังเกตเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
- “ก่อน” พฤติกรรมนั้น เช่น น้อง A รู้สึกว่างานที่ครูมอบหมายยากเกินไป, น้อง A ถูกแยกจากเพื่อนสนิท นำมาสู่ >>>การตะโกน เสียงดัง พูดหยาบคาย คุณครูบันทึกผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
- “หลัง” พฤติกรรม เช่น เมื่อตะโกนแล้ว น้อง A ได้รับความสนใจจากเพื่อน , น้อง A ไม่ต้องทำงานต่อ , ครูหยุดการสอนเพื่อมาตักเตือน ตั้งเป็น “ประโยคสมมติฐาน” เพื่อใช้ในแผน เช่น เมื่อ A ถูกมอบหมายให้ทำงาน (สิ่งกระตุ้น) A จะพูดเสียงดังหรือพูดคำหยาบ (พฤติกรรม) เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกอึดอัด และเรียกร้องความสนใจจากเพื่อน (ผลลัพธ์)
*สำคัญมาก สมมติฐานนี้ไม่ใช่เพื่อ “ตัดสิน” นักเรียน แต่เพื่อเข้าใจและช่วยให้วางแผนแทรกแซนได้ตรงจุดมากขึ้น
✍️ขั้นตอนที่ 4 : เลือกแผนการแทรกแซง
เป็นขั้นตอนการคิดหาวิธีปรับพฤติกรรมนั้น โดยที่คุณครูต้องวางแผนแทรกแซงให้ครอบคลุมทั้ง “ปัจจัยที่เกิดขึ้น” และ “ผลที่ตามมาหลังพฤติกรรม” ไม่ใช่เพียงแค่ตัวพฤติกรรมเพียงอย่างเดียว
เช่น
- “ก่อน” พฤติกรรม : น้อง A รู้สึกว่างานที่ครูมอบหมายยากเกินไป,ถูกแยก >>>>> ลองมอบหมายงานเป็นคู่ โดยให้นักเรียนจับคู่กับเพื่อนที่สนิทและช่วยกันทำงานให้เสร็จ
- “หลัง” พฤติกรรม : น้อง A ได้รับความสนใจจากเพื่อนและครู >>> ครูเปลี่ยนวิธีตอบสนอง เช่น ใช้น้ำเสียงสงบ ตั้งสติ พูดเป็นส่วนตัว ไม่เรียกชื่อเสียงดัง ,เสริมแรงพฤติกรรมทางเลือก เช่น หากนักเรียนใช้คำพูดเหมาะสมระหว่างการเรียน จะได้รับ Sticker
สิ่งสำคัญ คือ หากคุณครูสามารถลงลึกถึงสาเหตุที่แท้จริงของพฤติกรรมนั้น ๆ ก็จะช่วยทำให้แผนการแทรกแซงมีประสิทธิภาพมากขึ้น
✍️ขั้นตอนที่ 5 : พัฒนาแผน BIP
คุณครูเติมข้อมูลลงในเทมเพลตแผนการแทรกแซงอย่างละเอียด และอย่าลืมดึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม โดยใส่รายละเอียดตามหัวข้อที่ระบุในแผน ดังนี้
- ชื่อนักเรียน
- พฤติกรรมที่ต้องการแก้ไข
- การวิเคราะห์พฤติกรรม (FBA)
- เป้าหมาย (ระบุพฤติกรรมที่ต้องการเห็น)
- กลยุทธ์การแทรกแซง
- ผู้รับผิดชอบหลัก
- วันเริ่มต้นดำเนินการ
- ระยะเวลาของการดำเนินการ
- ความถี่และวิธีการติดตามความก้าวหน้า
- เกณฑ์การวัดผล สามารถดาวน์โหลดเทมเพลตได้ ที่นี่ https://drive.google.com/file/d/16ZNFNRLvrbxvJaNmBE9J--GeCqm6Nost/view?usp=drive_link
✍️ขั้นตอนที่ 6 : ลงมือทำตามแผน
เริ่มจากสื่อสารแผนให้แก่เพื่อนครูได้รับทราบและพยายามทำตามแผนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นักเรียนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองได้
✍️ขั้นตอนที่ 7 : ติดตามและทบทวน
เป็นขั้นตอนที่คุณครูต้องเริ่มเก็บรวบรวมและบันทึกข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ โดยติดตามจากการสังเกตพฤติกรรมในห้องเรียน การสัมภาษณ์เพื่อนร่วมชั้น หรือคุณครูท่านอื่น แต่อย่าพยายามที่จะรีบปรับแผนจนเกินไป เพราะการปรับพฤติกรรมนักเรียนอาจจะต้องใช้ระยะเวลา 2-3 เดือนกว่าจะเห็นผลลัพธ์ และเมื่อถึงระยะเวลาที่กำหนดตามแผนแล้ว ขอให้คุณครูพิจารณาผลลัพธ์เพื่อที่จะตัดสินใจว่าควรยุติแผนหรือปรับใหม่
การสร้างแผน BIP เปรียบเสมือนเครื่องมือทางความคิดที่ช่วยให้นักเรียนปรับพฤติกรรมอย่างยั่งยืนอย่างเป็นระบบ ยิ่งคุณครูเก็บรวบรวมข้อมูลได้มีคุณภาพและครบถ้วนมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งช่วยเหลือนักเรียนได้ตรงจุดมากเท่านั้น
ที่สำคัญอย่าลืมชักชวนเพื่อนครูมาร่วมแก้ปัญหานี้ไปด้วยกัน เพื่อให้นักเรียนของเราได้รับการพัฒนาได้อย่างเหมาะสมมากที่สุด
อย่าเพิ่งท้อแท้และหมดหวังนะคะ ขอส่งกำลังใจดวงโต ๆ ให้คุณครูทุกท่านค่ะ 🥰
อ้างอิง Allen-Manning, L. (n.d.). What is a behavior intervention plan? [PDF template]. Panorama Education. Retrieved April 23, 2025, from https://www.panoramaed.com/blog/behavior-intervention-plan-bip
พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน
หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)
ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง
✅ เรียนฟรี
✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว
✅ มีเกียรติบัตร
คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses