3 ไอเดียกิจกรรมสร้าง Empathy ให้นักเรียน

หมวดหมู่: พื้นที่เพื่อนครู

Tags: 

อ่านแล้ว: 75 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึงทักษะ “Empathy หรือ "ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น"

ซึ่งเป็นความสามารถในการรับรู้และเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น โดยไม่เพียงแค่รับฟัง แต่ยังพยายามมองสถานการณ์จากมุมมองของผู้อื่นด้วย

แม้แต่ World Economic Forum ยังระบุว่า “การเข้าใจคนอื่น ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางหรือที่เรียกว่า ‘Empathy’ จะกลายเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดของการเป็นผู้นำนับจากนี้”

จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในห้องเรียนของเราจึงควรที่จะเป็นพื้นที่ให้นักเรียนได้ฝึกทักษะเข้าใจผู้อื่นเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อคนรอบตัว อีกทั้งยังนำไปสู่การลดความขัดแย้งในสังคมด้วย

แนะแนวฮับขอนำเสนอ 3 กิจกรรมที่ฝึกสร้างทักษะการ Empathy มาฝากคุณครูแนะแนวกัน จะมีกิจกรรมอะไรกันบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ 🙂

ชื่อภาพ

✅กิจกรรมที่ 1: สื่อเรื่องราวผ่านงานปั้น

แนวคิด: กิจกรรมนี้ช่วยนักเรียนได้พัฒนาความเข้าใจผู้อื่น ผ่านการสัมภาษณ์บุคคลที่สนใจ และสร้างสรรค์งานประติมากรรมที่สะท้อนถึงเรื่องราวของบุคคลนั้น นักเรียนจะได้ฝึกการสัมภาษณ์ การรับฟังเชิงลึก และการถ่ายทอดเรื่องราวในรูปแบบศิลปะ

วิธีการทำกิจกรรม

ขั้นตอน 1 : การเลือกบุคคลสัมภาษณ์
ให้นักเรียนเลือกไอดอล หรือบุคคลที่นักเรียนประทับใจ อยากที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของบุคคลนี้ เช่น

  • สมาชิกในครอบครัว
  • ผู้นำ/ผู้สูงอายุในชุมชน
  • คุณครูที่นักเรียนประทับใจ
  • รุ่นพี่ที่ชื่นชอบ

ขั้นตอนที่ 2: การเตรียมคำถามสัมภาษณ์
ให้นักเรียนเตรียมคำถามและนัดสัมภาษณ์กับบุคคลที่นักเรียนเลือก โดยคุณครูอาจจะให้หัวข้อคำถามเพื่อเป็นตัวอย่าง เช่น

  • ข้อมูลส่วนตัว
  • เรื่องราวที่น่าสนใจในชีวิต
  • บทเรียนที่สำคัญในชีวิต

*หมายเหตุ: ในขั้นตอนนี้คุณครูอาจจะต้องคอยตรวจเช็กคำถามของนักเรียนแต่ละคน และสอนวิธีการสัมภาษณ์เพื่อให้นักเรียนปฏิบัติตามได้อย่างเหมาะสมและถูกต้อง โดยมีตัวอย่างหลักการดังนี้

  • คำถามที่ใช้จะต้องไม่เป็นคำถามส่วนตัวมากเกินไป เคารพผู้ถูกสัมภาษณ์และผู้ตอบสามารถเลือกที่จะตอบหรือไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ
  • สอนวิธีการรับฟังอย่างตั้งใจ ไม่พูดแทรกขณะสัมภาษณ์
  • มีการชี้แจงผู้ถูกสัมภาษณ์ให้ชัดเจนถึงเป้าหมายของการนำข้อมูลไปใช้

ขั้นตอนที่ 3: การสัมภาษณ์จริง
ให้นักเรียนนัดหมายพูดคุยกับบุคคลเหล่านั้นจริง ๆ โดยนักเรียนอาจจะแจ้งว่าจะขอมีการถ่ายรูป หรือจดบันทึกขณะที่สัมภาษณ์ไปด้วย

ขั้นตอนที่ 4: การสร้างงานประติมากรรม
หลังสัมภาษณ์ คุณครูให้นักเรียนสร้างงานประติมากรรมที่สะท้อนถึงเรื่องราวที่ได้เรียนรู้ โดยอาจจะแบ่งหัวข้อได้ดังนี้

  1. เหตุผลที่นักเรียนเลือกบุคคลนั้น
  2. สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการสัมภาษณ์
  3. เรื่องราวที่นักเรียนประทับใจจากบุคคลนั้น โดยชิ้นงานนี้สามารถใช้วัสดุที่หลากหลาย เช่น ดินปั้น กระดาษ หรือวัสดุเหลือใช้ เพื่อเป็น “ตัวแทน” ของเรื่องราวที่จับต้องได้

ขั้นตอนที่ 5: การนำเสนอ
ให้นักเรียนนำเสนอผลงานให้เพื่อนในชั้นเรียนฟัง พร้อมเชิญชวนให้เพื่อน ๆ สะท้อนความคิดเห็นต่อชิ้นงาน ในหัวข้อ

  • ให้ดอกไม้: สิ่งที่ชอบในผลงานเพื่อน พร้อมเหตุผล
  • ให้ก้อนหิน : สิ่งที่อยากให้เพื่อนพัฒนาเรื่องเล่าของตนเอง

ทักษะที่นักเรียนจะได้รับจากกิจกรรมนี้

  1. ทักษะการรับฟังอย่างตั้งใจจากการฟังเรื่องราวชีวิตของคนอื่น
  2. ทักษะความคิดสร้างสรรค์จากการออกแบบประติมากรรม
  3. ทักษะการเข้าใจและเคารพเรื่องราวของผู้อื่น

ชื่อภาพ

✅กิจกรรมที่ 2 : แผนที่ Empathy

แนวคิด: แผนที่ Empathy เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้นักเรียนเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างความคิด ความรู้สึก คำพูด และการกระทำของตนเอง นักเรียนจะได้เท่าทันความรู้สึกตนเองและเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น

วิธีการทำกิจกรรม

ขั้นตอนที่ 1: สร้างบรรยากาศที่เปิดกว้าง พร้อมรับฟัง
ก่อนเริ่มกิจกรรม ครูควรกำหนดบรรยากาศให้เป็นมิตร และส่งเสริมการฟังอย่างตั้งใจ โดยย้ำว่านี่คือพื้นที่ปลอดภัยที่ทุกคนสามารถแบ่งปันโดยไม่ถูกตัดสิน

ขั้นตอนที่ 2: ครูเริ่มต้นด้วยการอธิบายแผนที่ Empathy Map
ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ส่วน

  • Think (คิด) : สิ่งที่เราคิด
  • Feel (รู้สึก) : ความรู้สึกที่เกิดขึ้น
  • Say (พูด) : คำพูดทีเราพูด
  • Do (ทำ) : การกระทำที่เราทำ

โดยคุณครูอาจจะให้ตัวอย่างง่าย ๆ เพื่อให้นักเรียนเห็นว่าแต่ละส่วนหมายถึงอะไร เช่น เมื่อฉันรู้สึกกังวล (feel) เพราะฉันคิดว่าแม่น่าจะกำลังโกรธฉัน (think) / ฉันมักจะพูดว่า “ขอโทษ” (say) และเอาแต่เก็บตัวเงียบอยู่ในห้อง (Do)

ขั้นตอนที่ 3: สร้างแผนที่ร่วมกันในห้องเรียน
คุณครูเตรียมกระดานหรือบอร์ด แล้วเขียนคำว่า “ห้องเรียนของเรา” ไว้ตรงกลาง จากนั้นแบ่งกระดานออกเป็น 4 ส่วน และติดป้ายแต่ละส่วนว่า Think, Feel, Say, Do

ขั้นตอนที่ 4: แลกเปลี่ยนเรื่องราวของตนเอง
แจกโพสต์อิทให้นักเรียนคนละ 4 แผ่น และอธิบายว่าให้เขียนสิ่งต่าง ๆ ดังนี้ :

  • หนึ่งความรู้สึกที่นักเรียนเคยรู้สึก (Feel)
  • ความคิดที่เชื่อมโยงกับความรู้สึกนั้น (Think)
  • คำพูดที่นักเรียนมักพูดออกมาเมื่อมีความรู้สึกนั้น (Say)
  • การกระทำที่นักเรียนมักทำเมื่อรู้สึกแบบนั้น (Do)

ขั้นตอนที่ 5: ติดโพสต์อิทและแบ่งปันเรื่องราว
คุณครูให้นักเรียนแต่ละคนนำโพสต์อิทมาติดในส่วนที่เกี่ยวข้องบนกระดาน พร้อมขอตัวแทนนักเรียนที่เต็มใจแบ่งปันแชร์ให้เพื่อนในห้องฟัง . .

ทักษะที่นักเรียนจะได้รับจากกิจกรรมนี้

  1. ทักษะการตระหนักรู้ความคิด ความรู้สึกของตนเอง
  2. ทักษะการเข้าใจผ่านการรับฟังความคิด และความรู้สึกของผู้อื่น
  3. ทักษะการคิดวิเคราะห์ เป็นเหตุเป็นผลจากการเชื่อมโยงคำพูดและการกระทำของตนเอง

ชื่อภาพ

✅กิจกรรมที่ 3 : การแบ่งปันเรื่องราว ผ่านการเล่าเรื่องในหนังสือ

แนวคิด: การเล่าเรื่องเป็นวิธีที่ทรงพลังในการสร้างความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) เพราะนักเรียนจะเข้าถึงเรื่องราวของตัวละครผ่านการอ่าน กิจกรรมนี้ช่วยให้นักเรียนฝึกฝนการสังเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกผ่านการสำรวจตัวละครในหนังสือที่ชื่นชอบ

วิธีการทำกิจกรรม

ขั้นตอนที่ 1: การอ่านและเลือกตัวละคร
คุณครูให้นักเรียนเลือกหนังสือที่ตนเองสนใจและอ่านอย่างละเอียด โดยเน้นที่ประสบการณ์ของตัวละคร ซึ่งคุณครูอาจจะแนะนำหนังสือให้นักเรียน เช่น

  • เรื่อง ‘เจ้าหงิญ’ โดย บินหลา สันกาลาคีรี
  • เรื่อง ‘ความสุขของกะทิ’ โดย งามพรรณ เวชชาชีวะ
  • เรื่อง ‘เด็กชายในเงา’ โดย ตวงทิพย์ ยุวชิต

ขั้นตอนที่ 2 : การฝึกสังเคราะห์ข้อมูล
หลังจากอ่านหนังสือเสร็จแล้ว คุณครูแจกโจทย์ให้นักเรียนฝึกวิเคราะห์เหตุการณ์ในชีวิตของตัวละคร เพื่อให้นักเรียนเข้าใจถึงความรู้สึกและความต้องการของตัวละคร และนำมาสร้างเป็นชิ้นงานหนังสือเล่มเล็ก โดยมีตัวอย่างของโจทย์มีดังนี้

  • อะไรคือเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลต่อตัวละคร
  • ตัวละครรู้สึกอย่างไรในแต่ละช่วงเวลา
  • ความต้องการของตัวละครคืออะไร

ขั้นตอนที่ 3 : การเชื่อมโยงมาสู่ชีวิตจริง
ครูชวนนักเรียนนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากตัวละครในหนังสือ มาใช้ในการเข้าใจตนเอง เพื่อน ๆ และผู้อื่นในชีวิตจริง โดยมีตัวอย่างโจทย์ชวนคิดดังนี้

  • มีเหตุการณ์ใดบ้างในชีวิตของนักเรียนที่คล้ายกับตัวละคร
  • นักเรียนมีวิธีการก้าวข้าม/ แก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ เหมือนหรือแตกต่างกับตัวละครอย่างไร
  • นักเรียนได้เรียนรู้บทเรียนสำคัญอะไรบ้างจากตัวละคร

ทักษะที่นักเรียนจะได้รับจากกิจกรรมนี้

  1. ทักษะการวิเคราะห์ เชื่อมโยงข้อมูลเพื่อเข้าใจมุมมองของผู้อื่น
  2. ทักษะความคิดสร้างสรรค์จากการออกแบบชิ้นงาน
  3. กิจกรรมนี้เป็นกิจรรมที่ช่วยให้นักเรียนได้ฝึกฝนทักษะความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ไม่ด่วนตัดสิน และยังสร้างความสัมพันธ์ทีดีแก่คนรอบข้างได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การสร้างทักษะ empathy อาจจะต้องใช้เวลาในการส่งเสริม พัฒนาและหมั่นชวนนักเรียนสะท้อนความรู้สึกของตนเองบ่อย ๆ เพื่อให้นักเรียนรู้จักและเข้าใจความรู้สึกของตนเองก่อนที่จะเริ่มทำความเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น

เป็นกำลังใจให้คุณครูนะคะ

อ้างอิง แปลและเรียบเรียงจาก
The Teacher Guide. (n.d.). Empathy in your classroom.
https://www.oakland.edu/Assets/Oakland/galileo/files-and-documents/Empathy%20in%20Your%20Classroom%20Teachers%20Guild.pdf


พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว

✅ มีเกียรติบัตร

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา