5 จุดตรวจเช็กสำคัญที่ครูมือใหม่ต้องรู้ ก่อนเข้าอยู่บ้านพักครู

หมวดหมู่: พื้นที่เพื่อนครู

Tags: 

อ่านแล้ว: 98 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

การเข้าบ้านพักครูคงเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ตื่นเต้นสำหรับครูที่เพิ่งบรรจุ

บางคนอาจจะต้องเดินทางไปสอนจังหวัดไกลบ้าน และมีความจำเป็นที่จะต้องพักในบ้านพักครูที่โรงเรียนจัดเตรียมไว้ให้ ซึ่งการเข้าอยู่ในสถานที่ใหม่ที่ใหม่ ที่เราไม่คุ้นเคยก็จำเป็นที่จะต้องตรวจสอบพื้นที่นั้นๆ

วันนี้แนะแนวฮับจะพาครูสำรวจ 5 จุดตรวจเช็กสำคัญที่ครูมือใหม่ควรรู้และระมัดระวัง เพื่อให้ชีวิตการทำงานและการเป็นอยู่สะดวกสบายมากขึ้นค่ะ 🙂

ชื่อภาพ

จุดที่ 1 : จุดที่ตั้งของบ้านพัก

ขอให้คุณครูลองตรวจเช็กบริเวณบ้านพักของตนเองว่ารอบๆ บ้านพักมีใครอาศัยอยู่บ้าง และระยะห่างของแต่ละสถานที่ไปจนถึงบ้านพักห่างกันมากน้อยแค่ไหน เช่น

  • มีแหล่งอันตรายและแออัด เช่น พื้นที่รกร้างหรือแหล่งมั่วสุมหรือไม่
  • มีแหล่งชุมชน เช่น วัด โรงเรียนอื่นๆ ตลาด หรือร้านขายของหรือไม่
  • มีแหล่งบริการประชาชน เช่น สถานีตำรวจ สถานที่ราชการหรือไม่

หากเราลองทำแผนที่ขนาดย่อมและระบุจุดๆ ต่างให้ชัดเจน จะช่วยให้คุณครูมองเห็นภาพรวม จุดสำคัญ สำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ตลาด และส้นทางที่ปลอดภัยหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้

ชื่อภาพ

จุดที่ 2 : จุดต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ภายในบ้าน

สำหรับบ้านพักครูที่มีอายุการใช้งานมายาวนาน จุดสำคัญมากที่ครูควรตรวจเช็กก่อนเข้าไปอยู่ คือ จุดต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ เพราะหากเกิดการชำรุด คุณครูจะสามารถแก้ไขได้ทันก่อนที่จะเกิดไฟฟ้าลัดวงจร โดยวิธีการสังเกตจุดต่างๆ มีดังนี้

  • สังเกตอุปกรณ์ไฟฟ้า : ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีในบ้านว่าพร้อมใช้งานหรือไม่ สายไฟฟ้าต้องไม่มีสีคล้ำ ไม่มีกลิ่นเหม็นไหม้ ฉนวนหุ้มสายไฟฟ้า ไม่ชำรุด ไม่มีรอยฉีกขาด ไม่มีรอยแตกร้าว ไม่มีรอยไหม้ ไม่มีรอยกัดแทะของสัตว์และไม่มีรอยสิ่งของหนักกดทับ
  • สังเกตสายไฟฟ้านอกบ้านพัก หรือผนังใต้เพดานเป็นพิเศษ โดยเฉพาะจุดต่อและข้อต่อสายไฟฟ้า หากมีมดและแมลงอาศัย มีรอยน้ำรั่วซึม ควรแจ้งช่างมาซ่อมแซ่ม หรือเปลี่ยนใหม่ทันที
  • สังเกตลักษณะการเก็บของสายไฟ : ไม่ควรปล่อยให้สายไฟฟ้าพาดโครงสร้างหรือส่วนที่เป็นโลหะโดยตรง ควรนำสายไฟร้อยใส่ท่อพีวีซี เพื่อป้องกันไฟฟ้ารั่วลงบนโครงโลหะ และหากสายไฟฟ้าชำรุด จะทำให้เกิดอันตรายได้

ข้อควรระวัง : หากคุณครูไม่มีความรู้ ความชำนาญเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า อย่าตรวจสอบ แก้ไข หรือซ่อมแซ่ม อุปกรณ์ไฟฟ้าด้วยตนเองอย่างเด็ดขาด เพราะเสี่ยงต่อการถูกไฟฟ้าดูดได้

ชื่อภาพ

จุดที่ 3 : จุดพื้นที่ต่างๆ ภายในและบริเวณโดยรอบบ้าน

การสำรวจบริเวณ พื้นบ้าน บันได ประตูหน้าต่าง บริเวณติดตั้งปลั๊ก บ่อน้ำ สนามหญ้า บริเวณเหล่านี้เป็นหนึ่งในจุดที่สำคัญที่จะทำให้คุณครูคุ้นชินกับบ้านพักมากขึ้น เช่น

  • สังเกตว่าพื้นบ้านเป็นวัสดุแบบใด เสี่ยงต่อการลื่นล้มหรือไม่
  • สังเกตว่าบันไดมีที่กั้นไหม หรือหากมี ที่กั้นนั้นแข็งแรงเพียงพอที่จะรับน้ำหนักเวลาที่เราจับได้หรือไม่
  • สังเกตว่าประตู หน้าต่างใช้กุญแจล็อกแบบใด ใช้งานได้จริงหรือไม่

ชื่อภาพ

จุดที่ 4: จุดเก็บอุปกรณ์ฉุกเฉินต่างๆ

บ้านพักครูส่วนใหญ่ อาจจะไม่มีอุปกรณ์ฉุกเฉินเก็บไว้ภายในบ้าน แต่หากมี ก็ขอให้ลองตรวจสอบดูว่าสามารถใช้งานได้จริงหรือเปล่า หากไม่มี คุณครูควรเตรียมอุปกรณ์ฉุกเฉินเหล่านี้ติดบ้านไว้ ได้เแก่

  • ชุดปฐมพยาลเบื้องต้น เช่น ยาใส่แผล น้ำเกลือ ยาฆ่าเชื้อ และยาประจำตัว
  • หน้ากากป้องกันฝุ่นและควัน
  • อุปกรณ์ตัดเฉือนและเครื่องมือเอนกประสงค์ เช่น มีดพกขนาดเล็ก หรืออุปกรณ์อเนกประสงค์ที่สามารถใช้ในงานต่าง ๆ เช่น ตัดเชือก เปิดกระป๋อง และอื่นๆ
  • อุปกรณ์ดับเพลิง ไฟฉาย และอุปกรณ์สำหรับชาร์จพลังงานต่างๆ

ชื่อภาพ

จุดที่ 5: จุดเสี่ยงเพลิงไหม้

บ้านพักครูส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้มีห้องครัวแบ่งเป็นสัดส่วน จึงมีความจำเป็นต้องใช้ถังแก๊สพกพาเพื่อใช้ในการประกอบทำอาหาร ดังนั้น จุดสังเกตที่สำคัญ คือ

  • การเลือกถังแก๊ส : การเลือกใช้ถังแก๊สที่มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) มีการปิดผนึกบนวาล์วถังแก๊ส และข้อความที่ระบุน้ำหนักถัง วัน เดือน ปี การทดสอบถังครั้งสุดท้ายไม่ควรเกิน 5 ปี รวมถึงถังแก๊สอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่บุบ ไม่บวมและเป็นสนิม
  • การตรวจสอบรอยรั่วบริเวณถังแก๊ส : ให้ใช้น้ำสบู่ลูบตามจุดต่างๆ ของถังแก๊สหากมีฟองสบู่ผุดขึ้นมา แสดงว่าก๊าซรั่วไหลให้ปิดวาล์วที่ถังแก๊สทันที และจัดการเปลี่ยนถังแก๊สใหม่ทันที

ทั้ง 5 จุดตรวจเช็กสำคัญนี้ ขอให้คุณครูลองนำไปพิจารณาเป็นหนึ่งในเช็กลิสต์ก่อนเตรียมตัวที่จะเข้าไปอยู่ในบ้านพักครู เพื่อความปลอดภัยของตนเองนะคะ 😀 นอกจากนี้ อย่าลืมที่จะเมมเบอร์สำคัญของหน่วยงานๆ ไว้ด้วยเผื่อไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินนะคะ เช่น เบอร์สถานีตำรวจ สถานีดับเพลง ห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาล เป็นต้น

อ้างอิง

  • กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย. (มกราคม 2560)
  • คู่มือประชาชนในการเตรียมตัวให้รอดปลอดภัยพิบัติ (พิมพ์ครั้งที่ 6) https://www.disaster.go.th/upload/download/file_attach/58cb60f5607de.pdf

พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว

✅ มีเกียรติบัตร

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา