5 เรื่องชวนระวัง ‘อคติ’ ในชั้นเรียน

หมวดหมู่: พื้นที่เพื่อนครู

Tags: 

อ่านแล้ว: 148 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

หนึ่งในอุปสรรคที่สำคัญต่อการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียน คือ อคติในชั้นเรียน (Bias)

อคติในชั้นเรียน หมายถึง การตัดสินใจหรือพฤติกรรมที่มีความลำเอียง เช่น การให้ความสำคัญกับนักเรียนบางคนหรือบางกลุ่มมากเกินไป โดยปราศจากการคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ตามความเป็นจริง เช่น ความสามารถหรือพฤติกรรมที่แท้จริงของนักเรียน

ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดอคติภายใน เช่น เพศ, เชื้อชาติ, ภูมิหลังทางสังคม, หรือแม้แต่ลักษณะส่วนบุคคล เช่น ทรงผม หน้าตา สีผิว และท่าทีของนักเรียน เป็นต้น

เพราะอคติในชั้นเรียน ไม่ใช่แค่เรื่องของ การกลั่นแกล้งนักเรียน การลำเอียง หรือการเลือกที่รักมักที่ชัง แต่มีพฤติกรรมอื่น ๆ ซึ่งในบางครั้งเราเองก็อาจเผลอทำลงไปโดยไม่รู้ตัว

ตัวอย่างพฤติกรรมที่เรียกว่า ‘อคติ’

  1. การเลือกให้นักเรียน A ตอบคำถามบ่อย ๆ เพราะนักเรียน A มักจะตอบคำถามถูก โดยที่ครูไม่เรียกนักเรียนคนอื่น ๆ ตอบเลย
  2. การให้ความสำคัญกับนักเรียนที่มักจะส่งการบ้านเสร็จตามเวลา โดยอาจมองข้ามนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม
  3. การไม่เปิดรับฟังความคิดเห็นของนักเรียนบางกลุ่ม เพราะนักเรียนเหล่านี้มักมีพฤติกรรมไม่ดีนอกห้องเรียน

การที่เราไม่เท่าทัน ‘ความอคติในใจ’ อาจนำไปสู่เหตุการณ์เลวร้ายต่อไปนี้

  • การสร้างห้องเรียนที่แบ่งแยก : การตัดสินใจที่โน้มเอียงอาจทำให้นักเรียนบางกลุ่มรู้สึกถึงการ ‘เลือกปฏิบัติ’ และสูญเสียความมั่นใจ จนนำไปสู่การไม่ตั้งใจเรียนในที่สุด ส่วนนักเรียนที่ได้รับการสนับสนุนมากเกินไปอาจตกเป็นเป้านิ่งของเพื่อน ๆ โดยที่ไม่รู้ตัว และถูกกีดกันจากเพื่อน ๆ

  • นักเรียนบางคนถูกมองข้าม : นักเรียนแต่ละคนมีความสามารถและวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน หากครูมีอคติในการตัดสินใจ เช่น การมองข้ามนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ หรือเลือกสนับสนุนนักเรียนบางกลุ่มมากเกินไป นักเรียนที่ไม่ได้รับโอกาสจะไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้เต็มที่

  • ความสัมพันธ์ของครูและนักเรียนแย่ลง : เมื่อเราไม่ทันระวัง ‘อคติ’ และแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมบ่อย ๆ แน่นอนว่านักเรียนจะรู้สึก สัมผัสได้ และจำภาพของคุณครูที่กระทำเช่นนั้นไปตลอด

ผลกระทบของการไม่เท่าทันใน ‘อคติ’ ไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อนักเรียนเพียงแค่นั้น แต่เชื่อว่าในใจลึก ๆ ก็ส่งผลต่อความรู้สึกของคุณครูเช่นกัน

วันนี้แนะแนวฮับจึงมาชวนคุย 5 เรื่องที่ควรระมัดระวัง ซึ่งอาจนำไปสู่อคติในชั้นเรียน มีเรื่องไหนควรระวังบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ

ชื่อภาพ

1) กฎระเบียบ

ขอให้คุณครูลองทบทวนกฎระเบียบภายในห้องเรียนของตนเองว่าเหมาะสมกับนักเรียนทุกคนหรือไม่ อย่างเช่น การเข้าเรียนตรงเวลา การส่งงานตรงเวลา หรือการใส่เครื่องแบบมาถูกต้อง แน่นอนว่า การกำหนดกฎระเบียบเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ขอให้คุณครูอย่าลืมที่จะนึกถึง ‘ปัจจัยส่วนตัว’ ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังของนักเรียนแต่ละคนที่อาจทำให้นักเรียนไม่สามารถทำตามกฎที่วางไว้ได้

ตัวอย่างเหตุการณ์ นักเรียนบางคนไม่สามารถใส่เครื่องแบบตามที่กำหนด เพราะไม่มีเงินในการซื้อเครื่องกายให้ครบชุด หรือเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด อาจทำให้ไม่สามารถใส่เสื้อผ้าได้

โดยอคติที่ ‘อาจ’ เกิดจากเรื่องนี้ คือ นักเรียนคนนี้ไม่มีระเบียบ/อยากทำตัวโดดเด่น /ไม่เชื่อฟังกฎของโรงเรียน เป็นต้น

แนวทางการฝึกเท่าทันอคติ

  • ลองฝึกจดบันทึกพฤติกรรมของตนเองเวลาที่เห็นนักเรียนไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ เช่น เป็นนักเรียนคนเดิมซ้ำ ๆ ประจำหรือเปล่า พฤติกรรมไหนบ้างที่คุณครูมักจะเกิดความรู้สึกไม่พอใจ
  • ลองเขียนวิธีการใหม่ ๆ ในการรับมือ/ปรับพฤติกรรมของนักเรียน และทดลองทำดู
  • กำหนดกฎระเบียบที่เป็นกฎร่วมกันตรงกลาง และเพิ่มการนัดพูดคุยนักเรียนรายบุคคลอีกครั้ง

2) การเลือกนักเรียนตอบคำถาม

สังเกตพฤติกรรมของตนเองในการเรียกนักเรียนตอบคำถาม ว่าเป็นนักเรียนคนเดิม ๆ ที่เราชื่นชอบ คุ้นชื่อหรือเปล่า

ตัวอย่างเหตุการณ์ ในคาบแนะแนว ครูให้นักเรียนยกมือเพื่อตอบคำถาม และแม้จะมีนักเรียนคนอื่นยกมือด้วยเช่นกัน แต่คุณครูก็มักจะเลือกเด็กชายเอตอบคำถามเป็นคนแรกเสมอ หรือเลือกให้อธิบายคำตอบยาวกว่าคนอื่นเสมอ

แนวทางการฝึกเท่าทันอคติ

  • ลองสังเกตว่าคุณครูเลือกนักเรียนที่ตอบคำถามอย่างไร เช่น เลือกเพราะนักเรียนคนนี้ตอบถูกบ่อย เลือกเพราะเป็นนักเรียนคนโปรด เลือกเพราะเป็นประธานนักเรียน เลือกเพราะเป็นลูกผู้อำนวยการ เป็นต้น
  • หากคุณครูลองค้นหาคำตอบ แล้วพบว่าสาเหตุของการเลือกนักเรียน จะช่วยทำให้คุณครูเท่าทันอคติที่เกิดได้มากขึ้น และเชื่อว่าคุณครูจะเริ่มสร้างความยุติธรรมและความเท่าเทียมในห้องเรียนได้

3) การเรียกนักเรียนโดยไม่ทันตั้งตัว

เราอาจจะเรียกนักเรียนคนหนึ่งบ่อย ๆ อาจไม่ใช่เพราะว่าเขาเป็นคนที่ตอบคำถามได้ แต่เป็นเพราะเรามี ‘ภาพจำ’ กับเขาว่า อีกสักพักเขาจะต้องทำตัวไม่น่ารักในคาบของเราแน่นอน เช่น ชวนเพื่อนคุย งีบหลับ หรือไม่ตั้งใจฟัง หรือเรามักจะ ‘ทึกทัก’ ไปก่อนว่า วันนี้เด็กคนนี้มีท่าทีแปลก ๆ จะต้องทำอะไรมาไม่ดีแน่ ๆ เลย

ยกตัวอย่างเหตุการณ์ เด็กหญิงบี กำลังนั่งเรียนวิชาแนะแนวอยู่ จู่ๆ คุณครูก็เรียกชื่อเด็กหญิงบีให้ตอบคำถาม เพราะมีภาพจำว่า อีกสักพักเด็กหญิงบีก็จะงีบหลับแล้ว ซึ่งจริงๆ แล้ว วันนี้เด็กหญิงบีอาจจะไม่ได้ทำพฤติกรรมเช่นนั้นก็ได้

แนวทางการฝึกเท่าทันอคติ

  • ลองฝึกมองและประเมินเหตุการณ์เป็นครั้ง ๆ โดยที่ไม่รีบตัดสินไปก่อน
  • ลองเรียกนักเรียนพูดคุยกัน เพื่อทำความเข้าใจและหาทางปรับพฤติกรรมไปพร้อมกัน

4) การจัดลำดับนักเรียน

เมื่อถึงเวลาที่ต้องให้คะแนนหรือตัดเกรดนักเรียน คุณครูอาจจะจับความรู้สึกส่วนตัวที่เกิดขึ้นในขณะนั้นได้เช่น “คะแนนสูงนะ แต่ไม่เรียบร้อยเลย ไม่ควรไปอยู่ห้องคิง” หรือ “คะแนนพอใช้นะ แต่พฤติกรรมดีจัง จึงอยากให้ไปอยู่ในห้องคิง”

ความคิดที่ผุดขึ้นมาในใจของคุณครู คือ อคติส่วนตัวที่สะสมมาจากประสบการณ์ ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้

ยกตัวอย่างเหตุการณ์ เด็กชายเอ เป็นเด็กที่มีจิตใจดี ชอบช่วยเหลือคุณครู ทุกครั้งที่เวลาเด็กชายเอเห็นคุณครูถือของมา เด็กชายเอมักจะรีบเข้ามาช่วยถือของทุกครั้งสม่ำเสมอ ที่สำคัญ เด็กชายเอเป็นเด็กที่ทำตามกฎระเบียบอย่างดีเยี่ยม และพูดจาไพเราะ แต่ในส่วนของการเรียนนั้น เด็กชายเอยังทำได้ไม่ดี มักจะสอบตกเมื่อคุณครูสอบเก็บคะแนนอยู่บ่อย ๆ

แนวทางการฝึกเท่าทันอคติ

  • กำหนดเกณฑ์คะแนนแยกส่วน เช่น คะแนนสอบและคะแนนพฤติกรรม และมีการกำหนดค่าการให้คะแนนอย่างเหมาะสม
  • ลองเก็บหลักฐานการเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลายและมีหลักฐานที่ชัดเจน
  • ปรึกษาหารือกับเพื่อนครู ในกรณีที่ตัดสินใจไม่ได้ เพื่อมองหาทางออกร่วมกัน . .

5) ความสนิทสนมกับนักเรียน

เรื่องนี้ค่อนข้างเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนและมีผลต่อ ‘อคติ’ อย่างมาก เช่น เวลาที่คุณครูสนิทกับนักเรียนคนไหน อาจทำให้เรามีภาพของนักเรียนคนนั้นเปลี่ยนแปลงไปทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ

ยกตัวอย่างเหตุการณ์ เด็กหญิงบี มักจะกลับบ้านพร้อมคุณครูเป็นประจำ และมักแชร์เรื่องราวส่วนตัวเพื่อขอคำปรึกษา ด้วยความสนิทสนมนี้ทำให้คุณครูเกิดความรู้สึก ‘เห็นใจ’ และอยากที่จะช่วยเหลือเด็กหญิงบีมากกว่าปกติ

แนวทางการฝึกเท่าทันอคติ

  • รับรู้และยอมรับความรู้สึกของเราที่มีต่อนักเรียนคนนี้อย่างตรงไปตรงมา ว่าเรามีความสนิทกับนักเรียนคนนี้มากกว่านักเรียนคนอื่น ซึ่งความสนิทสนมไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี แต่ต้องระมัดระวังว่า ‘ความสนิทสนมจะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องต่อรองของพฤติกรรมอื่นๆในทางลบ’
  • พยายามกำหนดเส้นของความสัมพันธ์ รวมถึงกำหนดบทบาทการช่วยเหลือให้ชัดเจน
  • พยายามวางตัวให้เหมาะสมเมื่ออยู่ท่ามกลางนักเรียนคนอื่น ๆ แต่ต้องไม่ทำตัวเหินห่าง จนทำลายจิตใจนักเรียนคนนั้นอย่างเปิดเผย

เพราะมนุษย์ทุกคนต่างมีอคติที่แฝงอยู่ในความคิด ความรู้สึกของเราอยู่แล้วอย่างเป็นธรรมชาติ ดังนั้น ไม่เป็นไรเลยค่ะ ที่บางครั้งเราอาจจะไม่เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้น

แต่เมื่อเรารู้แล้วว่า ‘อคติ’ แบบไหนที่จะที่ทำให้ห้องเรียนของเราไม่เป็นสุข ไม่ปลอดภัย เราก็จะมาช่วยกันฝึกฝน เพื่อรู้เท่าทันตัวเองมากขึ้น โดยการเริ่มฝึกจากบทความนี้ไปด้วยกันค่ะ 💞

ส่งพลังให้คุณครูหัวใจแนะแนวทุกดวงเลยนะคะ

อ้างอิง Terada, Y. (2023, December 7). A simple way to self-monitor for bias. Edutopia. https://www.edutopia.org/article/simple-way-self-monitor-bias/


พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว

✅ มีเกียรติบัตร

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา