How-to ครูทำยังไงดี เมื่อนักเรียนแซวกันเรื่องเพศ

หมวดหมู่: พื้นที่เพื่อนครู

Tags:  เพศ bully

อ่านแล้ว: 869 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

“โธ่ ‘จารย์ เรื่องแค่นี้เอง”

การแกล้งแซวกันเล่นอาจดูเป็นธรรมชาติของนักเรียน ซึ่งอยู่ในวัยแห่งการรักสนุก ช่างคิด ช่างสรรหาคำมาแกล้งแซวแกล้งแหย่กันเพื่อเรียกเสียงหัวเราะ แต่รู้หรือไม่ว่า หลายครั้งที่คนถูกแซวก็ไม่ขำด้วย มากไปกว่านั้นยังอาจนำไปสู่ภาวะเครียด เก็บกด ลดทอนคุณค่าความมั่นใจในตัวเอง (Self-esteem) และบรรยากาศของห้องเรียนก็อาจไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนอีกต่อไป

เชื่อว่าหนึ่งในการแซวแกล้งกัน คงหนีไม่พ้นการแซวหรือใช้คำพูดบุลลี่กันเรื่องเพศสภาพหรือเพศวิถี วันนี้เราเลยอยากชวนคุณครูมาคลี่ภาพสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นพร้อมชวนแบ่งปันแนวทางรับมือและดูแลสนับสนุนนักเรียนของพวกเรากัน โดยข้อมูลเนื้อหาวันนี้ เรียบเรียงจากวงพูดคุยแลกเปลี่ยนออนไลน์กับคุณครูเบญวรรณ บุญคลี่ (ครูต้น) โรงเรียนสามพรานวิทยา จ.นครปฐม และ คุณครูอัญชลี ระดมแสง (ครูยุ้ย) โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย

ชื่อภาพ

การแกล้งแซวกันเรื่องเพศ

  1. จุดเกิดเหตุที่มักพบบ่อย สถานที่หรือสถานการณ์ที่มักเกิดเหตุการณ์นี้ เช่น

  2. ห้องเรียน ทั้งขณะมีการสอนและระหว่างพัก โดยเฉพาะเมื่อมีกลุ่มนักเรียนที่สนิทกันในห้องนึกอยากแกล้งแซวเพื่อน บางครั้งมาในรูปแบบการตะโกนเรียกเสียงดัง บางครั้งมาแบบเสียงเรียกเบาๆ เหมือนพรายกระซิบ หรือนึกสนุกยกมือตอบคำถามครูแต่พาดพิงไปถึงเพื่อน เป็นต้น

  3. สนามกีฬา แหล่งรวมกลุ่มก้อนนักเรียนทั้งนักกีฬาและกองเชียร์ ด้วยความเป็นวัยรุ่นบวกกับระดับฮอร์โมนที่หลั่งออกมากระตุ้นให้เกิดความคึกคักตื่นตัวมากกว่าปกติ จึงไม่แปลกที่สนามกีฬาจะเป็นอีกจุดนึง ที่อาจเกิดจังหวะการแกล้งแซวเพื่อนต่างเพศ

  4. ห้องน้ำ สถานที่ที่เชื่อว่าทำคุณครูหลายคนเหนื่อยใจไปตามๆ กัน ตั้งแต่พฤติกรรมนักเรียนที่ชอบขออนุญาตไปห้องน้ำพร้อมเพื่อนแล้วหายไปนานๆ มีขยะหรือกลิ่นไม่พึงประสงค์ หรือเป็นจุดซ่อนตัวเวลานักเรียนไม่อยากร่วมกิจกรรมของโรงเรียน แต่ #รู้หรือไม่ ว่าสำหรับนักเรียนบางคนแล้ว ห้องน้ำเป็นโจทย์ยากอีกข้อที่ไม่รู้จะผ่านไปได้อย่างไร เพราะธุระก็ต้องทำ แต่เพื่อนก็มาแซวแกล้งในระยะกระชั้นชิดอีก เด็กบางคนเลยเลือกจะชวนเพื่อนสนิทที่เขารู้สึกวางใจไปรอหน้าห้องน้ำ ให้รู้สึกอุ่นใจและปลอดภัยมากขึ้น

  5. พบในเด็กเล็กมากกว่าเด็กโต การแกล้งแซวกันเรื่องเพศ อาจพบในกลุ่มเด็กเล็กมากกว่าเด็กโต สาเหตุอาจเป็นได้หลายอย่าง กล่าวคือ

  6. ไม่ทันคิด ด้วยช่วงวัยที่ยังเล็ก เด็กๆ จึงยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่าคำใดส่งผลกระทบต่อผู้อื่น บวกกับบริบทแวดล้อมที่บ้าน สังคมชุมชนรอบตัว รวมถึงสื่อบางประเภท ก็ใช้คำเหล่านี้จนสร้างความคุ้นชินให้กับเด็ก

  7. ยังไม่เข้าใจ กลุ่มเด็กเล็กอาจยังอยู่ในช่วงเรียนรู้และทำความเข้าใจความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาและการสนับสนุนของคนรอบตัว หากไม่เคยมีพื้นฐานแนวความคิดในเรื่องนี้ คุณครูหรือผู้ใหญ่อาจต้องให้ความเอาใจใส่ ชวนเขาคิด ตั้งคำถามชวนทบทวนอย่างสม่ำเสมอ

  8. รูปแบบการตอบโต้ต่างกัน น่าเป็นห่วงเหมือนกัน ผู้ถูกกลั่นแกล้ง ไม่ว่าจะเพศใด มีแนวโน้มตอบโต้ ดังนี้

  9. ใช้ถ้อยคำรุนแรงโต้กลับ ด่ากลับ หรือเข้าปะทะ เพื่อหยุดสถานการณ์การถูกกลั่นแกล้ง วิธีนี้อาจดูเป็นวิธีที่ง่าย จบสถานการณ์ได้ไว แต่ก็ถือว่าเป็นพฤติกรรมก้าวร้าว และอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง

  10. เงียบ หลีกหนี ไม่เผชิญหน้า หากนักเรียนเผชิญสถานการณ์โดยลำพัง อาจเลือกนำตัวเองออกจากพื้นที่นั้นๆ หรือมองหาคนช่วยเหลือจากเพื่อนหรือครู นักเรียนบางคนจะเลือกนิ่งเฉยต่อสถานการณ์ และรอเวลาพิสูจน์ตัวเองว่าเขาหรือเธอก็มีคุณค่าไม่ต่างจากเพื่อน ในขณะที่นักเรียนบางคนอาจเก็บเอาประสบการณ์การถูกกลั่นแกล้งไว้กับตัว ซึ่งอาจส่งผลให้บั่นทอนคุณค่าของตัวเอง และอาจนำไปสู่ความเครียด ภาวะกดดัน ซึมเศร้า ฯลฯ

  11. เพื่อนและครอบครัวคือคนสำคัญ จากการพูดคุยกับนักเรียนบางส่วนที่เคยมีประสบการณ์การถูกกลั่นแกล้งหรือแซวเรื่องเพศสภาพหรือเพศวิถี พบว่า สิ่งที่ช่วยประคับประคองให้ผู้ถูกกลั่นแกล้งสามารถผ่านช่วงเวลายากๆ มาได้ คือ เพื่อนสนิทและครอบครัวที่เข้าใจและให้การสนับสนุนผ่านรูปแบบต่างๆ เช่น กลุ่มเพื่อนสนิทที่คอยอยู่เคียงข้างในวันที่เพื่อนถูกแกล้ง พ่อแม่ผู้ปกครองที่พูดคุยกับบุตรหลานและมีความใกล้ชิด คอยถามไถ่และดูแลความรู้สึกอย่างสม่ำเสมอ

เครดิตรูปประกอบจาก https://www.flaticon.com/authors/good-ware

ชื่อภาพ

4 ข้อสำคัญให้ครูตั้งหลัก ก่อนรับมือสถานการณ์นักเรียนบุลลี่กันเรื่องเพศ

  1. มีความเชื่อและเข้าใจในความแตกต่างหลากหลาย เพราะคำพูด ท่าที ของเรา ล้วนเป็นผลมาจากความคิดความเชื่อของตัวเราเอง ดังนั้น หากคุณครูมีความมุ่งมั่นตั้งใจอยากเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับนักเรียนทุกคน ไม่ว่าจะเพศ วัย ชาติพันธุ์ หรือความหลากหลายด้านใดๆ ก็อยากเชิญชวนให้พาตัวเองไปพบเจอประสบการณ์จริง เปิดใจเรียนรู้อย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถกลับมาเป็นหลักในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ห้องเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยต่อไป โดยคุณครูสามารถศึกษาหลักการสำคัญ แนวความคิด ข้อมูล รวมถึงตัวอย่างสื่อการเรียนรู้เรื่องความแตกต่างหลากหลายทางเพศได้จากแหล่งสืบค้นต่างๆ เช่น เพจ Sprectrum, GenderMatter, Thaiconsent เป็นต้น

  2. ให้ความสำคัญกับพื้นที่ปลอดภัย ที่รับฟังทุกเสียง โดยไม่ด่วนตัดสินผิด-ถูก เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดๆ ก็ตาม แม้จะเกิดขึ้นต่อหน้าคุณครู หรือเป็นเรื่องราวที่บอกกล่าวกันภายหลัง เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าผู้พูดและคนที่เกี่ยวข้องแสดงออกพฤติกรรมต่างๆ ด้วยความรู้สึกและความต้องการอะไร มีเจตนาอย่างไร ดังนั้น เราจึงอยากชวนให้คุณครูให้ความสำคัญกับการรับฟังแบบ 100% รับฟังด้วยหัวใจที่อยากเข้าใจสถานการณ์และตัวนักเรียนแต่ละคนอย่างแท้จริง โดยไม่รีบด่วนสรุปหรือมองหาคนผิดหรือคนถูก เมื่อนักเรียนรับรู้ว่าครูฟังเขาโดยไม่มีอคติความลำเอียง เขาจะกล้าสื่อสารความรู้สึกนึกคิดของตัวเองออกมา และเปิดรับความคิดความรู้สึกของเพื่อนด้วย

  3. ใช้อำนาจด้วยความเข้าใจ คำว่า “อำนาจ” อาจฟังแล้วให้ความรู้สึกถึงการบังคับควบคุม แต่ “อำนาจ” นี้ก็สามารถเป็นพลังในการหนุนเสริม ตั้งคำถามชวนคิด ให้นักเรียนมีสติ เท่าทันพฤติกรรม ความคิด ความรู้สึกของตัวเอง และเปิดพื้นที่รับฟังเสียงของเพื่อนได้ ลองใช้ “อำนาจ” พานักเรียนของพวกเราก้าวข้ามชุดประสบการณ์เดิม อย่างเวลาโดนครูเรียก ที่อาจไม่ได้มีเพียง “ต้องมีใครทำอะไรผิด” หรือ “จะมีคนถูกทำโทษ” ด้วยการไม่ลืมสังเกตตัวเองและเท่าทันท่าทีและคำพูดของคุณครูเมื่อเข้าหานักเรียนนะคะ ^^

  4. อย่าเพิ่งท้อ ไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะเกิดเหตุการณ์นักเรียนบุลลี่กันเรื่องเพศสภาพหรือเพศวิถีซ้ำ แม้คุณครูจะเคยชวนคุยและทำข้อตกลงร่วมกันแล้ว เพราะนักเรียนแต่ละคนก็มีโลก มีชุมชน มีคนรอบตัวของตัวเอง ที่มีลักษณะแตกต่างหลากหลายต่างกัน บวกกับข้อมูลจากสื่อต่างๆ ในโลกอินเตอร์เน็ต ที่เราไม่สามารถควบคุมได้อย่างใจ แต่ขอให้คุณครูรับรู้ว่าสิ่งที่ทำมันจะค่อยๆ เป็นภูมิคุ้มกันเล็กๆ ที่ติดตัวนักเรียนไปแน่นอนค่ะ

ชื่อภาพ

How-to รับมือเมื่อนักเรียนบุลลี่กันเรื่องเพศ

  1. หยุดสถานการณ์นั้นทันที
  2. หากเกิดขึ้นในห้องเรียน ขอให้หยุดการเรียนการสอนซักครู่เพื่อหยุดสถานการณ์การบุลลี่ดังกล่าว โดยการใช้คำพูดหรือแสดงท่าทีว่าครูรับรู้เหตุการณ์นั้นและเห็นการกระทำของทั้งฝั่งนักเรียนที่แกล้งเพื่อนและนักเรียนที่ถูกแกล้ง คุณครูอาจช่วยทวนถามถึงข้อตกลงร่วมของห้อง หรือหากยังไม่มีระบุเรื่องนี้ ก็เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้พูดคุยกันค่ะ อย่างไรก็ดี เราเข้าใจว่าเนื้อหาในวิชามีความสำคัญมากๆ ยิ่งในช่วงที่เวลาเรียนจำกัด ทุกเวลายิ่งมีค่า พวกเราขอบีบมือแน่นๆ ให้กำลังใจคุณครูนะคะ
  3. หากเกิดในพื้นที่นอกห้องเรียน เช่น สนามกีฬา ลานนั่งเล่น ม้าหินหน้าห้องเรียน ฯลฯ คุณครูอาจต้องสูดหายใจเข้าลึกๆ รักษาระดับน้ำเสียงและคำพูดให้เหมาะสม (อาจตะโกนเรียกได้หากเด็กๆ ไม่ได้ยิน แต่ระมัดระวังอย่าเผลอตะคอกนะคะ ^^) เพื่อชวนนักเรียนทั้ง 2 ฝ่ายมาหา

  4. เปิดพื้นที่ให้นักเรียนอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น ตัวอย่างคำถามสำหรับใช้ชวนแสดงความคิดเห็นและพูดคุยกัน ที่จะไม่เป็นการตัดสินผิด-ถูก ลองเรียงลำดับการถามและชวนคุยตามนี้ดูนะคะ

    1) ถามสถานการณ์ภาพรวม - “เมื่อกี้เกิดอะไรขึ้น” - “ครูได้ยินนักเรียน ก. แซว นักเรียน ข. ว่าตุ๊ด เป็นจริงไหมคะ”

    2) ถามเจตนานักเรียนที่แกล้งเพื่อน - “เพราะอะไรถึงเรียกเพื่อนแบบนั้นเหรอคะ” - “ที่เรียกเพื่อนแบบนั้น คืออยากสื่อว่าอะไรเหรอคะ”

    3) ถามความรู้สึกนักเรียนที่แกล้งเพื่อน - “ตอนเรียกเพื่อน นักเรียนรู้สึกอย่างไร” - “ตอนเรียกเพื่อน นักเรียนคิดว่าเพื่อนรู้สึกอย่างไร”

    4) ถามความรู้สึกนักเรียนที่ถูกเพื่อนแกล้ง - “ตอนถูกเรียกแบบนั้น นักเรียนรู้สึกอย่างไร” - ”นักเรียนบางคนอาจจะเลือกตอบด้วยความเกรงใจหรือไม่อยากให้เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต คุณครูอย่าเพิ่งปล่อยผ่านนะคะ เรายังสามารถถามต่อได้ว่า “แล้วคำเรียกแบบไหน ที่นักเรียนอยากให้เพื่อนเรียกตัวเรา”

  5. ทวนข้อสรุป ว่าเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ เราทุกคนได้ข้อสรุปว่าอย่างไร

  6. “นักเรียนรับรู้ความรู้สึกของเพื่อนแล้ว คนที่ใช้คำเรียกแซวเพื่อน อาจเพราะนึกเอาว่าสนุก เป็นเรื่องตลก และไม่ทันคิดอะไร แต่ในขณะเดียวกัน เพื่อนอาจไม่ขำด้วยใช่ไหม แต่ตอนนี้เรารับทราบร่วมกันแล้วว่าเพื่อนชอบให้เรียกแบบไหนเนอะ”

  7. ทวนข้อตกลงร่วมกันอีกครั้ง และอย่าลืมกล่าวขอบคุณนักเรียนที่ส่งสัญญาณให้ครูรับรู้ ทำให้เรามีโอกาสพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกันมากขึ้นด้วยนะคะ

  8. “ครูเชื่อว่าไม่มีนักเรียนคนไหนอยากใช้คำพูดทำร้ายจิตใจกัน แต่ยังไงต้องขอบคุณนักเรียนมากๆ ที่ให้โอกาสครูและเพื่อนได้มารับรู้และชวนกันคุยต่อยอดจากเหตุการณ์นี้ เราจะได้เข้าใจกันมากขึ้นต่อไปมีอะไรจะได้ช่วยกันดู ช่วยกันเตือนสติให้ทันความคิดความรู้สึกกันมากขึ้นด้วยค่ะ”

ชื่อภาพ

#เพื่อนครูขอแชร์

“ความเชื่อและจุดยืนของคนเป็นครูสำคัญมากๆ ถ้าครูเชื่อและเข้าใจ ว่าความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องปกติ ครูจะแสดงออกผ่านท่าทีและคำพูด ทั้งหมดนี้เด็กๆ เขาสัมผัสได้ อาจมีแค่ในบางจังหวะที่เขาแกล้งแซวกันเพราะไม่ทันรู้ตัว เลยทำด้วยความสนุกหรือทำเพราะความเคยชิน

ส่วนตัวเพิ่งเจอเหตุการณ์นักเรียนแกล้งแซวกันไปไม่นานนี้เอง ทั้งแบบเห็นต่อหน้า และได้ยินนักเรียนมาเล่าให้ฟังทีหลัง เคสที่เกิดขึ้นในห้องเรียนเลยคือ มีกลุ่มนักเรียนพูดเสียงเบาๆ ตามกันว่า ตุ๊ดๆๆ เราเลยเข้าไปถามว่า เรียกเพื่อนแบบนั้น ด้วยเจตนาอะไรเหรอ ต้องการจะสื่อว่าอะไร คือท่าทีของครูสำคัญมากนะ เพราะถ้าเราไปด้วยอำนาจที่เหนือกว่าในฐานะครู ยังไงๆ นักเรียนกลุ่มนั้นก็คงหยุด อาจจะด้วยความกลัวก็ได้ แต่มันก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาใช่ไหม เราเลยตั้งคำถาม เพราะอยากเข้าใจเขาจริงๆ ถามด้วยน้ำเสียงและสีหน้าปกตินี่แหละ บอกไปเลยว่าครูอยากเข้าใจ ขอฟังเหตุผลได้ไหม สุดท้ายได้คำตอบว่าเขาแค่นึกสนุกกัน ไม่ทันคิดว่าเพื่อนจะรู้สึกยังไง ซึ่งเราก็ถามนักเรียนที่ถูกเพื่อนเรียกอย่างนั้นว่ารู้สึกยังไง และอยากให้เพื่อนเรียกว่าอะไร พอได้คำตอบแล้ว ทั้ง 2 ฝ่ายเข้าใจตรงกัน ครูมีหน้าที่รับทราบ เป็นพยานในข้อตกลงนี้ ก็จบเคสได้โดยไม่ต้องดุหรือลงโทษอะไรเลย

มีนักเรียนบางคนที่เขาเคยถูกเพื่อนแกล้งแซวตั้งแต่เด็ก ซึ่งเขาเก็บประสบการณ์นี้ไว้ จนถึงวันที่เขารู้สึกพร้อมที่จะเล่าหรือแชร์ให้ครูฟัง ว่าที่เขาผ่านมาได้เพราะมีเพื่อนสนิทและครอบครัวที่เข้าใจและคอยสนับสนุน ส่วนตัวเราอยากให้คุณครูเชื่อว่า ถ้าทำให้ห้องเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับทุกคนได้ เวลามีอะไรนักเรียนจะเป็นคนบอกเราเองเลย อาจหยิบยกกิจกรรมมาชวนให้เขาเล่าเรื่องราวความเป็นตัวเอง อาจจะใช้โจทย์ง่ายๆ อย่าง ‘สิ่งที่ฉันชอบ/ ไม่ชอบ’ ก็ได้ ค่อยๆ เปิดพื้นที่ ชวนเขาก้าวเข้ามา แสดงความเป็นตัวเอง บอกเล่าแบ่งปันเรื่องราวของตัวเองให้เพื่อนในห้องและครูรับรู้ ซึ่งครูเองก็ต้องมีความเชื่อในเรื่องความแตกต่างหลากหลายนะ ต้องเข้าใจ และมีข้อมูลมากพอ ถ้านักเรียนถาม แล้วเราตอบได้ น้ำเสียง สีหน้า แววตาเรา นักเรียนจะรับรู้ได้ ว่าครูเข้าใจและเป็นหลักให้เขาได้เป็นตัวเองได้จริงๆ แต่ถ้าเรายังไม่เข้าใจ มีข้อมูลน้อยก็ไม่เป็นไร ลองไปหาข้อมูล ไปศึกษาเพิ่ม แล้วกลับมาชวนเด็กๆ คิดเรื่องความแตกต่างหลากหลายทางเพศกันค่ะ”

คุณครูเบญวรรณ บุญคลี่ (ครูต้น)

โรงเรียนสามพรานวิทยา จ.นครปฐม

ชื่อภาพ

#เพื่อนครูขอแชร์

“นอกจากลดการบุลลี่ เราสามารถช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศได้ค่ะ อย่าลืมว่านักเรียนเขาจะอยู่กับเราเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เอง ใน 1 วัน เขาต้องได้พบเจอผู้คนและสถานการณ์มากมายที่จะเป็นปัจจัยหรือตัวกระตุ้นให้เขาแสดงออกทั้งในฐานะคนบุลลี่เพื่อน หรือเป็นฝ่ายถูกบุลลี่ สิ่งที่คุณครูจะทำได้นอกจากการดูแลเมื่อเกิดเหตุการณ์ คือ การสร้างภูมิคุ้มกันให้นักเรียน ย้ำชัดถึงคุณค่า ความเป็นปกติธรรมดา ด้วยสิทธิที่ทุกคนมีไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม

เราเคยเจอเหตุการณ์ที่นักเรียนแกล้งแซวกัน แต่ส่วนมากจะเป็นเด็กเล็กค่ะ เด็กโตทุกวันนี้เขาไม่ค่อยแซวกันเรื่องนี้ แต่ถ้าเจอ เราก็จะถามเขาทันทีเลยว่า ยังแซวกันเรื่องนี้อีกเหรอ ยุคนี้แล้วนะ โลกเขาไปถึงไหนแล้ว (หัวเราะ) เป็นการแสดงจุดยืนของเราให้เขาเห็น ซึ่งส่วนตัวเราโอเคนะ ถ้าคนที่ถูกแซวเขารับมือด้วยตัวเองได้ หรืออย่างเช่น นักเรียนบางคนชอบไปเดินผ่านสนามฟุตบอล ทั้งที่รู้ว่าจะโดนแซว แต่เจ้าตัวเขาชอบและมองว่านั่นคือการได้รับการมองเห็นและการยอมรับบางอย่าง อันนั้นเราโอเคเลย

แต่ถ้านักเรียนที่โดนแซวเกิดความไม่มั่นใจ เราจะเข้าไปเติมพลังให้เขา อย่างนักเรียนหญิงคนหนึ่ง ตัดผมสั้นกึ่งรองทรงมาโรงเรียน แล้วโดนเพื่อนแซวจนเฟล เราเลยชวนเขาคุยว่า ‘แล้วตัวหนูเอง ความตั้งใจแรก ความรู้สึกแรกที่ไปตัดทรงนี้มาคืออะไร มองว่าดูดี ดูเท่ใช่ไหม อื้อ ครูยังคิดว่าเท่เลย’ เราว่ามันคือหน้าที่ของครูที่ต้องตั้งหลักให้นักเรียนเวลาเขาหวั่นไหวหรือหลงทาง เสริมความมั่นใจให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเอง

หรือในบางสถานการณ์ ถ้ามีการแซวกันจนคนที่โดนแซวไม่ตลกด้วย เราจะเข้าไปจัดการแทนนักเรียนทันทีเลย เป็นการเข้าไปช่วยและเป็นตัวอย่างให้เห็นในเวลาเดียวกัน ครูต้องทำตัวเองให้ดูตัวใหญ่ขึ้น ให้นักเรียนที่แซวรู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ถูกต้อง และให้นักเรียนที่โดนแซวรับรู้ว่าตรงนี้มีครูอยู่นะ ไม่ต้องกลัว

สิ่งสำคัญที่เราอยากบอกครูทุกคนเลยคือ

1) เด็กๆ ทุกคนเป็นนักเรียนของเรา โดยพื้นฐานแล้วไม่มีใครอยากทำให้คนอื่นเสียใจ เขาอาจจะยังเด็ก ยังไม่รู้หรือไม่ทันคิด นั่นจึงเป็นหน้าที่ที่ครูจะต้องบอก ต้องถาม ชวนเขาคิด แล้วเด็กๆ จะเรียนรู้และเข้าใจเรื่องความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น

2) ครูต้องเชื่อและอดทน บางคนอาจจะสงสัยว่า เราเคยบอกนักเรียนไปแล้ว ทำไมยังนักเรียนยังแกล้งแซวกันไม่เลิกอีก ให้ลองนึกดูนะคะว่าเด็กๆ เขาอยู่กับเรากี่ชั่วโมงเอง พอพ้นจากเราไป เขาได้ไปเจอคน ไปเจอสถานการณ์นู่นนี่เยอะไปหมด ขนาดเราที่เป็นผู้ใหญ่แล้วยังโดนบุลลี่จากผู้ใหญ่ด้วยกันได้เลย ดังนั้น คุณครูก็อย่าเพิ่งถอดใจนะคะ ทำหน้าที่ของเราต่อไปค่ะ

3) เหนือสิ่งอื่นใด อย่าลืมเสริมภูมิคุ้มกันให้เด็กๆ ที่ถูกบุลลี่เขาปกป้องตัวเองได้ค่ะ ความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องปกติ ถ้าเด็กๆ เห็นคุณค่าในตัวเอง มีความมั่นใจในตัวเอง เขาจะไม่ให้ค่าคำบูลลี่ของคนรอบข้างไม่ว่าใครก็ตาม”

คุณครูอัญชลี ระดมแสง (ครูยุ้ย)

โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย สมุทรปราการ จ. สมุทรปราการ


คอร์สเรียนฟรี สุดพิเศษ เอาไปใช้ได้จริง! สำหรับครูแนะแนว

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ มีเกียรติบัตร ***จะได้รับเมื่อทำ Quiz และแบบประเมินหลังเรียนจบเรียบร้อย

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา