5 เทคนิคกระตุ้นให้นักเรียนเป็นคนช่างถาม

หมวดหมู่: เครื่องมือข้อมูลด้านการสอน

Tags: 

อ่านแล้ว: 41 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

คุณครู : “นักเรียนสงสัยอะไรไหม” หรือ “มีใครอยากถามอะไรหรือเปล่า”

นักเรียน : ……..

เชื่อว่าสถานการณ์ด้านบนคือความท้าทายที่คุณครูส่วนใหญ่เจอในห้องเรียนไม่ว่าจะวิชาใดก็ตาม คือ นักเรียนนิ่งเฉยเมื่อคุณครูถาม หรือไม่กล้าที่จะบอกว่าตนเองไม่เข้าใจ พฤติกรรมที่ไม่กล้าถามของนักเรียน อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น บรรยากาศในห้องเรียนไม่เอื้อให้นักเรียนกล้าแสดงออก นักเรียนยังไม่คุ้นชินกับการใช้คำถาม หรือรูปแบบคำถามของครูอาจจะยากหรือซับซ้อนจนเกินไป เป็นต้น ซึ่งต้องใช้ความเข้าใจในการปรับเข้าหากัน ทั้งฝั่งคุณครูและนักเรียน

แนะแนวฮับเข้าใจว่าความท้าทายนี้เป็นเรื่องที่ยาก และต้องใช้เวลาในการพยายามฝึกให้นักเรียนช่างสงสัยและช่างถาม แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณครูสามารถปลูกฝังทักษะนี้ได้แล้ว เชื่อว่านักเรียนจะสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองมากขึ้น และบรรยากาศการเรียนรู้ในห้องเรียนจะสนุกสนานขึ้นแน่นอนค่ะ

แนะแนวฮับจึงนำ 5 เทคนิคที่จะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนเป็นคนที่ช่างถามมากขึ้น จะมีเทคนิคอะไรกันบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ !

ชื่อภาพ

เทคนิคที่ 1: ทำให้การตั้งคำถามเป็นกิจกรรมที่สนุก

คุณครูไม่จำเป็นต้องให้การถาม-ตอบ เป็นเรื่องจริงจัง เราสามารถเปลี่ยนบรรยากาศการถาม-ตอบเป็นกิจกรรมที่สนุกได้

วิธีการ :

  • เล่นเกม “20 คำถาม” หรือ เกม ”ถามต่อ”
  • จัดกิจกรรมที่ให้แต่ละกลุ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับหัวข้อหนึ่ง และให้เพื่อนในกลุ่มช่วยตอบคำถาม
  • ใช้ mini-whiteboard แข่งกันเขียนคำถามให้ได้มากที่สุด จากการฟังเรื่องราว

ตัวอย่างการเล่นเกม “ถามต่อ”

1) คุณครูเริ่มต้นด้วยประโยค เช่น "วันนี้เราเห็นสายรุ้ง”

2) สุ่มส่งคำถามต่อให้เด็กนักเรียนคนต่อไปตั้งคำถามต่อจากประโยคนั้น เช่น "สายรุ้งเกิดขึ้นได้อย่างไร?"

3) เด็กนักเรียนคนต่อไปถามต่อจากคำถามแรก เช่น "ทำไมถึงมีหลายสี?"

4) เมื่อถามจนครบทุกคนแล้ว ขอให้คุณครูนำคำถามมาขึ้นมาจัดกลุ่มและขอให้นักเรียนช่วยกันเลือกคำถามเพื่อช่วยกันหาคำตอบต่อไป

ชื่อภาพ

เทคนิคที่ 2 : ฝึกให้นักเรียนรู้จักการตั้งคำถามที่ชัดเจน

การตั้งคำถามที่ชัดเจนและตรงประเด็นเป็นทักษะสำคัญ นักเรียนบางคนอาจไม่รู้ว่าจะตั้งคำถามอย่างไรถึงจะได้คำตอบแบบที่ต้องการ หรือได้ประเด็นสำคัญเพื่อนำไปทำงานต่อได้ หากนักเรียนได้ฝึกตั้งคำถาม จะช่วยให้นักเรียนทั้งมีความมั่นใจและคิดเป็นระบบมากขึ้น

วิธีการ :

  • ชวนให้นักเรียนลองฝึกตั้งคำถามง่ายๆ กับตัวเองจากประสาทสัมผัสทั้ง 5 เช่น ตอนนี้ฉันเห็นอะไร / รู้สึกอะไร / ได้ยินอะไร/ ได้กลิ่นอะไร เป็นต้น
  • ใช้หลักการ 5WH (ใคร/ทำอะไร/ที่ไหน/อย่างไร/ทำไม) เพื่อฝึกให้นักเรียนตั้งคำถามที่ชัดเจนและเป็นประเด็นได้
  • คุณครูอาจลองใช้สื่อต่างๆ เช่น ภาพยนตร์ เป็นโจทย์ในการสอนให้นักเรียนฝึกตั้งถามแบบที่ระบุปัญหาหรือความสงสัยอย่างชัดเจน โดยคุณครูอาจเริ่มถามนักเรียนก่อน แล้วค่อยสลับบทบาทให้นักเรียนเป็นผู้ถามบ้าง เช่น "นักเรียนคิดว่า... ทำไมตัวเอกถึงตัดสินใจแบบนั้น?"

ชื่อภาพ

เทคนิคที่ 3 : ให้เวลานักเรียนได้คิดคำตอบ

นักเรียนบางคนอาจต้องการเวลาคิดก่อนที่จะตั้งคำถาม ดังนั้นการให้เวลานักเรียนคิดหรือถามคำถามจะช่วยลดความกดดันและกระตุ้นให้เกิดคำถามที่มีคุณภาพ

วิธีการ :

  • คุณครูนับ 1-10 ในใจ เพื่อให้เวลานักเรียนคิดคำตอบ
  • หากนักเรียนไม่สามารถตั้งคำถามได้ในทันที ให้ลองให้กำลังใจนักเรียน เช่น "ไม่เป็นไร ถ้านักเรียนนึกคำถามออกเมื่อไร ค่อยมาถามครูก็ได้"

ชื่อภาพ

เทคนิคที่ 4 : ให้รางวัลและชื่นชมนักเรียนในการตั้งคำถาม

การชื่นชมการตั้งคำถามที่ดีหรือมีความพยายามในการตั้งคำถามจะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนกล้าถามมากขึ้น เพราะการให้รางวัลหรือคำชมจะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจนักเรียน

วิธีการ :

  • ชื่นชมนักเรียนอย่างจริงใจ เมื่อมีนักเรียนตั้งคำถามที่ดี เช่น "คำถามนี้ยอดเยี่ยมมากค่ะ/ครับ!" “เป็นคำถามที่น่าสนุกมากๆ เลย”
  • สามารถใช้การให้คะแนนหรือรางวัลเล็กน้อยเพื่อเป็นกำลังใจในการตั้งคำถาม

ชื่อภาพ

เทคนิคที่ 5 : สร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยในการตั้งคำถาม

การทำให้ห้องเรียนเป็นที่ที่นักเรียนรู้สึกปลอดภัยและไม่ต้องกลัวการถูกตำหนิเป็นสิ่งสำคัญ เพราะนักเรียนบางคนอาจกลัวว่าจะถูกวิจารณ์ถ้าตั้งคำถามผิดพลาด ดังนั้นคุณครูควรสร้างบรรยากาศที่เปิดกว้างและช่วยเหลือให้ทุกคนตั้งคำถามได้

วิธีการ :

  • คุณครูตอบรับทุกคำถามและทุกคำตอบ โดยไม่ตัดสินว่านักเรียนจะตอบผิดหรือถูก แต่สามารถใช้คำพูดชวนนักเรียนทบทวนอีกครั้ง หากคำตอบยังไม่สอดคล้องกับประเด็นที่ครูถาม เช่น “"ลองสังเกตอะไรเพิ่มเติมได้อีกไหม” หรือ "นี่เป็นอีกหนึ่งมุมมองที่น่าคิด แต่ถ้าลองเพิ่มเรื่องที่เราเพิ่งเรียนลงไปด้วย จะมีมุมไหนได้อีกนะ" "คำตอบนี้ก็มีส่วนถูกนะ แต่ถ้าเราลองพิจารณาจากข้อมูลนี้ด้วย จะเป็นอย่างไร" เพื่อให้นักเรียนไม่หมดกำลังใจ
  • คุณครูขอบคุณทุกครั้งที่นักเรียนพยายามถาม หรือตอบคำถาม เช่น "ขอบคุณที่ถามนะ เป็นคำถามที่ดีมากเลย"

จะเห็นว่า 5 เทคนิคนี้ หากคุณครูสามารถทำได้อย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นวัฒนธรรมในห้องเรียนจะช่วยเสริมทักษะการเป็น Active Learner หรือเป็นเด็กที่กระตือรือร้นในการเรียนรู้ ผ่านการตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญต่อการเรียนต่อและการทำงานในอนาคต

แนะแนวฮับเอาใจช่วยคุณครูเสมอนะคะ 🥰


พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว

✅ มีเกียรติบัตร

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา