DO’s & DON’Ts รวมสิ่งที่ควรทำ/ไม่ควรทำเมื่อต้องรับมือเคสบูลลี่ (Bullying)
หมวดหมู่: สนับสนุนงานแนะแนว
Tags:
อ่านแล้ว: 182 ครั้ง
ถ้าถามถึงปัญหาใหญ่ ๆ ที่ครูแนะแนวต้องเจออยู่เสมอ คงหนีไม่พ้นปัญหาเรื่องการกลั่นแกล้ง (Bullying)ในชั้นเรียน /ห้องเรียน ที่มีให้พบเห็นในทุกระดับชั้น
“ให้เด็กจับมือขอโทษกันแล้วทำไมไม่จบ”
“ครูจะรับบทเป็นคนกลางยังไงดีนะ”
แนะแนวฮับเชื่อว่าคุณครูคงหาทางรับมือการบูลลี่มาหลากหลายวิธี และวิธีคลาสสิกคงหนีไม่พ้นการให้เด็ก ๆ ขอโทษกันต่อหน้าเพื่อน ๆ ผู้เป็นพยาน ซึ่งบางครั้งนอกกจากไม่ได้ผลแล้ว ยังทำให้เกิดการข่มขู่หนักยิ่งกว่าเดิม แนะแนวฮับจึงขอเป็นอีกหนึ่งผู้ช่วยในการนำเสนอไอเดียรับมือเคสบูลลี่ ซึ่งมีทั้งข้อควรทำและสิ่งที่ไม่ควรทำ เพื่อให้คุณครูสามารถรับมือกับปัญหาเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไปดูกันเลยค่ะ
แบบไหนเรียก “การกลั่นแกล้ง” (Bullying)
✅ การกลั่นแกล้ง (Bullying) หรือเรียกทับศัพท์ว่า “บูลลี่” คือ การข่มเหงรังแกผู้อื่นให้เสียหายและอับอาย รู้สึกไม่ปลอดภัยจากการ กระทำ คำพูด การกีดกันทางสังคม หรือผ่านทางโลกออนไลน์ โดยที่ผู้ถูกกระทำมักมีพลังหรือสถานะที่ด้อยกว่า ❌ การขัดแย้ง (Conflict) คือการที่ความเห็นไม่ตรงกันหรือการทะเลาะกัน โดยที่ทั้งสองฝ่ายมีพลังเท่าเทียมและสามารถโต้ตอบกันได้โดยไม่มุ่งทำลาย
โดยทั่วไป ความขัดแย้ง (Conflict) มักเป็นเรื่องที่ครูรับมือได้ง่ายกว่า เนื่องจากเป็นการไม่ลงรอยที่เกิดขึ้นแบบชั่วคราว และสามารถแก้ไขได้ผ่านการพูดคุยและประนีประนอมระหว่างคู่กรณี ในทางตรงข้าม การกลั่นแกล้ง (Bullying) มีเจตนาและลักษณะการกระทำที่เป็นระบบและเกิดขึ้นซ้ำๆ โดยที่ผู้ถูกกระทำมักไม่มีอำนาจในการป้องกันตนเอง การแก้ไขจึงต้องการการแทรกแซงที่เข้มงวดมากขึ้น รวมถึงการฟื้นฟูความสัมพันธ์และสภาพแวดล้อม. ลักษณะของการถูกกลั่นแกล้ง
-
การรังแกทางร่างกาย (Physical): การผลัก ดึงผม ต่อยตี หรือกระทำใด ๆ ที่ทำให้เกิดอันตรายทางร่างกาย
-
การรังแกทางวาจา (Verbal) : การพูดจาดูถูก เสียดสี การล้อเลียน หรือพูดใส่ร้ายที่ทำให้ผู้อื่นรู้สึกเสียใจ
-
การรังแกทางสังคม (Relational or Social): การกีดกันออกจากกลุ่ม การแพร่ข่าวลือ หรือทำให้ผู้อื่นรู้สึกโดดเดี่ยว
-
การรังแกทางออนไลน์ (Cyberbullying): การใช้สื่อออนไลน์โพสต์ข้อความหรือรูปภาพที่ทำร้ายความรู้สึก หรือทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง
-
การรังแกโดยท่าทาง (Non-Verbal) เช่น การทำท่าทางล้อเลียน แลบลิ้นใส่ เป็นต้น
✅ สิ่งที่ควรทำ (DOs) เมื่อมีการกลั่นแกล้งในโรงเรียน
-
หยุดการกลั่นแกล้งทันที ครูต้องเข้าแทรกแซงโดยไม่ปล่อยให้สถานการณ์เลวร้ายลง โดยกั้นกลางเพื่อป้องกันการยั่วยุทางสายตาหรือสีหน้า จากนั้นรอให้สถานการณ์สงบก่อนที่จะเรียกทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปพูดคุยกัน
-
ชี้แจงถึงกฎระเบียบและแสดงความจริงจังเกี่ยวกับการกลั่นแกล้ง คุณครูจะต้องยืนยันด้วยน้ำเสียงจริงว่าการกลั่นแกล้งกันเป็นสิ่งที่โรงเรียนไม่สนับสนุนและยอมให้เกิดขึ้นอีกไม่ได้ และอ้างถึงกฎระเบียบของโรงเรียนเกี่ยวกับการกลั่นแกล้ง ซึ่งอาจจะต้องทำสัญญา/ข้อตกลงร่วมกันกับนักเรียนทั้งสองฝ่ายว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก
-
หาจังหวะพูดคุยกับนักเรียนที่ถูกกลั่นแกล้ง คุณครูจะต้องทำให้นักเรียนที่ถูกกลั่นแกล้งรู้สึกปลอดภัยจากการถูกเอาคืน หากนักเรียนยังรู้สึกหวาดกลัว ให้ลองหาโอกาสพูดคุยแบบส่วนตัวในภายหลัง เพิ่มการสังเกตและดูแลนักเรียนมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้มั่นใจว่านักเรียนจะไม่ถูกกลั่นแกล้งอีก
-
ให้คำแนะนำกับนักเรียนที่เห็นเหตุการณ์ ในกรณีที่มีเพื่อนนักเรียนเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ หรือเป็นพยานในระหว่างการกลั่นแกล้งนั่น คุณครูควรจัดชั่วโมงพิเศษ เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเข้าไปแทรกแซง หรือช่วยเหลืออย่างเหมาะสม หากเกิดเหตุการณ์ซ้ำในอนาคต
-
กำหนดบทลงโทษที่เหมาะสม เมื่อเหตุการณ์สงบลง คุณครูควรให้นักเรียนมาทำข้อตกลงและออกแบบบทลงโทษด้วยกัน เช่น หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ จะต้องมีการเก็บชั่วโมงทำความดีเพิ่มเติมเป็นหลักฐาน หรือเรียกผู้ปกครองให้มารับทราบร่วมกัน
-
ติดตามและสังเกตอาการของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ขอให้คุณครูติดตามสังเกตอาการของนักเรียนทั้งสองฝ่าย เช่น อาจจะมีการเรียกมาพูดคุยตัวต่อตัวสัปดาห์ละครั้ง เพื่อให้นักเรียนได้เล่าความรู้สึก ในส่วนผู้แกล้ง คุณครูอาจจะให้คำแนะนำให้เรียนรู้วิธีการใช้พลังหรือจัดการอารมณ์ในทางที่ดี เช่น การไปออกกำลังกาย เข้าชมรมต่าง ๆ หรือขอนัดครูเพื่อปรึกษาปัญหาในชีวิต เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ในพฤติกรรมของตนเอง
❌ สิ่งที่ไม่ควรทำ (Don’t)
-
ให้ผู้ถูกรังแกไปพูดคุย/ไกล่เกลี่ยกับผู้รังแก วิธีนี้อาจทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือถูกกดดัน และจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับคนที่รังแกเพราะกลัวคำสั่งครู นอกจากนี้ การให้เพื่อน ๆ ในห้องช่วยไกล่เกลี่ยกันเองจะไม่นำไปสู่ทางออกในระยะยาว และเพิ่มความขัดแย้งในกลุ่มเพื่อนมากขึ้น
-
รีบตัดสินสถานการณ์ในทันที การที่คุณครูพยายามเข้าห้ามสถานการณ์และพยายามตัดสินเหตุการณ์ว่าใครเป็นคนผิด-ถูกในทันที อาจทำให้สถานการณ์นั้นแย่กว่าเดิมตรงที่นักเรียนที่ถูกรังแกรู้สึกกลัว ไม่มั่นใจ และสูญเสียตัวตนมากขึ้น ส่วนนักเรียนที่รังแกอาจจะพยายามอธิบายเหตุผลที่เข้าข้างตนเองและนำไปสู่การกลั่นแกล้ง หรือการเอาคืนมากขึ้น
-
บังคับให้พยานในที่เกิดเหตุอธิบายเหตุการณ์ต่อหน้าผู้อื่น การให้พยานเล่าเหตุการณ์ต่อหน้าผู้อื่น อาจทำให้ผู้ถูกรังแกรู้สึกอ่อนแอ และกลัวมากกว่าเดิม ดังนั้น ครูควรชวนพยานในที่เกิดเหตุไปพูดคุยเป็นการส่วนตัวและรับปากว่านักเรียนที่เป็นพยานจะได้รับความคุ้มครองอย่างปลอดภัย
-
ลงโทษต่อหน้าทุกคน การลงโทษเด็กต่อหน้าคนอื่นอาจทำให้เกิดความอับอาย ซึ่งสามารถส่งผลลบต่อพฤติกรรมในระยะยาว แทนที่จะรู้สึกสำนึกผิด เด็กอาจตอบโต้ด้วยการสร้างพฤติกรรมที่แย่ลงเพื่อปกป้องตัวเองจากความอาย หรือกลายเป็นไม่ไว้วางใจผู้ใหญ่ในอนาคต การจัดการอย่างสร้างสรรค์ เช่น การพูดคุยเป็นการส่วนตัว หรือให้เด็กมีโอกาสสะท้อนความผิด อาจเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพมากกว่า
-
บังคับให้กอดหรือขอโทษกัน การบังคับให้เด็กกอดหรือขอโทษกันโดยที่พวกเขาไม่ได้สำนึกผิดจริง อาจไม่ช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน แต่กลับทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัดและต่อต้าน เพราะเด็กอาจไม่เข้าใจความหมายของการขอโทษแต่เป็นเพียงการทำตามคำสั่ง และผู้ถูกกระทำอาจรู้สึกไม่ได้รับการปกป้องอย่างเหมาะสม ครูควรให้เวลาปรับตัว โดย อนุญาตให้เด็กขอโทษเมื่อรู้สึกพร้อม เพื่อให้เป็นการขอโทษที่จริงใจ
การรับมือกับสถานการณ์ที่ท้าทายเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่คุณครูทุกคนมีพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงและเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือเด็ก ๆ ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ขอให้รู้ว่าทุกความพยายามของคุณครูมีความหมาย แม้จะไม่เห็นผลทันที แต่สิ่งที่คุณครูทำคือการปลูกฝังทักษะและค่านิยมที่สำคัญให้กับเด็ก ๆ ทุกความพยายามที่คุณครูทำ คือก้าวสำคัญของการเปลี่ยนแปลง
แนะแนวฮับเป็นกำลังใจให้เสมอนะคะ 🥰
อ้างอิง
Montgomery County Public Schools. (n.d.). Bullying, Harassment, or Intimidation Prevention. https://www.montgomeryschoolsmd.org/info/bullying/
Learning for Justice. (n.d). Bullying: guideline for teachers.
https://www.learningforjustice.org/professional-development/bullying-guidelines-for-teachers
พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน
หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)
ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง
✅ เรียนฟรี
✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว
✅ มีเกียรติบัตร
คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses