แนะแนวไม่แนะนำ ให้คำปรึกษาเรื่องเรียนต่ออย่างไร ให้เด็กตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง

หมวดหมู่: สนับสนุนงานแนะแนว

Tags: 

อ่านแล้ว: 779 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

“เรียนอะไรดีคะ” “เลือกอะไรดีครับ” คำถามคุ้นหู ที่คนเป็นครูแนะแนวหรือครูที่ปรึกษาจะต้องเจอจากนักเรียนบ่อย ๆ

ซึ่งเด็ก ๆ อาจมาพร้อมกับความสับสน ไม่รู้ว่าตนเองจะเรียนต่อด้านใดดี หรือมีตัวเลือกอยู่ในใจ แต่ไม่กล้าตัดสินใจด้วยตัวเอง 😣

เพราะการตัดสินใจเรื่องเรียนต่อเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่ออนาคตของนักเรียนโดยตรง และเป็นสิ่งที่พวกเขาควรมีสิทธิ์เลือกด้วยตัวเอง สิ่งที่ผู้ให้คำปรึกษามองว่าดี อาจไม่ตรงกับความต้องการหรือความสามารถของนักเรียน ดังนั้น การฟังและช่วยให้พวกเขาค้นหาคำตอบของตัวเองจึงสำคัญกว่า

คุณครูแนะแนวจึงต้องมีทักษะการให้คำปรึกษา (Consultation) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะพานักเรียนไปพบเจอตัวตน ความชอบ ความถนัดของตัวเอง จนนำสู่เส้นทางอาชีพที่ชอบ และมีชีวิตที่ใช่ แต่จะให้คำปรึกษาจนนักเรียนตัดสินใจด้วยตัวเองได้นั้น จะทำได้อย่างไร แนะแนวฮับชวนคุณครูมารู้จักกับหลักการ/เป้าหมาย และทักษะที่สำคัญของการเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ดี โดยอ้างอิงจาก University of Minnesota ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศสหรัฐอเมริกา

ก่อนอื่น อยากให้คุณครูเริ่มที่การตั้งเป้าหมายและกำหนดบทบาทของ “ผู้ให้คำปรึกษาด้านวิชาการ” ที่ดีเสียก่อน เพราะหากไม่มีเป้าหมายหรือบทบาทที่ชัดเจน อาจทำให้การให้คำปรึกษาเป็นไปตามความรู้สึกของครูเอง มากกว่าการคำนึงถึงนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ส่งผลให้นักเรียนได้รับข้อมูลที่อาจไม่เหมาะกับบริบทของตนเอง โดยเป้าหมายของครูควรที่จะ….

ชื่อภาพ

  • สนับสนุน ให้นักเรียนสำรวจตัวตน ความเชื่อ ความถนัดและความสนใจในช่วงเวลาที่ได้อยู่ในโรงเรียน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการเลือกเส้นทางการเรียนต่อที่เหมาะกับตัวเอง

  • เป็นโค้ช ให้นักเรียนสะท้อนการเรียนรู้ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นในคาบเรียน หรือนอกคาบเรียน กระตุ้นให้นักเรียนทบทวนว่าอะไรที่พวกเขาทำได้ดี อะไรที่ต้องพัฒนา ซึ่งช่วยให้พวกเขาเลือกเส้นทางที่สอดคล้องกับศักยภาพของตนเอง

  • แนะนำ ให้นักเรียนฝึกวางแผนการเรียนเรียนต่อที่สอดคล้องกับเป้าหมายชีวิตและอาชีพ รวมถึงการมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างการเรียนต่อกับอาชีพในอนาคต ลดความลังเล และสามารถวางแผนอนาคตได้อย่างเป็นระบบ

  • ท้าทายหรือกระตุ้นให้นักเรียนเกิดแรงบันดาลใจในการศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับประสบการณ์การเรียนต่อที่หลากหลายจากทั่วโลก เปิดโลกทัศน์ให้นักเรียนเห็นโอกาสใหม่ๆ ไม่ยึดติดกับตัวเลือกเดิมๆ ทำให้พวกเขากล้าคิดและตัดสินใจเลือกทางที่เหมาะสมกับตนเอง

  • ให้คำปรึกษา กับนักเรียนเกี่ยวกับมุมมองความหลากหลายด้านการเรียน วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ต่อตัวเองและผู้อื่น

  • ให้ความรู้ นักเรียนเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ ข้อกำหนด หรือขั้นตอนต่างๆ ของมหาวิทยาลัยที่นักเรียนต้องการเรียนต่อ ทำให้นักเรียนสามารถตัดสินใจได้โดยมีข้อมูลครบถ้วน

  • ชักชวน นักเรียนให้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมการศึกษากับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น งานเปิดบ้านมหาวิทยาลัย ทำให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ตรง เห็นภาพชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยจริงๆ ซึ่งช่วยให้ตัดสินใจได้อย่างมั่นใจมากขึ้น

  • ติดตาม/สื่อสาร กับนักเรียนอย่างต่อเนื่องถึงความคืบหน้าในการเรียนต่อ ช่วยให้นักเรียนไม่รู้สึกโดดเดี่ยว มีคนคอยสนับสนุน ทำให้พวกเขาตัดสินใจได้อย่างมั่นใจและไม่ท้อถอยเมื่อเจออุปสรรค

ชื่อภาพ

ทักษะที่สำคัญของการเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ดี

  1. วางตัว/วางใจเป็นเพื่อนที่พร้อมสนับสนุน คุณครูอาจจะต้องปรับมุมมองในการให้คำปรึกษานักเรียนใหม่ เช่น การวางตัวเหมือนเป็นเพื่อนที่คอยรับฟังและช่วยเหลือเมื่อนักเรียนเจอกับอุปสรรคต่างๆ ทั้งในด้านการเรียนและชีวิตส่วนตัว เพื่อให้นักเรียนรู้สึกมั่นใจว่ามีเพื่อนคอยรับฟังและช่วยเหลือ

    💙 เมื่อนักเรียนรู้สึกว่าครูเป็นเพื่อนที่รับฟังโดยไม่มีอคติ พวกเขาจะกล้าถามและแบ่งปันความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของตนเอง ทำให้สามารถตัดสินใจได้อย่างมั่นใจขึ้น เพราะมีคนคอยสนับสนุน

  2. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีทั้งในและนอกห้องเรียน การสร้างความสัมพันธ์ทั้งในและนอกห้องเรียน จะช่วยให้นักเรียนรู้สึกสบายใจที่จะพูดคุยและเปิดเผยปัญหาของตนเอง โดยเฉพาะหากมีโอกาสที่ได้พูดคุยกับนักเรียนนอกห้องเรียนในเรื่องทั่วไป ก็จะช่วยสร้างโอกาสในการรู้จักได้มากขึ้น รวมถึงสร้างเครือข่ายกับบุคลอื่น ๆ ที่จะช่วยสนับสนุนให้นักเรียนเข้าถึงแหล่งข้อมูล เช่น ครูรายวิชาอื่น ๆ รุ่นพี่ คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ

    💙 ความสัมพันธ์ที่ดีช่วยให้นักเรียนกล้าพูดคุยเรื่องที่สำคัญ เครือข่ายของคุณครูจะช่วยให้นักเรียน เข้าถึงแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการตัดสินใจได้

  3. ฝึกทักษะการรับฟังและการสื่อสารเชิงบวก การฟังอย่างตั้งใจและการสื่อสารเชิงบวกเป็นทักษะที่สำคัญมาก เพราะการเข้าใจความต้องการและความรู้สึกของนักเรียนอย่างลึกซึ้งจะช่วยการให้คำแนะนำที่ตรงจุดและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในระยะยาว

    💙 เมื่อนักเรียนรู้สึกว่าครูเข้าใจจริงๆ และให้คำแนะนำในเชิงบวก พวกเขาจะไม่รู้สึกกดดันหรือกลัวที่จะเลือกทางที่เหมาะกับตัวเอง ทำให้ตัดสินใจบนพื้นฐานของความต้องการแท้จริงของตนเอง

  4. ค้นหาข้อมูลและแบ่งปันความรู้ การค้นหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์และเกี่ยวข้องกับนักเรียนเป็นหนึ่งในบทบาทของที่ปรึกษา เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตร การฝึกงาน การเรียนต่อ หรือกิจกรรมในมหาวิทยาลัย แล้วนำมาแบ่งปันให้แก่นักเรียน ก็จะช่วยให้คำแนะนำมีประสิทธิภาพและน่าเชื่อถือได้มากขึ้น

    💙 การมีข้อมูลเกี่ยวกับคณะ มหาวิทยาลัย และโอกาสทางอาชีพ ช่วยให้นักเรียนสามารถเปรียบเทียบทางเลือก และเลือกเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดกับตนเอง

  5. เปิดกว้างและยอมรับความแตกต่าง การเข้าใจความแตกต่างทางความคิด ที่มา หรือครอบครัวของนักเรียนเป็นสิ่งสำคัญในการให้คำปรึกษา โดยเฉพาะในโรงเรียนที่มีนักเรียนมาจากหลากหลายจังหวัด ดังนั้นการให้คำปรึกษาจึงจำเป็นที่จะต้องปรับตามสภาพแวดล้อมที่หลากหลายของนักเรียน

    💙 เมื่อนักเรียนรู้ว่าทางเลือกของพวกเขาได้รับการเคารพโดยไม่มีอคติ พวกเขาจะกล้าคิด กล้าลอง และเลือกสิ่งที่ตรงกับตัวเองจริงๆ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องทำตามกระแสนิยมหรือความคาดหวังของผู้อื่น

  6. กำหนดเป้าหมาย, ทบทวนกระบวนการ, และมองเห็นภาพรวม ทุกครั้งก่อนที่จะให้คำปรึกษา คุณครูจะต้องกำหนดเป้าหมายการให้คำปรึกษา และเมื่อให้คำปรึกษาเสร็จ คุณครูจะต้องทบทวนและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเพื่อปรับปรุงกระบวนการให้คำปรึกษาของตนเอง โดยต้องมองภาพรวมการพัฒนานักเรียนในทุกด้าน

    💙การมีเป้าหมายและการทบทวนช่วยให้ครูไม่มีหลักในการให้คำปรึกษานักเรียน และเป็นหลักเมื่อนักเรียนหลงลืมเป้าหมายระหว่างทาง

  7. ใช้เทคโนโลยีในการเก็บข้อมูลและวางแผน การใช้เทคโนโลยีในการเก็บข้อมูลและวางแผนการให้คำปรึกษาเป็นสิ่งสำคัญ เช่น การพูดคุยออนไลน์ในการติดตามความคืบหน้าของนักเรียน หรือการใช้ google calendar ในการนัดหมายและจัดตารางเรียน การช่วยนักเรียนทำ Action Plan หรือแผนปฏิบัติการสำหรับการเรียนต่อ

    💙 ช่วยให้นักเรียนวางแผนอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความสับสน และตัดสินใจได้อย่างเป็นระบบ

  8. เรียนรู้อยู่เสมอ การเปิดรับความคิดเห็นจากผู้อื่นหรือนักเรียน และการเรียนรู้จากประสบการณ์การให้คำปรึกษาที่ผ่านมา จะช่วยให้คุณครูพัฒนาตัวเองได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด จะช่วยให้การให้คำปรึกษามีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ความต้องการของนักเรียนมากยิ่งขึ้น

    💙 เมื่อนักเรียนเห็นว่าครูพัฒนาและเปิดรับความคิดเห็นใหม่ๆ พวกเขาก็จะกล้าค้นหาความรู้และปรับตัวตามสถานการณ์ ทำให้สามารถตัดสินใจได้อย่างรอบคอบและมีเหตุผล

แนะแนวฮับเชื่อว่าข้อมูลจากมหาวิทยาลัย Minnesota นี้ จะเป็นไอเดียตั้งต้นให้คุณครูได้ลองหาข้อมูลและเริ่มฝึกฝนการเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ดีต่อไปได้ค่ะ

ขอให้คุณครูใช้เวลากับตนเองในการฝึกฝน ค่อยๆเป็น ค่อยๆไปนะคะ สุดท้ายแล้ว การแนะแนวที่มีประสิทธิภาพไม่ได้จบลงเพียงแค่การให้ข้อมูล แต่คือการติดตามและสนับสนุนนักเรียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาสามารถเดินบนเส้นทางที่เลือกด้วยความมั่นใจ และมีศักยภาพในการพัฒนาตนเองอย่างเต็มที่ ✨

เอาใจช่วยคุณครูและพร้อมเดินเคียงข้างเสมอนะคะ 😀

อ้างอิง University of Minnesota. (n.d.). Academic advising: A framework for student success. University of Minnesota. Retrieved February 13, 2025, from https://advisor.umn.edu/resources/framework#spotlight


พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว

✅ มีเกียรติบัตร

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา